ถึงแม้สิงห์บุรี จะเป็นจังหวัดเล็กๆ มีพื้นที่แค่ 800 กว่า ตร.กม. แต่หากว่าด้วยความยิ่งใหญ่และความสำคัญของสิงห์บุรี จังหวัดนี้ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย ดูได้จากคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า
“ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนช่อนแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี”
สิ่งที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักและนึกถึงเมืองสิงห์บุรีนั้น ก็คงไม่พ้นเรื่องราวของเหล่า วีรชนบ้านบางระจันผู้มีความรักชาติและกล้าหาญ ทำการรบป้องกันข้าศึกไม่ให้รุกรานผืนแผ่นดินไทยได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อมาเยือนสิงห์บุรีจึงไม่พลาดที่จะไปชม “อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันและอุทยานค่ายบางระจัน” ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 15 กม. นอกจากจะได้ชมความงามและพักผ่อนหย่อนใจไปกับสวนรุกขชาติภายในค่ายแล้ว เลือดรักชาติคงจะแล่นผ่านทุกอณูขุมขน เพราะค่ายบางระจันมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนไทย โดยได้สร้างจำลองให้มีรูปแบบค่ายในสมัยโบราณ ทำให้ซึมซับกับวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน
ย้อนกลับไปสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พ.ศ. 2308) ในขณะที่พม่าตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านบางระจันนำโดย นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายทองแก้ว นายดอก นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายทองเหม็น ขุนสรรค์ พันเรือง ได้ซ่องสุมชาวบ้านรวม 600 คน มาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติผู้ทรงวิทยาคม ตั้งค่ายสู้รบกับทหารของเนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าที่บ้านบางระจัน ด้วยความรักชาติ สามัคคี และเสียสละ ดำเนินยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยกลศึกและภูมิปัญญาแบบไทยสไตล์ชาวบางระจัน กระทั่งสามารถเอาชนะทหารพม่าที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าได้ถึง 7 ครั้ง แต่ด้วยกำลังพลและอาวุธที่เสียเปรียบมาก ในการรบครั้งที่ 8 เมื่อวันจันทร์ ปีจอ พ.ศ. 2309 พม่าจึงตีค่ายบางระจันได้สำเร็จ รวมเวลาที่ชาวบ้านรบกับพม่าทั้งสิ้น 5 เดือน รัฐบาลโดยกรมศิลปากรได้สร้างอนุสาวรีย์ วีรชนชาวบ้านบางระจัน ทั้ง 11 คน ขึ้น เพื่อให้ลูกหลานไทยได้รำลึกถึงตลอดไป
ตรงข้ามอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันคือ “วัดโพธิ์เก้าต้น หรือ วัดไม้แดง” เป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านพม่า ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดไม้แดง” เพราะภายในบริเวณมีต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น และชาวบ้านถือกันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าตัดหรือทำลาย ในบริเวณวัดมี “วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ” ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญผู้หนึ่งของชาวบ้านบางระจัน
เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของวีรชนบางระจัน ทางจังหวัดสิงห์บุรีจึงได้จัด “งานวันวีรชนค่ายบางระจัน” ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ที่บริเวณอนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน มีการแสดงละครประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวีรกรรมวีรชนค่ายบางระจัน ประกอบแสง สี เสียง การละเล่นพื้นบ้าน มหรสพ การแสดงนิทรรศการของดีเมืองสิงห์ต่าง ๆ มากมาย
ซึมซับเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันก็ให้รู้สึกฮึกเหิมเหลือกำลัง อยากให้ลูกหลานไทยได้มาเรียนรู้เสียจริงๆ ว่ากว่าชาติจะดำรงเป็นอธิปไตยอยู่ได้ บรรพชนต้องหลั่งเลือดพลีชีวิตเพื่อแผ่นดินไปมากมาย แม้ในปัจจุบันสงครามระหว่างประเทศไม่ได้ดำเนินแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเหมือนในอดีต แต่ก็มีสงครามจิตวิทยาในรูปแบบอื่นๆ ที่อาจจะกลืนความเป็นชาติไทยให้ค่อยๆ สูญหาย แต่หากคนไทยมี “ความสามัคคี” เหมือนชาวบ้านบางระจันที่สามัคคีกันถึงที่สุด ก็จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้
เดี๋ยวการเที่ยวจังหวัดคราวนี้จะเป็นการปลุกใจให้รักชาติมากเกินไป จนเสียอรรถรสการท่องเที่ยวไปเสียหมด เพราะสิงห์บุรียังมีที่เที่ยวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะวัดเก่าแก่ต่างๆ อย่างเช่น “วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร” พระอารามหลวงชั้นตรี ที่ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ ลักษณะแบบสุโขทัยมีความยาว 47.4 เมตร
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเมืองสิงห์ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ไว้ในสาสน์สมเด็จ ว่า "...เมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองใหญ่และเก่า มีป้อมปราการ วัง วัดมหาธาตุ และของสำคัญ คือพระนอนจักรสีห์ ใหญ่ยาวกว่าพระนอนองค์อื่น ๆในเมืองไทย ทำเป็นแบบพระนอนอินเดียเหมือนเช่นที่ถ้ำเมืองยะลา คือ พระกรขวาศอกยื่นไปทางด้านหน้า ไม่ทำงอพระกรตั้งขึ้นรับพระเศียรแบบพระนอนไทย...”
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปีจะมี “ประเพณีตีข้าวบิณฑ์” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ทำกันอยู่แห่งเดียวที่หมู่บ้านจักรสีห์ โดยชาวบ้านจะนัดกันทำพิธีโดยการนำข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวแดงมาหุงหรือนึ่งพอสุกนำมาใส่ใบตองพับเป็นรูปกรวย นำไปถวายหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ หลังจากนั้นจะทำพิธีลาข้าวชาวบ้านจะแบ่งกันรับประทานข้าวที่เหลือ ซึ่งถือว่าเป็นข้าวบิณฑ์ของหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์
ไม่ใช่จะมีเฉพาะพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ สิงห์บุรียังมีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ “พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี” หรือหลวงพ่อใหญ่ สูงถึง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพิกุลทอง” หรือ วัดหลวงพ่อแพ นอกจากนี้ยังมีสวนธรรมะ และสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจ แวดล้อมด้วยบรรยากาศสงบร่มรื่น
“วัดสว่างอารมณ์” ซึ่งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กม. เป็นวัดที่มีความสำคัญและน่าสนใจ เพราะวัดนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายด้าน ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา และปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรี วัดนี้ยังเป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และยังสามารถเล่นได้กว่า 300 นอกจากนี้ยังมีเรือหางยาวอันเก่าแก่ที่เคยมีชื่อเสียงของจังหวัดสิงห์บุรี เช่นเรือหงษ์ทอง ที่ทางวัดได้เก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชม
ยังมีอีกหลายวัดที่มีประวัติและศิลปกรรมอันงดงามและทรงคุณค่า กระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ คือ อ.เมือง วัดกระดังงาบุปผาราม วัดประโชติการาม วัดหน้าพระธาตุ อ.บางระจัน วัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) อ.พรหมบุรี วัดกุฎีทอง วัดพระปรางคมุนี
ส่วนที่ อ.อินทร์บุรี นอกจากจะมี วัดโบสถ์ วัดม่วง วัดสุทธาวาส หรือ วัดใหม่ แล้วยังมีการขุดค้นพบร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ “เมืองโบราณบ้านคูเมือง” สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี มีการขุดค้นพบภาชนะดินเผามากมาย และพบเหรียญเงินมีคำจารึกว่า “ศรีทวาราวดีศวรปุญยะ” แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยฟูนันจนถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี” และภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านคูเมืองปัจจุบันได้จัดให้เป็นสวนรุกขชาติมีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่นสวยงาม
ผ่านเรื่องราวของเมืองสิงห์บุรีมามากมาย แต่คงยังไม่คลายสงสัยว่าคำขวัญ “นามกระฉ่อนช่อนแม่ลา” นั้นคืออะไร จึงจะพาไปที่ “อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์” โดยคำว่า “แม่ลา” เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งของจังหวัด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้นปลาที่จับได้จากลำน้ำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อ ประมาณปลายเดือนธันวาคมของทุกปีจะมี “งานเทศกาลกินปลาและงานกาชาดจังหวัดสิงห์บุรี” ซึ่งได้รวบรวมอาหารรสเด็ดของสิงห์บุรีรอต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนอย่างมากมาย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรี เพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต 7 โทร. 0-3642-2768-9
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรี โทร. 0-3651-2132
ศูนย์การท่องเทที่ยวกีฬาและนันทนาการจังหวัดสิงห์บุรี โทร. 0-3650-7175
ศูนย์วัฒนธรรมอนุรักษ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ เปิดให้ชม วันจันทร์-ศุกร์ 09.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 08.30-17.00 น. สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและชมการแสดงสาธิตการแสดงหนังใหญ่ โปรดติดต่อล่วงหน้า โทร.0-3654-3150, 0-3654-3237, 0-1851-6205, 0-1802-6085
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จังหวัดสิงห์บุรี
"หนังใหญ่"...กับลมหายใจที่แผ่วเบา
พระอาจารย์ธรรมโชติ ขวัญ กำลังใจแห่งบ้านบางระจัน