xs
xsm
sm
md
lg

“ละบูน” คลื่นยักษ์ในภาคภาษา “มอแกน”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี


หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์ TSUNAMI ไม่กี่วัน ราชบัณฑิตยสถาน ได้ออกมาตีฆ้องร้องปล่าวให้คนไทยรับรู้ว่า “TSUNAMI” ต้องสะกดและอ่านออกเสียง“สึนามิ” หากใครเขียนและอ่านต่างไป ก็จะถูกครหาว่าใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยน ทั้งๆที่ TSUNAMI ไม่ใช่ภาษาพ่อ ภาษาแม่

เรื่องนี้ แอ๊ด คาราบาว โดนมาเต็มๆ เพราะดันไปใช้ “ซูนามิ” ในเพลง "น้ำตาอันดามัน" ด้วยเหตุผลของความมันในการออกเสียงเวลาร้องเพลง

สำหรับชาว “มอแกน” ที่ หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา พวกเขาไม่รู้จักทั้ง สึนามิ และ ซูนามิ

แต่พวกเขารู้จัก“ละบูน”?!?

ละบูน คืออะไร เรื่องนี้ต้องให้ ลุงซาลามะ ผู้นำชาวมอแกน แห่งเกาะสุรินทร์ จ.พังงา ซึ่งผมยกให้เป็น The Old Man and The Sea อธิบาย

“ไอ้คลื่นใหญ่ที่มันพัดทำลายหมู่บ้าน พวกมอแกนเรียกกันว่า“ละบูน” เป็นคลื่นใหญ่ที่เกิดแบบแปลกประหลาดเวลาเด็กๆจะลงเล่นน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ชาวมอแกนจะเตือนตลอดว่าให้ระวังละบูน พอเห็นน้ำขึ้น-ลง ผิดสังเกตก็รีบวิ่งขึ้นที่สูงทันที ”

เมื่อลุงซาลามะไขข้อข้องใจในละบูนให้ฟัง ผมก็เริ่มกระจ่างต่อคลื่นยักษ์ในแบบฉบับของมอแกนมากขึ้น

ส่วนคำว่า“ละบูน” ในภาษามอแกน จะสะกดถูกต้องตามหลักของราชบัณฑิตยสถานหรือเปล่า เรื่องนี้ไม่อาจตอบได้

แต่ว่าการเกิดละบูนตามความเชื่อของชาวมอแกนนั้น ลุงซาลามะแกอธิบายได้ว่า ละบูนไม่ใช่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ว่าเกิดจากการกระทำของ “พญาน้ำ”!?!

“พวกมอแกนเราเชื่อว่าในน้ำมีพญาน้ำ ส่วนในป่าก็มีพญาป่าอาศัยถ้ามอแกนไปทำอะไรผิดก็จะถูกลงโทษ อย่างละบูนนี่เป็นการลงโทษของพญาน้ำ”

เรื่องการถูกพญาน้ำลงโทษนี่ ลุงซาลามะ แกตั้งข้อสันนิษฐานให้ผมไปคิดต่อว่า ที่เกิดละบูนขึ้น น่าจะเกิดจากการที่มีคนไปทำ“หล่อโบง”มากเกินไป โดยไม่ได้มีการเซ่นไหว้

พูดถึงหล่อโบง ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่เคยไปเกาะสุรินทร์อาจเคยไปยืนเก็กถ่ายรูปคู่กับหล่อโบงมาแล้ว เพราะหล่อโบงนั้นก็คือเสาวิญญาณบรรพบุรุษของชาวมอแกน มี“แอบ๊าบ”เป็นวิญญาณฝ่ายชาย และ “เอบูม” เป็นวิญญาณฝ่ายหญิง โดยหล่อโบงอันศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมของมอแกนจะสร้างเป็นเสาไม้มีการแกะสลักเป็นหน้าตาแบบง่ายๆ

แต่ว่ามาพักหลัง ทางอุทยานฯหมู่เกาะสุรินทร์ได้สร้างหล่อโบงขึ้นมาหลายต้น มีการแกะสลักตกแต่งประดับประดาทาสีสันอย่างสวยงามผิดเพี้ยนไปจากหล่อโบงอันศักดิ์สิทธิ์ของมอแกน เพื่อให้นักท่องเที่ยวไปยืนแอ๊คท่าถ่ายรูป โดยไม่ได้ทำพิธีเซ่นไหว้แต่อย่างใด

เรื่องหล่อโบงนี่ชาวมอแกนนับถือมาก ทุกๆปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ทางจันทรคติ ชาวมอแกนจะจัดพิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษขึ้น ซึ่งมอแกนเรียกว่า “เหนียะเอ็นหล่อโบง”

ในพิธีนี้มอแกนจะหยุดงาน 3 วัน 3 คืน โดยมีญาติพี่น้องชาวมอแกนจากที่ต่างๆเดินทางมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองหล่อโบง ระหว่างนั้นก็จะมี พิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ มีการดื่มกิน การเล่นดนตรีร่ายรำ การเข้าทรง เรียกว่าเป็นงานประจำปีที่ใหญ่ และขลังมากสำหรับชาวมอแกน

แต่ด้วยวิธีการคิดของราชการไทย ที่มองมอแกนจากคนในที่อยู่กับหมู่เกาะสุรินทร์มาช้านาน ให้กลายเป็นคนนอกที่กลายเป็นหนึ่งในจุดขายการท่องเที่ยว ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างของชาวมอแกนถูกทำให้เปลี่ยนไป ไม่เว้นแม้แต่หล่อโบงอันศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเคารพ

“หล่อโบงของชาวมอแกนจริงๆ ปกติจะทำปีละไม่เกิน 4 ต้น และไปปักไว้ตามที่ต่างๆ แต่หลังๆมาเขาทำหล่อโบงกันเยอะเกิน และไม่มีการเซ่นไหว้ นี่ก็เลยเป็นสิ่งที่ทำให้มอแกนถูกทำลาย เพราะว่ามันผิดไปจากธรรมชาติของมอแกน พญาน้ำจะเข้ามากวาดล้างสิ่งไม่ดีให้หมดไป” ลุงซาลามะตั้งข้อสังเกต ซึ่งถึงเรื่องนี้จะพิสูจน์ไม่ได้ แต่ว่าก็ห้ามแกคิดไม่ได้เหมือนกัน

แต่ว่าเมื่อสิ่งที่ผิดธรรมชาติไม่ได้เกิดจากชาวมอแกน ก็ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้พญาน้ำยังปราณีต่อชาวมอแกน เพราะก่อนที่จะเกิดละบูนได้มีลางบอกเหตุเตือนกับผู้เฒ่าผู้แก่ชาวมอแกน โดยเฉพาะซาลามะที่เป็นผู้นำ ซึ่งก่อนเกิดเหตุ 3 วัน ลุงซาลามะฝันเห็นทะเลเป็นสีเลือด ส่วน“โจก”ผู้เป็นลูกชายของลุงฯก็ฝันเห็น “ก้อง” พี่ชายที่เสียชีวิตไป กลับมาเตือนภัย บอกให้หนีขึ้นเขา

วันรุ่งขึ้นลุงซาลามะบอกให้มอแกนเฝ้าระวัง แล้ววันที่ 26 ธ.ค. 47 เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

“วันนั้นลุงกำลังหั่นหมูอยู่ที่หาดไม้งาม จู่ๆก็ได้ยินเสียงคลื่นแปลกไป มันเหมือนเสียงน้ำตกมาซู่ใหญ่ ตอนแรกลุงนึกว่ามีพวกนาย คนใหญ่ คนโต นั่งเฮลิคอปเตอร์มา ก็เลยวิ่งไปดู(ตอนนั้นลุงซาลามะอยู่ห่างจากหาดประมาณ 200 เมตร) แต่พอวิ่งไปเห็นคลื่นใหญ่มาแต่ไกล ลุงรีบวิ่งขึ้นเขาและบอกให้นักท่องเที่ยวที่อยู่แถวนั้นวิ่งหนีขึ้นเขา เพราะลุงแน่ใจว่านี่คือ ละบูน”

สำหรับเหตุการณ์คลื่นยักษ์พัดถล่ม ชาวมอแกนที่เกาะสุรินทร์เกือบทั้งหมดสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะละบูนนั้นพัดพาหมู่บ้าน เรือ และ ข้าวของเครื่องใช้ของพวกเขา หายวับไปในทะเล แต่ว่าพวกมอแกนก็เอาตัวรอดปลอดภัยกันทุกคน ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขานั้นรู้เรื่องลางบอกเหตุล่วงหน้า และมอแกนก็ระวังฝังใจกับละบูนมาโดยตลอด นอกจากนี้มอแกนยังเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องทะเลมากๆ เมื่อเห็นสายน้ำผิดปกติพวกเขาก็รีบเผ่นขึ้นที่สูงทันที

ในวันเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ ภูมิปัญญาและวีรกรรมของมอแกนในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างได้รับการยกย่อง โดยเฉพาะนาธาน โอมาน และ อ้น สราวุฒิ ถึงกับสดุดี ส่วนลุงซาลามะนั้นมีคนเห็นแกพาฝรั่งกลุ่มหนึ่งวิ่งขึ้นเขาไป

แต่ว่าหลังจากเหตุการณ์สงบ ไม่มีคนพบเห็นลุงซาลามะ...

ลุงซาลามะแกหายไปไหน?!?

คนที่เชี่ยวชาญกับท้องทะเลต้องมาจากไปเพราะละบูนหรือ?!?

เปล่าเลย...

เรื่องนี้ ณัฐพล พลบำรุงวงศ์ หรือ อาร์ม ผู้คุ้นเคยกับชาวมอแกน รู้เรื่องดี เพราะว่าอาร์มเป็นคนไปพบลุงซาลามะนอนแน่นิ่งอยู่

“ที่อาคาร 6 เหลี่ยม(จุดนี้ปลอดภัยจากคลื่นยักษ์) ผมมองไปเห็นคนนอนฟุบหน้านิ่งอยู่ ตอนแรกนึกว่าเป็นคนที่ถูกคลื่นพัดมาจากอ่าวช่องขาด เลยรีบวิ่งขึ้นไป สะกิดดู ก็ไม่ยอมตื่น สุดท้ายเลยเอาน้ำพรมเลยตื่น และเมื่อหันหน้ามา โธ่ นึกว่าใคร ลุงซาลามะนี่เอง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ลุงแกก็สิ้นเนื้อประดาตัวเหมือนกับมอแกนคนอื่นๆ”

อาร์ม รำลึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานพร้อมกับเล่าเพิ่มเติมว่า แม้ว่าพวกมอแกนจะไม่เหลืออะไร แต่ว่าพวกเขาก็ยังขับเรือหางของทางอุทยานฯไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ติดค้างบนเกาะ มอแกนบาคนขับเรือไปร้องไห้ไป ซึ่งเวลาอาร์มนึกถึงเรื่องนี้ทีไรจะน้ำตาซึมทุกที

“ส่วนลุงซาลามะ ในวันที่ผมมาเจอ แกฟุบหลับอยู่ พอลุงแกตื่นขึ้นมาก็เพ้อใหญ่ บอกว่าไอ้ก้องลูกชายแกมาเตือนแล้ว แต่พอแกบอกไปมีแต่มอแกนที่เชื่อ แล้วก็เกิดเรื่องขึ้น แต่ที่ลุงไม่ไปไหนเพราะแกเพ้อว่าลูกชายชื่อก้องเป็นคนพาแกมานั่งที่ศาลาและก็ชวนกินเหล้า พอน้ำลด(เหตุการณ์กลับสู่ปกติ) ลุงซาลามะเห็นกระป๋องเบียร์ลอยมาเต็ม แกก็ลงไปเก็บขึ้นมานั่งกินจนเมาหลับไป จนผมมาเจอแกเข้า”

ผมฟังอาร์มเล่าแล้วรู้สึกว่าลุงซาลามะยังคงไว้ลายความเป็น The Old Man and The Sea ผู้เชี่ยวชาญท้องทะเล เพราะไม่เพียงหาปู ปลา หาอาหารทะเลเก่ง แต่แกยังหาเบียร์ในทะเลเก่งอีกด้วย

แต่ที่ฟังแล้วแทบไม่เชื่อหูก็คือ ลุงซาลามะ ที่ปกติเป็นคนสนุก คุยเก่ง คุยโว เฮฮา เสียงดัง ดูไม่นำพาปรารมภ์กับเรื่องใดๆ แต่หลังจากเกิดละบูนมีคนบอกว่า เห็นลุงซาลามะร้องไห้ ?!? 
 
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถติดต่อช่วยเหลือ หรือสอบถามเรื่องราวของชาวมอแกนได้ที่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-7375

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ชีวิตชาวมอแกน
“ซาลามะ” : The Old Man and The Sea (1)
“ซาลามะ” : The Old Man and The Sea (จบ)
 
กำลังโหลดความคิดเห็น