ถ้าพูดถึงภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยแล้วละก็ รับรองว่าถ้วยชามสังคโลก สินค้าโอท็อปในสมัยที่สุโขทัยเป็นราชธานีต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะนอกจากความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ก็ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งในสมัยนั้น แต่รู้หรือไม่ว่า ที่บ้านทุ่งหลวงใน อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย จังหวัดเดียวกันนี้ ก็มีเครื่องปั้นดินเผาที่มีมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
แม้ว่าเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่ากับถ้วยชามสังคโลก แต่มีบันทึกในจดหมายเหตุของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เมื่อคราวที่ท่านเดินทางมาสำรวจมณฑลพิษณุโลกใน พ.ศ.2444 ว่า “...วันที่ 18 เวลาตื่นตอนเช้า พระยาสุโขทัยเอาหม้อกรันมาให้ 3 ใบ เป็นหม้อที่ตั้งใจทำอย่างประณีตภาษาบ้านนอก เขาทำที่บ้านทุ่งหลวงอยู่ใต้เมืองสุโขทัยฝั่งตะวันตก หม้อใหญ่กระพุงเกือบสองศอกเขาก็ทำ...”
นั่นแสดงให้เห็นว่า การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านทุ่งหลวงในจังหวัดสุโขทัยนั้น มีความเป็นมายาวนานกว่าศตวรรษแล้ว และหม้อกรันที่ว่านั้นก็คือหม้อน้ำสมัยโบราณซึ่งมีรูปแบบเฉพาะของชาวทุ่งหลวง ซึ่งมีส่วนผสมของทรายมากกว่าปกติเพื่อช่วยในการคายน้ำ ดังนั้นน้ำในหม้อกรันบ้านทุ่งหลวงจึงมีความเย็นมากกว่าหม้อทั่วไปๆ และหม้อกรันนี้ยังใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน โดยเชื่อว่าจะกันความชั่วร้ายและสิ่งไม่ดีออกไป
การทำเครื่องปั้นดินเผาของบ้านทุ่งหลวงในตอนนี้ไม่ได้ทำกันแค่เป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่ที่นี่เขาทำกันเป็นเรื่องเป็นราว จนมีการตั้ง “กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง” ขึ้นมา จนถึงในตอนนี้กลุ่มฯ ก็มีอายุได้ 11 ปี พอดี
ขอม โพธิ์ดี ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง เล่าถึงความเป็นมาของการก่อตั้งกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงในปี พ.ศ.2537 ว่า เมื่อก่อนนี้การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านทุ่งหลวงเป็นเพียงอาชีพเสริมหลังจากการทำนาเท่านั้น การทำเครื่องปั้นดินเผาในช่วงนั้นเป็นการทำไว้เพื่อแลกเปลี่ยนของกินของใช้อื่นๆ กับหมู่บ้านใกล้เคียง
“หลังจากที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ทั้งยังช่วยเรื่องการหาตลาด ประกอบกับมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดเวลาในการทำนา ชาวบ้านจึงมีเวลาในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้มากขึ้น” ลุงขอมกล่าว ดังนั้นในปัจจุบันนี้ การปั้นเครื่องปั้นดินเผาจึงกลายเป็นอาชีพหลักที่ทำรายได้ให้แก่ชาวบ้านทุ่งหลวง จนได้รับการประกาศให้เป็น “หมู่บ้านอุตสาหกรรมดีเด่น” ในปี พ.ศ.2539
ปัจจุบันชาวทุ่งหลวงกว่า 200 ครัวเรือนก็ยังคงผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นอาชีพ โดยจะนำดินเหนียวที่ขุดจากที่นารอบหมู่บ้านมาแช่น้ำไว้ 1 วันกับ 1 คืน จากนั้นจึงนำดินมานวด โดยในอดีตจะใช้วิธีย่ำด้วยเท้า แต่ปัจจุบันนี้มีเครื่องนวดดินมาช่วยทุ่นแรง เสร็จแล้วจึงนำดินที่นวดเรียบร้อยแล้วมาปั้น โดยวิธีปั้นจะมี 4 วิธีด้วยกัน คือการตี การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การหล่อน้ำดิน และการปั้นด้วยมือ
สำหรับวิธีปั้นโดยการตี ในขั้นแรกจะขึ้นรูปตรงส่วนคอของภาชนะด้วยแป้นหมุนก่อน จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าหินทุบกับไม้ตีทำตรงส่วนตัวของภาชนะให้เข้ารูป ส่วนวิธีการหล่อน้ำดินจะมีความพิเศษตรงดินที่ใช้ คือในน้ำหนักดิน 100% จะมีดินขาวจากลำปางเป็นส่วนประกอบ 20-30% นำมาใส่โอ่งกวนให้ละเอียด และใช้ตะแกรงกรองอีกชั้นหนึ่ง และเทใส่บล็อกหล่อเป็นรูปทรงภาชนะ เนื่องจากการหล่อจะต้องอาศัยความยืดหยุ่นของดินมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ดินขาวมาผสม นอกจากนั้นดินขาวยังทนต่อความร้อนสูงๆ ได้ดีอีกด้วย
ส่วนการปั้นด้วยมือ จะเป็นการปั้นแบบอิสระ เช่น ปั้นตุ๊กตา แต่การปั้นแบบที่ชาวบ้านทุ่งหลวงนิยมทำก็คือการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เพราะจะทำได้เยอะและเร็ว บางคนทำได้ถึงวันละกว่า 100 ลูกทีเดียว
เมื่อเสร็จจากการปั้นแล้ว ต่อจากนั้นจะนำมาฉลุลวดลายให้สวยงาม นอกจากการฉลุลายแล้ว ก็ยังมีการทำลวดลายแบบใช้ลูกกลิ้ง ซึ่งลุงขอมเป็นคนคิดขึ้น เพื่อให้สามารถทำลวดลายได้สะดวก รวดเร็ว และสม่ำเสมอ เมื่อเสร็จแล้วตากไว้ให้แห้ง แล้วก็ไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือการเผา
สำหรับเตาเผาในสมัยก่อนจะเป็นเตาสุมแบบเปิดโล่ง แต่ที่ใช้ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเตาสุม แต่มีกำแพงอิฐก่อล้อมรอบ และใช้ไม่ไผ่ป่าและฟางเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งใช้เตาลมผ่านที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาสร้างให้ บางบ้านที่มีเงินทุนหน่อยก็จะสร้างเตาแมงป่อง ซึ่งเป็นเหมือนอุโมงค์ปิดรอบด้าน ขั้นตอนในเผานี้จะใช้เวลาประมาณ 2 วัน เครื่องปั้นดินเผาจึงออกมาสมบูรณ์
เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ จะมีพ่อค้ามารับซื้อไปขายต่อตามที่ต่างๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมาขายที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรีด้วย และราคาก็อาจพุ่งขึ้นไปตามระยะทาง แต่หากใครได้มาเลือกชมเลือกซื้อเครื่องปั้นดินเผาที่กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงซึ่งเป็นแหล่งผลิตแล้วจะทราบว่าจริงนั้นราคาถูกมากๆ เช่น ตุ๊กตาเต่าดินเผาตัวเล็กๆ ราคาตัวละ 5 บาท หม้อใบขนาดย่อมๆ ราคาเพียง 17 บาท ตะเกียงดินเผาอันละ 20 บาท ส่วนตุ๊กตาดินเผารูปเด็กน้อยอ้วนจ้ำม่ำก็ราคาเพียงแค่ 100 บาท เท่านั้นเอง หากเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ไปขายอยู่ในกรุงเทพฯ ราคาอาจจะแพงขึ้น 2-3 เท่าเลยทีเดียว
ลุงขอมพูดถึงธุรกิจในการทำศูนย์เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงว่า “ตอนนี้เรียกว่าอยู่ในขั้นพออยู่ได้ ยังไม่ถึงขั้นดี เพราะยังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของการขายให้ดีมากยิ่งขึ้น” แต่ก็มีเรื่องน่าพอใจที่ลูกหลานและเด็กๆ ในหมู่บ้านที่มักจะไปทำงานในกรุงเทพ เมื่อเห็นตัวอย่างในหมู่บ้านว่าสามารถมีรายได้จากการปั้นเครื่องปั้นดินเผาขาย ต่างก็มาเรียนรู้วิชาและสืบต่ออาชีพของรุ่นปู่ย่าตายายต่อไป
ด้วยวิถีชีวิตที่น่าสนใจของชาวบ้านทุ่งหลวง ทำให้ที่นี่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อพัฒนาให้เป็น “หมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว” โดยได้จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านสำหรับให้นักท่องเที่ยวเดินลงพื้นที่ชมกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในแบบต่างๆ ตามแต่ละบ้าน ซึ่งลุงขอมบอกว่าโครงการนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าใครอยากจะมาสัมผัสชีวิตช่างปั้นดินที่บ้านทุ่งหลวงแห่งนี้ และได้ลองปั้นถ้วยชามด้วยสองมือของตัวเอง ก็อย่ารอช้า เพราะชาวบ้านทุ่งหลวงเขาบอกว่า “ยินดีต้อนรับ”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
บ้านทุ่งหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย 64160 สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยวได้ที่ โทร.0-5569-3451
การเดินทางสู่บ้านทุ่งหลวง จากอำเภอเมืองสุโขทัย มาตามทางหลวงหมายเลข 101 (สุโขทัย-กำแพงเพชร) ถึงกิโลเมตรที่ 18 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่หมู่บ้านทุ่งหลวง