“สตูล” จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม และยังตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามันมีเกาะแก่งที่สวยงาม อุดมด้วยธรรมชาติป่าเขาที่สมบูรณ์ ดูเหมือนว่าช่วงนี้สตูลจะเป็นจังหวัดที่น่าสนใจ เพราะทั้ง ‘เฉียด’ กับการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และ ‘เฉี่ยว’ กับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ที่แม้บางแหล่งท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็เป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อย
สตูล มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” ชื่อเมืองมาจากคำภาษามาลายูว่า ‘สโตย’แปลว่ากระท้อน ต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามาลายูว่า "นครสโตยมำบังสการา” แปลเป็นภาษาไทยว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา
หลายสิ่งหลายอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ของเมืองนี้จึงล้วนแต่น่าสนใจ ซึ่งถ้าอยากรู้เรื่องราวยาวนานของจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้ ต้องไปที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล” หรือ คฤหาสน์กูเด็น มีอายุกว่าร้อยปี ซึ่งพระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง (กูเด็น บินกูแม๊ะ) อดีตเจ้าเมืองสตูล ได้สร้างขึ้น เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบโคโลเนียล
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า เกาะสวยที่กำลังไต่อันดับความนิยมอยู่ในลำดับต้นๆ อย่าง เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะเภตรา เกาะบุโหลน เหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของจังหวัดสตูล และนับจากนี้ไปจะพาไปเที่ยวท่องล่องทะเล แล้วจะรู้ว่าแรงดึงดูดของมนต์เสน่ห์ทะเลสตูลนั้นมีมากขนาดไหน
เริ่มจากอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย นั่นก็คือ “อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ 51 เกาะ ได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ สัตว์ป่า และสัตว์ทะเลนานาชนิด
นอกจากความสวยงามของธรรมชาติในอุทยานฯแล้ว เรื่องราวของที่นี่ก็น่าตื่นเต้นและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย เพราะ“เกาะตะรุเตา” ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด เคยเป็นทั้งสถานที่กักกันนักโทษการเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องของความโหดร้ายทารุณ และยังมีเรื่องราวของโจรสลัดตะรุเตาที่น่ากลัวคอยปล้นสะดมเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำบริเวณช่องแคบมะละกา
นั่นอาจจะเป็นเรื่องราวน่ากลัวในอดีตที่ใครๆ ก็ไม่คิดอยากไปกล้ำกราย แต่ในตอนนี้ทั้งอ่าวตะโละดาบ อ่าวหินงาม อ่าวพันเตมะละกา อ่าวเมาะ อ่าวสน และอีกหลายอ่าวหลายหาดในเกาะ ที่ล้วนแต่เป็นที่ๆ มีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนและดำน้ำดูปะการัง และนอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆเกาะในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ที่กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศต่างมุ่งหน้าไปเที่ยวชม ซึ่งสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และถือเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล ที่คงจะเคยคุ้นกันก็คือ “เกาะไข่” ที่มี ‘ซุ้มประตูหินธรรมชาติ’ คอยต้อนรับผู้มาเยือน
แต่ถ้าถามถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพราะมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีน้ำตก และหาดทรายขาว และเป็นแหล่งปะการังที่สวยงามสมบูรณ์ติดอันดับของประเทศ ต้องยกให้ “หมู่เกาะอาดัง-ราวี”
“เกาะอาดัง” มาจากคำเดิมในภาษามลายูว่า ‘อุดัง’ มีความหมายว่า ‘กุ้ง’ เพราะเคยมีกุ้งทะเลมาก เป็นเกาะที่มีหาดทรายละเอียดสวยงาม บนเกาะมีน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดปี คือ ‘น้ำตกโจรสลัด’ และมีจุดชมวิว ‘ผาชะโด’ ซึ่งในอดีตเคยเป็นจุดสังเกตการณ์ของโจรสลัดเพื่อเข้าโจมตีเรือสินค้า แต่ตอนนี้เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมองลงไปจะเห็นทิวสนและแหลมทรายสีขาวของเกาะอาดัง ส่วน “เกาะราวี” ที่อยู่ห่างจากเกาะอาดังเพียง 1 ก.ม. ก็มีหาดทรายที่ขาว สวย สะอาด น้ำทะเลใส เงียบสงบ มีปะการังที่สวยเช่นกัน
แต่ถ้าอยากเที่ยวชมความสวยงามของธรรมชาติ พร้อมกับสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนชาวเล ต้องไปที่ “เกาะสิเป๊ะ หรือ เกาะหลีเป๊ะ” ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะอาดังไปทางใต้ประมาณ 2 ก.ม. เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีชุมชนชาวเลที่มีภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเองอาศัยอยู่ จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ความเป็นธรรมชาติของปะการังรอบเกาะ มีเวิ้งอ่าวที่สวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มเหมือนแป้ง มีอ่าวที่สวยงามชื่อ "อ่าวพัทยา"และ "หาดชาวเล" มีลักษณะโค้งเว้า ทรายขาวละเอียด ซึ่งทั้งสองหาดนี้สามารถเดินถึงกันได้
อุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีความสวยงามและน่าท่องเที่ยวอีกแห่งของสตูล คือ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา” ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน ในคาบสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ คือ “เกาะบุโหลน” ซึ่งเป็นเกาะที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘มุกใหม่แห่งอันดามัน’ มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสวยใสสวย มีจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกกระจายอยู่หลายจุด ใต้ท้องทะเลอุดมไปด้วยปะการังหลากสี ในตอนกลางคืนบริเวณชายหาดมีปูเสฉวน ปูลม ให้ดู และยังเป็นจุดดูพระอาทิตย์ตกที่สวยงามจุดหนึ่งด้วย
เที่ยวทะเลมามากจนตัวอาจจะดำคล้ำไปสักหน่อย ลองเปลี่ยนมาเที่ยวบนบกดูบ้าง แต่ก็ยังไม่ทิ้งทะเลไปเท่าไหร่ เพราะ ที่จะไปต่อไปคือ“อุทยานแห่งชาติทะเลบัน” คำว่า “ทะเลบัน” มาจากคำว่า “เลิด เรอบัน” เป็นภาษามลายูแปลว่า ทะเลยุบ ซึ่งเป็นการยุบตัวของพื้นดินระหว่างเขาจีนและเขามดแดง เกิดเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีสัตว์ (ประหลาด) อยู่เฉพาะที่ทะเลบันเท่านั้นคือ ‘เขียดว้าก’ หรือหมาน้ำ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำรูปร่างคล้ายกบและคางคก แต่มีหาง ส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัข จะมีชุกชุมตามริมบึงโดยเฉพาะในฤดูฝน อยากเห็นว่าเป็นอย่างไรก็ต้องลองไปดูกัน
สิ่งที่น่าสนใจและไม่น่าลืมอีกอย่างก็คือ สตูลยังมีชนอีกกลุ่มที่น่ารู้จัก นั่นคือ“ซาไก” ชาวป่าที่เราคุ้นเรียกว่า ‘เงาะป่า’ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าเขตพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า และ อ.ควนโดน ชาวซาไกมีความจำดีช่างสังเกต ชำนาญในการบุกป่าและวิ่งเร็ว ลักษณะนิสัยร่าเริง ชอบความสนุกสนาน ชอบเสียงดนตรี กลัวผี กินเก่ง กินจุ ชาวซาไกไม่ชอบอาบน้ำเพราะเชี่อว่าการอาบน้ำชำระร่างกาย จะทำให้กลิ่นป่าหายไปการออกล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารจะไม่ได้ผล
ซาไกในสมัยก่อนจะนุ่งห่มใบไม้และเปลือกไม้ จนเมื่อได้ติดต่อกับชาวบ้านหรือคนเมืองมากขึ้นจึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นนุ่งเสื้อผ้า รวมถึงวิถีความเป็นอยู่ต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยนตามยุคสมัย กลายมาเป็นคนเมืองมากขึ้น ซึ่งถ้าหากใครมีโอกาสผ่านไปเที่ยวหรือแวะเยี่ยมเยือนพวกเขา ก็อย่าได้มองซาไกเป็นเหมือนสินค้าทางการท่องเที่ยว แต่ให้มองด้วยความเข้าใจว่าพวกเขาก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล” เปิดทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. โทร. 0-7472-3140
ช่วงที่เหมาะในการเดินทางไปอุทยานฯตะรุเตา คือเดือนธันวาคม-เมษายน จังหวัดสตูลได้ก่อสร้างถนนบนเกาะตะรุเตาจากท่าเรือตะโล๊ะวาวสู่อ่าวพันเตมะละกา นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเกาะตามเส้นทางใหม่ได้ตลอดทั้งปี โดยมาลงเรือที่ ท่าเรือตำมะลัง
เกาะอาดัง มีบริการบ้านพักของอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ โทร. 0-2561-2918-21 หรือ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา โทร. 0-7478-3485 หรือ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.5 (แหลมสน-เกาะอาดัง) โทร. 0-7471-2409, 0-7472-8028-9
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-7479-7072-3, 0-7472-9202-3 หรือ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โทร. 0-2562-0760
สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคใต้ เขต 1โทร. 0-7423-1055, 0-7423-8518, 0-7424-3747