"ไก่" กับ "ไข่" อะไรเกิดก่อนกัน???
ปัญหาโลกแตกข้อนี้ยากเกินกว่าปุถุชนธรรมดาจะหยั่งรู้
แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้กันดีก็คือ ปีนี้ พ.ศ. 2548 หรือ ค.ศ. 2005 เป็น "ปีไก่"
สำหรับปีไก่หากนับแบบสากลก็จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา
หากนับแบบจีนปีไก่จะเริ่มตอนตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์
และถ้านับแบบไทย ปีไก่ หรือ "ปีระกา" จะเริ่มในวันสงกรานต์
อนึ่งการที่ปีนี้ถือเป็นปีไก่นั้นเป็นการนับตามปีนักษัตร (อ่านว่า นัก-สัด) โดยใน 1 รอบปีนักษัตรนั้น มี 12 ปี เรียก 12 นักษัตร ซึ่งประกอบไปด้วย 1: หนู(ชวด) 2: วัว(ฉลู) 3: เสือ(ขาล) 4: กระต่าย(เถาะ) 5 : งูใหญ่(มะโรง) 6: งูเล็ก(มะเส็ง) 7: ม้า(มะเมีย) 8: แพะ(มะแม) 9 : ลิง(วอก) 10: ไก่(ระกา) 11: หมา(จอ) 12 : หมู(กุน)
และเมื่อพูดถึงปีไก่ก็ต้องยอมรับว่า ปีที่แล้ว(2547) เมืองไทยฆ่าไก่ทิ้งเป็นเบือจากสาเหตุไข้หวัดนก ซึ่งก็มีคนพูดกันว่าปีนี้จะเป็นปีที่ไก่มาเอาคืนจึงเรียกปี 2548 ว่า "ปีไก่ชน" ส่วนบางคนก็แย้งว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ไก่ให้คุณต่างหาก "ปีไก่ทอง" จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ซึ่งก็ว่ากันไป
สำหรับคนไทยเรานั้นต้องยอมรับว่าคุ้นเคยกับไก่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาหารเกี่ยวกับไก่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไก่ย่าง ไก่ทอด แกงไก่ กระเพราไก่ ฯลฯ
แต่ถ้าหากว่าจะพูดถึงเรื่องท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับไก่ หลายๆคนออกจะงุนงงสงสัยว่า มันไปเกี่ยวกันได้อย่างไร? แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากประมวลแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับไก่ในเมืองไทย ก็ต้องถือว่ามีอยู่พอสมควร ซึ่งหากใครจะใช้โอกาสปีไก่เที่ยวในสถานที่ ที่เกี่ยวกับไก่ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย
"พระธาตุหริภุญชัย"พระธาตุประจำตัวคนเกิดปีไก่
ตามความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดในคติล้านนานั้น คนที่เกิดปีไก่เพื่อความเป็นสิริมงคลสูงยิ่งของชีวิตควรไหว้ "พระธาตุหริภุญชัย" แห่ง จ.ลำพูน ...(คลิกอ่านรายละเอียดพระธาตุประจำปีเกิด)
สำหรับพระธาตุหริภุญชัย ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย กลางเมืองลำพูน ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์นครหริภุญชัยราว พ.ศ.1586
ต่อมาได้มีการบูรณะพระบรมธาตุองค์นี้อีกหลายต่อหลายครั้ง ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชเมื่อ พ.ศ.1986 โปรดให้เสริมพระธาตุเป็น 23 วา ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก ยอดมีฉัตร 7 ชั้น หลังจากนั้นพระเมืองแก้วได้ทรงสร้างระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วล้อมพระธาตุ 500 เล่ม พร้อมกับวิหารหลวง
ใน ปีพ.ศ.2329 พระเจ้ากาวิละได้ทรงทำการบูรณะพระบรมธาตุ และทรงสร้างฉัตรหลวงขึ้น 4 มุม และสร้างฉัตรยอดเจดีย์ด้วยทองคำเป็น 9 ชั้น ฐานพระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 10 วา และสร้างรั้วทองเหลืองล้อมรอบองค์เจดีย์ด้านใน
พระธาตุหริภุญชัย มีองค์พระธาตุเป็นสีทองเหลืองอร่าม ฐานชั้นล่างสุด เป็นฐานเขียง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป 3 ชั้น ถัดจากฐานเขียง เป็นฐานบัวลูกแก้วหรือฐานปัทม์
ส่วนกลาง เป็นชั้นที่ถัดจากบัวลูกแก้วขึ้นไป ทำเป็นฐานเขียงกลมซ้อนกัน 3 ชั้น และถัดขึ้นไปทำเป็นฐานกลมมีลักษณะ คล้ายมาลัยเถาซ้อนกัน 3 ชั้นรองรับองค์ระฆังส่วนกลาง โดยรอบระฆังทำเป็นลายดุนรูปดอกไม้สี่กลีบ และระหว่างลายดอกไม้สี่กลีบ มีการทำเป็นลายดุนนูน เป็นรูปพระพุทธรูป
ส่วนบนถัดจากองค์ระฆังขึ้นไปเป็นส่วนบัลลังก์ก้านฉัตรปล้องไฉน ปลียอดบนสุดเป็นฉัตร 9 ชั้น
องค์ประกอบทั่วไปของพระธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐาน "พระสุวรรณเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระเกศธาตุ ธาตุกระดูกกระหม่อม ธาตุกระดูกหน้าอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มหนึ่งบาตร โดยในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี พระธาตุหริภุญัย จะมีงานประเพณีสรงน้ำองค์พระธาตุขึ้น
ลำปาง "เมืองไก่"
จากพระธาตุปีไก่เมืองลำพูน ในจังหวัดติดๆกันอย่าง ลำปาง ก็ถือเป็นเมืองไก่ ที่หลายๆคนอาจยังไม่รู้จัก ทั้งนี้เมืองลำปาง นอกจากจะมีชื่อเดิมว่า "เขลางค์นคร" แล้ว ก็ยังมีชื่อเก่าแก่อีกชื่อหนึ่งว่า "กุกกุฏนคร" (อ่านว่า กุก-กุ-ตะ-นคร ซึ่ง กุกกุฏ แปลว่า ไก่) โดยตามตำนานได้เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกโปรดสัตว์มาจนถึงเมืองนี้ พระอินทร์ได้ทราบก็เกรงว่าชาวเมืองจะตื่นไม่ทันทำบุญกับพระพุทธองค์ จึงแปลงกายเป็นไก่สีขาวขันปลุกชาวเมืองให้ตื่นทันออกมาทำบุญตักบาตร ด้วยเหตุนี้เมืองลำปางจึงได้ชื่อว่า กุกกุฏนคร
ด้วยเหตุนี้จังหวัดลำปางจึงใช้ตราสัญลักษณ์จังหวัดเป็นรูปไก่ขาว รวมไปถึงตามป้ายชื่อถนน บนสะพาน หรือตามตึกต่างๆ ซึ่งหลายๆคนแม้ไม่รู้ว่าลำปางเป็นเมืองไก่ แต่กับรู้ว่าถ้วยชามตราไก่นั้นหาซื้อได้ทั่วไปในจังหวัดลำปาง เป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ส่งขายไปไกลถึงเมืองนอก
สำหรับเหตุผลที่จังหวัดลำปางมีชื่อเสียงในเรื่องของถ้วยชามตราไก่ก็เป็นเพราะว่าที่จังหวัดแห่งนี้มีแร่ "ดินขาว" มากที่สุดในประเทศไทย โดยชาวลำปางจะนำแร่ดินขาวไปทำเซรามิกต่างๆมากมาย แต่ที่โด่งดังจนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์จังหวัดก็คือ ชามตราไก่
ซึ่งตำนานของชามตราไก่เมืองลำปางนั้นถือกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2500 โดย ซิมหยู, เซี่ยะหยุย, ซิมกิม, ซือเมน แซ่เท่น (โรงงานเจริญเมืองในปัจจุบัน) ได้ร่วมกันก่อตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกของจังหวัดลำปาง ชื่อ "โรงงานร่วมสมัคร" ขึ้นที่หมู่บ้านป่าขาม อำเภอเมือง
จากนั้นพวกเขาก็ได้ผลิตชามไก่ขนาด 6 นิ้ว และ 7 นิ้ว ขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดตำนานของชามตราไก่แห่งจังหวัดลำปาง และหลังจากนั้นมาชามตราไก่ก็มีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันชามตราไก่ได้ถูกชาวลำปางพัฒนาไปเป็นงานเซรามิกมากมาย ทั้งถ้วย ชาม ถ้วยกาแฟ ชุดน้ำชา และของที่ระลึกอีกมากมาย...อ่านรายละเอียดเรื่องราวชามตราไก่
จากสัญลักษณ์ไก่ขาวแห่งเมืองลำปาง เดินทางลงใต้ไปจังหวัดสตูล จังหวัดนี้มี "ไก่ดำ"เป็นหนึ่งในคำขวัญจังหวัดที่กล่าวว่า "ตะรุเตา ไก่ดำ จำปาดะ คนใจพระ งามเลิศเชิดสตูล" ซึ่งไก่ดำนั้นถือเป็นหนึ่งในเมนูสุขภาพที่คนจีนบอกว่าเมื่อกินแล้วจะช่วย บำรุงกำลังวังชา บำรุงไต ทำให้เลือดลมดี ใครที่มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดสตูลก็สามารถไปถามไถ่หาไก่ดำเมืองสตูลกันได้
ส่วนใครที่อยากไปจังหวัดน้องไก่ ก็ต้องไปที่จังหวัดสุรินทร์ เพราะจังหวัดนี้หลังจาก "ปวีณา ทองสุก" หรือ "น้องไก่" ไปคว้าชัยเหรียญทองยกน้ำหนักในกีฬาโอลิมปิคเมื่อปีที่แล้ว ทำให้หลายๆคนเรียกจังหวัดสุรินทร์เล่นๆว่าจังหวัดน้องไก่ไปโดยปริยาย
พระลอตาม“ไก่”ที่เมืองสรอง
ยุคนี้ พ.ศ.นี้ นักเที่ยวกลางคืนรู้ดีว่า หากจะไปจับไก่ควรไปแถวรัชดาซอย 4 หากจะให้ไก่จับควรไปโรงแรมแถวถนนเพชรบุรี แต่กับในวรรณกรรมไทยเรื่อง "ลิลิตพระลอ" นั้น พระลอได้ถูกปู่เจ้าสมิงพรายลงเสน่ห์เวทย์มนต์ให้ไก่ ซึ่งเป็นไก่ที่มีสีสันรูปทรงสวยงาม หลอกล่อให้พระลอหลงตามตามไปเพื่อพบกับพระเพื่อนพระแพง ที่ในตอนท้ายกลายเป็นโศกนาฏกรรมแห่งความรักไป
โดยในเนื้อเรื่องได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนพระลอตามไก่ว่า " …ปู่เลือกไก่ตัวงาม ทรงทรามวัยทรามแรง สร้อยแสงแดงพพราย ขนเขียวลายยยับ ปีกสลับเบญจรงค์ เลื่อมลายรงค์หงสบาท… "
ในวรรณกรรมเรื่องลิลิตพระลอนี้ นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อกันว่าเป็นเรืองจริง ที่เกิดขึ้นใน "เมืองสรอง" ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสอง จังหวัดแพร่ เนื่องจากว่ามีหลักฐานหลายอย่างสอดคล้องกันเช่น เมืองสรอง ซึ่งเป็นเมืองของพระเพื่อนพระแพงผู้เลอโฉม มีวัดพระธาตุพระลอ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "พระธาตุพระลอ" อันเป็นพระธาตุที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 400 ปี เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระอัฐิของ พระลอ พระเพื่อน พระแพง นอกจากนี้ยังมีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระลอ พระเพื่อน พระแพง ไว้ที่วัดแห่งนี้ด้วย
ชื่อ "ไก่" ในที่เที่ยวทางทะเล
ไก่แม้ไม่ถูกกับน้ำ แต่ว่าสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลบางแห่งก็มีชื่อไก่ไปเกี่ยวข้องอยู่
เกาะไก่ แห่งทะเลกระบี่ นับเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีคนนิยมพานักท่องเที่ยวไปล่องเรือลอยลมชมทิวทัศน์แห่งท้องทะเลและดำน้ำดูปะการังที่ทะเลกระบี่ ซึ่งกลุ่มเกาะในทะเลกระบี่ที่อยู่ละแวกเดียวกับเกาะไก่ก็มี เกาะทัพ เกาะหม้อ เกาะปอดะ
โดยเกาะไก่หากมองแบบใช้จินตนาการก็จะมีด้านหนึ่งของเกาะดูคล้ายหัวไก่ตั่งตระหง่านโดดเด่น ส่วนบริเวณด้านหลังของเกาะไก่ ก็นับเป็นอีกจุดดำน้ำตื้นชมปะการังแห่งทะเลกระบี่ที่คนนิยม แต่จากเหตุการณ์สึนามิ ก็ส่งผลให้ปะการังน้ำตื้นของเกาะไก่เสียหายพอสมควร
จากเกาะไก่ ทะเลกระบี่แห่งอันดามัน ย้ายฟากไปที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ฝั่งอ่าวไทยกันบ้าง เกาะนี้แม้ชื่อช้าง แต่ก็มีอยู่หาดหนึ่งชื่อว่า "หาดไก่แบ้" ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะช้าง หาดนี้แม้ไม่ใช่หาดยอดนิยมเท่าหาดทรายขาว แต่ว่าหาดไก่แบ้ที่อยู่ติดกับหาดคลองพร้าวก็เป็นหนึ่งในหาดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวกันไม่ได้ขาด เนื่องจากหาดไก่แบ้สามารถเล่นน้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย และแถวนั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างที่พัก ร้านอาหารครบครัน
"ปูไก่" สิมิลัน อันซีนไทยแลนด์
เหตุการณ์สึนามิ ทำหลายพื้นที่ทางทะเลไทยฝั่งอันดามันเสียหายมากน้อยต่างกันออกไป สำหรับเกาะสิมิลัน จ.พังงานั้น ถือว่าเสียหายน้อยมาก
หมู่เกาะสิมิลันนอกจากจะมีทะเลและปะการังที่สวยงามแล้ว ที่เกาะเมียงหรือเกาะสี่ แห่งหมู่เกาะสิมิลันยังมี "ปูไก่" ถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ที่มีคนนิยมไปเที่ยวชมกันไม่น้อย
ปูไก่ แม้จะอยู่ที่เกาะสิมิลันแต่กลับเป็นปูน้ำจืด ชอบอาศัยอยู่ตามธารน้ำ มีลำตัวสีแดงสด มีก้ามสีดำเหลือบน้ำเงิน เวลาร้องจะมีเสียงคล้ายไก่ แต่ก่อนปูไก่มีอยู่ทั่วไปในภาคใต้ แต่ว่าปัจจุบันถูกจับกินไปเกือบหมด แต่ที่กะสิมิลันยังคงมีปูไก่อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกมันจะออกมาหากินในช่วงกลางคืน ซึ่งทางอุทยานฯสิมิลันก็ได้จัดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวส่องปูไก่ในยามค่ำคืน โดยบริเวณที่ปูไก่อาศัยอยู่นั้นจะอยู่บริเวณทางเดินไปหาดเล็ก ห่างจากที่พักนิดหน่อย
ใครที่อยากดูปูไก่โผล่ออกจากรูในยามค่ำคืนก็ให้เดินถือไฟฉาย ย่องไปเงียบๆ ไปส่องตามรูที่ปูไก่อยู่ หากโชคดีก็จะเจอปูไก่ตัวใจออกมาเดินตุปัดตุเป๋หากินกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับช่วงฟื้นฟูอุทยานฯสิมิลัน นักท่องเที่ยวคงไม่สามารถเดินดูปูไก่ตอนกลางคืนได้ เพราะว่าทางอุทยานฯได้เปิดให้คนไปเที่ยวเกาะแบบไปเช้า-เย็นกลับ ต้องรอให้ทางอุทยานฯกลับมาเปิดตามปกติที่สามารถค้างคืนบนเกาะได้ ก็ถึงจะมีโอกาสได้ไปส่องปูไก่ในยามค่ำคืน เพราะทางอุทยานฯได้ระบุว่าเหตุการณ์สึนามิไม่ส่งผลกระทบต่อปูไก่แต่อย่างใด
“ไก่” พันธุ์ดังของไทย
ไก่ฟ้าพญาลอ เป็นสัตว์ป่าที่หายากเนื่องจากว่าถูกล่าและจับไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก อาศัยอยู่ในผืนป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ ชอบหากินเงียบๆ เป็นฝูงเล็กๆ ตามพื้นดินจะบินเฉพาะยามขึ้นเกาะนอนบนต้นไม้หรือเมื่อตกใจ หากมีอันตรายจะวิ่งหลบตามที่รกทึบ อาหารได้แก่เมล็ดพืช ผลไม้และแมลงในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้มักชอบขยับปีกให้เกิดเสียงดังเพื่อเกี้ยวพาราสีตัวเมีย รังจะทำอยู่ตามพื้นดินและวางไข่คราวละมาก พบบ่อยที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนใครอยากชมไก่ฟ้าพญาลอก็ไม่ยากที่เขาดิน และสวนสัตว์ใหญ่ๆจะมีไก่ฟ้าพญาลอเลี้ยงไว้ให้ชม
ไก่เบตง เป็นไก่พันธุ์ต่างประเทศ พันธุ์ "กวางใส" ซึ่งเป็นไก่พันธุ์เนื้อ มีคุณภาพดีเลิศ รสชาติดี เนื้อนุ่ม ไม่เหนียว กลิ่นหอมชวนรับประทาน และต่อมา ได้เรียกชื่อไก่พันธุ์ ไก่พันธุ์เบตง ตามประวัติความเป็นมาของไก่พันธุ์นี้ เข้าใจว่าเป็นไก่ซึ่งมี เชื้อสายมาจากไก่พันธุ์ แลนซาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาตั้ง หลักแหล่งในประเทศไทยที่อำเภอเบตง ได้นำเอาไก่พันธุ์นี้มาเลี้ยงด้วย ต่อมาก็แพร่พันธุ์ไป ทั่วในจังหวัดยะลา และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันไก่พันธุ์นี้มีจำนวนลดน้อยลงมาก
"ไก่" กับบุคคลสำคัญ
นอกจากเรื่องราวในข้างต้นแล้ว ในเมืองไทยยังมีเรื่องราวของไก่ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในที่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกด้วย
เริ่มกันที่กษัตริย์นักรบอย่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่หากใครผ่านไปยังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในจังหวัดพิษณุโลก ก็จะเห็นว่ามีคนนำตุ๊กตาไก่ชนมาถวายแก้บนสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งก็อย่างที่หลายๆคนรู้กันว่าสมเด็จพระนเรศวร นั้นโปรดปรานการชนไก่มาก และการชนไก่ระหว่าง พระนเรศวร กับ พระมหาอุปราชา แห่งพม่า ในปี พ.ศ. 2112 เมื่อครั้งที่ พระองค์ ตกเป็นเชลยของพระเจ้าหงสาวดี บุเรงนอง
และผลปรากฏว่า ไก่ชนของไทย ไก่ชนของไทยเป็นฝ่ายชนะ ทำให้พระมหาอุปราชาเกิดโมหะและพิโรธมาก จึงตรัสเสียดสีเหยียดหยามสมเด็จพระนเรศวร ว่า "ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ" สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า "ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่ตีพนันชนเอาเดิมพันเลย ถึงชนเอาบ้านเอาเมืองกันเมื่อไรก็ได้"
และนั่นก็คือเรื่องราวอันโด่งดังของ “ไก่ชนพระนเรศวร” หรือ ไก่เจ้าเลี้ยง ที่เป็นไก่อู พันธุ์ “เหลืองหางขาว” เป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า "ไก่เหลืองหางขาว" ซึ่งนับเป็นยอดไก่ชน มีลักษณะสีสร้อยเหลือง แข้งขาวอมเหลือง ปากขาวอมเหลืองหางสีขาวยาวเหมือนฟ่อนข้าว ยืนผงาดอกเชิดท้ายลาด หน้าแหลมยาวเหมือนหน้านกยูง ปีกใหญ่ยาวมีขนแซมทั้งสองข้าง อกใหญ่ ตัวยาว หางรัดชิด แข้งเล็กนิ้วยาวเรียว เดือยงอน เวลาขันเสียงใหญ่-ยาว
โดยที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมักจะมีคนนำหุ่นหรือตุ๊กตาไก่ชนไปถวายอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร หลังจากการบนบานศาลกล่าวประสบความสำเร็จ
อีกหนึ่งเรื่องราวไก่ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญก็คือที่ "อนุสาวรีย์ของพระยาพิชัยดาบหัก" แห่งจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระยาพิชัยเป็นคนที่ชมชอบการต่อสู้ ในการแก้บนพระยาพิชัยฯจึงมีการ ชกมวยแก้บน(มีเด็กรับจ้างชกมวยแก้บน)
นอกจากนี้ก็ยังมีการนำไก่ชนปลอม และไก่ชนจริงๆมาแก้บน มีทั้งที่นำไก่มาชนต่อหน้าอนุสาวรีย์ และนำไก่ชนมาผูกไว้ประมาณ 15-30 นาทีที่หน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยฯ
ส่วนอีกบุคคลสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับไก่ก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายกฯที่เกิดในปีไก่ โดยเรื่องราวของจอมพล ป. ได้ถูกจัดแสดงไว้ที่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่(ศป.) อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยในนั้นมี อนุสรณ์สถาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตึกพิบูลสงคราม และอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม