ผ่านปีลิงดุเข้าสู่ปีไก่ได้สักระยะแล้ว ท่ามกลางคราบน้ำตาที่ยังไม่จางจากเหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้ อากาศต้นปีนี้เย็นกว่าที่ใครหลายคนคิดเอาไว้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…ใครหลายคนเย็นเข้าไปถึงหัวใจที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป
ปีใหม่คงไม่มีอะไรดีกว่าการชวนกันไปไหว้พระให้ลืมทุกข์โศก และปีนี้เป็นปีระกา การขึ้นเหนือเพื่อกราบนมัสการพระธาตุหริภุญชัยพระธาตุประจำคนเกิดปีระกาที่ “ลำพูน”
จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
“พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวี” คือคำขวัญประจำจังหวัดลำพูนที่มีเสน่ห์ตรึงผู้ไปเยือนได้เสมอเพราะ “ลำพูน” คือเวียงเก่าแก่ที่สุดทางภาคเหนือ เดิมชื่อ "นครหริภุญชัย" สร้างใน พ.ศ.1200 แล้วเชิญพระธิดากษัตริย์กรุงละโว้นามว่า "จามเทวี" มาครอง หลังรัชสมัยพระนาง มีกษัตริย์สืบต่อมาหลายองค์ ก่อนจะถูกรวมกับล้านนาสมัยพญามังรายและโดนพม่ายึดครองไปพร้อมเชียงใหม่ ในที่สุดสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินขับไล่พม่าออกจากล้านนาสำเร็จลำพูนจึงถูกปลดปล่อย
จุดเริ่มต้นสำหรับการเที่ยวลำพูนคงไม่มีอะไรเหมาะกว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย” เยื้องวัดพระธาตุหริภุญชัยในตัวเมือง ภายในมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ 3 ห้องคือ “ห้องจัดแสดงใหญ่” เป็นห้องโถงยาวอยู่ชั้นบนของตัวอาคาร “ห้องจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านและเครื่องไม้จำหลัก” วัตถุที่แสดงเป็นศิลปะล้านนา รัตนโกสินทร์ แสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น “ห้องศิลาจารึก” แสดงศิลาจารึก สมัยหริภุญชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 17 สิ่งที่ได้รับจากที่นี่คืออาหารสมองที่ดีที่สุด ก่อนจะท่องเมืองลำพูนด้วยความเข้าใจ
สถานที่สำคัญอีกแห่งที่อยู่เยื้องพิพิธภัณฑ์ไปนิดเดียวคือ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ “พระบรมธาตุหริภุญชัย” ซึ่งสร้างขึ้นยุคที่นครนี้เจริญสูงสุดสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุคือธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง
พระธาตุหริภุญชัยถือเป็นปูชนียสถานสำคัญของล้านนาแต่โบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปีจะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุ เชื่อว่าใครเกิดปีระกาหากได้นมัสการจะได้บุญมหาศาล
ในวัดพระธาตุหริภุญชัยยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ “ซุ้มประตู” ฝีมือช่างสมัยศรีวิชัย ก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายอย่างวิจิตรพิสดาร และ “วิหารหลวง” เป็นวิหารใหญ่มีระเบียงรอบด้าน มีมุขออกทั้งด้านหน้าและหลัง วิหารที่เราเห็นสร้างขึ้นแทนวิหารหลังเก่าซึ่งถูกพายุเมื่อพ.ศ.2458 ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองบนแท่นแก้ว
ไหว้พระธาตุแล้วก็ไปต่อที่ “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี” โดยสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี องค์ปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญชัย ซึ่งได้นำศาสนาศิลปวัฒนธรรมมายังดินแดนนี้จนรุ่งเรืองสืบถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นไปที่ “วัดจามเทวี” หรือ “วัดกู่กุด” สิ่งสำคัญคือเจดีย์ในวัดรูปทรงคล้ายเจดีย์พุทธคยาในอินเดีย และยังไปคล้ายสัตตมหาปราสาทที่เมืองโบลนนาลุวะของศรีลังกาด้วย ทั้งสี่ด้านเจดีย์มีจุดเด่นคือมีพระพุทธรูปปางประทานพรอยู่ด้านละ 3 องค์สูงขึ้นไป 5 ชั้น รวมทั้งหมด 60 องค์ ภายในบรรจุอัฐิพระนางจามเทวี เล่ากันว่าเดิมยอดหุ้มด้วยทองคำต่อหักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า กู่กุด และยังมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอีกว่า พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ ซึ่งกู่กุดนี้นับทางททท.ยกให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์
ออกจากวัดแล้วมุ่งหน้าไป “กู่ช้าง-กู่ม้า” โบราณสถานบริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว เป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ชื่อ ภูก่ำงาเขียว หมายถึงช้างผิวสีคล้ำงาสีเขียวที่ทรงอานุภาพและอิทธิฤทธิ์ในสงคราม สถูปนี้มีความพิเศษคือคล้ายกับเจดีย์บอบอคยีในพม่า เป็นทรงกระบอกตั้งบนฐานกลมห้าชั้น ส่วนกู่ม้าเป็นสถูปทรงระฆัง เชื่อว่าเป็นสุสานม้าทรงของพระโอรสพระนางจามเทวี
ห่างจากเมืองไปอีกราว 5 กิโลเมตร สามารถจอดรถนมัสการ “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” (พ.ศ. 2421-2481) เชิงดอยติ บริเวณวัดดอยติ โดยไปตามถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง ท่านเป็นพระเถระเจ้าผู้พัฒนาทั้งด้านจิตใจและถาวรวัตถุให้ชาวล้านนาอย่างอเนกอนันต์ และบ้านเดิมของท่านอยู่ที่อำเภอลี้ จึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวลำพูนยิ่ง
ลำพูนมีวัดมากมาย อีกวัดที่น่าไปคือ “วัดพระพุทธบาทตากผ้า” ที่ตำบลมะกอก วัดนี้เป็นปูชนียสถานของลำพูน ตำนานเล่าว่าพระพุทธองค์พร้อมสาวกเสด็จจาริกสั่งสอนจนถึงที่นี่ มีรับสั่งให้นำจีวรที่ซักระหว่างทางมาตากกับหน้าผาหินซึ่งปรากฏเป็นรอยอยู่ จากนั้นทรงเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งวัดปัจจุบัน บนม่อนดอยหลังวัดยังมีการสร้างพระเจดีย์ศิลปะผสมผสานจากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย มีบันไดนาค 469 ขั้น เชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระบาทตากผ้าที่เชิงดอย
นอกจากนี้ที่ "วัดมหาวัน" มีตำนานการสร้างวัดกล่าวว่า วัดนี้สร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นครองนครหริภุญไชย สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อคือ พระรอดมหาวัน
มาลำพูนก็ต้องนึกถึงลำไย ในเดือน 8 จะมีงาน เทศกาลลำไย ลำพูนในอำเภอเมือง แหล่งกำเนิดลำไยที่เราจะไปเยือนคือ “บ้านหนองช้างคืน” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยใหญ่ที่สุดอยู่ก่อนถึงลำพูน 8 กิโลเมตร โดยผ่านบ้านป่าเหวมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาเข้าบ้านหนองช้างคืน ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง ตรงเข้าไป 7 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้าน ตลอดสองฝั่งทางที่ลดเลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้านจะเนืองแน่นไปด้วยสวนลำไย ใครไปลำพูนเดือนสิงหาคมลองไปหาซื้อติดมือกลับบ้านกันได้
ลำพูนไม่ได้มีแค่วัด และโบราณสถานให้ศึกษาเท่านั้น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็มี “อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล”
ซึ่งเป็นป่าเขาอุดมสมบูรณ์ สถานที่น่าสนใจของอุทยานฯ คือ “อุโมงค์ขุนตาล” เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยความยาวกว่า 1.3 กิโลเมตร น้ำตกก็มีเช่น น้ำตกแม่กลองและ น้ำตกตาดเหมย แน่นอน จังหวัดลำพูน ยังมี “อุทยานแห่งชาติแม่ปิง”
อีกแห่งหนึ่งด้วยหากยังเที่ยวธรรมชาติไม่จุใจพอ
แม้ช่วงนี้อากาศจะเย็น …. แต่เมื่อได้ไหว้พระและชม วิถีอันงดงามของเมืองลำพูน เชื่อว่าจิตใจคงจะสบายขึ้นไม่มากก็น้อย ในปีระกาฟ้าใหม่ที่เพิ่งมาถึงนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานททท. ภาคเหนือ เขต 1 โทร. 0-5324-8604 , 0-5324-8607