xs
xsm
sm
md
lg

หลายหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ระดมช่วย-ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากกรณีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนับพันรายนั้น ในขณะนี้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนได้ร่วมมือกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกๆ ด้าน ทั้งด้านปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เรื่องอาหารน้ำดื่ม และที่อยู่อาศัยชั่วคราว และด้านการฟื้นฟูระยะยาว เช่น ด้านการเงิน การฟื้นฟูสภาพแหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังมีการเสนอแนะการแก้ไขปัญหาในเชิงบูรณาการ

รมว.คลังเรียกประชุมหน่วยงานตลาดทุนหาทางช่วยเหลือภาคใต้

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมด่วนร่วมกับ 5 สมาคมด้านตลาดทุน นำโดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) สุเทพ พีตกานนท์ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนเพื่อหารือมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ในฝั่งทะเลอันดามัน โดยยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องมีการเรียกความมั่นใจจากนักลงทุน เพราะทุกคนมีความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติ และคาดว่าจะสามารถฟื้นฟู 6 จังหวัดที่ประสบภัยได้ในระยะเวลาอันสั้น

หน่วยงานรัฐหลายกระทรวง ร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัย

กระทรวงเกษตรฯ ส่งเรือช่วยเหลือผู้ประสบภัย 3 ลำ และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประสานงานที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล จ. กระบี่ และสถานนีวิทยุชายฝั่ง จ. ภูเก็ต และจ.ระนอง เพื่อระวังและเตือนภัย สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรส่งเครื่องบิน 7 ลำ อพยพผู้ประสบภัยจากเกาะต่างๆ และขนเครื่องยังชีพเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย

กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงงาน ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ยกค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตปะกอบกิจการกับโรงงานที่ได้รับความเสียหาย พร้อมกับได้ตั้งศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค

กระทรวงพาณิชย์สั่งให้ประกันภัยจังหวัดประสานงานกับสาขาประกันภัยในพื้นที่ และประสานงานกับสมาคมประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิต ขอความร่วมมือแจ้งบริษัทสมาชิกร่วมให้ความช่วยเหลือจ่ายสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์และผู้เสียหายเป็นกรณีพิเศษ

กระทรวงคมนาคม โดยกรมขนส่งทางน้ำแฃะพาณิชย์นาวี ระดมเรือขุด เรือยาง ของรัฐและเอกชนอกค้นหาผู้รอดชีวิตและแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้รอดชีวิต กรมขนส่งทางบกจัดให้บริการรถประจำทางในจังหวัดที่ประสบภัย และจัดส่งรสเสริมขนผู้โดยสารตกค้างจากภูเก็ตไปยังสถานนีรถไฟสุราษฎร์ธานี 3 เที่ยว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมจัดรถบริการรับ-ส่ง ผู้โดยสารจากสนามบินดอนเมืองไปจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จัดคณะทำงานสำรวจความเสียหายเส้นทางต่างๆ เพื่อบูรณะ การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนรถ 11 ตู้ รับผู้โยสารตกค้างจาก ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง

กระทรวงมหาดไทย ขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดๆ ละ 50 ล้านบาท หรืองบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ธนาคารผนึกกำลังบริจาคเงินช่วยเหลือ-ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย มอบเงินบริจาคพิเศษในนามสมาคมธนาคารไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 100 ล้านบาท กสิกรไทย 5 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 5 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา 5 ล้านบาท ไทยธนาคาร 1.5 ล้านบาท ยูโอบีรัตนสินร่วมกับเอเชีย 3 ล้านบาท ธนาคารเอชเอสบีซี 1 ล้านบาทให้ทำเนียบรัฐบาล และบัตรเครดิตกรุงไทย (เคทีซี) มอบ 4 ล้านบาทให้สภากาชาดไทย พร้อมยกยอดหนี้ให้แก่ลูกค้าที่เสียชีวิต และยืดระยะเวลาชำระบัตรแก่ลูกค้าที่เดือดร้อน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกมาตรการเร่งด่วนออกสินเชื่อช่วยพี่น้องภาคใต้ ด้วยวงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อให้กู้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย โดยไม่ต้องใช้หลักค้ำประกัน และจะคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำเพียง 2% ในปีแรก หลักจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR และสามารถผ่อนชำระได้นานสุดถึง 5 ปี โดยลูกค้าและผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขาในจังหวัด ภูเก็ต พังงา ระนอง สตูล ตรัง หรือ CALL CENTER 1572 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากการสำรวจตัวเลขสินเชื่อรวมของธนาคารที่ปล่อยให้กับธุรกิจใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์มีประมาณ 7,200 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อรายย่อยที่ปล่อยให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและร้านค้าประมาณ 6,450 ล้านบาท ที่เหลืออีก 600-700 ล้านบาท เป็นลูกค้าธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของธุรกิจรายใหญ่ของธนาคาร

บัณฑูร กล่าวต่อว่าภายหลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่ม ได้ส่งผลกระทบกับลูกค้าธนาคารในพื้นที่ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ธนาคารจึงได้มีความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ลูกค้ากลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด โดยช่วยเหลือตามความจำเป็นแต่ละราย ทั้งการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ทั้งการยืดหนี้ พักชำระหนี้ และการให้วงเงินระยะสั้นดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อฟื้นฟูกิจการโดยเร็ว

ด้านเลอศักดิ์ จุลเทศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ธนาคารมีลูกค้าในพื้นที่ประมาณ 30 ราย โดยเป็นลูกค้ารายใหญ่วงเงิน 100 ล้านบาทเพียงหนึ่งรายที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งธนาคารได้ติดต่อไปยังลูกค้าและมีมาตรการช่วยเหลือ โดยมีทั้งพักหนี้ ยืดอายุการชำระหนี้ รวมทั้งให้วงเงินสินเชื่อระยะสั้นดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความจำเป็นของลูกค้า โดยการเจรจากับลูกค้าเพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ก็จะทำให้ลูกค้าของธนาคารไม่เป็นเอ็นพีแอล

ททท.เร่งทำแผนฟื้นฟูแหล่งเที่ยวประสบภัยสึนามิ

จุฑามาศ ศิริวรรณ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์ โดยเฉพาะที่จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา เพื่อตรวจดูความเสียหาย พร้อมกับนำข้อมูลมากำหนดแผนฟื้นฟู ให้กลับคืนสู่สภาพปกติให้รวดเร็วที่สุด

โดยในการนี้ทางททท. ได้จัดตั้งศูนย์แก้ไขวิกฤตท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้รองผู้ว่าการฝ่ายต่างๆ อาทิ สุรพล เศวตเศรนี ดูแลด้านข่าวสาร พรศิริ มโนหาญ ดูแลเคาน์เตอร์ที่สนามบิน และจุฑาพร เริงรณอาษา ดูแลด้านบุคลากร ส่วนความช่วยเหลือด้านต่างๆ ขณะนี้ทางททท. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปยัง 3 จังฟวัดที่ได้รับผบกระทบมากสุด คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ จำนวน 12 คน ใน 3 จุด โดยศุนย์กลางความช่วยเหลืออยู่ที่ จ. ภูเก็ต

ทั้งนี้การสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเริ่มตั้งแต่ชายหาดต่างๆ ในทะเล ใต้น้ำ และปะการัง พร้อมกับบันทึกภาพความเสียหาย เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลหลักฐานประกอบการพิจารณา คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อมูลเบื้องต้นกลับเข้ามา ทั้งนี้ใน 3 จังหวัดที่เสียหายจากคลื่นยักษ์ เป็นพื้นที่ที่ทำรายได้ให้กับการท่องเที่ยว ประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้รวมททท.ในแต่ละปี

อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว จะดำเนินการไปพร้อมกับการจัดระเบียบ โรงแรมห้องพัก บังกาโล รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าใหม่ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา มีที่พักหลายแห่งที่ปลูกสร้างในลักษณะรุกล้ำพื้นที่สงวนและอนุรักษ์

ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนน่าจะฟื้นฟูสภาพแหล่งท่องเที่ยวและโรงแรมให้คืนสู่สภาพปกติได้ประมาณ 70% ยกเว้น เขาหลัก กับเกาะพีพี ซึ่งมีความเสียหายมาก ซึ่งเบื้องต้นที่เขาหลักมีการลงทุนโรงแรมใหม่ถึง 8,000 ห้อง เฉลี่ยเม็ดเงินลงทุนห้องละ 500,000 บาท ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ส่วนเกาะพีพี ส่วนใหญ่เป็นบังกะโลขนาดเล็ก มีการลงทุนไม่สูงมาก โดยทั้งหมด รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของแหล่งเงินทุนกู้ยืมระยะยาว เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารกรุงไทย

ในส่วนของพันธมิตรการทำตลาดต่างประเทศ อย่างอมาดิอุส และ เซ็นเด้นท์ ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือไทยเต็มที่ ด้วยการให้ททท.นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่ง ททท.มองว่า น่าจะเป็นภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งขณะนี้โรงแรมห้องพักมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 30% จึงน่ารองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่ม ในระหว่างที่ทำการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด นอกจากนั้นแหล่งท่องเที่ยวที่ททท.จะนำเสนอเพิ่มเติม เช่น ประจวบฯ หัวหิน ชุมพร รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน และเชียงใหม่

นอกจากนี้ในส่วนของการจัดที่พักให้แก่นักท่องเที่ยวที่ประสบภัยนั้น ทางททท.ได้ร่วมกับสมาคมโรงแรมได้ทำการจัดที่พักให้นักท่องเที่ยว 216 ห้อง รวม 520 คน ขณะที่ศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิตรองรับได้ 1,000 คน และยังมีที่ว่างอยู่ รวมทั้งทางสมาคมโรงแรมยังได้จัดหาที่พักให้เพิ่ม และสมาคมไทย ธุรกิจการท่องเที่ยวหาที่พักเพิ่มให้อีก 300 ห้อง ซึ่งขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปยังสนามบินภูเก็ต โดยเดินทางจากพังงาและกระบี่

ด้านสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินงานฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวใน 6 จังหวัด ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยตนเองเป็นประธานควบคุมการทำงานในครั้งนี้ มีคณะทำงาน 3 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะสำรวจความเสียหายของแหล่งท่องเที่ยวและแนวทางการฟื้นฟู มีนายภิรมย์ สิมะเสถียร รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯเป็นหัวหน้าคณะทำงาน 2.คณะทำงานด้านการตลาด มีพรศิริ มโนหาญ รองผู้ว่า ททท.ฝ่ายตลาดต่างประเทศเป็นหัวหน้าทำงาน ซึ่งจะทำหน้าที่รวบรวมสินค้าทางการท่องเที่ยว ทั้ง โรงแรม และแหล่งท่องเที่ยวที่ยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ มานำเสนอ พร้อมจัดกิจกรรมทางการตลาดให้เร็วที่สุด 3.คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ โดยแต่งตั้งให้สุรพล เศวตเศรนี รองผู้ว่า ททท.ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าทีม โดยจะต้องรวบรวมรายละเอียด ความเคลื่อนไหวและการทำงานของรัฐบาลไทย และททท.ทั้งหมด นำเสนอต่อสาธารณชน ซึ่งคาดว่าการทำงานทั้งหมดจะเริ่มได้ตั้งแต่หลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นไป ซึ่งทุกคณะทำงานจะมีเจ้าหน้าที่จาก ททท. หน่วยงานราชการและภาคเอกชน มาทำงานร่วมกัน

อีกทั้งในเรื่องของแรงงานท่องเที่ยว ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยในวันนี้ (29 ธ.ค.) จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการ ททท. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณาผลกระทบ และแก้ไขสถานการณ์อีกครั้ง รวมถึงหารือแนวทางสำรวจความเสียหาย และภาวการณ์มีงานทำของแรงงานท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 2 แสนคนที่ถูกกระทบ เพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป โดยช่วยแรกอาจให้แรงงานเหล่านี้ทำงานเก็บกวาดส่วนที่ได้รับความเสียหายไปก่อน

สำหรับเป้าหมายบรรลุผลระยะสั้น ไม่เกิน 2 สัปดาห์ คือ แผนการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าแก่นักธุรกิจและคนตกงาน ประมวลความเสียหายด้านทรัพย์สินและโอกาสทางธุรกิจ ขณะที่เป้าหมายบรรลุระยะกลางไม่เกิน 1 เดือน คือ ยุทธศาสตร์และแนวทางการฟื้นฟูและแผนการเงิน

โดยเป้าหมายของการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ คือต้องเร่งฟิ้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจแก่พื้นที่ประสบภัย ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงกว่าเดิม และพัฒนาระบบบริการการท่องเที่ยวใหม่ให้มีความเป็นเอกภาพและยั่งยืน

ภูเก็ตเร่งสร้างบ้านพักชั่วคราวให้ผู้เดือดร้อนจากเหตุประสบภัย

อุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดภูเก็ตถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า ทุกฝ่ายร่วมมือกันได้อย่างดี แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การเคลียร์พื้นที่ชายหาดต่างเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ

โดยขณะนี้มีบางแห่งที่สามารถเคลียร์ชายหาดไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการคือ เรื่องของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งจะต้องเข้าไปบริหารจัดการของที่บริจาคมาให้กระจายไปให้ถึงมือผู้เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องศพผู้เสียชีวิตที่จะต้องเร่งจัดการซึ่งจะนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการจัดเก็บศพ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของศพไม่มีที่เก็บ

ส่วนเรื่องของการฟื้นฟูหลังจากเหตุการณ์การกลับเข้าสูงภาวะปกตินั้นนั้นได้สั่งการให้สำนักงานจังหวัดประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดหาสถานทีสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านที่ประสบเหตุเป็นการชั่วคราว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าการดำเนินการ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของความเสียหายที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดทั้งในเรื่องของเรือประมง การจ้างงานและอื่น โดยขณะนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถประเมินความสูญเสียได้ แต่การดำเนินการจะต้องเป็นไปตามลำดับความสำคัญ

ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการเรียกร้องให้ทำการช่วยเหลือในส่วนของภาคเอกชนนั้นยังไม่มีการขอมา แต่การช่วยเหลือเบื้องต้นก็ดำเนินการให้อยู่แล้ว และเรื่องของการสร้างความมั่นใจนั้นทางรัฐบาลจะเร่งดำเนินการซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้างเพราะเรื่องนี้เกินความรับผิดชอบของจังหวัด

จุฬา ฯ จัดทีมลงพื้นที่ภัยพิบัติทำแผนฟื้นฟู

ศ. คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ฯลฯ ได้ร่วมแถลงข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ กรณีภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในภาคใต้

จากกรณีอุบัติภัยดังกล่าว ทางจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ส่งทีมงานนักวิชาการ ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ ภูมิสารสนเทศ วิทยาศาสตร์ทางทะเล ธรณีวิทยา ฯลฯ ลงไปเก็บข้อมูลผลกระทบความเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพ ซึ่งจะใช้แผนที่ภูมิสารสนเทศช่วยในการประมวลผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งและระบบนิเวศ โดยจะนำเสนอผลการศึกษาให้เสร็จภายใน 2 เดือน ส่วนระยะที่สอง จุฬา ฯ จะออกแบบระบบติดตามและเตือนภัยการเกิดแผ่นดินไหวทั้งบนบกและทะเล ที่สำคัญต้องสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ

สมคิดดันตลาดทุนไทยซับน้ำตาชาวใต้-ฟื้นแหล่งท่องเที่ยว

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระดมพลังคน-เงิน-สิ่งของ จากทุกส่วนในตลาดทุนไทย รวมถึงแบงก์ของรัฐ และสมาคมบรษัทจดทะเบียนใหญ่ ช่วยซับน้ำตาพี่น้องชาวใต้ ที่โดนคลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) ถล่ม โดยจะจัดขบวนคาราวานล่องใต้พรุ่งนี้ (30 ธ.ค.) พร้อมร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางสู่จุดประสบภัยที่หลายหน่วยงานยังเข้าไม่ถึง พร้อมมีแนวคิดหักค่าคอมมิชชั่น จากการซื้อขายหุ้นบางส่วนปีนี้ สมทบช่วยเหลือฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในภาคใต้

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ หัวหน้าคณะทำงาน เร่งฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ กล่าวว่าได้มีการพูดคุยกับประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Development Bank-ADB) และธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานระหว่างประเทศนี้ เสนอตัวพร้อมจะช่วยเหลือไทย จากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ แต่รายละเอียดความช่วยเหลือ ยังไม่มีการกำหนด

ด้านสุเทพ พีตกานนท์ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่าภัยพิบัติครั้งนี้ ทุกหน่วยงานพยายามช่วยเหลือ ส่วนสมาคม บล. ที่เขาเป็นนายกสมาคมฯ จะนัดหารือกับผู้บริหารระดับสูง บล. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
โดยทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มีโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้”ซึ่งจะขยายวงสู่ความช่วยเหลือเหยื่อเคราะห์ร้ายใน 6 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ต่อไป โดยวันที่ 9 ม.ค. จะจัดงานร่วมเดินการกุศล เพื่อช่วยบรรเทาภัยพิบัติครั้งนี้

นักธรณีชี้สิ่งก่อสร้างควรห่างฝั่ง 500 เมตร

นิรันดร์ ชัยมณี นักธรณีวิทยา 8 กองธรณีวิทยาและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคลื่นยักษ์สึนามิส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ตในแหล่งท่องเที่ยวใกล้ชายหาดมากเกินไป เมื่อคลื่นในระดับความสูง 10 เมตรพัดเข้าหาฝั่งด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจึงกวาดและพัดเอาทุกอย่างไปด้วย จนเกิดความเสียหายตามมา

นักธรณีวิทยากล่าวต่อไปว่า กฎหมายต่างประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะกลุ่มประเทศชายฝั่งทะเลจะอนุญาตให้มีสิ่งก่อสร้างทั้งที่เป็นอาคารสูงบ้านพักอาศัย รีสอร์ทห่างจากชายฝั่งทะเลถึง 200 เมตรจึงจะปลอดภัยจากพายุและคลื่นทะเล สำหรับพื้นที่เขาหลัก จ.พังงาควรตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยหรือก่อสร้างกิจการโรงแรม รีสอร์ท ห่างจากชายทะเลลึกเข้าไปในแผ่นดิน 500 เมตรและในระดับความสูง 5 เมตรจากระดับน้ำทะเลจึงจะปลอดภัยเพราะจากการสำรวจชายฝั่งทะเลโบราณพบว่าในระยะห่างเท่านี้น้ำทะเลซัดเข้าไปไม่ถึงและไม่เกิดความเสียหายมาก แต่หากสร้างสิ่งก่อสร้างต่ำลงมาอีกก็มีโอกาสเสี่ยงต่อสึนามิครั้งต่อไป

ผังเมืองแนะรัฐวางระบบเตือนคุ้มกว่าสร้างตึกสู้ภัยธรรมชาติ

ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การออกแบบอาคารเพื่อรับมือกับอุบัติภัยธรรมชาติต่างๆนั้นทำได้แต่ไม่คุ้มกับการลงทุน เนื่องจากต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างทั้งโอกาสที่จะเกิดซ้ำและงบประมาณการบำรุงรักษาภายหลัง แม้เมืองไทยมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารให้สามารถรับแรงแผ่นดินไหว แต่การสร้างให้สูงกว่ามาตรฐานนั้นก็เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม เพราะเรื่องการประกันอุบัติภัยถือเป็นการลงทุนทั้งนั้น ต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัตินั้นด้วย สำหรับสึนามิไม่รู้ว่าอีกกี่พันปีถึงจะเกิดอีก

สำหรับทางออกที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงนั้น ต้องไม่มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณแนวชายฝั่ง โดยสิ่งปลูกสร้างต้องหนีออกจากแนวที่จะเกิดอุบัติภัยทั้งหมด ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยมากแต่กลับไม่ได้ลงทุนกับการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยให้กับตัวอาคาร โดยสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำคือ พัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยและเตือนภัย ซึ่งพร้อมอพยพประชาชนออกจากจุดเสี่ยงได้ทุกเมื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น