xs
xsm
sm
md
lg

อันดามันในความทรงจำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ วันนี้ ยังคงสรุปยอดผู้เสียชีวิต และความเสียหายในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิไม่ได้ แต่แน่นอนว่านี่คือหนึ่งในการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งทาง “หน้าท่องเที่ยวผู้จัดการออนไลน์” ขอแสดงความเสียใจและขอร่วมไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับทะเลอันดามันที่ได้รับคลื่นเต็มๆนั้น สภาพก่อนเกิดเหตุการณ์ทะเลอันดามันนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามและโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่ง 4 นักเขียนและนักดำน้ำอย่าง วินิจ รังผึ้ง, อภินันท์ บัวหภักดี, นัท สุมนเตมีย์ และ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ผ่านประสบการณ์ใต้ทะเลอันดามันมาอย่างโชกโชน ได้ออกมารำลึกถึงอันดามันในความทรงจำ ที่ในอนาคตต่อจากนี้ไปยังไม่มีใครคาดเดาว่าทะเลอันดามันจะเปลี่ยนแปรไปเช่นใด

วินิจ รังผึ้ง กับทรงจำแห่งอันดามัน

วินิจ รังผึ้ง บรรณาธิการ อนุสาร อสท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวรำลึกถึงความทรงจำที่มีต่อทะเลอันดามันว่า

“ช่วงที่คลื่นลมสงบ ตั้งแต่ประมาณต้นเดือนธันวาทุกปีสีสันของท้องทะเลอันดามันจะดูสวยงามมาก ท้องทะเลไล่เฉดสีตั้งแต่ฟ้าครามไปจนถึงน้ำเงินเข้ม หาดทรายตามเกาะต่างๆขาวนวลละเอียด นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวกันมาก ตอนนี้ท้องทะเลฝั่งอันดามันเปลี่ยนไปจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน”

สำหรับความเสียหาของแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามินั้น วินิจ ได้กล่าวว่า แนวปะการังน้ำตื้นที่ขึ้นบนพื้นทรายที่เกาะกันอยู่ เช่นที่หมู่เกาะสุรินทร์ ปะการังที่อยู่ชายฝั่งคงถูกคลื่นกลบและกระชากตัวกลับอย่างแรง น้ำจะซัดทำให้แนวปะการังแยกและล้มทลายลง แต่ปะการังที่น้ำพัดทรายมากลบไม่หนามาก กระแสน้ำธรรมชาติก็จะช่วยพัดเอาเม็ดทรายออกไปได้ ส่วนปะการังน้ำลึกอย่างที่สิมิลัน ก็คงเสียหายไม่เท่าปะการังน้ำตื้น เห็นว่ามีเรือให้บริการหลายลำ ความหลากหลายแน่นอนว่าลดลง ก็เหมือนกับบ้านเรือนของพวกกุ้ง หอยที่อาศัยแนวปะการังถูกถล่มไปทั้งเมือง

“หลังเหตุการณ์สงบ เราคงต้องออกสำรวจ เชื่อว่าปะการังไม่ได้ถูกทำลายทั้งหมด ความสวยงามยังมีอย่างที่สิมิลัน ยังมีหินป่าบนเกาะ หรือผืนป่าบนเกาะสุรินทร์ ชายหาดจะกลับมาขาวและสวยงาม ธรรมชาติมีสิ่งเยียวยารักษาตัวเอง กิ่งไม้หรือขยะที่ถูกซัดมาเมื่อผ่านช่วงนี้ไป ถึงช่วงมรสุมก็ธรรมชาติจะเก็บกวาดและจัดระเบียบชายหาด ปีหน้าก็น่าจะเข้าที่เข้าทาง แต่สำหรับแนวปะการังต้องให้เวลาฟื้นฟูอาจเป็น 10 หรือ 20 ปีแล้วแต่สภาพความเสียหาย ส่วนการฟื้นฟูก็คงต้องออกสำรวจแนวปะการังทั่วไป หาข้อมูลและวิเคราะห์จัดโซนนิ่ง งดท่องเที่ยวเพื่อให้เวลาปะการังฟื้นตัว”

กระนั้นวินิจก็ไม่อยากให้ใครกลัวหรือเลิกรักทะเล

“ไม่อยากให้กลัวการเที่ยวทะเล เพราะอัตราเสี่ยงของการเกิดพิบัติที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นในเปอร์เซนต์ที่น้อยกว่าไปเที่ยวปีใหม่หรือสงกรานต์เสียอีก อย่าให้เหตุการณ์นี้มาปิดกั้นความรักที่เรามีต่อทะเล ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือสภาพใต้ทะเล ชายฝั่งธรรมชาติเปลี่ยนไป หาดที่เคยมีสันทรายสวยงามอาจถูกย้ายไปอีกแห่ง บางแห่งลดหายไป แนวปะการังอันดามันที่ได้ชื่อว่ามีความสวยงามขนาดดึงดูดนักดำน้ำทั่วโลกให้มาเที่ยวเมืองไทยได้ ตลอดจนสร้างรายได้เข้าประเทศหลายร้อยล้านตรงนี้แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงได้รับผลกระทบ คลื่นใต้น้ำทำให้ปะการังถูกทรายกลบ ปะการังมันเป็นสัตว์ทะเลแต่อยู่กับที่ โดยตามโครงสร้างเล็กๆในกิ่งปะการังมันไม่สามารถสังเคราะห์แสง ยิ่งถ้าเป็นเวลานานๆ มันก็ไม่อาจหาอาหารได้”

นอกจากนี้วินิจยังพูดถึงสิ่งพึงปฏิบัติในการเที่ยวทะเลว่า เท่าที่ตนเองเดินทาง ดำน้ำ และเดินดูหาดทราย ภาพชายหาด เกาะแก่งที่ปฏิบัติเสมอมาคือการป้องกันตัวเองเท่าที่ทำได้ อย่างการใช้ชูชีพเวลาลงเรือ ตรวจเช็คสภาพน้ำขึ้น น้ำลง ดูกระแสน้ำ คนที่เดินทางควรรู้วิธีดูแลตัวเองด้วยเพราะพลังธรรมชาติมากมายจนเราคาดไม่ถึง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ต่อให้ว่ายน้ำแข็งแค่ไหนก็สู้ไม่ไหว ถ้าเราสังเกตสักนิดว่า จู่ๆระดับน้ำทะเลลดระดับไปมากก็เท่ากับเป็นเครื่องเตือนให้หนีให้ไกลจากบริเวณนั้น ถ้าเราตื่นตัวก่อนก็ปลอดภัยกว่า

สุดท้ายผมขอแสดงความเสียใจต่อญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต และผู้ที่ประสบความเสียหายจากตุการณ์ครั้งนี้ สำหรับคนที่รักทะเล เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เมืองไทย หลังจากนี้อยากให้มีระบบเตือนภัย วิเคราะห์ธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ส่วนแนวการแก้ไขต้องทุ่มเททุกทาง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนไทยเรารักกันมากขึ้น ไม่มีใครคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือกัน แต่ละคนช่วยทำในสิ่งที่ตนทำได้ ซึ่งน่าจะเป็นวาระแห่งชาติ ในการช่วยกันหาระบบเพื่อความปลอดภัยของพลเมือง”

อันดามันที่ประทับใจ ในมุมมอง อภินันท์ บัวหภักดี

หลังกล่าวแสดงความเสียใจ อภินันท์ บัวหภักดี บรรณาธิการวารสาร Young Traveler และบรรณาธิการฝ่ายภาพอนุสาร อสท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงความทรงจำที่มีต่อทะเลอันดามันว่า

“ทะเลแถบอันดามัน เท่าที่ผมรู้จักนับเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเรา โดยเฉพาะทางอันดามันเหนือในจังหวัดพังงา ระนอง และอันดามันล่างที่จังหวัดกระบี่ สตูล ซึ่งแต่ละที่มีความสวยงามแตกต่างกัน มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป บางที่น้ำทะเลใสกว่า สีฟ้าน้ำเงิน บางที่มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใสสีฟ้าเขียวมรกต”

สำหรับปะการังใต้น้ำที่หมู่เกาะสุรินทร์ ถือว่าสวยงามและสมบูรณ์มาก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแลบะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีแหล่งปะการังและกัลปังหาที่โดดเด่น ปะการังอ่อนมีสีสันสวยงามฉูดฉาดทั้งส้ม เหลือง แดง บวกกับความใสของน้ำทะเลสีฟ้าเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมาดู มาเที่ยว ไม่ใช่มีที่เดียวแต่ละที่เด่นเฉพาะตัวต่างกันไป ที่หมู่เกาะสุรินทร์มีดงปะการังใหญ่ๆหลายจุดด้วยกัน สามารถชมได้ไม่ต้องดำน้ำลึก

“ส่วนชายหาดของหมู่เกาะสุรินทร์มองเห็นขาวสะอาดชัดเจนกว่าอ่าวไทย ที่สิมิลันจุดเด่นที่น้ำใส ปะการังน้ำลึกสวยมาก ส่วนพีพีมีหน้าผาหินปูนตั้งตระหว่าน อ่าวเว้าโค้งตามซอกต่างๆก็เป็นจุดเด่นไปอีกแบบ แหล่งเหล่านี้ถือเป็นจ้าวยุทธจักรการท่องเที่ยวทางทะเล”

หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ อภินันท์ ได้เผยความรู้สึกว่า ยังไม่รู้ว่าใต้น้ำเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ยังไม่เห็นกับตา แต่เชื่อว่ายังไงก็ได้รับผลกระทบแน่ เพียงแต่บริเวณใดโดนทรายพัดมาทับถมมากแค่ไหน ความรู้สึกตอนนี้ไม่ใช่แค่เพียงเสียดายแต่มันบรรยายไม่ถูกเลย ความเสียหายเท่าที่เห็นตอนนี้บนหาดทรายรกระเกะระกะ ชายหาดสกปรก แต่ก็คงสามารถจัดการได้เร็ว แต่ที่จัดการยากคือชายฝั่งที่ยุบตัว ยากที่จะฟื้นฟู เมื่อก่อนชายหาดที่สิมิลัน ขาวสะอาดมาก มีความเงียบสงบ สบาย ในขณะที่ภูเก็ตมีสิ่งอำนวยความสะดวกเยอะกว่า บางคนก็อาจชอบหรูหรา บางคนชอบเงียบๆ ทะเลบ้านเราเคยมีให้เลือกเที่ยวหลากหลายกันออกไป

“ในส่วนของความเสียหาย หาดทรายคงไม่เสียหายเท่าไหร่ ส่วนผิวน้ำก็ฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งความสวยงามข้างบนผิวน้ำกลับมาได้ในไม่ช้า สำหรับใต้น้ำโดยเฉพาะน้ำตื้นคงมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ในน้ำลึกอย่างพีพี สิมิลันก็ไม่เสียหายเท่าน้ำตื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ ไม่ต้องกังวลว่าน้ำทะเลจะไม่เขียวคราม หรือสีฟ้าเข้มเหมือนเดิมเพราะสีเหล่านั้นเป็นธรรมชาติของน้ำ น้ำที่ขุ่นๆไม่นานก็จะกลับมาใส อันดามันเหนือสีฟ้าครามเพราะน้ำลึก อันดามันใต้น้ำตื้นสีเขียว

ในส่วนของการฟื้นฟูท้องทะเลไทยฝั่งอันดามันหลังจากที่ฟื้นฟูจิตใจของผู้ที่สูญเสีย

แค่เราไม่เข้าไปซ้ำเติม ก็ถือเป็นการช่วยแล้ว ในส่วนชายหาด การเก็บกวาด ภาครัฐหรือองค์กรท้องถิ่นคงใช้เวลาไม่นานแต่ใต้น้ำเราทำอะไรไม่ได้ ต้องให้ธรรมชาสติบำบัดตัวเอง ให้เวลาแก่ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง จริงๆแล้วทะเลเสียหายจากน้ำมือมนุษย์มาตั้งนานแล้ว การท่องเที่ยวเป็นการเร่งการทำลายเพิ่มขึ้น เหตุการณ์นี้เป็นโอกาสที่เราทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมดูแล เป็นการจุดประกายให้คนตระหนักเรื่องทะเล แก้ของเก่าด้วย ไม่ซ้ำเติมและให้การศึกษาเรื่องเกี่ยวกับทะเล”

นัท สุมนเตมีย์ มีความหลังที่อันดามัน

สำหรับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สำนามิในครั้งนี้ นัท สุมนเตมีย์ บรรณาธิการภาพ นิตยสาร เนเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ ได้กล่าวว่า

“ผมเสียใจกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และเป็นที่เหนือความคาดหมายของคนทุกคน แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งให้กว้างขึ้น ผมว่าทะเลกำลังส่งสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างอยู่ คือมนุษย์คิดว่า ตัวเองสามารถควบคุมธรรมชาติได้ แต่ท้ายสุดแล้ว แค่ทะเลขยับตัวส่งสัญญาณนิดเดียวทุกอย่างก็พังพินาศแล้ว”

นอกจากนี้ นัท ยังกล่าวถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ผ่านมาว่า เพราะเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเหมือนกับเราได้มาฟรี ใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง เหมือนใครมือยาวสาวได้สาวเอา ควรจะมีการจัดระบบ อย่างสิมิลันที่ผมไปจะเห็นว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี เห็นได้ว่ามีจำนวนนักดำน้ำเพิ่มขึ้น จำนวนเรือเพิ่มขึ้น

“ถึงตรงนี้ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบจะต้องมากำหนดมาตรฐานของเรือ ลักษณะของความปลอดภัย ของการเดินเรือ หรือหลายๆ อย่าง ควรจะมีการจัดการให้เรียบร้อย หรือแม้กระทั่งเรือที่จะเข้าไปอุทยานฯได้ เราควรมีการกำหนดว่า จะให้เรือของบริษัทดำน้ำ เข้าไปกี่ลำ”

“ผมเชื่อว่าหลังจากนี้ไปจะมีธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจะถอนออกไป เพราะว่า ผมเชื่อว่าอย่างน้อย 2 ปี กว่าที่ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นขวัญและกำลังใจของคนที่จะมาเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจหลายอย่างจะต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน คราวนี้มันจึงได้เวลาที่เราจะต้องจำกัดให้มันอยู่ในสภาวะสมดุล”

“ในตอนนี้ธุรกิจของคนไทยจำนวนมากต้องประคองตนเองให้รอดก่อน เพื่อจะมุ่งไปข้างหน้า ภาครัฐจึงต้องวางระบบทุกอย่างให้เข้าที่และลงตัวโดยเร่งด่วน คือใช้วิกฤตช่วงนี้ให้เป็นโอกาส ผมคิดว่าตอนนี้มันเหมือนเป็นการล้างไพ่ เพราะตอนนี้ทุกอย่างที่ผ่านมามันไม่มีการควบคุมเลย หลังจาก 2 ปี เมื่อทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ จะมีคนจำนวนหนึ่งที่อยากกลับมาลงทุนใหม่ ซึ่งตรงนี้เมื่อเราได้จัดระบบให้ดีแล้ว”

หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว เราเกรงกันว่าสภาพต่างๆ จะเปลี่ยนไป แต่ผมเชื่อว่า ท้ายสุดแล้วธรรมชาติจะสร้างสมดุลโดยตัวของเขาเอง แต่จะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ไม่รู้ เราตอบหรือกำหนดไม่ได้ คือถามว่าเราจะแก้ไขอะไรได้ไหม ตอนนี้ทาง ททท.กำลังจะให้ไปสำรวจความเสียหายอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งผมก็ได้แต่บอกว่าไปสำรวจก็ได้แต่ไปดู แต่จะไปทำอะไรไม่ได้ เราเปลี่ยนแปลงธรรมชาติไม่ได้ ธรรมชาติเขาจะดูแลฟื้นฟูตัวเอง สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ให้เขาได้พักผ่อน เช่นอาจจะเป็นการปิดสักระยะหนึ่ง หรือการจำกัดจำนวนคนไปเที่ยว เราไปทำอะไรธรรมชาติไม่ได้หรอก ธรรมชาติเขายิ่งใหญ่กว่าเรา”

สำหรับความผูกพันที่มีต่อท้องทะเลอันดามัน นัทได้เล่าว่า

ทะเลมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมไปแล้ว เพราะชีวิตคลุกคลีกับทะเลตั้งแต่เด็ก ผมจะผูกพันกับสิมิลันมาก ผมรู้สึกว่าสิมิลันเป็นเหมือนบ้านของผม ผมดำน้ำมาสิบกว่าปี หนึ่งปีผมไปสิมิลันไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ผมไปสิมิลันครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของสิมิลันคือ Sea Sand Sun สิมิลัน มีปะการังอ่อน มีกัลปังหาที่เกาะอยู่ตามโขดหินซึ่งธรรมชาติได้จัดขึ้นมา เป็นภาพที่สวยงาม ผมคิดว่าสิมิลันเป็นเกาะที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในโลก ”

“ความประทับใจของผมคือ ผมไปสิมิลันครั้งแรก เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ ทั้งเกาะไม่มีคนไปกางเต็นท์ที่เกาะสี่ แล้วจะเห็นมีตาน้ำ ที่เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติเล็กๆ ซึ่งผมเคยไปอาบน้ำ แต่ตอนนี้เกาะสิมิลันคงเปลี่ยนไป”

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รำลึกอันดามัน

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวปะการังและการท่องเที่ยว ได้เล่าประสบการการท่องทะเลและท่องโลกใต้น้ำที่ทะเลไทยฝั่งอันดามันว่า

“ทะเลไทยฝั่งอันดามัน ผมประทับใจหมู่เกาะสุรินทร์มาก ความสวยงามของแนวปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์สวยที่สุด มันคือสวรรค์จะให้บรรยายให้เห็นภาพยังไงก็ไม่ได้ ผมอยากจะเรียกว่าบ้านเพราะผูกพันมา 17 ปีไปทุกปี ยิ่ง 4-5 ปีหลังไปปีละ 4-5 ครั้ง ไม่ใช่แค่แนวปะการัง แต่มีการวางแผนการจัดการดำน้ำวางทุ่นอย่างเป็นระบบ ส่วนเอกลักษณ์ของพีพีเป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นมีหน้าผา ที่สิมิลันเป็นแหล่งปะการังน้ำลึกที่สวยที่สุด ส่วนภูเก็ตนี่จะมีปะการังรอบๆเกาะไปเที่ยวชมง่าย”

“สำหรับทะเลแนวชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง สตูล โดยเฉพาะแนวปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน พะงัน และพีพีถือเป็นแหล่งแนวปะการังที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย อย่างหมู่เกาะสุรินทร์ที่ผมเคยไปมาเป็นแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยงามมาก มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวมากและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผมยกให้ สิมิลัน เป็นแหล่งปะการังน้ำลึกที่สวยที่สุดในประเทศไทย เกาะสุรินทร์ เป็นแหล่งน้ำตื้นที่สวยที่สุดในประเทศไทย ส่วนภูเก็ตเป็นไข่มุกแห่งอันดามันตามฉายา”

สุดท้าย อ.ธรณ์ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวว่า

เหตุการณ์ครั้งนี้ผมเชื่อว่าคนจะรักทะเลมากขึ้น ต่อไปจะต้องนึกถึงทะเลก่อน ไปเที่ยวแล้วก็ต้องนึกถึงการดูแลรักษาทะเลไม่ใช่แค่เป็นเพียงที่เที่ยว ถึงคราวที่คนต้องช่วยเหลือทะเลบ้าง อย่างเราๆไม่ต้องนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญทางทะเลก็ช่วยทะเลได้ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย อย่าทำร้ายทะเลมากไปกว่านี้ อย่างช่วงปีใหม่นี้บางคนที่ชอบกินหูฉลามก็เลิก พวกชอบเลี้ยงปะการังก็เลิก ช่วยกันคนละไม้ละมือ”

 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
รู้จักทะเลไทยฝั่งอันดามัน
ข้อมูลท้องทะเลไทย
“สึนามิ” ทำทะเลไทยเปลี่ยนไป
อันดามันในความทรงจำ
รำลึก 2 ไข่มุกแห่งอันดามัน 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น