เสียงกลองยาว แตรวงและมโหรีชุดใหญ่บรรเลงเป็นจังหวะครื้นเครง พร้อมด้วยขบวนแห่ของชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆร่วมฟ้อนรำด้วยกันอย่างสนุกสนาน ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ล้วนแต่งกายงดงามด้วยผ้าทอพื้นบ้านที่มีลวดลายและสีสันอันแสดงถึงเอกลักษณ์ของเชื้อสายเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องมีใครบอกก็รู้ได้แทบในทันทีว่าชุมชนแห่งนี้กำลังจัดเตรียมงานประเพณีที่สำคัญอย่างยิ่ง
ไม่บ่อยนักที่หมู่บ้านเล็กๆและเงียบสงบแห่งนี้จะคราคร่ำไปด้วยแขกเหรื่อผู้มาเยือนในงานฉลองที่จัดยิ่งใหญ่ ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นการรวมตัวของชนเชื้อสายไทยวนภาคกลางครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ สำหรับงานฉลองครบรอบ200 ปีไทยวนที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี
เล่าขานตำนานไท-ยวน
นับถึงปีนี้ก็เป็นเวลาครบ 200 ปีพอดิบพอดีที่ชาวไทยวนผู้ซึ่งเดิมเคยอาศัยอยู่ในรัฐโยนก จากเมืองเชียงแสนอพยพลงมาสู่ที่ราบลุ่มตอนกลางของไทย ซึ่งตามหลักฐานพงสาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้บันทึกความเป็นมาของชนชาวไทยวนไว้ว่า
ในปีพุทธศักราช 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพบริรักษ์และพระยายมราช ยกทัพไปร่วมกับเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ เจ้านครเมืองลำปางและเจ้านครเมืองน่าน ขึ้นไปขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน ล้อมเมืองอยู่ได้ 5 เดือนเศษจึงตีเมืองได้สำเร็จ
หลังจากได้รับชัยชนะจากศึกสงคราม เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่สั่งให้รื้อป้อมพระกาฬ กำแพงเมืองบางส่วน และเผาทำลายบ้านเรือนเสีย เพื่อมิให้เป็นที่ตั้งมั่นของพม่าอีกต่อไป เนื่องจากเมืองเชียงแสนขณะนั้นเป็นเมืองสำคัญทางชายแดนด้านเหนือสุด เมื่อไม่มีกำลังพอจะป้องกันเมืองไว้ตลอดไปได้ จึงให้อพยพชาวไทยวนสองหมื่นสามพันคน โดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วน แยกไปไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองน่าน และส่วนสุดท้ายให้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เมืองราชธานี
ในระหว่างเดินทางเมื่อถึงที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ที่มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน ชาวยวนส่วนหนึ่งจึงตั้งหมู่บ้านเรียงรายไปตามริมแม่น้ำนั้นเอง ซึ่งปัจจุบันบริเวณดังกล่าวคืออำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเดินทางไปตั้งรกรากที่เมืองราชบุรี
รู้จักวิถีชาวไทยวน
แม้ชาวไทยวน สระบุรีจะอพยพจากเมืองเชียงแสนดินแดนทางเหนือมาเป็นเวลานาน แต่วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตยังคงรักษารูปแบบคล้ายคลึงกับชาวล้านนามาโดยตลอด อย่างเช่น ภาษายวนก็มีรากมาจากภาษาล้านนา แม้แต่ภาษาเขียนก็ยังคงใช้อักษรธรรมเช่นเดียวกับชาวล้านนา
ด้านการแต่งกายของชาวไทยวนสมัยโบราณผู้ชายนุ่งโจงกระเบน มีผ้าผูกเอว แต่ถ้าหากจะไปวัดหรือไปร่วมงานบุญต่างๆจะสวมเสื้อแขนกระบอกผ่าอก ติดกระดุม มีผ้าสไบพาดบ่า ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นลายขวางยาวกรอมเท้า มีผ้าคาดอกหรือสไบ ซึ่งผ้าทอซิ่นลายขวาง ทอด้วยด้ายต่างสี มีริ้วเล็กๆนี้ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาวเหนือ หากเป็นซิ่นอีสานจะมีลักษณะเป็นลายทางยาวตามตัว
เดิมชาวไทยวนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก เมื่อว่างเว้นจากทำนาหญิงชาวยวนจึงทอผ้าไว้ใช้เอง ซึ่งการทอผ้าแบบดั้งเดิมเรียกว่า ทอหูก เช่น ผ้าทอซิ่นตีนจก ผ้ายกมุกแปดขา ผ้าทอบางชนิดมีการรื้อฟื้นขึ้นใหม่แยกเป็นซิ่นที่ใช้ประจำวัน เช่น ซิ่นดำด้าน ซิ่นไก ซิ่นสามแลวหรือซิ่นชาวเหนือ และซิ่นที่ใช้ในโอกาสพิเศษเช่น ไปวัด งานแต่งงาน ได้แก่ ซิ่นมุก
ลักษณะบ้านเรือนเคยมีทั้งแบบเรือนชาวล้านนาที่เรียกกันว่าเรือนกาแลแต่ปัจจุบันหาดูที่สระบุรีไม่มีอีกแล้ว ส่วนที่พอเหลือให้เห็นอยู่บ้างเป็นเรือนไทยประยุกต์แบบชาวไทยภาคกลาง สำหรับประเพณีของชาวไทยวนก็เช่นเดียวกับที่ชาวล้านนาปฏิบัติ ได้แก่ ประเพณีถวายประสาทผึ้ง ประเพณีสลากภัต เป็นต้น
งานบุญสลากภัต วิถีไทยพุทธดั้งเดิม
ในเช้าวันงานฉลองครบ 200 ปี ชาวไทยวน สระบุรีจัดงานบุญสลากภัต ซึ่งถือเป็นงานบุญที่มีมาแต่โบราณของชาวพุทธ โดยลักษณะงานคล้ายคลึงกับ “ประเพณีตานก๋วยสลาก”ของทางเหนือแต่เรียกต่างกันออกไป
สำหรับการทำบุญสลากภัตของชาวไทยวน สระบุรี เป็นประเพณีพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ที่ถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์ด้วยวิธีการจับสลาก เป็นบุญที่มำโดยมิได้เจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดถือว่าได้บุญมากกว่าการเจาะจง มักทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและทำบุญเพื่อปรารถนาความสุขในชาติหน้า เชื่อกันว่าอานิสงฆ์ของการถวายสลากภัต เกิดชาติหน้าจะมีร่างกายสวยงาม สมบูรณ์แข็งแรง บริบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์ มีชีวิตที่อยู่ดีกินดีมีสุข
แต่ละหมู่บ้านจะจัดเตรียมเครื่องไทยทานอันมีทั้งผลไม้ ขนมและสิ่งของที่ควรแก่สมณบริโภคหรือสิ่งของที่ผู้ล่วงลับไปแล้วเคยได้กินได้ใช้ ใส่ในกระจาดที่สานด้วยไม้ไผ่ มีการประดิษฐ์ช่อดอกหรือต้นกัปทำเป็นฉัตร 5 ชั้น 7 ชั้นหรือมากกว่านั้น ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม ตามความคิดความเชื่อและภูมิปัญญาของชาวบ้านที่จะช่วยกันคิดช่วยกันทำ
ต้นสลากของแต่ละหมู่บ้านจะถูกนำไปรวมไว้ที่วัด มีทั้งขบวนแห่หาบเครื่องไทยทาน มีดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว แตรวง มโหรีประโคม ผู้ร่วมในขบวนต่างก็ฟ้อน ร้องรำทำเพลงให้คื้นเครงสนุกสนาน ส่วนทางวัดจะตีกลองบูชา เป็นการฉลองและประโคมข่าวให้รู้ทั่วกัน
ประเพณีงานบุญสลากภัตเป็นประเพณีเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนา แสดงออกถึงสิ่งดีงาม ความกตัญญูกตเวที ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละ ตลอดจนความรัก ความสามัคคีของคนชุมชนอีกด้วย
สืบสาน “ผ้าทอพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ฟูเฟื่องภาษาถิ่น รักศิลป์ไทยวน”
ในขณะที่อิทธิพลของวัฒนธรรมสากลกำลังกลืนวัฒนธรรมท้องถิ่นจนเหลืออยู่น้อยเต็มทีนั้น ได้เกิดกลุ่มคนที่รักและสำนึกในเผ่าพันธุ์รวมตัวกันเป็น “ชมรมไทยวน สระบุรี” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่ความเป็นมาของเชื้อสาย เผ่าพันธุ์ ตลอดจนอนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ใกล้สูญหายให้คงไว้ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวไทยวนที่กระจายอยู่ตามถิ่นต่างๆ
อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล หนึ่งในคณะกรรมการชมรมไทยวน สระบุรีเล่าถึงบทบาทของชมรมว่า การสืบสานวัฒนธรรมไทยวนเริ่มจากการจัดงานบุญประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นสื่อกิจกรรมให้ชาวไทยวนมาพบปะ ทำงานร่วมกัน สำนึกและเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมของตัวเอง อย่างในปีนี้ชาวไทยวน ราชบุรีที่มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันก็มาร่วมงานด้วย
สำหรับการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นจะยึดงานบุญสลากภัตเป็นหลัก เนื่องจากงานบุญนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนในหลายๆเรื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การประดิษฐ์ตุงหูช้างที่ใช้แขวนในงานบุญต่างๆก็สะท้อนเรื่องศิลปะการตกแต่ง ตัดกระดาษ การออกแบบ ใช้สีสันต่างๆ เป็นต้นนอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยผ้าทอมือที่ชาวบ้านใส่มาร่วมงานอีกด้วย
ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวไทยวนนั้น มีเครือข่ายที่ทำกิจกรรมร่วมกันทุกปี เช่น การประกวด การแข่งขัน สาธิต จัดนิทรรศการ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดในงานบุญประเพณี โดยเริ่มแรกเน้นเรื่องรณรงค์การพูดภาษาถิ่นและการทอผ้าใช้เอง ปลุกจิตสำนึกให้คนรู้คุณค่า ผ่านการประกวดละอ่อนน้อยฟู่ยวน ประกวดสาวงามใช้ผ้าทอมือ แข่งทำอาหารพื้นบ้าน ประกวดการแสดงพื้นถิ่น เช่น การจ้อยที่คล้ายกับเพลงหมอลำ ลำตัด
นอกจากงานสืบสานวัฒนธรรมในหมู่ชาวไทยวนแล้ว ทางชมรมยังมี“หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี”
เพื่อให้คนภายนออกที่สนใจได้ทำความรู้จักกับวิถีชาวไทยวน สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่เพียงได้ชมการแสดงท้องถิ่น และสาธิตการทอผ้าแบบเดิมแล้ว ยังสามารถกินอาหารแบบพื้นบ้านของชาวยวนอีกด้วย
อิทธิพลวัฒนธรรมสากล
อาจารย์ทรงชัย กล่าวถึงวิกฤตวัฒนธรรมชาวไทยวนว่า “ทุกวันนี้ชาวบ้านพูดภาษายวนกันน้อยมาก อย่างเด็กชาวไทยวนรุ่นใหม่ๆส่วนใหญ่พูดไม่ค่อยเป็นกันแล้ว อย่างในโรงเรียน สถานที่ราชการก็ใช้เฉพาะภาษากลาง เมื่อคนคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ ภาษายวนก็เลยหายไปทุกทีๆ เหมือนการใช้ผ้าทอมือที่เหลือน้อยเช่นกัน ขนาดกลุ่มสมาชิกผ้าทอกว่า 20 คนยังไม่ใส่ใจ เพราะผ้าทอนั้นนอกจากใช้เวลานานกว่าจะทอได้สักผืนแล้ว ยังมีข้อจำกัดหลายข้อ ทั้งเรื่องลวดลายและสีสันที่ต้องใช้แต่แบบเดิมๆ อาจไม่ถูกใจ ไม่เหมือนการหาซื้อผ้าสำเร็จรูปง่ายกว่า”
“สำหรับผลกระทบจากการที่หลายๆหน่วยงานอยากเข้ามาทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนั้น มองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นธรรมดา เพียงแต่ข้อดีกับข้อเสียอะไรจะมากกว่ากันเท่านั้น ในส่วนดีก็มองว่าเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชน เป็นแหล่งรายได้ ในขณะที่ส่วนเสียจะเห็นได้ชัดอย่างหอวัฒนธรรมฯที่เคยทำมาก็ทำเท่าที่ทำได้ ไม่ได้กว้างขวางนัก ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องเปิดกี่วัน กี่โมง แต่หากติดต่อมาล่วงหน้าก็จะเตรียมกิจกรรมการแสดงไว้ให้ ชาวบ้านที่มาช่วยเมื่อก่อนก็มาด้วยใจ เพราะอยากภาคภูมิใจกับความเป็นมาของเชื้อสายอันเก่าแก่ แต่พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ่อยๆ ชาวบ้านที่มาช่วยงานเหล่านั้นก็เสียรายได้ประจำวันไป จากที่เคยภูมิใจก็ไม่ใช่แล้วเพราะขาดรายได้ ยิ่งบางรายที่เคยมาช่วยงานแล้วเคยได้เงิน พอครั้งหลังมาแล้วไม่ได้เงินก็ไม่อยากมาเหล่านี้เป็นต้น”
ราชอาณาจักรไทยประกอบไปด้วยชนหลายชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ก็ล้วนแล้วแต่มีประวัติความเป็นมาที่มีแบบแผนของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษา อาหาร การแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ความเชื่อทางศาสนา ประเพณี ดนตรี การละเล่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของชาติไทยทั้งสิ้น เราแทบไม่รู้ตัวเลยว่า กระแสวัฒนธรรมสากลกำลังล่วงล้ำและเข้าครอบงำวัฒนธรรมพื้นถิ่นอันเป็นเครื่องสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นมาของเชื้อสายเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายให้ลบเลือนไปอย่างน่าเสียดาย