วันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบ ในวันนี้เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยจะร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของมหาราชพระองค์หนึ่งในแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นผู้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนหลังจากการเสียกรุงครั้งที่สอง ท่านผู้นั้นก็คือ "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" กษัตริย์องค์แรกและองค์เดียวในสมัยแผ่นดินกรุงธนบุรีนั่นเอง ซึ่งวันที่ 28 ธ.ค. นั้นเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี
สำหรับประวัติของพระเจ้าตากนั้นมีให้หาอ่านกันได้ทั่วไป แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระเจ้าตากที่หลายๆคนมักมองข้ามไปก็คือ ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่พระองค์ท่านทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ "ตามรอย" ซึ่งหลายๆที่ก็ได้กลายเป็นสถนทีท่องเที่ยวที่สำคัญ
สถานที่แรกที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มในชีวิตของพระเจ้าตากก็คือ วัดเชิงท่า ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้เป็นที่ที่พระเจ้าตากได้เริ่มเล่าเรียนเขียนอ่านจนเชี่ยวชาญภาษาต่างๆ นอกจากภาษาไทย เช่น ภาษาจีน ญวน และบาลี และเมื่ออายุครบบวช ท่านก็ได้อุปสมบทที่วัดแห่งนี้ ก่อนจะลาสิกขาไปรับราชการที่เมืองตาก ที่วัดเชิงท่านี้ยังมีรูปเหมือนของพระอาจารย์ทองดี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าตาก ให้คนได้มาสักการะอีกด้วย
ส่วนที่ จังหวัดตาก ที่ท่านได้เป็นเจ้าเมืองปกครองอยู่ระยะหนึ่งนั้น มีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นศาลทรงจัตุรมุข ด้านหน้าศาลแขวนโคมจีนสีแดง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระราชอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ด้านหลังศาลจะมีรูปปั้นช้างศึกม้าศึกอยู่เต็มบริเวณ ซึ่งได้มาจากผู้ที่นำมาถวายหลังจากขอพรจากศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ตามประสงค์ รวมทั้งยังมีวัดดอยข่อยเขาแก้ว หรือวัดพระเจ้าตาก ซึ่งเป็นที่บรรจุอังคารของบิดามารดาของท่าน
หันมาที่ จังหวัดจันทบุรี บ้าง จังหวัดนี้นับว่าเป็นอีกเมืองที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีสถานที่ที่เป็นที่ระลึกถึงท่านอยู่มากมาย เช่น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตัวเมืองจันท์ ศาลนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2463 เป็นศาลทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุข และต่อมาใน พ.ศ.2534 ชาวจันทบุรีก็ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างศาลใหม่ขึ้นมาตั้งอยู่ข้างศาลเดิม เป็นรูปทรงเก้าเหลี่ยม หลังคาเป็นรูปพระมาลายอดแหลม ภายในมีพระบรมรูปของพระเจ้าตากประทับนั่งอยู่
นอกจากนั้น ในจังหวัดจันทบุรีก็ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนสาธารณทุ่งนาเชย อำเภอเมืองจันทบุรี มีรูปลักษณะพระบรมรูปทรงม้าพระที่นั่งออกศึก ทรงเครื่องกษัตริย์นักรบ รอบพระบรมรูปเป็นทหารคนสนิท 4 คน คอยอารักขาทั้งสี่ด้าน และพระบรมราชานุสาวรีย์ อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ค่ายตากสิน เป็นพระบรมรูปอยู่ในท่าทรงพระแสงดาบบัญชาการรบ ส่วนในบริเวณปากแม่น้ำจันทบุรีก็เชื่อว่าเคยเป็นอู่ต่อเรือของพระเจ้าตาก เนื่องจากพบเรือสำเภาโบราณ และเรือขุดโบราณสมัยพระเจ้าตากอยู่บริเวณนั้น
เมื่อพระเจ้าตากกู้เอกราชคืนจากข้าศึกได้แล้วนั้น ก็มาตั้งราชธานีใหม่อยู่ที่ "เมืองทณบุรีศรีมหาสมุทร" ที่แห่งนี้ท่านได้สร้างพระราชวังของท่านไว้ซึ่งอยู่บริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์และกองทัพเรือ จนเมื่อถึงยุคแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงได้ย้ายมาอยู่ทางฝั่งพระนคร พระราชวังของพระเจ้าตากลดความสำคัญลงเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ และกลายเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี ภายหลังได้เรียกพระราชวังนี้ว่า "พระราชวังเดิม"
และในสมัยของรัชกาลที่ 5 ท่านได้พระราชทานพระราชวังเดิมแห่งนี้ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ส่วนโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่ก็คือ ท้องพระโรงสมัยกรุงธนบุรีที่พระเจ้าตากสินเสด็จออกว่าราชการ พระตำหนักเก๋งคู่ ซึ่งหลังในเป็นที่บรรทมของพระเจ้าตากสิน รวมทั้งยังมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในท่าประทับยืน และทรงพระแสงดาบ ขนาดประมาณเท่าครึ่งของพระองค์จริงอีกด้วย
นอกจากพระราชวังเดิมแล้ว ก็ยังมี วัดอินทารามวรวิหาร ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตาก ซึ่งท่านเคยเสด็จมาประทับแรมเพื่อทรงนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ทรงศีลภาวนา จนเมื่อท่านเสด็จสวรรคตลง ก็ได้ประดิษฐานพระบรมศพ ถวายพระเพลิง และบรรจุพระบรมอัฐิไว้ที่วัดแห่งนี้ ปัจจุบันประชาชนนิยมไปสักการะพระบรมรูปจำลองของสมเด็จพระเจ้าตากสิน รวมทั้งแท่นบรรทม ซึ่งพระองค์เคยใช้เป็นที่ประทับ ภายในวัดมีพระเจดีย์คู่หนึ่งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าตากและพระอัครมเหสีไว้ ส่วนในพระอุโบสถหลังเก่า มีพระพุทธรูปปางตรัสรู้เป็นพระประธาน ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรังคาร หรือ เถ้ากระดูกของพระองค์
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในฝั่งธนที่จะกล่าวข้ามมิได้เลยก็คืออนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินบริเวณวงเวียนใหญ่ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระบรมราชกฤษฎาอภินิหารแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งในวันที่ 27-28 ธ.ค. นี้จะมีงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งที่ 28 ประจำปี 2547 โดยจะจัดพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ที่วัดอินทารามวรวิหารในวันที่ 27 ธ.ค. ส่วนเช้าวันที่ 28 ธันวาคม จะมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดอรุณราชวราราม และพิธีบวงสรวงที่พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ วงเวียนใหญ่ ส่วนทางจังหวัดตากก็จะมีงานตากสินมหาราชานุสรณ์ด้วยเช่นกัน โดยจะจัดในวันที่ 28 ธ.ค.47 - 3 ม.ค. 48 นี้
ช่วงเวลา 15 ปี ที่พระเจ้าตากสินทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินธนุบรี เป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนชาวไทยตลอดมา หากท่านทรงมีญาณรับรู้ก็คงจะทราบว่า ประชาชนชาวไทย ยังคงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอยู่เสมอ...ตลอดมา
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สำหรับเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตากนั้น ปัจจุบันอยู่ใน เขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช
และอุทยานแห่งชาติลานสาง จ.ตาก โดยเฉพาะใน อุทยานแห่งชาติลานสาง มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าตากทรงยกทัพไปตีหัวเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ทรงออกขับไล่ทหารพม่าแล้วพลัดหลงกับกองทัพ จนรุ่งสางได้เกิดแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและมีเสียงม้าศึกร้องขึ้นกลางป่า
เมื่อทหารที่ออกติดตามไปทันก็พบสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับนั่งอยู่บนหลังม้ากลางลานหิน และมีแสงสว่างเปล่งออกมาจากพระวรกาย ส่วนทหารพม่านั้นหมอบราบอยู่รอบๆ บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่าลานสาง และบริเวณลานหินหรือน้ำตกลานเลี้ยงม้านั้นก็ยังปรากฏรอบเกือกม้าของพระองค์อยู่จนทุกวันนี้