"ศาสนสถาน"นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจและที่ประกอบพิธีทางศาสนาของศาสนิกชนแล้ว ศาสนสถานหลายๆแห่งยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เนื่องจากว่าเพียบพร้อมไปด้วยงานศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานไปด้วยความเชื่อของศาสนานั้นๆ
และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นเมืองพุทธที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา แต่ว่าประเทศไทยก็ไม่เคยปิดกั้นเรื่องการนับนับถือของประชากรในประเทศ ด้วยเหตุนี้ในเมืองไทยจึงมีคนที่นับถือศาสนาอื่นอยู่เป็นจำนวนมาก โดยศาสนาคริสต์นับเป็นอีกหนึ่งศาสนาในปะเทศไทยที่มีคนนับถือเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีโบสถ์คริสต์อยู่หลายแห่ง ที่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของเหล่าคริสตศาสนิกชนแล้ว โบสถ์คริสต์ยังถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของชุมชน ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ได้ยกให้โบสถ์คริสต์ 3 แห่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ส่วนกองการท่องเที่ยว สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ชูโบสถ์คริสต์ 1 แห่งริมเจ้าพระยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนบางกอก โดยโบสถ์แต่ละแห่งนอกเหนือไปจากการเป็นศูนย์รวมจิตใจของคริสตศาสนิกชนในชุมชนแล้ว โบสถ์ทั้ง 4 แห่งต่างก็มีความสวยงามและความน่าสนใจที่ชวนให้ไปเที่ยวชมแตกต่างกันออกไป
โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรมโกธิค
วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เป็นวัดโรมันคาทอลิกอันเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ช่วงปลายของยุคพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวเสื้อสายญวนนิกายคาทอลิกจำนวน 130 คน ที่หนีการเบียดเบียนทางศาสนามาจากเวียดนาม ในพ.ศ. 2254
เดิมทีนั้นโบสถ์หลังแรกตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับโบสถ์หลังปัจจุบัน โดยโบสถ์หลังปัจจุบันนี้สร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2448 หรือ ค.ศ.1905 แทนหลังเก่า โดย คุณพ่อเปรโตร เปรีกาล บาทหลวงชาวฝรั่งเศส
ลักษณะสถาปัตยกรรมของโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมลเป็นศิลปะแบบโกธิค(ศิลปะโกธิค ( Gothic ) เริ่มต้นจากฝรั่งเศส ปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ช่วง ก่อนที่จะเผยแพร่หลายไปยังประเทศอื่น โดยศิลปะโกธิคมีลักษณะเด่นคือ จะมีความสูงเป็นพิเศษ มีหลังคาที่แหลม) ที่สร้างตามแบบโบสถ์น็อตเตอร์ดามในฝรั่งเศส ตัวโบสถ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร
ภายนอกประดับลวดลายฉลุรอบตัวโบสถ์ มีหน้าต่างโค้งแหลม ด้านหน้าโบสถ์มีหอคอยสูงตั้งตระหง่านกระหนาบตัวอาคารทั้ง 2 ข้างโดยหอคอยด้านขวามือ(หากมองจากด้านหน้าเข้าไป) เป็นหอนาฬิกา ส่วนทางเข้าตรงกลางเป็นหลังคาจั่วมีช่องแสงและลวดลายประดับสวยงาม
เดิมทีโบสถ์หลังนี้หลังยอดแหลมตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมโกธิค แต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการรื้อยอดแหลมทิ้งเป็นหลังคาธรรมดาเพื่อไม่ให้เป็นเป้าถูกโจมตีทางอากาศ
และหากใครมีโอกาสเดินเข้าไปภายในโบสถ์ก็จะได้สัมผัสกับอาคารที่เป็นโถงโล่ง มีทางเดินเป็นชั้นลอยอยู่ทั้งสองข้าง ช่องแสงอาคารประดับตกแต่งกระจกสี( Stainglass ) เป็นรูปนักบุญองค์ต่างๆ ในศาสนาคริสต์ ที่เมื่อยามต้องแสงแดดจะดูขรึมขลังมลังเมลือง และหากใครเข้าไปในโบสถ์ช่วงที่กำลังสวดทำพิธีก็จะพบกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยพลังแห่งศรัทธา
ส่วนบริเวณด้านหน้าโบสถ์มีสวนหย่อมเล็กๆอยู่ 2 ข้าง มีประติมากรรมพระแม่มารีที่ใบหน้าสงบ เปี่ยมเมตตา ยืนโดดเด่นอยู่ทางด้านขวามือของหน้าโบสถ์
สำหรับโบสถ์วัดแม่พระฯ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคริสต์ในเมืองจันท์และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองจันท์แล้ว มีรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามการันตีในความน่าสนใจของโบสถ์หลังนี้ ส่วนทางททท.ก็ยกให้โบสถ์วัดแม่พระฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ประเภทมุมมองใหม่แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์และธรรมชาติ
ผู้ที่สนใจสามารถไปเที่ยวชมโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล ได้ที่ในย่านท่าหลวงหรือชุมชนตลาดล่างที่นับว่าเป็นหนึ่งในย่านที่เก่าแก่ของเมืองจันท์ ชาวชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ โดยโบสถ์วัดแม่พระฯตั้งอยู่ในโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี หากไปจาก ถ.ท่าหลวง จะถึงก่อนขึ้นสะพานดำรงรัตน์เล็กน้อย โดยโบสถ์แห่งนี้จะเปิดทุกวันระหว่างเวลา 06.00-07.00 น. และ 18.30-19.45 น. ซึ่งก่อนการสวดมนต์ในแต่ละวันสามารถเข้าไปเที่ยวชมความงามและถ่ายภาพได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.ภาคกลางเขต 4 โทร. 0-3865-5420
โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ โบสถ์ไม้ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
กำเนิดของโบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ มีที่มาที่ไปค่อนข้างน่าสนใจ โดยเมื่อปี พ.ศ.2451 หรือเกือบ 100 ปีที่แล้ว บ้านหนองซ่งแย้(ที่อยู่ของแย้) อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร เป็นหมู่บ้านเล็กๆกลางดงทึบ มีครอบครัวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ 5 ครอบครัวที่มาจากต่างทิศต่างถิ่นมาอยู่รวมกันที่นี่
แต่ว่าพวกเขาก็ยังประสบกับชะตากรรมเดิมๆ คือถูกผู้คนในหมู่บ้านที่อยู่มาก่อนกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ พร้อมๆกับทำร้าย และระดมขับไล่ออกจากหมู่บ้าน
กลุ่ม 5 ครอบครัวเมื่ออับจนหนทาง ก็เดินทางไปหาบาทหลวงฝรั่งเศสเดชาแนลและออมโบรซีโอ ที่บ้านเซซ่ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร มาทำการขับไล่ผีปอบที่สิงอยู่กับตนและครอบครัว ซึ่งบาทหลวงทั้งคู่ต่างไม่ปฏิเสธ ร่วมเดินทางมาช่วยเหลือชาวบ้านที่บ้านหนองซ่งแย้
หลังจากนั้นครอบครัวทั้ง 5 ก็เข้ารีตเป็นคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิก โดยต่อมามีคนอพยพมาอยู่เป็น ประชาคมชาวคริสต์มากขึ้น
เมื่อมีชาวคริสต์มาอยู่เป็นประชาคมมากขึ้น บาทหลวงทั้ง 2 จึงสร้างวัดหนองซ่งแย้ขึ้นมาในปี พ.ศ.2452 โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาลาตินว่า "วัดอัครเทวดามิคาแอล" ซึ่งเป็นชื่อของนักบุญองค์สำคัญ มีบาทหลวงเดชาแนลเป็นอธิการโบสถ์คนแรก
สมัยนั้นอาคารวัดซ่งแย้เป็นกระต๊อบเล็กๆฝาขัดแตะที่ชาวบ้านปลูกให้ 2 บาทหลวงอยู่ พร้อมๆกับใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาควบคู่ไปในตัว แต่ว่าในช่วงแรกๆวัดซ่งแย้ยังคงมีเรื่องกระทบกระทั่งกับชาวบ้านที่ไม่ได้นับถือคริสต์ โดยมีเรื่องขั้นรุนแรงถึงขั้นลอบเผาวัด
แต่หลังจากนั้นชาวบ้านทั้งสองฝ่ายก็เข้าใจกัน และอยู่ด้วยกันมาอย่างสงบร่มเย็น ส่วนอาคารของวัดก็มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ โดยโบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ที่ตั้งโดดเด่นในปัจจุบัน นับเป็นโบสถ์หลังที่ 3 ที่สร้างขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมและมีขนาดคับแคบ
สำหรับโบสถ์คริสต์วัดซ่งแย้หลังใหม่นี้มีความน่าสนใจหลายอย่าง ไล่ไปตั้งแต่เริ่มลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ. 2490 โดยชาวบ้านแถวนั้นได้ร่วมแรงร่วมใจกันตัดไม้ที่อยู่ในป่าละแวกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้จิก ชักลากลำเลียงออกมาจากป่า โดยมีหัวหน้าช่างจากจังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นผู้คุมงาน
บาทหลวงบุญเลิศ พรหมเสนา อธิการโบสถ์องค์ปัจจุบัน ได้เผยถึงบันทึกของการสร้างโบสถ์หลังนี้ว่า มีชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจมาสร้างโบสถ์วัดซ่งแย้ราวๆ 1,500 คน โดย แบ่งเป็น 15 กลุ่ม แต่ละกลุ่มรับงานไปทำเป็นแผนกต่างๆ อาทิ กลุ่มจัดหาเสา กลุ่มจัดหาไม้กระดาน กลุ่มจัดหาแป้นไม้มาทำหลังคา
นอกจากนี้ในบันทึกยังได้กล่าวถึงความน่าทึ่งในการสร้างโบสถ์วัดซ่งแย้เอาไว้ว่า เสาที่หามานั้นส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เต็งที่มีจำนวนเสามากถึง 336 ต้น โดยเสาแถวกลางของโบสถ์นี้ต้องใช้เสาขนาดใหญ่ที่สูงจากพื้นดินกว่า 10 เมตร จำนวน 260 ต้น ส่วนวิธีการปักเสา ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าทึ่งคือชาวบ้านสมัยนั้นไม่ได้ใช้เครื่องมือกลหนักแต่อย่างใดในการตั้งเสา พวกเขาเพียงแค่ใช้เชือกหนังควายมัดและฉุดเสาลงปักตั้ง ด้านแป้นไม้มุงหลังคาก็ใช้มากถึง 80,000 แผ่น แต่กระนั้นไม้ที่นำมาสร้างโบสถ์ก็ยังเหลือ ซึ่งชาวบ้านก็ได้นำไปสร้างเป็นโรงเรียนซ่งแย้พิทยา ในปีเดียวกัน
และอีกเรื่องที่น่าทึ่งก็คือโบสถ์หลังนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 7,000 บาท เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นค่าตะปูและน็อต แต่ว่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จก็ส่งให้โบสถ์วัดซ่งแย้กลายเป็นโบสถ์ไม้ประดับกระจกที่มีจั่วที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร มีหลังคาจั่ว ประดับกระจก ใต้ถุนยกพื้นเตี้ยๆ ภายในสามารถจุคนได้ ประมาณ 500 คน มีการทำพิธีเสกวัดในปี พ.ศ. 2497
ส่วนสภาพปัจจุบันของโบสถ์วัดซ่งแย้นั้นมีหลายจุดที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ว่าก็ยังใช้การได้
นอกจากนี้โบสถ์วัดซ่งแย้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ หอระฆังของโบสถ์ที่สร้างแตกต่างจากโบสถ์คริสต์ทั่วไปที่มีหอระฆังอยู่ที่หลังคาโบสถ์ แต่โบสถ์ที่วัดนี้มีหอระฆังที่สร้างตามแบบหอระฆังวัดไทย
ส่วนระฆังในโบสถ์ก็มีความน่าสนใจตรงที่ ระฆังใบนี้เป็นระฆังที่หล่อในปี พ.ศ. 2475 มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ฟุต สันนิษฐานว่าสันตะปาปากรุงโรมในยุคนั้นเป็นผู้มอบให้ โดยระฆังใบนี้มีจารึกภาษาลาตินที่ยังคงความสมบูรณ์ไว้หลายบรรทัด
ด้วยความที่โบสถ์วัดซ่งแย้มีความน่าสนใจหลายประการ ทางททท.จึงจัดให้โบสถ์วัดซ่งแย้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ประเภทมุมมองใหม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็ทำให้มีคนเดินทางไปเที่ยวชมความน่าสนใจของโบสถ์วัดซ่งแย้อยู่ไม่ได้ขาด
สำหรับโบสถ์คริสต์วัดซ่งแย้ หรือ วัดอัครเทวดามีคาแอล นั้น ตั้งอยู่ที่ ต. คำเตย อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร การเดินทางจากตัวจังหวัดใช้ทางหลวงหมายเลข 2169 เลย อ.กุดชุม ไปประมาณ 7-8 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 600 เมตร ก็จะถึงโรงเรียนซ่งแย้พิทยา ก็จะถึงวัดอัครเทวดามีคาแอล ที่มีโบสถ์ไม้หลังใหญ่ตั้งโดดเด่นอยู่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 โทร.0-4524-3770
โบสถ์คริสต์วัดสองคอน อนุสรณ์แห่งบุญราศีทั้ง 7
ความโดดเด่นที่น่าสนใจจนทำให้โบสถ์วัดสองคอน ที่ตั้งอยู่ริมลำน้ำโขง แห่ง อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ได้รับการคัดเลือกจากททท.ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ประเภทมุมมองใหม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือโบสถ์ที่วัดสองคอนนั้นถือเป็นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ภายใต้แนวคิดที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาและเป็นโบสถ์คริสต์คาทอลิกสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์ โดยโบสถ์แห่งนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในปี พ.ศ. 2539
สำหรับความเป็นมาของโบสถ์วัดสองคอนในปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย โดยจากปากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่แห่งบ้านสองคอน สรุปความออกมาได้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกโดย คุณพ่อฟรังซิส มารี ซาเวียร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนบ้านสองคอนขึ้นในปี 2430 ตัววัดมีรูปร่างคล้ายศาลาเรียบๆ มีเสาเป็นไม้เนื้อแข็ง
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2460 มีการสร้างวัดหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่าที่ชำรุด ลักษณะของวัดหลังที่ 2 ดูคล้ายห้องแถว กว้างประมาณ 8 เมตร ยาว 30 เมตร เป็นเรือนไม้พื้นยกสูง ชั้นล่างเป็นคอกวัว ฝาเป็นไม้ไผ่สานฉาบปูน หลังคามุงแฝก โดยมีการเรียกชื่อวัดหลังนี้ใช้ชื่อว่า "วัดพระแม่ไถ่ทาส"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ช่วงที่เกิดกรณีพิพาทเรื่องชายแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ตามบันทึกที่ปรากฏเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดสองคอนได้กล่าวไว้ว่า ในยุคนั้นบาทหลวงส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส ทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งเศส จึงมีคนกล่าวหากันว่าคนที่นับถือคริสต์ช่วงนั้นจะฝักใฝ่ในฝรั่งเศส ทรยศต่อประเทศชาติ ทางการจึงได้ส่งตำรวจขึ้นมาประจำหมู่บ้านตลอดแนวชายแดนไทย-ลาว มีพลตำรวจ 5 นายมาประจำอยู่ที่บ้านสองคอน
ช่วงระยะแรกๆ ความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ก็ยังคงดำเนินไปด้วยดี แต่หลังจากที่สงครามเข้าสู่ภาวะตึงเครียด การกระทบกระทั่งก็รุนแรงขึ้น โดยคุณพ่อเปาโล ฟีเกต์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ได้ถูกทางการเนรเทศออกนอกประเทศ เหลือแต่ซิสเตอร์พิลา ทิพย์สุข ซิสเตอร์คำบาง สีคำฟอง กับนายสีฟอง อ่อนพิทักษ์ ซึ่งเป็นครูสอนคำสอนและสอนหนังสือในโรงเรียนที่ยังคงอยู่ช่วยงานวัดต่อไป
เหตุการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อทางฝ่ายตำรวจได้พยายามขมขู่ชาวบ้านให้ละทิ้งศาสนา ไม่เช่นนั้นจะมีโทษถึงขั้นประหาร แต่ว่านายสีฟองและคณะซิสเตอร์ยังคงเป็นผู้นำชาวบ้านไม่ให้ละทิ้งความเชื่อมั่น
เหตุการณ์นี้ทำให้นายสีฟองถูกยิงทิ้งเป็นคนแรก ในวัย 33 ปี ต่อมากลุ่มซิสเตอร์ ผู้หญิงและเด็กที่ศรัทธาต่อพระเจ้า อีก 6 คนได้ถูกยิงทิ้งที่สุสานป่าศักดิ์สิทธิ์ โดยรายชื่อผู้ที่ถูกยิงทิ้งทั้ง 6 คน มีดังนี้ 1.ซิสเตอร์พิลา ทิพย์สุข อายุ 31 ปี 2.ซิสเตอร์คำบาง สีคำฟอง อายุ 23 ปี 3.นางพุดทา ว่องไว อายุ 59 ปี 4.นางสาวบุดสี ว่องไว อายุ 16 ปี 5.นางสาวคำไพ ว่องไว อายุ 15 ปี และ เด็กหญิงพร ว่องไว อายุ 14 ปี
หลังจากนั้น ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร ในนครรัฐวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกอบพิธิสถาปนา "บุญราศี" (คำว่า "บุญราศี" (THE BLESSED) คริสตจักรคาทอลิก จะใช้นำหน้าชื่อ เพื่อยกย่องคริสตชนที่เสียชีวิต และภายหลังปรากฏว่ากิติศัพท์คุณงามความดีของคนนั้นขจรขจายไปมาก) ให้กับคนไทยทั้ง 7 ที่เสียชีวิตเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชู และสดุดีวีรกรรมของผู้เสียชีวิตไปในหมู่ชาวคริสต์ทั่วโลก พร้อมกำหนดวัดฉลองบุญราศีคนไทยทั้ง 7 ปีละ 2 ครั้ง คือวันที่ 22 ตุลาคม และวันที่ 16 ธันวาคมในปฏิทินคริสตัง(วันที่ 16 ธ.ค. เป็นวันที่ นายสีฟองถูกสังขาร)
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการบุญราศีแห่งประเทศไทย จึงมีโครงการสร้างอนุสรณ์สถานที่วัดสองคอนขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญราศีคนไทยทั้ง 7 โดยใช้ชื่ออนุสรณ์สถานนี้ว่า "สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี" ซึ่งได้มอบให้อาจารย์อัชชพล ดุสิตานนท์ เป็นผู้ออกแบบสร้าง
แล้วสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี โบสถ์คริสต์สมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์ ก็ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 64 ไร่ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่างๆ มีถนนตัดผ่ากลาง ทางด้านตะวันตกสร้างเป็นอาคารสำนักงาน บ้านพัก และสุสานหรือป่าศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ฝังอัฐิของบุญราศีทั้ง 7
ส่วนด้านทิศตะวันออกที่ติดกับแม่น้ำโขงก็สร้างเป็นโบสถ์คริสต์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโถงสี่เหลี่ยมชั้นเดียว ผนังของวัดและส่วนไว้พระธาตุเป็นกระจกใส บริเวณด้านหน้าเป็นส่วนประกอบพิธี ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บอัฐิของบุญราศีทั้ง 7 ซึ่งมีการทำเป็นหุ่นขี้ผึ้งจำลองของบุญราศีทั้ง 7 ไว้ให้สักการะบูชา มีไม้กางเขน 7 แห่งด้านหน้า แทนบุญราศีทั้ง 7
สำหรับกำแพงโบสถ์สร้างโอบล้อมโบสถ์เป็นครึ่งวงกลม มีผนังโค้งประดับภาพนูนต่ำ เล่าเรื่องราวประวัติบุญราศีแห่งวัดสองคอน ส่วนด้านหลังเปิดโล่งเป็นสนามเพื่อเอาไว้ชมทิวทัศน์อันสวยงามของแม่น้ำโขง โดยโบสถ์หลังนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี พ.ศ. 2538
ซึ่งจากองค์ประกอบที่สวยงามและเรื่องราวที่น่าสนใจ ทำให้"สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี"กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งจังหวัดมุกดาหารไปโดยปริยาย
ใครอยากชมความงามของ โบสถ์คริสต์วัดสองคอน หรือ สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สามารถไปเที่ยวชมได้ที่ บ้านสองคอน อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร โดยจากตัวเมืองมุกดาหารใช้ทางหลวงหมายเลข 212 (หนองคาย-อุบลฯ)ไปทางนครพนมประมาณ 21 กม. แล้วเลี้ยวขวาที่บ้านสองคอน อ.หว้านใหญ่ ตรงไปยังริมแม่น้ำโขง ก็จะเห็นตัวโบสถ์ตั้งโดดเด่นอยู่ริมลำน้ำโขง โดยโบสถ์แห่งนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและสักการะทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 โทร.0-4232-5406
โบสถ์กาลหว่าร์ โบสถ์โกธิคริมเจ้าพระยา
นอกเหนือจากโบสถ์คริสต์อันซีนไทยแลนด์ทั้ง 3 แห่งแล้ว ในกรุงเทพฯ ก็มีโบสถ์คริสต์อันซีนบางกอกด้วยเช่นกัน โดยกองการท่องเที่ยวได้ยกให้ โบสถ์คริสต์วัดกาลหว่าร์ เป็นโบสถ์อันซีนบางกอกที่มีความสวยงามน่าเที่ยวชม
สำหรับความเป็นมาของวัดกาลหว่าร์นั้น สร้างขึ้นโดยกลุ่มชนชาวโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ให้แก่พม่าในปี พ.ศ.2310 พวกเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในบริเวณตลาดน้อยริมฝั่งเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก จากนั้นก็ได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2329 โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดกาลวารีโอ" เนื่องจากว่าที่ด้านหลังวัดเป็นสุสานมีหลักกางเขนตั้งอยู่ จึงตั้งชื่อวัดตามชื่อภูเขา "กาลวารีโอ" ซึ่งเป็นดินแดนที่องค์พระเยซูคริสต์ถูกทหารโรมันจับตรึงไม้กางเขน
แต่เนื่องจากว่าคนไทยเวลาเรียกวัดนี้จะออกเสียงเป็น "วัดกาลหว่าร์" โดยวัดนี้มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการว่า "วัดพระแม่ลูกประคำ" เนื่องจากมีชาวจีนผู้หนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้มาบูรณะวัดนี้ภายหลังที่ได้สร้างมาประมาณ 60 ปี โดยได้ขนานนามวัดนี้ว่า "วัดพระแม่ลูกประคำ"
สำหรับตัวโบสถ์กาลหว่าร์ หลังปัจจุบันถือเป็นโบสถ์หลังที่สามตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนกุหลาบวิทยา สร้างในปี พ.ศ. 2434 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2441 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโกธิคที่สูงตระหง่าน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมในยุคนั้น
ลักษณะโบสถ์เป็นอาคารผนังก่ออิฐถือปูนแบบโบราณที่ไม่ใช้เหล็กและเสาเข็ม ภายในมีเพดานเป็นดาวประดับลักษณะท้องฟ้า ตกแต่งกระจกสีเป็นเรื่องราวในคัมภีร์พระธรรมทั้งเก่าและใหม่
โดยโบสถ์กาลหว่าร์ ตั้งอยู่ที่ริมน้ำเจ้าพระยา ใกล้ๆกับสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ กทม. เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 17.30 -20.00 น. (พิธีมิซา 19.30-20.00 น.) วันอาทิตย์ เปิดปกติ 17.30-20.00 น. (พิธีมิซา 8.00-11.00 น.) ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2266-4849,0-2236-2727