ดินแดนต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 19 จังหวัด ต่างก็มีเสน่ห์แตกต่างกันไป บ้างก็มีเสน่ห์ตรงธรรมชาติที่สวยงาม บ้างก็มีเสน่ห์ทางด้านวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ บ้างก็มีเสน่ห์ในทางศิลปวัฒนธรรม
และ “ศรีสะเกษ” ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งมีประวัติศาสตร์มายาวนานไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ทั้งยังมีเสน่ห์ที่หลากหลาย ตามคำขวัญที่ว่า “ศรีสะเกษแดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี”
เสน่ห์อย่างแรกที่หลายคนนึกถึงเมื่อเอ่ยชื่อจังหวัดศรีสะเกษขึ้นมา ก็คงจะเป็น “เปรี๊ยะ วิเฮียร์” ในภาษาเขมร หรือ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ในภาษาไทย ที่แม้ว่าปราสาทเขาพระวิหารในปัจจุบันจะเป็นกรรมสิทธิ์ของเขมร แต่ด้วยเหตุที่บันไดทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารอยู่ทางฝั่งประเทศไทย จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนเขาพระวิหารเป็นจำนวนมาก
ทางขึ้นเขาพระวิหารทางฝั่งไทยนั้นประกอบด้วยบันไดหิน 162 ขั้น ซึ่งมีทั้งความสูงชัน และแคบ ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินเป็นพิเศษ และเมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วก็จะพบกับความสวยงามของปราสาทที่ตั้งอยู่บนแนวเขาสูงลดหลั่นกันไป สันนิษฐานกันว่าปราสาทเขาพระวิหารนี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณพุทธศักราชที่ 1545-1593 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของเขมร และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนสำเร็จลงในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งบริเวณกรอบประตูด้านทิศเหนือของปรางค์ประธานก็ยังมีอักษรขอมโบราณที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้สลักจารึกคำประกาศเอาไว้บนแผ่นศิลาด้วย
นอกจากปราสาทเขาพระวิหารที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดของที่นี่แล้ว ที่จังหวัดศรีสะเกษก็ยังมีปราสาทในสมัยขอมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ ในอำเภออุทุมพรพิสัย ซึ่งถือว่าเป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่และสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของศรีสะเกษ สร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 มีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ อยู่บนฐานเดียวกัน ที่นี่ยังได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่นทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ และพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย
นอกจากนั้นก็ยังมีปราสาทหินสระกำแพงน้อย สร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นศาสนสถานมาก่อน แต่ภายหลังได้มีการบูรณะเพิ่มเติมให้เป็น “อโรคยาศาล” หรือสถานพยาบาลประจำชุมชน ปราสาทบ้านปราสาท (ปราสาทห้วยทับทัน) ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ ปราสาทปรางค์กู่ ซึ่งตัวปรางค์สร้างด้วยอิฐเรียงแผ่นโตๆ เหมือนปราสาทศรีขรภูมิที่จังหวัดสุรินทร์ ด้านหน้าปรางค์กู่มีสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นทำเลพักหากินของนกเป็ดน้ำ ซึ่งมีมากในช่วง ก.พ. เป็นต้นไป ส่วนปราสาทอื่นๆ ก็เช่น ปราสาทตาเล็ง ปราสาทตำหนักไทร ปราสาทโดนตวล และปราสาทบ้านสมอ เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นดินแดนแห่งปราสาทขอมสมชื่อจริงๆ
ในบริเวณใกล้ๆ กับทางขึ้นเขาพระวิหาร มีแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งคือ “ผามออีแดง” ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวที่เชื่อมต่อกับทางขึ้นเขาพระวิหาร ที่ผามออีแดงนี้มีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติบนหน้าผาสูง ซึ่งสามารถมองเห็นประเทศกัมพูชาเบื้องล่างได้ และยังเป็นจุดชมทัศนียภาพเขาพระวิหารในระยะใกล้ 1,000 เมตร
จุดที่น่าสนใจของบริเวณผามออีแดงนี้ก็คือ ภาพสลักนูนต่ำนางอัปสรา 3 องค์บนผนังหินทรายอยู่ใต้หน้าผา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เชื่อกันว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างก่อนที่จะเริ่มแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร บ้างก็ว่าอาจจะเป็นพิธีกรรมการเซ่นไหว้ของช่างก่อนจะลงมือทำงาน นอกจากนั้นยังมีภาพแกะสลักลายเส้นเป็นรูปพระนารายณ์อวตารอยู่ด้วย สันนิษฐานกันว่าภาพแกะสลักนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งเรียกว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จนทำให้ภาพแกะสลักที่ผามออีแดงนี้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ (2) ด้วย
ไปชมปราสาทเก่าแก่แบบขอมกันมามากแล้วก็เปลี่ยนบรรยากาศมาดูวัดแบบไทยๆ กันบ้าง แต่บอกก่อนว่าความน่าสนใจนั้นไม่ใช่ธรรมดา เพราะที่วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดล้านขวด สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในอำเภอขุนหาญนั้น เป็นวัดที่มีการประดับตกแต่งด้วยขวดแก้วหลากสีนับล้านๆ ใบที่ชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาคให้กับวัด ดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ โดยเฉพาะศาลาฐานสโมสรมหาเจดีย์แก้ว ซึ่งมีความสวยงามที่ไม่เหมือนใคร โดยในแต่ละวันก็จะมีคนมาทำบุญพร้อมกับชมความสวยงามของวัดนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดนี้ก็คือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจะมีเส้นทางเที่ยวชมสวนชิมผลไม้ศรีสะเกษที่อยู่ห่างจากจากอำเภอกันทรลักษณ์ไปประมาณ 5 กิโลเมตร ส่วนผลไม้ก็มีทั้ง เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ให้ชิมและมีพืชอื่นๆ อีก เช่น สะตอ ยางพารา เป็นต้น ถ้าใครอยากจะมาชมสวนชิมผลไม้ที่นี่ก็ให้มาในช่วงเดือนมิถุนายน รับรองว่าจะเลือกกินไม่ถูกเลยทีเดียว
ส่วนแหล่งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งก็คือ สวนสมเด็จศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสวนป่าขนาดใหญ่ในเขตเมือง จุดเด่นคือมีดงดอกลำดวนกว่า 4 หมื่นต้นอยู่ภายในสวนนั้น ดอกลำดวนนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่ดอกลำดวนบานพร้อมๆ กันส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งสวน และเป็นช่วงที่มีการจัดงานงานเทศกาลดอกลำดวนบานขึ้นที่สวนสมเด็จศรีนครินทร์แห่งนี้ด้วย
ปิดท้ายก่อนจะลาจังหวัดศรีสะเกษกันด้วยของฝากขึ้นชื่อของที่นี่ นั่นก็คือ หอมแดง กระเทียม และกระเทียมโทนดองน้ำผึ้งคุณภาพดี โดยเฉพาะในอำเภอยางชุมน้อย ซึ่งปลูกหอมกระเทียมเป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นจำนวนมาก และในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีก็จะมีงานเทศกาลหอมแดง ของดียางชุม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร และเพื่อให้นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ได้ตามไปสนุกสนานกันอีกด้วย
แม้จะใช้ตัวหนังสือบรรยายอย่างไรก็คงจะไม่สามารถมองเห็นหรือจินตนาการภาพได้ดีเท่ากับการได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง เพราะฉะนั้นลองหาโอกาสไปชม “เสน่ห์” ของศรีสะเกษสักครั้ง แล้วจะรู้ว่าถิ่นอีสานใต้นี้ มีดีไม่แพ้ใครเลยเชียว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวและการเดินทางได้ที่ ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 2 โทร.0-4524-3770, 0-4525-0714
สอบถามข้อมูลเขาพระวิหารได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร โทร.0-4561-9214
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ชมผามออีแดง ก่อนเที่ยวเขาพระวิหาร (ตอนที่ 1)
ชมผามออีแดง ก่อนเที่ยวเขาพระวิหาร (ตอนที่2)
จังหวัดศรีสะเกษ