"เด่นทรนงตระหง่านฟ้าท้าทาย
ศัตรูใดมิอาจกล้ำกรายย่ำยี
หินร่องกล้าประกาศท้าไพรี
สงครามประชานี้มีอานุภาพเกรียงไกร...
เพลง : ภูร่องกล้าปฏิวัติ
ในช่วงปีพ.ศ. 2511-2525 "ภูหินร่องกล้า" หรือ "ภูร่องกล้า" นอกจากจะเป็นป่าเขารกชัฏแล้ว ยังถือเป็นหนึ่งในพื้นที่"สีแดง" ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความตายระหว่างการสู้รบของคน 2 กลุ่ม คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) กับ ฝ่ายความมั่นคง
บทสรุปของการสู้รบไม่ปรากฏผลแพ้-ชนะ เพราะสุดท้ายฝ่ายความมั่นคงประกาศนโยบาย 66/2523 และ 65/2525 ที่ใช้การเมืองนำการทหาร เปิดโอกาสให้เหล่านักศึกษาประชาชนที่หนีเข้าป่า กลับคืนสู่เมืองมาช่วยกันพัฒนาชาติไทย
หลังจากนั้นมาดินแดนภูหินร่องกล้าก็ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 48 ของประเทศไทย ในวันที่ 26 ก.ค. 2527
จากดินแดนที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความตาย ก็กลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามไปด้วยธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้ง ป่าไม้ น้ำตก ภูผา และหินรูปร่างแปลกตา
แต่ความโดดเด่นเหนืออื่นใดที่อุทยานฯภูหินร่องกล้ามีแตกต่างไปจากอุทยานฯอื่นก็คือ เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยสหาย ที่ปัจจุบันกลายเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ควบคู่ไปกับความงามของธรรมชาติอันพิสุทธิ์
ย้อนอดีตคนเดือนตุลา ในดินแดนภูหินร่องกล้า
"ที่พวกเราเข้าป่าในช่วงนั้นเพราะรู้สึกเคียดแค้นต่อความไม่เป็นธรรม และถูกกดดันจากฝ่ายบ้านเมือง ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร แต่ที่หนีเข้าป่าก็เพราะรู้สึกว่าอยู่ป่าปลอดภัยกว่าอยู่ในเมือง"
"สหายยอด"หรือ "สรชัย ยอดทิพย์อุทัย" กล่าวให้เพื่อนๆเหล่าสหายและนักท่องเที่ยวที่สนใจกลุ่มหนึ่งฟัง ในระหว่างที่เดินอยู่ในบริเวณ "โรงเรียนการเมืองการทหาร" ที่ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)
"ฝน เป็นนักเรียนของโรงเรียนการเมืองการทหารรุ่นแรก ตอนที่เข้ามาโรงเรียนเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน กลิ่นไม้ยังหอมอยู่เลย สมัยขึ้นมาอยู่ภูร่องกล้าใหม่ๆ ป่าแถวนี้เป็นป่าทึบ แทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่มาวันนี้ไม่รู้ว่าป่าหายไปไหนหมด"
เพ็ญศรี พลพิพัฒน์พงศ์ หรือ "สหายฝน" หนึ่งในสหายหญิงที่เคยมาใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนการเมืองการทหารรำลึกอดีต
สำหรับโรงเรียนการเมืองการทหารปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของภูหินร่องกล้าที่มีคนเดินทางมาชมร่องรอยของประวัติศาสตร์อยู่ไม่ได้ขาดโดยโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯไปประมาณ 4 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นอาคารไม้หลายหลังสร้างกลมกลืนอยู่ในผืนป่า ประกอบไปด้วยพื้นที่หลายส่วน อาทิ ฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายทหาร ฝ่ายสื่อสาร โรงพยาบาล โรงพิมพ์ บ้านพัก และรถแทรกเตอร์คันเก่าที่จอดทิ้งมานานนับ 10 ปี
ทั้งนี้เหล่าสหายได้ตั้งข้อสังเกตกันว่า การที่โรงเรียนการเมืองการทหารรอดพ้นจากการถูกบอมบ์ก็เนื่องมาจาก โรงเรียนตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม เมื่อมองลงมาจากเครื่องบินจะไม่เห็น
"แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ถูกบอมบ์นะ สมัยนั้นเขาทิ้งบอมบ์แบบปูพรมไปทั่ว พอเขาทิ้งบอมบ์มาพวกเราก็จะวิ่งเข้าไปหลบซ่อนกันในป่า ส่วนคนที่บาดเจ็บหรือร่างกายไม่ดีก็จะซ่อนอยู่ใต้ก้อนหินใหญ่ตรงนั้น"
สหายยอด เล่าเรื่องราวแต่หนหลัง พร้อมชี้ไปยังก้อนหินใหญ่ที่มีซอกอยู่ข้างใต้ที่อยู่กลางโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันหินก้อนนี้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายรูปกันไม่ได้ขาด โดยส่วนมากไม่รู้ว่าหินก้อนนี้มีความสำคัญต่ออดีตสหายภูร่องกล้าอย่างไร
"สมัยนั้นเราเรียนกันทั้งบุ๋น และบู๊ เรียนบู๊ก็คือการฝึกทหารแค่ว่าไม่ถึงขึ้นฝึกแบบทหารจริงๆ แต่จะคล้ายฝึกร.ด.มากกว่า แล้วก็เรียนรู้การใช้ปืนจริง ไม่ว่าจะเป็น อาก้า เอ็ม 16 เรียนการใช้ชีวิตในป่า ส่วนบุ๋นเราก็เรียน พวกปรัชญาต่างๆในลัทธิคอมมิวนิสต์ เรียนทฤษฎีวัตถุนิยมวิพากษ์ เรียนเกี่ยวกับการเมือง โดยตอนนั้นเราเรียนกันแบบวิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ที่นายกฯบอกว่าการเรียนแบบบูรณาการนั้นผมว่าที่โรงเรียนการเมืองการทหารนี่สอนมาก่อนนะ"
หลังจากที่ฟังเพื่อนๆสหายเล่ามาเสียนาน ก็เป็นทีของ "สหายเอก" หรือ เถกิงศักดิ์ ดิสวัฒน์ เล่าขึ้นบ้าง โดยสหายเอกได้เล่าเพิ่มในสำเนียงกึ่งตัดพ้อว่า หลายๆจุด หลายๆเรื่องเกี่ยวกับอดีตสหายและพคท.นั้น ค่อนข้างผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงมาก
โดยสหายเอกได้ยกตัวอย่างจากรถแทรกเตอร์ที่จอดตายอยู่กลางพื้นที่โรงเรียนการเมืองการทหาร ซึ่งมีป้ายเขียนข้อความเอาไว้ว่า
...เหยื่อสงคราม : รถแทรกเตอร์ของบริษัทพิฆเนศ ถูก ผ.ก.ค.ยึด เมื่อครั้งสร้างทางสายพิษณุโลก-ด่านซ้าย เป็นการข่มขู่ เรียกค่าคุ้มครอง และภายหลัง ผ.ก.ค. ได้ระเบิด ก่อนลงมามอบตัว...
"แม้กระทั่งปัจจุบันเขาเรียกพวกเรายังเรียกเป็น ผกค.(ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์)เลย ส่วนรถแทรกเตอร์นั้นพวกเรายอมรับว่าได้ยึดมาจริง ที่ยึดรถมาเพราะตอนนั้นเขามาสร้างทางเพื่อจะตัดเข้ามาในฐานที่มั่นเรา ซึ่งก็เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์การรบของฝ่ายความมั่นคง พวกเราเมื่อรู้ก็ไปยึดมาแต่ไม่ได้ไปข่มขู่เรียกค่าคุ้มครอง เพราะถ้าเรียกค่าคุ้มครองก็คงไม่เอารถมา เพราะตอนนั้นไม่มีใครขับรถแทรกเตอร์เป็น โดยตอนนั้นยึดรถแทรกเตอร์มา 2 คัน พอดีคันนี้เป็นเกียร์ออโต้ก็ลองขับเรื่อยมาจนมาถึงจุดนี้แล้วก็ขับต่อไปไม่ได้จึงจอดทิ้งไว้
"ส่วนที่บอกว่าพวกเราวางระเบิดรถคันนี้แล้วค่อยลงไปมอบตัว ถ้าวางระเบิดรถก่อนป่านนี้มันคงเละไปแล้ว แต่นี่มันยังคงสภาพดีอยู่ ตอนที่ผมลงไปมอบตัวใหม่ๆมันยังขับได้อยู่ แต่ตอนนี้อะไหล่มันถูกขโมยไปขายหมด หลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์ของสหายคนตุลา ที่ผมรู้เรื่องรถคันนี้ดีก็เพราะว่าผมเป็นคนขับมันขึ้นมาบนนี้เอง" สหายเอกเล่าด้วยน้ำเสียงดุดัน
ด้าน "สหายวิง" หรือ ณัฐสพรรษ กรึงไกร ได้เล่าเพิ่มเติมว่า เขาเองรู้สึกงงว่าโรงเรียนการเมืองการทหารมีบ้านของสหายจีน และสหายลาวขึ้นมาได้อย่างไร เพราะแต่ก่อนไม่มี แต่มารู้ที่หลังว่าทางฝ่ายความมั่นคงสร้างบ้านพวกนี่เพิ่มขึ้นมา โดยมองว่า คนไทยเชื้อสายจีนเป็นพวกสหายจีน ส่วนคนอีสานก็เป็นสหายลาว ซึ่งสหายวิงได้ตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจจะเป็นมุมที่ทางฝ่ายความมั่นคงอาจต้องการนำเสนอให้คนภายนอกเห็นว่าพวก พคท.สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติคอมมิวนิสต์ก็เป็นได้
"จากข้อความที่ปรากฏตามป้ายหรือตามเอกสารต่างๆ ของสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับคนเดือนตุลาไม่ว่าจะเป็นที่ภูหิน ที่เขาค้อ ข้อมูลส่วนมากนั้นเป็นมุมที่มองมาจากฝ่ายความมั่นคง เพราะฉะนั้นถ้าถามหาความถูกต้อง คงมีเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น แต่เรื่องนี้ผมได้เสนอทางฝ่ายความมั่นคงไปว่า ให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกันทำข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ในประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของภูร่องกล้าในช่วงนั้น แต่ว่าเรื่องก็หายเงียบไปทุกที" สหายวิงตัดพ้อ
"ยุคนี้ผมว่ามันไม่น่าจะมีการมองกันว่าใครขวา ใครซ้ายแล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงไปมาก พวกเราที่เคยหนีเข้าป่าหลายคนก็มาทำงานการเมือง บางคนเป็นใหญ่เป็นโต บทเรียนสมัยเมื่อครั้งเข้าป่ามันสอนให้วิธีคิดเราเปลี่ยนไป คืออยู่ในโลกความเป็นจริง แต่กับพวกฝ่ายความมั่นคงและพวกราชการส่วนมากยังคงคิดแบบเดิม คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่เหนือประชาชน เรียกว่าเป็นการมองโลกแบบเดิมไม่เคยเปลี่ยนไม่ว่ายุคสมัยไหน" สหายเอกกล่าว
ผลพวงสมรภูมิร่องกล้า นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าฝ่ายความมั่นคงและข้าราชการส่วนใหญ่ในความคิดของอดีตสหายภูร่องกล้า หรือของใครอีกหลายๆคนยังมีวิธีคิดแบบเดิมๆ แต่สำหรับ ดิเรก ก้อนกลีบ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กับแตกต่างออกไป โดยดิเรกได้ให้ความเห็นว่า ไม่อยากให้อดีตของคนเดือนตุลาที่ถือว่าเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเลือนหายไป
"ในยุคนั้นต่างฝ่ายต่างก็หวังดีต่อประเทศชาติ เพียงว่าแต่มองกันคนละมุม แต่ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นแตกต่างกัน แต่เมื่อหน้าเข้าหากันและรับฟังความคิดกัน สุดท้ายก็สามารถมาร่วมพัฒนาชาติไทยได้เหมือนกัน" ดิเรกกล่าว
ด้วยเหตุที่ดิเรกไม่อยากให้อดีตของคนเดือนตุลาเลือนหายไปจากภูหินร่องกล้า เขาจึงได้จัดกิจกรรม "ย่ำภูหินร่องกล้า ตามรอยสหายคนเดือนตุลา" ขึ้นมาในช่วงเดือน ธ.ค. 47 – ก.พ. 48
สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยสหายที่ภูหินร่องกล้านั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนี้ดิเรกได้ชักชวนอดีตสหายภูหินร่องกล้ามาร่วมจัดอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยเขาตั้งใจว่าในอนาคตจะมีการปรับปรุงข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันให้ถูกต้องตามความเป็นจริง รวมไปถึงให้เหล่าสหายมาเป็นไกด์นำคนเที่ยวชมในพื้นที่ของเหล่าอดีตสหาย พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวให้กับเด็กๆชาวม้งในพื้นที่ เพื่อสร้างไกด์ท้องถิ่นตัวน้อยขึ้นมา
อนึ่งในเส้นทางเที่ยวตามรอยสหายที่ภูหินร่องกล้า นั้นไม่ใช่มีแค่ที่โรงเรียนการเมืองการทหาร แต่ยังมีสำนักอำนาจรัฐ เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของคนเดือนตุลา ซึ่งเส้นทางสายนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นอย่าง ลานหินปุ่มและผาชูธง เป็นจุดดึงดูดที่สำคัญ
"สำนักอำนาจรัฐ สร้างขึ้นเมื่อปี 2520 ถือเป็นดังศูนย์กลางการปกครองของพวกเรา ใครว่า พคท.ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมว่าไม่จริง เพราะที่สำนักอำนาจรัฐมีการเลือกตั้ง มีการลงโทษผู้ที่กระทำผิด เป็นที่จัดงานรื่นเริงในช่วงวันสำคัญของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็น วันเสียงปืนแตก 7 สิงหา วันปฏิวัติ 1 ธ.ค. วันกรรมกร วันสตรีสากล วันปีใหม่" สหายเอกเล่า
ในส่วนของจุดท่องเที่ยวที่สำคัญนั้น ลานหินปุ่ม พวกสหายนิยมใช้เป็นที่พักผ่อนชมทิวทัศน์ยามเหตุการณ์สงบ ส่วนผาชูธงนั้นก็เป็นหนึ่งในอนุสรณ์การสู้รบที่หากรบชนะฝ่ายความมั่นคงก็จะขึ้นไปโบกธงค้อน-เคียวที่บนนั้น
"พวกเรายินดีที่จะถ่ายทอดเรื่องในอดีตที่ภูร่องกล้าให้คนที่สนใจฟัง เพราะที่ผ่านๆมาในช่วงวันหยุดเดือนตุลา พวกเราก็จะกลับมารำลึกความหลังกันทุกปี และในการเดินรำลึกความหลังแต่ละครั้งเราก็จะเล่าเรื่องราวในอดีตให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาร่วมเดินไปกับเรา เมื่อทางราชการให้ความสนใจเราก็ยินดี ซึ่งต่อไปหากใครที่สนใจมาเที่ยวกันเป็นหมู่คณะแล้วอยากให้สหายภูร่องกล้านำเที่ยวก็ให้ติดต่อมาที่อุทยานฯหรือที่กลุ่มสหายสามจังหวัด"
สหายยอดกล่าว พร้อมกับเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนที่พวกเขาลงมามอบตัวก็มีความคิดกันว่าถ้ามีโอกาสก็จะกลับมาพัฒนาสถานที่ ที่เคยมาใช้ชีวิตช่วงเป็นสหายให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงเรื่องราวอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
"บทเรียนจากการหนีเข้าอยู่ป่านั้นให้อะไรกับพวกเรามากมาย ให้วิธีคิดที่เป็นระบบ รู้จักเสียสละแบ่งปัน ได้ทั้งชีวิตสังคม ชีวิตส่วนตัว และการทำธุรกิจ ถ้าหากย้อนอดีตกลับไปได้ผมก็คงจะทำเหมือนเดิม" สหายยอดกล่าวทิ้งท้าย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
รู้จักภูหินร่องกล้า
อุทยานภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
มีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยยอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูหมันขาว ภูแผงม้า ภูขี้เถ้า ภูลมโล ภูหินร่องกล้า โดยมีภูหมันขาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1 ,820 เมตรจากระดับน้ำทะเล
นอกเหนือไปจากแหล่งท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคนตุลา อย่าง โรงเรียนการเมืองการทหาร และ สำนักอำนาจรัฐแล้ว ภูหินร่องกล้าก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับคนตุลาอีก อาทิ
หมู่บ้านมวลชน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชนมีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมทางที่ตัดมาจากอำเภอหล่มสักลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้บ้านแต่ละหลังจะมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย
กังหันน้ำ อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร ใช้หล่อเลี้ยงคนหลายพันคนบนภูหินร่องกล้า สร้างขึ้นโดยนักศึกษาโดยใช้พลังน้ำขับเคลื่อนกังหันเพื่อหมุนแกนครกกระเดื่องตำข้าวซึ่งเปรียบเสมือนโรงสีข้าวของ ผกค.
โรงพยาบาล อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาคนป่วยเกือบครบถ้วน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น และยาชนิดต่าง ๆ เป็นอันมาก
ลานหินแตก อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นหินที่มีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบพอให้รากต้นหญ้าชอนไชไปได้เท่านั้น บางรอยกว้างพอคนก้าวข้ามได้ และบางรอยกว้างมากจนไม่สามารถกระโดดข้ามได้ ความลึกของร่องหินแตกเหล่านั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ในอดีตฝ่ายความมั่นคงสันนิษฐานว่าลานหินแตกเป็นฐานที่มั่นของพคท.เพราะมีรอยแยกของหินผาเพมาะที่จะซ่อนตัว
ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผาลักษณะเป็นลานหินผุดขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินทางเคมีและฟิสิกส์ ในอดีตพคท.เคยบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นของคนไข้เนื่องจากอยู่บนหน้าผา จึงมีลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การนั่งพักผ่อน
ผาชูธง อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 600 เมตร เป็นหน้าผาสูงชันสามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ดวงอาทิตย์ตกดินจะสวยงามไม่แพ้จุดชมทิวทัศน์อื่นๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ที่ ผกค.จะขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งที่รบชนะทหารของรัฐบาล
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับคนเดือนตุลาและพคท.แล้ว ภูหินร่องกล้าก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจ อาทิ
น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 32 ชั้น ปัจจุบันยังไม่มีทางรถเข้าถึง การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวยังน้ำตกในขณะนี้ ทำได้โดยการเดินเท้าเท่านั้น
น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร เป็นน้ำตกฝาแฝด 2 แห่ง ที่อยู่ติด ๆ กัน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บนถนนภูหินร่องกล้าประมาณ 4 กิโลเมตร ก่อนถึงโรงเรียนการเมืองการทหารประมาณ 1 กิโลเมตร จากถนนสายใหญ่ จะต้องเดินตัดลงไปบนทางเท้าที่พึ่งทำขึ้นใหม่เป็นระยะทางประมาณ 800 เมตร ตัวน้ำตกไม่สูงใหญ่นัก แต่สภาพแวดล้อมโดยรอบมีลักษณะเป็นป่าบริสุทธิ์อันงดงามมาก
น้ำตกผาลาดและน้ำตกตาดฟ้า ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูหินร่องกล้าโดยแยกซ้ายจาก หมู่บ้านห้วยน้ำไซต่อไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการพลังงานไฟฟ้าห้วยขมึน อันเป็นที่ตั้งของน้ำตกแก่งลาด ขึ้นเขาต่อไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร มีทางเดินแยกซ้ายลงไปน้ำตกตาดฟ้าหรือน้ำตกด่านกอซองเป็นน้ำตกชั้นเดียวขนาดใหญ่ที่สวยงาม
สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวในอุทยานฯภูหินร่องกล้า หรือ อยากให้คนตุลานำเที่ยวในเส้นทางตามรอยสหาย สามารถติดต่อรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทร.0-1596-5977 หรือที่ สหายฝนแห่งกลุ่มเพื่อน 3 จังหวัด โทร. 0-2319-8744
การเดินทาง
• จากตัวเมืองพิษณุโลก โดยสารรถยนต์ไปตามเส้นทางพิษณุโลก - หล่มสัก ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านแยง เลี้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอนครไทย เป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางต่อโดยรถสองแถว อีกประมาณ 31 กิโลเมตร จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
• จากเมืองเพชรบูรณ์ไปอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า บ้านวังบาน บ้านโจ๊ะโหวะ จนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ระยะทางประมาณ 115 กิโลเมตร