xs
xsm
sm
md
lg

เยือนถิ่นผู้ว่าฯ..ย่านเสาชิงช้ากลางกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามปกติของคนดังอย่างผู้ว่ากทม.ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็มักจะเป็นข่าวอยู่เสมอ แต่สำหรับผู้ว่ากทม.คนล่าสุดที่บรรดาสาวน้อย สาวใหญ่พร้อมใจกันยกฉายาให้ว่า“หล่อเล็ก”กลับไม่ค่อยมีข่าวคราวเหมือนเช่นผู้ว่าฯคนก่อนๆ เพราะหลังจากได้รับเลือกตั้งก็เงียบหายไปคล้ายดังเป่าสาก

ไอ้ครั้นพอนายหล่อเล็กโผล่ออกมาแถลงผลงานที่ไม่มีผลงานในรอบ 3 เดือน ก็ถูกค่อนขอดว่าเป็นการแถลงผลงานเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์ไปเสียฉิบ

เอาเถอะก็ว่ากันไป เพราะถึงยังไงนายหล่อเล็กยังมีเวลาอีก 3 ปีกว่าในการบริหารกทม. ยังไงก็อย่าให้คนเขาว่าได้ว่า เก่งแต่หล่อ ส่วนผลงานไม่เป็นสับปะรดขลุ่ย

พูดถึงผู้ว่ากทม.แล้ว สำหรับคน ตจว.อย่างฉัน เห็นว่าย่านศาลากทม.ที่ว่าทำงาน ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่าเสาชิงช้านั้น เป็นย่านเก่าที่มีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งจุดท่องเที่ยว ชุมชนเก่า และเรื่องของอาหารการกิน ด้วยเหตุนี้ฉันจึงหาฤกษ์ยาม ในยามเย็นของวันว่างไปเดินทอดหุ่ยในย่านเสาชิงช้า เพื่อตามหาผู้ว่าฯที่หายไป เอ้ย!!! ไม่ใช่ เพื่อชมวิถีคนเมืองในย่านนี้

กว่าจะเลิกงานเดินทางถึงเสาชิงช้าก็แดดร่มลมตกพอดี(พอดีที่ทำงานอยู่ใกล้) เลิกงานแล้วศาลาว่าการกรุงเทพฯปิดเงียบเชียบ แต่บรรยากาศบน“ลานคนเมือง”ที่อยู่ด้านหน้ากลับคึกคัก เต็มไปด้วยกลุ่มคนกรุงที่ออกมาทำกิจกรรมกันมากมาย

มีเด็กนักเรียนในโรงเรียนแถวนั้น ทั้งสาวแท้ สาวเทียมมาซ้อมเต้นเชียร์ลีดเดอร์กันอย่างขะมักเขม้น ส่วนใกล้ๆกันก็มีกลุ่มเด็กแนวมาเล่นสเก็ตบอร์ดด้วยท่าทางเอาจริงเอาจัง ที่ลานคนเมืองไม่ใช่จะมีเฉพาะกิจกรรมของเด็กวัยรุ่นเท่า รุ่นคุณน้าคุณอาก็มีมาจับกลุ่มออกกำลังเต้นแอโรบิกกันให้เห็นอยู่ทั่วไป

พอเดินพ้นโซนกิจกรรมออกมาทางเสาชิงช้า ฉันก็เห็นป้ายชื่อจังหวัดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ส่วนบางคนก็ว่าน่าจะยาวที่สุดในโลกด้วยซ้ำ อ่านตามป้ายได้ว่า“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์...” ที่พี่ป้อม-พี่โต๊ะ อัสนี-วสันต์ สองพี่น้องร้องเป็นเพลงนั่นแหละ นี่ถ้าไม่ทำเป็นเพลงไว้ละก็ ชื่อเมืองหลวงยาวขนาดนี้สงสัยนักเรียนต้องท่องจำกันหูตูบเลยทีเดียว

หลังฮัมเพลงชื่อจริงๆ แบบเต็มๆของกรุงเทพฯ จนจบ ฉันก็เริ่มหันมาสนใจเสาชิงช้าสัญลักษณ์ของย่านนี้ที่ตั้งสูงชะลูดโดดเด่นอยู่หน้าวัดสุทัศน์ฯ มานมนาน ว่ากันว่าเสาชิงช้าต้นแรกนั้นสร้างในสมัยรัชกาลที่1 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีโน่นแหน่ะ และตามประวัติเดิมเสาชิงช้าก็ไม่ได้ตั้งอยู่กลางถนนบำรุงเมืองอย่างที่เห็น แต่อยู่ทางด้านหน้าโบสถ์พราหมณ์ค่อนไปทางเหนือ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้ย้ายมาตั้งหน้าวัดสุทัศน์ฯแทน

ผ่านเวลามาเนิ่นนาน ตัวเสาชิงช้าเองก็ผุพังแต่ก็ได้รับการซ่อมแซมหลายครั้งกว่าจะกลายมาเป็นเสาต้นปัจจุบัน ครั้งหนึ่งเกิดไฟไหม้ขึ้นที่เสาเนื่องจากมีคนไปจุดธูปบูชาแล้วปักธูปไว้ ไฟหล่นลงไปในร่องแตกและคุเป็นควันลุกขึ้นจนรถดับเพลิงต้องมาดับ จากเหตุนั้นทำให้เกิดข่าวลือว่าทางเทศบาลนครกรุงเทพฯจะรื้อเสาชิงช้า แต่มีเสียงคัดค้านว่าเป็นวัตถุโบราณที่มีมาแต่ครั้งสร้างกรุงจึงควรอนุรักษ์เอาไว้ จะเห็นว่าลวดลายกระจังบนยอดเสาชิงช้าก็มีการเปลี่ยนใหม่ ตลอดจนทาสีใหม่ให้สวยงามยิ่งขึ้นด้วย

แม้จะมีการอนุรักษ์แต่ก็เหลือเพียงเสาชิงช้าเท่านั้น พิธีโล้ชิงช้าที่เคยมีมาด้วยกันตั้งแต่รัชกาลที่1 นั้นถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาพบ้านเมืองค่อนข้างวุ่นวายจึงไม่เหมาะประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เช่นที่เคย พิธีโล้ชิงช้านั้นถือว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณของพราหมณ์ เชื่อกันว่าจัดขึ้นเพื่อต้อนรับพระอิศวรที่เสด็จลงมาเยี่ยมโลก ซึ่งพิธีนี้มีความสำคัญเทียบเท่ากับพิธีในวันวิสาขบูชาของชาวพุทธนั่นเอง

น่าสังเกตว่าชุมชนย่านเก่าแก่นี้ ไม่ว่าจะเหลียวซ้ายแลขวาก็จะเห็นร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ตลอดแนวถนนรวมไปถึงในตรอกซอกซอยน้อยใหญ่

ผู้เฒ่าผู้แก่ของย่านเสาชิงช้าเล่าให้ฉันฟังว่า การขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่นี่มีมานานเกือบร้อยปีแล้ว เริ่มแรกเป็นร้านคูหาไม้เล็กๆ ต่อมาเมื่อร้านที่เป็นไม้ทรุดโทรมจึงได้รื้อสร้างเป็นตึก 2 ชั้น โดยจำลองแบบมาจากตึกแถวที่สิงคโปร์ คือเป็นคูหาแบบเก่ามีกำแพงหนา ขอบประตูตอนบนโค้งมน ซึ่งลักษณะอาคารแบบนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5

ย่านที่ขายเครื่องสังฆภัณฑ์จะเริ่มจากบริเวณประตูผีซึ่งมีร้านค้าขายกระจุกตัวอยู่ ต่อมาจึงได้ขยายตัวออกมาเรื่อยๆจนถึงบริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า ซึ่งย่านเสาชิงช้าเป็นแหล่งรวมสินค้าที่ใช้ในศาสนพิธี ในสมัยก่อนร้านที่ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ส่วนมากจะขายเฉพาะผ้าเหลืองพวกไตรจีวร แล้วค่อยมีสินค้าใช้ในศาสนพิธีอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมา

ฉันนั่งฟังผู้เฒ่าเล่าแล้วไม่ค่อยแปลกใจนักที่ย่านนี้กลายเป็นแหล่งขายสังฆภัณฑ์ที่ครบครันที่สุดเพราะลึกเข้าไปด้านหลังตึกแถว มีโรงหล่อพระ เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม เย็บผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ ทำสิ่งของเครื่องใช้พระภิกษุ ทั้งตาลปัตร ตู้พระธรรม โต๊ะหมู่บูชา พอทำเสร็จก็สามารถส่งไปขายที่ตึกแถวด้านหน้าได้ทันที

ยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนใกล้ๆกันอย่างบ้านบาตรก็ตีบาตรพระส่งมาขาย และชุมชนบ้านสายที่อยู่บริเวณตรงข้ามวัดเทพธิดารามติดกับถนนมหาไชยก็ทำสายรัดประคด เข็มขัดสำหรับพระภิกษุไว้คาดเอวหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสายรัดเอวส่งมาขายเช่นกัน ย่านเสาชิงช้าจึงนับว่าเป็นทำเลทองของธุรกิจการค้าเครื่องสังฆภัณฑ์เลยทีเดียว

เดินดูโน่นดูนี่จนกระทั่งท้องร้องฟ้องให้หาอะไรใส่ท้องก่อนกลับบ้าน ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปกินขนมปังเล่นที่ร้านมนต์แต่พอเห็นจำนวนลูกค้าที่ยืนออกันแน่นร้านแล้ว ฉันก็เกิดเปลี่ยนใจถอยดีกว่า(ไม่อาววว... ดีกว่า) ร้านมีชื่ออย่างชิงกี่ราดหน้า ข้าวต้มโกหยวน และร้านข้าวหน้าเป็ดก็คงมีลูกค้าเยอะไม่ต่างกันนัก

ด้วยความขี้เกียจรอ ฉันเลยลองอาหารทางเลือกจากรถเข็นดู ว่าแล้วก็ได้ปลาหมึกสดย่างกับน้ำจิ้มแซ่บหลาย ต่อด้วยขนมบัวลอยไข่หวานตรงตรอกศิลป์ ยังมีอาหารให้เลือกกินอีกเยอะตามตรอกต่างๆ เมื่ออิ่มแล้วค่อยกลับบ้านได้อย่างสบายใจสบายท้องเสียที จะว่าไปก็ไม่รู้สาเหตุที่ผู้ว่า“หล่อเล็ก”ไม่ค่อยออกไปปรากฏตัวที่ไหน จะเป็นเพราะติดอกติดใจรสชาติอาหารย่านเสาชิงช้าเข้าแล้วหรือเปล่าหนอ...
กำลังโหลดความคิดเห็น