xs
xsm
sm
md
lg

ซื่อใส :ไกด์น้อย ดอยอ่างขาง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

ต้นฤดูหนาว บ่ายแก่ๆ ณ หมู่บ้านนอแล ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่

พลันที่ผมก้าวเท้าลงจากรถตู้ขนาดมาตรฐาน เด็กชายชาวเขา เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว กางเกงสีน้ำเงินเข้ม เดินตรงเข้ามายกมือไหว้ผมพร้อมกับพูดเสียงดังฟังชัดในภาษาไทย 95 % ว่า

“สวัสดีครับ ผมชื่องวย นายมัน เป็น ชาวปะหล่อง(ดาละอั้ง)”

หะแรกที่เจอกับงวย ผมยังไม่แน่ใจว่าหมอนี่จะมาไม้ไหน เพราะหลายครั้งหลายคราเวลาที่ไปเที่ยวเขาเที่ยวดอย ผมมักจะเจอกับเด็กๆชาวเขา (รวมไปถึงผู้สาว เฒ่า แก่) ที่พอเห็นเราลงจากรถปุ๊บก็จะวิ่งกรูเข้ามาเสนอขายของที่ระลึกสารพัดอย่างไม่ว่าจะเป็น หมวก กำไล กระเป๋า โปสการ์ด รวมไปถึงสินค้าอีกหลายอย่าง

บางครั้งใจผมนั้นเห็นแล้วก็อยากอุดหนุน เพราะว่าดูๆไปพวกเด็กๆชาวเขาพวกนี้ก็น่าเห็นใจไม่น้อย แต่ว่าจากประสบการณ์ที่เจอมาส่วนมากจะเป็นเหมือนๆกัน คือ พอเราควักเงินซื้อสินค้าของใครไปเท่านั้นแหละ เด็กคนอื่นที่เห็นก็จะวิ่งกรูเข้ามาพร้อมๆกับพูดเป็นโทนเดียวกันว่า...ช่วยซื้อหน่อยสิคะ สิบะ (10 บาท) เอง วันนี้หนูยังขายไม่ได้เลย...

ครั้นพอมาเจองวยที่จู่ๆ ก็เดินเข้ามาทักทายโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยและวงดนตรี ผมก็ไม่แน่ใจว่าหมอนี่จะมาไม้ไหน มีอะไรมาเสนอขายหรือเปล่า

ในขณะที่กำลังยับยั้งชั่งใจว่าจะเดินเลี่ยงไปหรือรอดูสินค้าจากงวยก็มีเด็กชายตัวเล็กกว่างวยคะเนอายุราว 10 ขวบนิดๆ เดินเข้ามาหาผมพร้อมยิงคำพูดใส่มาแบบไม่ทันให้ตั้งตัวว่า

“ดอยทางขวามือที่มีธงปักอยู่เรียกว่า “ดอยหัวโล้น” อยู่ในเขตพม่า ส่วนดอยทางซ้ายมีชื่อว่า “ดอยหัวนก” เป็นเขตแดนพม่าเหมือนกัน” เด็กชาวเขาคนนั้นพูด พร้อมกับชี้มือไปยังดอยทั้ง 2

ส่วนงวยพูดเสริมว่า ด่านชายแดนที่เห็นค่ายทหารพม่าทางซ้ายมือนั้นคือด่านปากคี เป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนไทย

ไม่ใช่แค่ผมที่เจอเด็กชาวเขาเดินเข้ามาพูดคุย แต่กับกลุ่มนักท่องเที่ยวหญิงที่เพิ่งลงจากรถมาก็มีเด็กผู้หญิงชาวเขา 2 คนในชุดประจำเผ่าสีแดงสด เดินปรี่เข้าไปพูดคุยในทำนองเดียวกัน

ก่อนที่เด็กชาวเขาทั้งชายหญิงและงวยจะทำผมงงงวยงงงัน งวยก็พูดขึ้นมาว่า

“พวกเราเป็น “มัคคุเทศก์น้อยดอยอ่างขาง” จากโรงเรียนบ้านขอบด้ง ผมงวย อยู่ชั้นป.6”

เมื่อได้ฟังที่ทั้งคู่พูดมาผมก็ถึงบางอ้อ รู้แล้วว่า 2 คนนี้คือไกด์ท้องถิ่นตัวน้อย พวกเขาทั้ง 2 มีบัตรคล้องคอแสดงชื่อของตัวเองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมัคคุเทศก์น้อยหรือไกด์ตัวน้อย ในปัจจุบันนี้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งนิยมปั้นไกด์น้อยขึ้นมา เพื่อสร้างสีสันให้กับแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ

“สวัสดีครับผมชื่อนวย นายที อยู่ป.4 ผมจะพาพี่ไปเดินเที่ยวแถวนี้” ไอ้ตัวเล็กบอกกับผมพร้อมเดินนำไปทางด่านชายแดนที่อยู่ซ้ายมือ โดยมีงวยเดินตีคู่ไป

เพียงชั่วอึดใจเรา 3 คนก็มาถึงยังสะพานข้ามหลุมบังเกอร์ที่ด้านหน้ามีป้าย “สุดเขตประเทศไทย”ตั้งไว้ ซึ่งนับเป็นป้ายนี้นับเป็นจุดถ่ายรูปชั้นดีของเหล่านักท่องเที่ยว โดยข้างป้ายสุดแดนก็มีข้อความเขียนเตือนใจคนไทยเอาไว้ว่า “เกิดมาในดินแดน ต้องทดแทนคุณแผ่นดิน”

เมื่อผมอ่านข้อความนี้แล้วก็อยากจะให้เหล่านักวิชาการ ส.ว. และพวกNGOที่ชอบชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้านอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนปนความชอบธรรม โดยที่ตัวเองนั่งสบายอยู่ในห้องแอร์ได้มาอ่านข้อความนี้มั่งจัง พวกเขาจะได้รู้ว่าชีวิตของทหารและชีวิตคนที่อยู่ชายแดนนั้นยากลำบากแค่ไหน

เรื่องนี้ขนาดเด็กตัวเล็กอย่างนวยยังพูดถึงเสี้ยวหนึ่งยากลำบากในชีวิตของการสู้รบที่เกิดมาทัน ณ บ้านนอแล ว่า

“ตั้งแต่เกิดมาผมเคยเห็นหลุมบังเกอร์นี่ใช้หนึ่งครั้งตอนปี 2543 ตอนนั้นพม่ารบกับไทยใหญ่แถวๆนี้ ทหารไทยก็ต้องคอยเฝ้าระวังในหลุมบังเกอร์ให้ใครรุกล้ำเข้ามา ตอนที่เขาเริ่มรบกันประมาณเที่ยงคืน ได้ยินเสียงดัง และเห็นมีไฟไหม้ พวกเราปะหล่องนึกว่าบ้านของใครถูกไฟไหม้ พวกผู้ใหญ่ต่างวิ่งไปตักน้ำหวังมาช่วยดับไฟ แต่พอรู้ว่ารบกันก็หนีกันไปหลบอยู่กับพวกทหารก่อนที่ทหารจะพาพวกเราอพยพไปอยู่ข้างล่างจนเลิกรบกันถึงได้กลับขึ้นมาใหม่” นวยเล่าด้วยความฉะฉานก่อนที่จะกระโดดลงไปเดินในบังเกอร์

สำหรับผมเมื่อได้ยินเรื่องราวบางส่วนของเด็กชาวเขาทั้ง 2 จากอารมณ์คลางแคลงใจกลัวจะถูกรุมตื้อซื้อของ เปลี่ยนเป็นอารมณ์ต้องใจในความใสซื่อ พร้อมๆกับความสนใจในเรื่องราวของพวกเขาชาวปะหล่องและกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยแห่งดอยอ่างขางขึ้นมาเสียแล้ว

เมื่อสนใจผมก็เปลี่ยนตัวเองเป็นเจ้าหนูจำไม ยิงคำถามกลับไปยังไกด์ตัวน้อยทั้ง 2 คน

พี่อยากรู้ว่าปะหล่องมีความเป็นมายังไง ?

นวย : “แต่ก่อนปู่ย่าตายายผมอาศัยอยู่ในดอยลาย ประเทศพม่า แต่ว่าพอมีการรบกันระหว่างพม่ากับไทยใหญ่ พวกเราก็อพยพไปอยู่ที่บ้านปากคีที่อยู่ในเขตพม่าฝั่งตรงข้าม แต่ว่าพม่าก็รบกับพวกว้าแดงอีก ปะหล่องจึงอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทยที่บ้านนอแลเมื่อประมาณปี 2527”

งวย : “สมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ผมฟังว่า การอพยพหนีสงครามลำบากมาก ต้องขนของเดินข้ามป่าข้ามเขา มีคนป่วยไข้ล้มตายก็มาก แต่ถ้าไม่อพยพย้ายมาก็ต้องไปเอาเด็กผู้ชายไปเป็นทหาร ผู้เฒ่าที่อพยพมาเล่าให้ผมฟังว่า ตอนนั้นพม่าต้องการทหารไปช่วยรบอย่างมาก บ้านไหนมีเด็กผู้ชายอายุขนาดนวย(11 ปี)เขาก็เกณฑ์ไปเป็นทหารแล้ว ส่วนอายุ 15 อย่างผมต้องถูกจับไปเป็นแน่ ทหารพม่าเขาจะมาขอผู้ลูกชายไปเป็นทหารถ้าไม่ให้ลูกชายก็ต้องเอาลูกปืน”

สำหรับความเชื่อดั้งเดิมของชาวปะหล่องนั้น งวยบอกผมว่าเรื่องนี้ให้ผู้หญิงเล่าจะดีกว่าเพราะผู้หญิงมีชุดแต่งกายที่เกี่ยวกับความโบราณ ว่าแล้วงวยก็เดินไปเรียกไกด์น้อย 2 หญิง 1 ชาย ที่เพิ่งส่งกลุ่มนักท่องเที่ยวกลับไปมาร่วมวงสนทนาที่ริมชายแดน ท่ามกลางแสงแดดที่เริ่มอ่อนแสง และลมหนาวที่พัดพลิ้วมาเป็นระลอกๆ

“สวัสดีค่ะ-ครับ”

“หนูชื่อ สร้อย ลายคำ

“หนูชื่อจามแสง นันตา

“ผมชื่อยอดชาย คำแสน

"พวกเราเป็นมัคคุเทศก์น้อยดอยอ่างขาง ชนเผ่าปะหล่อง เรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านขอบด้ง”

เด็ก 3 คนที่มาสมทบพูดแนะนำตัวพร้อมๆกัน

เมื่อครบองค์สนทนาเด็กผู้หญิงทั้ง 2 คนก็ช่วยกันเล่าตำนานของชาวปะหล่องให้ฟัง

“พวกปะหล่องมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า พวกเราเป็นลูกหลานนางฟ้าที่มีด้วยกัน 7 องค์ แล้ววันหนึ่งนางฟ้าทั้ง 7 ก็ลงมาเล่นน้ำบนโลกมนุษย์ แต่ว่ามีนายพราน(บางคนว่านายพรานนี้คือชาวมูเซอ)มาเห็นจึงใช้แร้วจับตัวนางฟ้าได้องค์หนึ่งชื่อ “ร้อยเงิน”(ข้อมูลทั่วไปมักระบุว่าชื่อ“หรอยเงิน”) ทำให้นางฟ้าองค์นี้กลับขึ้นสวรรค์ไม่ได้กลายเป็นต้นกำเนิดของชนเผ่าปะหล่องขึ้นมา”

“พวกผู้หญิงปะหล่องจะสวมใส่ “หน่องว่อง” ที่เปรียบดังสัญลักษณ์แทนแร้วที่นายพรานใช้จับตัวนางฟ้าร้อยเงิน ซึ่งปะหล่องจะใส่ไว้เพื่อระลึกถึงนาง สมัยก่อนหน่องว่องทำด้วยเงินแท้ แต่ในยุคหลังมาจะทำด้วยหวายย้อมสีถักเป็นวงคล้องรอบเอวไว้ใต้เข็มขัด”

“ชาวปะหล่องถือว่าหน่องว่องเป็นสิ่งมงคลเมื่อคล้องไว้ชีวิตจะมีความสุข ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์”

สร้อยกับจามแสงผลัดกันเล่าเรื่องราวตำนานของปะหล่องให้ผมฟัง โดยมีงวย นวย และยอดชายยืนให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวคร่าวๆของชนเผ่าปะหล่องหรือดาละอั้ง ผมก็ยังคงทำตัวเป็นเจ้าหนูจำไม ซักไซ้เรื่องราวของพวกเขาต่อ
 
เออ ทำไมชื่อแต่ละคนฟังดูเท่จังใครเป็นคนตั้งให้ ?

งวย : “ส่วนมากพ่อแม่ของเราจะตั้งให้ แต่นามสกุลนั้นจะมาจากชื่อบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย อย่างผมนามสกุลนายมัน ก็มาจากปู่ชื่อ“มัน” ส่วนปู่ของนวยชื่อ “ที” ก็นามสกุลนายที”

จามแสง : “แต่ก่อนหนูชื่อแสงจันทร์ แต่ว่าครูเปลี่ยนให้เป็นชื่อจามแสงแทน”

แล้วพวกน้องทำไงมาไงถึงมาเป็นไกด์น้อยดอยอ่างขางได้ ?

“ตอนพวกเราเรียน ป.3 ทางโรงเรียนก็ได้สอนพวกเราเป็นไกด์ พอถึงช่วงปิดเทอมใหญ่ ป.3 ก็จะมีการเข้าค่ายฝึกอบรมเป็นมัคคุเทศก์น้อย ใครผ่านก็ได้บัตรไกด์ พอขึ้น ป.4 ครูก็ให้ออกมาทดลองของจริง” เด็กๆตอบพร้อมกับชูบัตรไกด์ให้ผมดู(ช่วงนี้หลายคนช่วยกันตอบจนผมจำไม่ได้ว่าเป็นเสียงใครบ้างจึงเหมารวมกันไป)

เด็กๆ : “ครูบอกว่าที่จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้พวกเรากล้าแสดงออก และได้เรียนรู้ในประวัติศาตร์ท้องถิ่นของตัวเอง”

เด็กๆทุกคนยกเว้นงวยตอบ : “ตอนนี้พวกเราเป็นไกด์รุ่น 5”

งวย : “ส่วนผม อยู่รุ่น 3 ครูให้ผมมาคอยดูแลน้องๆ เผื่อใครให้ข้อมูลผิดผมจะช่วยเสริม เพราะตอนที่พวกเราเริ่มเป็นไกด์ใหม่จะไม่ค่อยกล้ากัน”

ได้ฟังงวยพูดผมก็ถึงบางอ้อ ตอนแรกผมเข้าใจว่าหมอนี่สอบตกเลยต้องมาร่วมเป็นไกด์กับน้องๆ แต่เปล่าเลยงวยกับเป็นผู้มีฝีมือที่ครูไว้ใจให้เป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องๆ เมื่อผ่านบางพลัดไปถึงบางอ้อจนเข้าใจแล้วผมก็ซักไซร้มากขึ้น

เป็นไกด์นี่ต้องเรียนอะไรบ้าง ?

เด็กๆ : “พวกเราเรียนเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติจากครูป่าไม้(ครูจากหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะ) เรียนเรื่องเรื่องพืชพันธุ์ไม้จากครูโครงการหลวง(ครูจากโครงการหลวงอ่างขาง) เรียนการเป็นไกด์จากครูรีสอร์ต(ครูจากรีสอร์ตธรรมชาติอ่างขาง) เรียนเรื่องโทษของยาเสพติดจากครูทหาร ส่วนครูที่โรงเรียนจะสอนเรื่องราวประวัติศาสตร์”

งวย : “พวกเราเก็บข้อมูลประวัติของเผ่า และของหมู่บ้านจากคนเฒ่าคนแก่ โดยจะไปขอให้พวกเขาเล่าให้ฟัง”

ไกด์น้อยดอยอ่างขาง แนะนำอะไรนักท่องเที่ยวบ้าง ?

เด็กๆ : “พวกเราจะบอกนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับความเป็นมาของเผ่าปะหล่อง ส่วนพวกมูเซอดำก็จะเล่าเรื่องเผ่าจของเขา เราบอกนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานที่น่าสนใจ บอกเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ที่ครูสอนมา ไกด์ที่เป็นปะหล่องมี 35 คน ส่วนไกด์ที่เป็นมูเซอดำมี 8 คน”

เด็กๆ : “ทางโรงเรียนแบ่งพวกเราออกเป็น 5 กลุ่ม วันธรรมดาจะเรียนและคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดพิเศษ จะผลัดเปลี่ยนกันมาประจำที่บ้านนอแลและบ้านขอบด้ง เพื่อคอยพูดคุยกับนักท่องเที่ยว”

ในวันที่ผมไปเจอพวกไกด์น้อยดอยอ่างขางนั้น ผมเห็นพวกเขาแต่งตัวในชุดพื้นเมืองสีสันสดใสจึงอดไม่ได้ที่จะถามเกี่ยวกับชุดของพวกเขา ซึ่งพวกเด็กๆก็บอกว่า เวลาที่ออกเป็นไกด์ก็จะแต่งชุดพื้นเมือง ส่วนในวันเรียนก็จะแต่งชุดต่างกันออกไป

วันจันทร์และอังคาร- แต่งชุดนักเรียน, วันพุธ-แต่งชุดพละ, วันพฤหัสฯ-แต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี, วันศุกร์และวันที่เป็นไกด์-แต่งชุดประจำเผ่า

โอ้ว...แม่เจ้าโว้ย ทำไมพวกน้องเขาถึงมีชุดเยอะจังเลย เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าชุดนักเรียนที่เปลี่ยนเกือบทุกวันนี่เป็นเงินของใคร รู้แต่ว่าพวกชาวเขาส่วนมากในเมืองไทยนับเป็นกลุ่มชนที่มีฐานะยากจนมากในเมืองไทย ถ้าชุดนักเรียนทั้งหมดพวกเขาต้องออกค่าใช้จ่ายเองนี่ถือว่าแย่ทีเดียวกับระบบการศึกษาบ้านเรา แต่ถ้าเป็นเงินที่รัฐออกให้ก็แล้วไป

ผมวกกลับมาพูดคุยกับเด็กๆไกด์น้อยดอยอ่างขางต่อนั่นก็คือเรื่องรายได้ของพวกเขา

งวย : “ถ้าจะให้เงินพวกเราทางโรงเรียนให้บริจาคใส่กล่องรับบริจาคที่ตั้งไว้ เพราะโครงการมัคคุเทศก์น้อยดอยอ่างขางถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียนบ้านขอบด้ง เงินที่ได้มาจะแบ่งให้พวกเราส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งเป็นค่าอาหารกลางวันของโรงเรียน”

ผ่านเรื่องรายได้ของพวกเด็กๆที่นี้ก็มาถึงคำถามเบสิคนั่นก็คือ

เมื่อน้องๆมาเป็นไกด์แล้วได้อะไรบ้าง ?

สร้อย : “ทำให้พวกเรากล้าแสดงออกมากขึ้น”

ยอดชาย : “ได้เผยแพร่เรื่องราวของชาวปะหล่องให้คนรู้จักมากขึ้น”

จามแสง : “ใช่ มันทำให้หนูได้รักษาวัฒนธรรมของปะหล่องเอาไว้”

งวย : “ส่วนผมก็รู้จักนักท่องเที่ยวมากขึ้น นี่ถ้าพูดภาษาอังกฤษได้คงดีกว่านี้”

“อ้าว แล้วที่โรงเรียนไม่มีสอนภาษาอังกฤษหรือไง?” ผมถามเด็กพวกนั้น

“พวกหนูโชคไม่ดี พอขึ้น ป.4 มา ตามหลักสูตรต้องเรียนภาษาอังกฤษ แต่ว่าครูภาษาอังกฤษออกไปพอดี ตอนนี้เทอม 2 แล้วก็ยังไม่มีครูมาสอนภาษาอังกฤษ” สร้อยเล่าให้ฟัง

“แต่มีนักท่องเที่ยวฝรั่งเคยมาสอนภาษาอังกฤษผมนะ ” นวยกับบอกผม ก่อนที่จะหันไปพูดกับเพื่อนด้วยสำเนียงซื่อๆว่า

“เฮ้ลโล่ มายเนมอีส‘นวย’ วัตอีสยัวร์เนม”

และเรื่องการต้องการครูภาษาอังกฤษก็เป็นบทสนทนาสุดท้ายที่ผมกับพวกไกด์น้อยดอยอ่างขางได้พูดคุยกัน เพราะหลังจากนั้นโชว์เฟอร์ก็มาเรียกตัวผมไปขึ้นรถ...

ต้นฤดูหนาว บ่ายคล้อยมากแล้ว บนเส้นทางคดเคี้ยวลงจากดอยอ่างขาง
 
ผมนั่งนึกถึงเรื่องราวเบาๆใสๆที่ได้พูดคุยกับพวกไกด์ตัวน้อยแห่งดอยอ่างขาง ที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันที่น่าจดจำของการเดินทาง ซึ่งถ้าหากว่าในครั้งแรกที่เจองวยแล้วผมเดินหนีเขาไป นั่นก็คงจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมพลาดกับเรื่องราวดีๆในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หมู่บ้านนอแลตั้งอยู่ชายแดนไทย-พม่า ในอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เลยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางไปประมาณ 5 กม.ชาวหมู่บ้านนี้ส่วนมากเป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง โดยหมู่บ้านนี้นับเป็นหนึ่งในจุดชมวิวที่เมื่อขึ้นไปแล้วสามารถเห็นธรรมชาติและทิวทัศน์บริเวณพรมแดนไทย-พม่าได้อย่างงดงาม

สำหรับผู้ที่สนใจจะบริจาคหนังสือแบบเรียนภาษาอังกฤษแบบง่ายๆให้กับพวกน้องๆไกด์น้อยดอยอ่างขางเพื่อเป็นวิทยาทานก็สามารถบริจาคได้ที่ โรงเรียนบ้านขอบด้ง หมู่ 14 ต. ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110


ข้อมูลเกี่ยวกับ "ปะหล่อง"

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง "อ่างขาง" ดอยสวย รวยเสน่ห์
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น