"ค่ำแล้วเชิญครู มาอยู่เหนือเกล้าเกศา
ราชครูของน้อง ลอยแล้วลอยล่อง กันเข้ามา
ลอยแล้วลอยล่อง กันเข้ามา...."
เสียงร้องที่เอื้อนเอ่ยด้วยสำเนียงไทยภาคกลางแบบแปร่งๆ แว่วมาจากเวทีเล็กๆ ที่มีเพียงผ้าผืนหลากสีเย็บติดกันเป็นฉากหลังอย่างง่ายๆ มีกลองรำมะนา โหม่ง ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ส่งเสียงบรรเลงเร่งเร้าเข้าจังหวะ เรียกความสนใจจากผู้ชมทุกเพศทุกวัยได้เป็นอย่างดี คืนนี้ที่ "บ้านลีเล็ด" อ.พุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี กำลังมีการแสดงพื้นบ้านลิเกป่าโดย "คณะพ่วง ศรีวิชัย ศิลปินบันเทิง"
ไม่บ่อยนักที่จะได้ชมการแสดงลิเกป่า
ไม่ใช่เพราะไม่มีคนแสดง หรือไม่ใช่เพราะต้องแสดงเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่ด้วยเหตุผลเพราะไม่ค่อยมีคนสนใจลิเกป่าต่างหาก นี่เอง จึงอาจจะทำให้ลิเกป่าต้องสูญหายไปตามกาลเวลา...
หลากรส บทบันเทิง ลิเกป่า
"เจ้าช่อมะกอก พี่รักเจ้าดอก ดอกกล้วยเถื่อน
ชมดาว เฮ้อ เออ ล้อมเดือน ชมเกลื้อนล้อมนมสาว
ชมเกลื้อนล้อมนมสาว"
เบื้องหน้าเวทีมีเสียงหัวเราะเฮฮาสนุกสนานของผู้ชมปรากฏขึ้นเป็นระยะ เบื้องหลังเวทีก็สนุกไม่แพ้กัน เมื่อนักแสดงทุกคนต่างแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยอุปกรณ์แต่งหน้าและเสื้อผ้าที่พอหาได้ เพื่อให้การแสดงคืนนี้ออกมาประทับใจผู้ชมมากที่สุด
ลิเกป่า "คณะพ่วง ศรีวิชัย ศิลปินบันเทิง" มีหัวหน้าคณะคือ คุณตาพ่วง ศรีเพชรพูล อายุ 75 ปี ส่วนนักแสดงและนักดนตรีในคณะอีก 13 คน อายุอานามของแต่ละคนก็ไม่แตกต่างกัน เพราะล้วนแต่เป็นผู้อาวุโส อายุน้อยที่สุดคือ 57 ปี จนไปถึงมากที่สุดคือ 86 ปี นับรวมอายุของทุกคนจึงร่วมๆ พันปี คณะนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "คณะลิเกป่าพันปี"
"ลิเกป่าไม่เหมือนลิเกเมือง ลิเกเมืองจะร้องเป็นคำหวานๆ ยานๆ ยาวๆ แต่ลิเกป่าจะร้องสั้นๆ คนแสดงน้อยๆ แต่งตัวไม่มาก เวทีก็ทำกันง่ายๆ อย่างที่เห็นนี่ล่ะ" คุณตาพ่วง ผู้สืบทอดวิชาลิเกป่ามาตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่ม เล่าให้ฟัง
"ตอนอายุ 19 ไปหัดเล่นกับอาจารย์เชาวน์ เพราะชอบอยากจะแสดง ตอนอายุ 20 คณะดังมากมีคนรู้จักไปทั่ว อายุ 21 ไปบวชพระ ก็เลยหยุดไป แต่พอกลับมาชาวคณะก็แต่งงานหายกันไปหมด ตาเองก็ไปทำงาน ก็เลยหยุดยาวหลายสิบปี พอนานไปคนที่ยังมีใจรัก เขาอยากจะร้องรำ อยู่บ้านเฉยๆก็เหงา ก็เลยมารวมตัวกัน ออกไปแสดงตามงานต่างๆ แล้วแต่คนจะจ้าง ค่าจ้างก็ไม่มากมายแล้วแต่เขาจะให้"
ลิเกป่า หรือลิเกรำมะนา เป็นศิลปะการแสดงภาคใต้อย่างหนึ่ง ที่มีเพียงเวทีเล็กๆ ก็สามารถแสดงได้ ไม่ต้องพิถีพิถันในเครื่องแต่งกายมากนัก เป็นลิเกสมัครเล่นไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก แต่ถ้าใครรับไปแสดงในงานต่างๆ เช่น งานวัด งานศพ หรืองานแก้บน ก็จะรวบรวมสมัครพรรคพวกไปเล่น ได้ค่าแสดงไม่แน่นอนแล้วแต่เจ้าภาพจะให้ งานละประมาณ 2,000-3,000 บาท แต่ก็ใช่ว่าทุกเดือนจะมีงานแสดง บางเดือนมีงาน 2-3 ครั้ง แต่บางทีก็ไม่มีงานนานถึง 2-3 เดือน
โชคดีที่คืนนี้ "คณะลิเกป่าพันปี" มีงานแสดงที่บ้านลีเล็ด โดยเลือกแสดงเรื่อง "ทินกรรัศมี มณีหยาดฟ้า" เป็นเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ที่มีพระเอกนางเอกพลัดบ้านพลัดเมืองแล้วไปเจอกันในป่า จนเกิดรักชอบพอกัน แต่เรื่องราวผูกปมให้พระเอกนางเอกต้องพลัดพรากและเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ มีโจรป่าลักพาตัวนางเอกไป พระเอกติดตามไปช่วยมาได้ เท่านั้นไม่พอยังมีนางยักษ์มาหลงรักพระเอกจึงใช้เวทมนตร์พาพระเอกไปเป็นสามีตน แต่สุดท้ายพระเอกนางเอกก็สามารถกลับไปครองรักและแต่งงานกันในที่สุด
ความสนุกสนานไม่ได้อยู่ที่เนื้อเรื่องอย่างเดียว เพราะท่วงท่าลีลาการแสดงของเหล่านักแสดงดูจะเป็นที่ประทับใจของผู้ชมมากกว่า คืนนี้นักแสดงทุกคนตั้งใจแสดงอย่างเต็มที่ แม้ว่าหลายๆคนร่างกายจะไม่ค่อยสมบูรณ์นัก คุณตาพ่วง หัวหน้าคณะมีโรคประจำตัวคือเป็นหอบ คุณยายเนี่ยม ชำนาญ ผู้อาวุโสสุดของคณะเพิ่งจะถอดสายน้ำเกลือออกจากโรงพยาบาลมาได้เพียงวันเดียว
"วันก่อนแกไม่สบาย ต้องไปให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล อยากให้แกพักผ่อนที่บ้านมากกว่า แต่แกบอกว่าอยากมาแสดง เพราะนานๆทีถึงจะมีงานสักครั้ง เราเองก็เป็นห่วง เห็นแกชอบ ก็เลยให้แกมา" พี่อรศรี ลูกสาวยายเนี่ยมที่นั่งลุ้นคุณยายอยู่หน้าเวที เล่าให้ฟังด้วยความเป็นห่วง
ตามท้องเรื่องจะมีตัวละครมากกว่า 10 ตัว โดยทยอยออกมาทีละตัว แต่ด้วยจำนวนนักแสดงที่มีจำกัด ผู้ชมจึงได้เห็นคุณตาคุณยายสวมบทบาทกันอย่างน้อยคนละ 2-3 ตัว ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าเข้าๆออกๆ หน้าเวทีกันคนละหลายรอบ นักแสดงบางคนรอบแรกเป็นเจ้าเมือง พอออกมารอบสองเป็นโจรป่า สุดท้ายยังต้องกลายเป็นนางยักษ์ไปอีก คุณตาพ่วง หัวหน้าคณะเองก็เช่นกัน ตอนต้นเรื่องตีกลองรำมะนาให้จังหวะนักแสดง สักพักไม่นานก็หายเข้าไปแต่งตัวหลังเวที ออกมาอีกทีกลายเป็นหญิงสาวแสนสวย พอฟังบทที่คุณตาร้องจึงรู้ว่าวันนี้อาสาแสดงแทนคุณยายคนหนึ่งซึ่งบังเอิญมาไม่ได้
คนที่รับบทหนักเห็นจะเป็นคุณตาจำรัส กลับแดง อายุ 71 ปี ซึ่งเริ่มแสดงลิเกป่ามาตั้งแต่อายุ 13 จึงเชี่ยวชาญในหลายหน้าที่ ทั้งเล่นดนตรีโหมโรง ทั้งบทไหว้ครู ว่าดอก บอกเรื่อง ออกแขกแดง จนไปถึงแสดงในเรื่องที่ทั้งเล่นเป็นเจ้าเมือง เป็นพระฤาษี ลีลาและน้ำเสียงของแกไม่มีตก จะให้เล่นขนาดไหนอย่างไรแกทำได้ แต่บังเอิญมีสะดุดอยู่ช่วงหนึ่งที่แว่นตาของคุณตาหล่นลงพื้น ทำให้มองผู้ชมได้ไม่ชัด ต้องขอตัวควานหาแว่นตาให้เจอก่อน แกจึงแสดงต่อไปได้
ส่วนคุณยายเนี่ยมเองก็ไม่แพ้กัน เป็นทั้งตัวแม่ ตัวเสนา แต่ที่สร้างสีสันและคนดูชอบมากที่สุดคือบทตัวตลก ซึ่งคุณยายทุ่มทุนสร้างด้วยการค้นเสื้อผ้าเมื่อสมัยยังเป็นสาวๆ มาใส่ พร้อมกับยืมปืนเด็กเล่นของหลานชายอายุ 10 ขวบมาใช้ประกอบเรื่อง และยังขอให้หลานชายซึ่งมักตามคุณยายไปเกือบทุกครั้งที่มีการแสดง ให้ช่วยทำหนวดปลอมให้หลายๆแบบ แต่สุดท้ายคุณยายก็ใช้วิธีแต่งหน้าขาวทาปากแดงแล้วเขียนหนวดปลอมแทน เพราะติดแน่นทนนานไม่มีหลุดง่ายๆ
ร้องๆรำๆ หน้าเวทีอยู่สักพัก คุณตาคุณยายก็หันหลังเดินกลับไปนั่งที่เก้าอี้กลางเวที เสียงเริ่มขาดๆหายๆ ออกอาการเหนื่อยหอบ ต้องหยุดร้องขอสูดลมหายใจให้เต็มที่ แล้วจึงออกลีลาร้องรำกันต่อไป
ความชุลมุนเล็กๆ เกิดขึ้นเมื่อนักแสดงจำบทไม่ได้ เกิดอาการงงๆว่า ฉากต่อไปจะเป็นตัวไหนออก จะดำเนินว่าเรื่องกันอย่างไร เพราะบางครั้งนักแสดงยังเปลี่ยนเครื่องแต่งกายไม่เรียบร้อย แต่นี่คงไม่ใช่ปัญหา แต่กลับดูเหมือนเป็นความน่ารักของลิเกป่าคณะนี้มากกว่า เพราะผู้ชมจะได้ชม "มุก" แบบสดพิเศษของนักแสดงอยู่ตลอดเวลา สร้างความเฮฮาและเสียงหัวเราะกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ด้านผู้ชมที่นึกสนุกยังสามารถมีส่วนร่วมกับนักแสดงได้ โดยการปรบมือเป็นจังหวะและคอยรับเป็นลูกคู่ หรือถ้าอยากจะร้องร่วมด้วยก็ได้ เพราะลิเกป่าไม่มีบทตายตัวคือถ้าเป็นบทหลักๆ ก็ว่ากันไปตามท้องเรื่อง แต่ถ้าเป็นบทประกอบอื่นที่อยากจะเสริมหรือแทรกบทสดๆ ตรงไหนก็ได้ คล้ายกับการโต้วาที เช่นหยิบยกเรื่องราวรอบตัวหรือเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมาร้อง
การแสดงเกือบ 3 ชั่วโมง จบลงด้วยความเรียบร้อย รอยยิ้มทั้งของนักแสดงและของผู้ชมยังเจืออยู่ในใบหน้า ดูเหมือนว่าการแสดงลิเกป่าจะราบรื่น หนทางจะราบเรียบ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
แต่ความเป็นจริง ลมหายใจของลิเกป่ากำลังรวยริน...เพราะอนาคตของลิเกป่าที่ยังไม่มีผู้สืบทอด และความนิยมในลิเกป่าที่นับวันจะน้อยลง
"การแสดงลิเกป่า จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะปากก็ต้องว่า มือก็ต้องรำ เท้าก็ต้องเดิน เนื้อเรื่องก็แล้วแต่จะว่า เวลาใครถาม ใครพูดอะไร ก็ต้องโต้ตอบได้ มันยากตรงนี้ เลยไม่ค่อยมีใครอยากแสดง ที่เล่นๆกันอยู่ก็แก่ปูนนี้กันหมดแล้ว"
"ถ้ายังไม่มีใครมาสืบต่อมันก็มีโอกาสสูญหาย เพราะคนแก่ๆที่เหลืออยู่กว่าจะหัดให้เด็กว่าลิเกได้ ก็ต้องใช้เวลา แล้วเด็กแต่ละคนมันใช้เวลาฝึกฝนต่างกันไป ขึ้นอยู่กับใจรัก ถ้าไปบังคับมันก็ไม่อยากเล่น แล้วคนแก่อย่างตาก็สุขภาพไม่ค่อยดีด้วย วันหนึ่งก็คงจะสอนได้ไม่มาก" คุณตาพ่วงรำพึงรำพันพร้อมๆกับเก็บฉากปิดม่านเวที
"ลิเกป่าพันปี แต่ต่อไปนี้อาจเหลือเพียงชื่อ"
"เอ้อ เออ เอิง เอย.... ฉันออกมานั่งหน้าห้อง ได้ยินเสียงรำมะนา ฆ้องกลอง
เขาตีกันสรรเสริญ คุณพ่อแกสอน คุณแม่แกสั่ง ว่าให้ฉันทำบุญเสียบ้าง
เมื่ออายุฉันยังอ่อน เมื่อไปทางไหนอย่าให้ขาด ลุกขึ้นหุงข้าวใส่บาตรเสียก่อน
ฉันตื่นนอนเช้าๆ ลุกขึ้นหุงข้าวใส่บาตร พยายามมิให้ขาด ทำบุญเอาไว้ภายภาคหน้า
จะได้ขึ้นนั่งแก้มขาว อยู่บนชั้นดาวดึงส์"
หนึ่งในบทร้องที่คุณยายเนี่ยม ขับกล่อมผู้ชม บทร้องนี้คุณยายคิดขึ้นมาเองสดๆ อาศัยประสบการณ์ที่เล่นลิเกป่ามากว่า 40 ปี คุณยายเนี่ยมก็เหมือนกับคุณตาคุณยายในคณะคนอื่นๆ ที่ยังรักและผูกพันกับการแสดงลิเกป่า โดยใช้เวลาที่ว่างจากการทำงานมาฝึกซ้อมและร้องรำ
"ค่าแสดงพวกยายไม่เคยเรียกร้อง เพราะลิเกป่าไม่ค่อยมีคนนิยม แล้วแต่เจ้าภาพจะให้ พอเอามาแบ่งกัน อย่างดีก็ได้คนละร้อย แต่อาศัยว่ายายชอบ ยายสนุก และได้ช่วยเหลือชุมชน ถ้ายายยังเล่นได้ ยายก็จะเล่นไปเรื่อยๆ" คุณยายเนี่ยมถ่ายทอดเรื่องราวด้วยน้ำเสียงและแววตาที่บ่งบอกว่าแกมี "ใจ" ให้กับลิเกป่าจริงๆ
นอกเหนือจากนักแสดงซึ่งล้วนเป็นผู้อาวุโส ที่ย่อมต้องโรยราไปตามเวลา เรื่องของผู้สืบทอดการแสดงที่นับวันจะยิ่งน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก
มาโนช บุญทองเล็ก อาจารย์คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ผู้ทำโครงการ"อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภาคพื้นทักษิณ" โดยได้รับทุนสนับสนุนจากชมรมกอล์ฟราชมงคล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ให้เหตุผลที่ลิเกป่าเสื่อมความนิยมว่าเป็นเพราะการแสดงพื้นบ้านนี้ถูกแทนที่ด้วยการแสดงและสิ่งบันเทิงอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมากกว่า ผู้คนจึงรู้จักลิเกป่าน้อยลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันไปชื่นชมแต่การแสดงสมัยใหม่ อีกอย่างคือ เรื่องที่แสดงก็เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ ๆ เรื่องเกี่ยวกับการครองตน การครองชีพ ซึ่งไม่เหมาะกับวัยของวัยรุ่น
"ตอนนี้ความนิยมในลิเกป่ามีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่ดูกัน มันสนุกนะ แต่ไม่เร้าใจเท่ากับการแสดงสมัยใหม่ วัยรุ่นสมัยนี้เขาต้องกรี๊ดคอนเสิร์ตกัน ถ้ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ต่อไปวัยรุ่นก็อาจจะหันมาชอบกัน แต่อย่างว่า เอกลักษณ์ของลิเกป่า ต้องร้อง เล่น รำ กันอย่างนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าลิเกป่าจะยังอยู่อีกนานแค่ไหน" เสียงบอกเล่ามาจากผู้ชมคนหนึ่งสะท้อนถึงความน่าเป็นห่วงของอนาคตลิเกป่า
อาจารย์มาโนช กล่าวว่า"ตอนนี้ที่ผมทำการสำรวจ เหลือคณะลิเกป่าไม่ถึง 20 คณะ กระจายอยู่ที่จังหวัดตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช แถบอำเภอทุ่งสง และบางพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ละคณะก็มีอายุหลายสิบปี สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แต่มาเสื่อมในรุ่นลูก เพราะว่าไม่มีคนมาจ้าง เมื่อไม่คนจ้าง เขาก็ต้องไปทำสวนยาง สวนปาล์ม เพื่อดำรงชีพให้อยู่ได้"
"ผู้แสดงส่วนมากเป็นผู้อาวุโสทั้งนั้น และท่านก็แสดงด้วยใจรักจริงๆ ไม่ได้คาดหวังกับเงินรายได้ อย่างนักร้องที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เขาเรียกตัวเองว่าศิลปิน แต่ผมว่าไม่ใช่ อย่างนั้นเขาเรียกว่านักธุรกิจ เอาเสียงตัวเองมาขาย แล้วเอาเงินไป แต่ผู้แสดงอาวุโสเหล่านี้ คือศิลปินจริงๆ ท่านทำด้วยใจ
ที่ผมประทับใจคือ ผู้อาวุโสอายุ 70-80 แต่สามารถนำเรื่องราวเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน มาแทรกใส่ในการแสดง ทำให้เรารู้ว่า แต่ละท่านไม่ได้เป็นคนล้าสมัย เป็นทันสมัยด้วยซ้ำไป อย่างคณะลิเกป่าผู้ใหญ่ผาด ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ ซึ่งท่านไม่เคยเรียนเขียนบทละคร แต่ท่านเขียนออกมาได้ดีมาก ผมเห็นแล้วรู้สึกแปลกใจว่าท่านเขียนได้อย่างไร อย่างผมเขียนด้วยหลักวิชาการ แต่เพราะท่านเขียนด้วยใจ มีโครงเรื่อง มีการดำเนินเรื่อง มีจุดสำคัญของเรื่อง ท่านบอกว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเกิดขึ้นที่จิตของเรา ถ้าจิตเป็นตัวกำหนด ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นตัวสำเร็จได้’ ผมประทับใจจุดนี้มาก"
อาจารย์มาโนช มองอนาคตของลิเกป่าว่า อาจจะต้องเสื่อมลงแน่ๆ แต่ถ้ามีการนำเสนอเรื่องราวของลิเกป่าให้ผู้คนรู้จักและสนใจลิเกป่า จะช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้คณะลิเกป่ามีกำลังใจในการแสดงต่อไปได้
จากความนิยมที่แพร่หลายในอดีต กลับกลายเป็นความเสื่อมของลิเกป่าในยุคปัจจุบัน ซึ่งเมื่อถามถึงอนาคตของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างลิเกป่าว่าจะเป็นอย่างไร จึงเป็นคำตอบที่พอเดาได้
จึงได้แต่หวังว่าจะยังมีผู้เห็นคุณค่าของศิลปะของชาติแขนงนี้ ช่วยสืบสานต่อลมหายใจให้กับคณะลิเกป่าได้โลดแล่นต่อไปตราบนานเท่านาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ลิเกป่า หรือลิเกบก หรือลิเกรำมะนา เป็นการละเล่นพื้นเมือง ที่นิยมแพร่หลายในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตรัง กระบี่และพังงา การละเล่นชนิดนี้มีมานานเท่าไหร่ไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเริ่มมีขึ้นที่จังหวัดตรัง แต่บางกระแสว่าเริ่มมีขึ้นที่เกาะตรีพญา จังหวัดกระบี่ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 จุดก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยังเด่นชัด
ลิเกป่ากับลิเกภาคกลางคงจะมีต้นเค้าร่วมกัน เพราะมีเอกลักษณ์สำคัญเหมือนกันคือ "ออกแขก" แต่ในระยะพัฒนาการได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมต่างกันจึงทำให้แตกต่างกันไป โดยลิเกป่า ได้รับอิทธิพลบางส่วนในด้านดนตรีและการแต่งกายจากมลายู รับอิทธิพลด้านทำนองเพลงร้องบางส่วนจากเพลงไทยเดิม และรับอิทธิพลการร่ายรำจากโนรา ท่วงท่าการแสดงของลิเกป่าจึงเป็นแบบผสมผสาน
การแสดงลิเกป่าเริ่มจาก การลงโรง หรือโหมโรง โดยลูกคู่และผู้แสดงส่วนหนึ่งนั่งล้อมวงกันบรรเลงดนตรีล้วนๆเพื่อเรียกคนดู และให้ผู้แสดงได้เตรียมตัวให้พร้อม โดยจะเริ่มเล่นเพลงช้าแล้วค่อยเร่งจังหวะให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นจึงเป็นการ ว่าดอก ซึ่งเป็นการผลัดกันร้องทีละคนและรับพร้อมๆกัน เวียนไปรอบวง เนื้อร้องมักจะเกี่ยวด้วยการชมความงามของผู้หญิงและพรรณนาความรัก
ลำดับต่อมาเป็น ออกแขกแดง เป็นการแสดงเรื่องตามธรรมเนียม ทุกคณะแสดงเรื่องนี้เหมือนกันหมด บทร้องและรับแล้วแต่จะคิดประดิษฐ์ขึ้น ส่วนทำนองเหมือนกันทุกคณะ เมื่อแสดงเรื่องแขกแดงตามธรรมเนียมจบลง เป็นการ บอกเรื่อง ซึ่งนิยมใช้ตัวตลกออกบอกกล่าวกับผู้ชมว่าลำดับต่อไปลิเกป่าจะแสดงเรื่องอะไร เรื่องที่แสดงส่วนมากเป็นแบบจักรๆวงศ์ๆ คิดขึ้นเองบ้าง เอามาจากวรรณคดีเก่าๆบ้างเช่น จันทโครพ ลักษณะวงศ์ สุวรรณหงส์ เป็นต้น
จากนั้นก็ เล่นเรื่อง คือแสดงเรื่องไปตามเค้าเรื่องที่กำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินเรื่องอาศัยความรู้เดิมและไหวพริบปฎิภาณของผู้แสดงทั้งหมด ไม่นิยมตระเตรียมหรือแต่งขึ้นไว้ก่อน
ขณะนี้อาจารย์มาโนช บุญทองเล็ก กำลังจัดทำนามานุกรมศิลปินพื้นบ้านขึ้น โดยขอเชิญชวนให้ศิลปินพื้นบ้านส่งประวัติและผลงานความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษพร้อมรูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว 1 รูป มาที่นายมาโนช บุญทองเล็ก อาจารย์คณะนาฎศิลปและดุริยางค์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12110 ภายในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-1809-5383 ,0-2549-3691 เพื่อรวบรวมรายชื่อศิลปินพื้นบ้าน ซึ่งรวมถึงศิลปินลิเกป่าด้วย เพื่อทูลเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 4 รอบในเดือนเมษายน 2548 และพิมพ์เผยแพร่ให้คนไทยรู้จักต่อไป