“อันว่ารอยยิ้มพิมพ์ใจ ถือเป็นสิ่งจรรโลงโลกให้ชุ่มชื่น”
ประโยคนี้จำไม่ได้ว่าเคยได้ยินมาจากวงสุราวงไหน แต่ว่าก็เป็นประโยคที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เห็นคล้อยตามเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะไม่ทั้งหมดก็ตาม เนื่องจากว่าโลกนี้ยังมีรอยยิ้มที่ไม่จรรโลงใจอย่าง ยิ้มเยาะเย้ย ยิ้มถากถาง ยิ้มประจบประแจง หรือการซ่อนดาบในรอยยิ้ม แฝงมาในมนุษย์หลายผู้หลากนาม
ส่วนถ้าจะถามว่ารอยยิ้มแบบไหนดูพิมพ์ใจที่สุด โดยส่วนตัว “ผู้จัดการท่องเที่ยว” แล้ว อยากจะบอกว่า “อย่าขอหมอลำ” เอ้ย!!!ไม่ใช่ อยากจะบอกว่ารอยยิ้มที่เกิดมาจากหัวใจนั้นดูเพลินตาที่สุด
ส่วนถ้าเป็นรอยยิ้มประเภทไหนที่อมตะที่สุด ตั้งแต่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เติบโตมาจนอายุล่วงเลยวัยเด็กแนวมาได้ไม่กี่ขวบปียังไม่เคยเห็นรอยยิ้มประเภทไหนยืนยงยาวนานเท่า “ยิ้มบายน” ที่ “ปราสาทบายน” แห่งนครธมเลย (เรื่องราวของนครธมนำเสนอในครั้งที่แล้วตอน “นครธม” นครแห่งปราสาท)
จะไม่ให้เรียกยิ้มบายนว่ารอยยิ้มอมตะได้อย่างไร ก็ในเมื่อรอยยิ้มนี้มีมาพร้อมๆกับการสร้างปราสาทบายนในประมาณต้นศตวรรษที่ 13 ซึ่งหากนับอายุของยิ้มบายนก็ปาเข้าไปกว่า 800 ปีแล้ว
และถ้าพูดถึงยิ้มบายน หากจะไม่พูดถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มันก็ดูจะกระไรอยู่ เพราะว่ากษัตริย์ขอมองค์นี้ถือเป็นผู้สร้างปราสาทบายนอันเป็นที่มาของยิ้มบายนอันลือลั่น และเป็นหนึ่งในปราสาทขอมที่ดูน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
ปราสาทบายนสันนิษฐานว่าถูกสร้างให้เป็นดังวัดกลางแห่งราชสำนักขอมในยุคนั้น เนื่องจากว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับถือศาสนาพุทธมหายาน แต่กระนั้นปราสาทบายนก็ยังมีการบูชาเทวรูปตามคติพราหมณ์ร่วมอยู่ด้วย (กษัตริย์ขอมส่วนใหญ่นับถือพราหมณ์) อยู่ด้วย
พูดถึงความโดดเด่นของปราสาทบายนที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของนครธมนั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน
ประการแรกปราสาทบายนไม่มีกำแพงล้อมรอบเหมือนกับหลายๆปราสาท ซึ่ง “สูน เพียบ” ไกด์เขมรผู้นำชมปราสาทบายนได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นเพราะปราสาทบายนมีกำแพงนครธมอยู่แล้ว เลยไม่มีการสร้างกำแพงล้อมอีกชั้น
ส่วนอีกประการที่ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ก็คือรูปสลักหินที่บริเวณระเบียงชั้นล่างของปราสาท ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายๆคนมักมองข้ามไป เพราะส่วนมากจะนิยมเดินลุยถั่วขึ้นสู่ชั้น 2 ชั้น 3 เพื่อไปชมยิ้มบายน โดยลืมที่จะดูของดีที่อยู่บริเวณระเบียงชั้นล่างไป
สำหรับการจะดูรูปสลักหินให้ได้อรรถรส ควรเริ่มตั้งแต่การเดินเข้าสู่ตัวปราสาททางด้านหน้า ซึ่งเป็นลานกว้างมีสิงห์ตัวใหญ่ยืนเฝ้าประดุจดังผู้พิทักษ์ปราสาท ครั้นพอเข้าสู่โคปุระแรกก็ให้เดินไปทางซ้าย (เส้นทางนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไม่ได้คิดเองหรอก แต่ว่าสูน เพียบเป็นคนพาไป) ก็จะพบกับภาพแกะสลักหินสูงประมาณ 5 เมตร ซึ่งภาพสลักพวกนี้เราอยากจะขอเรียกว่าเป็นประติมากรรมนูนต่ำแต่มีความลึก คือมีความลึกกว่าที่นครวัดแต่ว่าไม่ลึกจนดูลอยขึ้นมาอย่างที่ปราสาทบันทายศรี
ในส่วนของเรื่องราวที่ช่างชาวขอมภูมิใจนำเสนอก็มี ที่ระเบียงด้านนอกนำเสนอเรื่องราวของขอมในยุคอาณาจักรพระนครช่วงแรกเป็นเรื่องราวของการรบกันระหว่างขอมกับจาม (ยุคนั้น 2 ชนชาตินี้จะรบกันตลอด) จากนั้นก็จะเป็นภาพของกองทัพขอมในช่วงที่สอง (น่าจะเป็นกองทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7)
ส่วนที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ชอบมากก็เห็นจะเป็นภาพสลักหินชุดสุดท้ายที่เป็นเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวขอมโบราณ ดูแล้วได้อารมณ์มากๆ มีทั้งภาพการแต่งกาย การประกอบอาชีพ การเล่นกีฬา การหุงหาอาหารและอีกสารพัดภาพที่ต้องสังเกตกันให้ดี
นอกจากที่ด้านนอกแล้วระเบียงด้านในก็มีภาพสลักหินให้ชมเช่นกัน แต่ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับคติพราหมณ์
สูน เพียบ บอกว่าภาพสลักที่ระเบียงด้านในสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าวรมันที่ 8 ที่กลับมานับถือพราหมณ์กันเหมือนเดิม ซึ่งใครเวลาเหลือเฟือก็เลือกเดินชมกันได้ตามสะดวก
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งน่าสนใจประการสุดท้ายที่ถือเป็นดังไฮไลท์ของปราสาทบายนและเป็นดังสัญลักษณ์ของนครธมก็คือ ภาพสลักหินใบหน้าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 หน้าบนยอดของปรางค์ที่บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ที่สูน เพียบบอกว่าของเดิมมี 54 ยอด แต่ปัจจุบันพังทลายลงไปเหลืออยู่ 37 ยอด
อันภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้แหละที่คนทั่วไปขนานนามให้เป็นยิ้มบายน เนื่องจากว่าเป็นภาพสลักใบหน้าที่สายตามองชำเลืองต่ำๆและมีการยิ้มมุมปากเล็กน้อย
“คนส่วนมากเชื่อกันว่ายิ้มบายนคือการจำลองใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาไว้บนยอดปรางค์ทั้ง 4 ทิศ โดยสายตาที่มองลงต่ำนั้นเป็นการมองราษฎร ส่วนจำนวนปรางค์ 54 ยอดที่มีแต่ดั้งเดิมนั้นแทนจำนวนจังหวัด 54 จังหวัดที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปกครองในยุคนั้น”
สูน เพียบ อธิบายให้ฟัง พร้อมๆกับพาเดินชมเสน่ห์ของยิ้มบายนที่แต่ละใบหน้าต่างก็มีความแตกต่างกันไป ส่วนใครที่อยากรู้ยิ้มบายนในอดีตมีกี่หน้าก็ให้เอา 54 คูณด้วย 4 ส่วนถ้าอยากรู้ว่ายิ้มบายนในปัจจุบันมีกี่หน้าก็ให้เดินนับ เอ้อ!!! ไม่ใช่ ให้เอา 37 คูณ 4 ก็จะได้คำตอบ
แต่ถ้าใครอยากรู้ว่ายิ้มบายนหน้าไหนยิ้มสวยสุดก็เล่นไม่ยาก เดินหาไปเรื่อยๆเจอยิ้มบายนใบหน้าไหนมีรั้วเชือกเล็กๆกั้นไว้ นั่นแหะใช่เลยยิ้มที่สวยที่สุด
สำหรับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ทุกครั้งที่ไปเที่ยวชมยิ้มบายนที่ปราสาทบายน ใจก็อดหวนนึกถึง “ยิ้มสยาม” ไม่ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วยิ้มสยามนี้โด่งดังกว่ายิ้มบายนเสียอีกเพราะว่าเป็นยิ้มที่เกิดจากรอยยิ้มจริงๆ เป็นยิ้มที่มีชีวิตชีวา แต่ว่าในพักหลังไม่รู้เป็นอย่างไร ยิ้มสยามนับวันยิ่งมาน้อยลงทุกที เพราะฉะนั้นหนทางที่จะให้ยิ้มสยามคงอยู่ไปตราบนานเท่านานก็คือ...
"วันนี้คุณยิ้มให้กับใครหรือยัง" ^_^
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ปราสาทบายน ถือเป็นศูนย์กลางและไฮไลท์การท่องเที่ยวของนครธม จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
นอกจากปราสาทบายนแล้ว ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังมีปราสาทอีก 2 หลังที่สร้างใกล้เคียงกัน หลังแรกคือ “ปราสาทพระขรรค์” เป็นปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศให้พระบิดา (สันนิษฐานว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ในยุคนั้น) มีสิ่งที่น่าสนใจอย่างเช่น เสานางเรียงที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ห้องเก็บจารึกพระขรรค์ที่เป็นดังบันทึกประวัติศาสตร์ มีรูปสลักนางอัปสราที่สวยงามใต้หลืบหิน นอกจากนี้ที่ศูนย์กลางของปราสาทก็จะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยมีรูปสลักลอยตัวของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่ที่นี่
ส่วนปราสาทหลังที่สอง คือ “ปราสาทตาพรหม” ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศให้พระมารดา ปราสาทหลังนี้หลังจากถูกใช้เป็นฉากเรื่อง “ธูม ไรเดอร์” ก็กลายเป็นหนึ่งในปราสาทขอมที่คนนิยมไปเที่ยวกันมาก สำหรับความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของปราสาทตาพรหมก็คือ ต้นสะปงไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมและมีรากชอนไชไปทั่ว ซึงปัจจุบันปราสาทตาพรหมกลายเป็นหนึ่งในจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยว (ถ่ายรูปคู่กับปราสาทและรากต้นสะปง)
สำหรับการเที่ยวชมปราสาทขอมในเขมรนั้นจะเสียค่าเที่ยวชม 20 เหรียญสหรัฐ(ประมาณ 1 พันบาท) ต่อวัน ส่วนถ้าอยากเที่ยวนานซื้อตั๋ว 3 วัน เสีย 40 เหรียญ ส่วนค่าวีซ่าเข้าเขมรก็อยู่ที่ 20 เหรียญเช่นกัน