ผ้าโบราณกว่า 600 ผืน อายุตั้งแต่ 60- 100 ปี จากฝีมือทักถอของบรรพบุรุษกลุ่มต่างๆ ในอุษาคเนย์ตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงเจ้านายในราชสำนัก ถูกรวบรวมนำมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ “สบันงา” ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่
ผืนผ้าที่เห็นล้วนต่างเจ้าของ ต่างวัฒนธรรม จึงไม่ใช่มีเพียงความสวยงามของลวดลายและสีสันเท่านั้น แต่ยังแฝงด้วยเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ
กว่า 20 ปีที่ อัครเดช นาคบัลลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ “สบันงา” สะสมผ้าทอโบราณพร้อมๆ กับศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของผ้าจากที่ต่างๆ รวมแล้วจึงมีผ้ามากมายกว่า 6,000 ผืน และได้คัดเลือกผ้า 600 กว่าผืนนำออกมาแสดงที่พิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสชมผ้าทออย่างใกล้ชิด
การชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เริ่มจากจุดแรกซึ่งรวบรวมภาพถ่ายจำนวนกว่า 60 ภาพ ซึ่งแต่ละภาพได้สะท้อนถึงสภาพบ้านเมือง ประเพณีวัฒนธรรม การแต่งกาย การดำรงชีวิต ของชนชาวเหนือเมื่อเกือบร้อยปีก่อน จากนั้นก็จะเข้าสู่ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งจัดแสดงผ้าทอและเรื่องราวของกลุ่มชนต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่พาชมและคอยบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและลักษณะเอกลักษณ์ผ้าทอของแต่ละกลุ่มชน
อย่างเช่น ไทลื้อ กลุ่มชนแห่งแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งนิยมทอผ้าสีสดๆ และยังเป็นต้นตำรับในการคิดค้นผ้าทอลายน้ำไหล ซึ่งปัจจุบันมรดกแห่งงานศิลป์นี้ก็ยังโด่งดังเป็นที่รู้จัก และกลายมาเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาวไทลื้อที่อยู่ใน
หลายจังหวัดภาคเหนือ
ส่วนผ้าของไทลาวนั้นก็จะแบ่งได้หลายกลุ่ม อย่างผ้าไทลาวจากดินแดนซำเหนือติดชายแดนเวียดนามที่มีเทคนิคการทอและลวดลายที่ถือว่าวิจิตรพิสดารอย่างหนึ่งของโลก ถ้าเป็นผ้าไทลาวจากเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ก็เป็นการผสมผสานรูปแบบดั้งเดิมกับเทคนิคและวัสดุจากยุโรปและจีนเข้าด้วยกันอย่างสวยงาม ส่วนผ้าไทลาวจากชาวอีสาน ซึ่งมีฝีมือในการทำผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายละเอียดอ่อน
นอกจากจะมีการจัดแสดงผ้าแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังได้จัดแสดงจำลองเครื่องใช้และชุดผ้าทอที่เด่นๆ มีให้ชมหลายชุด เช่น ชุดในพิธีอภิเษกสมรสของเจ้านายในราชสำนักไทเขิน ที่อยู่เมืองเชียงตุง ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของพม่า ซึ่งชาวเขินมีชื่อเสียงในการทำเครื่องไม้ลงรักสลักลายที่เรียกว่า เครื่องเขิน ชุดดังกล่าว ฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้าทอด้วยด้ายที่ควั่นด้วยโลหะทองคำ ปักด้วยไหมจีนเป็นลายดอกบัว ต่อเชิงด้วยผ้าต่วนสีเขียว และประดับด้วยโลหะมีค่า เรียกว่า ซิ่นไหมคำ ส่วนฝ่ายชายจะสวมเสื้อตัวยาว ปักประดับด้วยดิ้นโลหะเงิน และทอง ถือว่าเป็นผ้าทอที่หาได้ยากชนิดหนึ่งในภูมิภาคนี้
แต่ชุดอลังการที่ไม่นึกว่าจะเป็นชุดที่สามารถสวมได้จริงๆ คงเป็นชุดของเจ้าฟ้าไทใหญ่ ฝ่ายชายเป็นชุดที่ปักประดับด้วยโลหะมีค่าและอัญมณีที่หลากหลาย ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นลุนตยา อชิค แบบเจ้านายในราชวงศ์มัณฑะเลย์ ซึ่งมีวิธีการทอคล้ายกับพรมของชาวเปอร์เชีย ที่นับว่าเป็นเทคนิคที่ยากที่สุดชนิดหนึ่งในการทอผ้า และคนที่ทอผ้าชนิดนี้ส่วนใหญ่จะตาเสียเมื่อมีอายุมากขึ้น ที่จุดแสดงชุดและผ้าทอของชาวไทใหญ่นี้ ยังเป็นจุดที่มีผ้าอายุนับร้อยปีอยู่หลายผืน และมีบางผืนอายุมากถึง 200 ปี
อีกมุมที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ อยู่ที่ผ้าของชาวไทยวนจากอาณาจักรล้านนาไทย โดยเป็นผ้าที่มาจากราชสำนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งผ้าทอในสมัยเจ้าดารารัศมี จะทรงเปลี่ยนแปลงจากผ้าซิ่นลายขวางแบบดั้งเดิม เป็นการใช้ตัวซิ่นลุนตยา อชิค แบบราชวงศ์พม่า แต่ต่อเชิงด้วยตีนจกแบบเชียงใหม่ นับเป็นพระอัจฉริยะในการนำรูปแบบการแต่งกายของเพื่อนบ้านมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ชาวล้านนายังมีฝีมือในการถักทอผืนผ้า และการเขียนลายสำหรับใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนา อย่างผ้าห่อคัมภีร์ และผ้ายันตร์ลงอาคมจากอาจารย์ผู้มีเวทมนตร์ เพราะเชื่อกันว่าจะนำคุณและรักษาตนให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งก็ยังสืบทอดความเชื่อนี้มาถึงปัจจุบัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ภูมิปัญญาในการคิดประดิษฐ์ลวดลายนั้นไม่ได้ขีดคั่นหรือจำกัดเฉพาะชนชั้นหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะผู้หญิงสมัยก่อน ต้องแสดงความสามารถในการออกแบบลวดลายและฝีมือในการทอผ้า ดังจะเห็นว่าแม้จะเป็นแค่หญิงสาวชาวบ้านป่า แต่ผลงานผ้าทอและสีสันก็มีความละเอียดงดงาม ส่วนผ้าทอในราชสำนักที่มักจะประดับตกแต่งด้วยของมีค่าและมีลวดลายวิจิตรพิสดาร แสดงถึงฐานะของผู้สวมใส่
อีกหนึ่งสิ่งสะท้อนจากลวดลายและสีสันของผืนผ้าก็คือ ถ้ายิ่งเป็นผ้าที่มาจากถิ่นในเมืองที่เจริญ มีการติดต่อค้าขายกันอย่างคึกคัก ลวดลายผ้าก็จะเรียบง่าย สีสันไม่หลากหลาย นั่นก็เพราะผู้ทอจะไม่ค่อยมีเวลาในการทอผ้าเท่าใดนัก ตรงกันข้ามถ้าเป็นผ้าทอฝีมือของชนกลุ่มที่อยู่ห่างไกลออกไป หญิงสาวชาวบ้านมีเวลาในการคิดประดิษฐ์และถักทอลวดลายสีสันต่างๆอย่างเต็มที่
“ถ้าไม่นำมาจัดแสดง คนอื่นๆ ก็จะไม่ได้เห็นผ้าทอของกลุ่มต่างๆ ซึ่งพอได้มาเห็น ก็จะเข้าใจถึงเอกลักษณ์ลวดลาย และลักษณะของผ้าทอแต่ละกลุ่ม เป็นเหมือนการเรียนรู้เรื่องราวผ้าทอ และยังได้รับรู้ประวัติศาสตร์ของผู้คนในอดีต อย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติมาชม เขาก็ชื่นชอบและเข้าใจประเทศไทยว่า เรามีวัฒนธรรม ไม่ใช่คนป่าไร้อารยธรรม มันก็เป็นความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นคนไทย” อัครเดช กล่าว
“สบันงา” พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นที่ที่ซึ่งคนไทยและคนต่างชาติจะได้เห็นถึงภูมิปัญญาการถักทอผืนผ้าของผู้คนสมัยก่อน อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทรงคุณค่า และถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้สืบสานต่อถึงปัจจุบัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ “สบันงา” ตั้งอยู่ภายในศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ (ขันโตก) ถนนวัวลาย ประตูหายยา (ซ้ายมือ ก่อนถึงสี่แยกไป อ.หางดง) เปิดจัดแสดงทุกวันเว้นวันพุธ ตั้งแต่เวลา 10.30-18.30 น. ราคาเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท โทรศัพท์ 0-5320-0655 และ 0-1883-6713