xs
xsm
sm
md
lg

15 ค่ำ เดือน 11 : พญานาคพ่นเม็ดเงินสู่อีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พญานาค สัตว์ในตำนานที่ได้รับการกล่าวขานเรื่องความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีหลายเรื่องราวที่กล่าวถึงความเกี่ยวพันระหว่างพญานาคและศาสนาพุทธ รวมไปถึงตำนานประเพณีต่าง ๆ ของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่เกี่ยวข้องกับพญานาค เพราะพญานาค หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรและความเป็นอยู่ของมนุษย์

ไม่เท่านั้น พญานาค ยังเกี่ยวพันกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงวันออกพรรษาธรรมดาๆ แต่คือวันสำคัญที่มีทั้งปรากฏการณ์ประหลาดเป็นที่กล่าวขาน รวมถึงงานประเพณีโบราณที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งกลายมาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว นำมาซึ่งเม็ดเงินหลายล้านบาท กระจายสู่ชาวบ้านร้านถิ่นในแถบภาคอีสานกันอย่างทั่วถึงอีกด้วย

"บั้งไฟพญานาค" ปรากฏการณ์ที่ต้องพิสูจน์กับตา

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนเรือนแสนจากทั่วทุกสารทิศทั้งคนไทยและต่างชาติ ต่างมุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน นั่นคือ การรอชม "บั้งไฟพญานาค" ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และอีกหลายอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง เพื่อรอชมลูกไฟสีแดงอมชมพูที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง มีขนาดตั้งแต่หัวแม่มือถึงฟองไข่ไก่ ไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีเสียง ไม่มีการตกลงมา ซึ่งแต่ก่อนตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเมื่อร้อยกว่าปี ชาวหนองคายเรียกว่า "บั้งไฟผี"ส่วนชาวเวียงจันทน์ สปป.ลาว เรียก "ดอกไม้ไฟน้ำ"

ความอัศจรรย์แห่งการเกิด "บั้งไฟพญานาค" สร้างความมหัศจรรย์ให้กับประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ไทย - ลาว ซึ่งมีความเชื่อและศรัทธาเหมือนกัน และยังสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นวงกว้าง

เมื่อยิ่งสงสัย ก็ยิ่งอยากจะไปดูและพิสูจน์ให้เห็นกับตา .....

ณ วันนี้ เรื่องราวของ การเกิด "บั้งไฟพญานาค" ยังคงเป็นปริศนา ที่ยังไม่มีสิ่งใดชี้ชัดว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 นั้นเกิดขึ้นจากสิ่งใด แม้จะมีความเชื่อที่แตกต่างของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้านในท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นเป็นบั้งไฟที่พญานาคจุดขึ้นมา เพื่อเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธเจ้า เนื่องในเทศกาลออกพรรษา หรือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติเป็นผู้บรรจงสรรค์สร้างขึ้น! หรืออาจจะเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เป็นผู้ปั้นแต่งขึ้นหลอกลวงมนุษย์ด้วยกันเอง!?

ซึ่งนั่นคงไม่ใช่สิ่งสำคัญในการที่จะคุ้ยหาคำตอบ เพราะความคิด ความเชื่อ และศรัทธา ของผู้คนย่อมแตกต่างกัน แต่อีกมุมหนึ่งที่เกิดขึ้นและทุกคนทุกพื้นที่ต่างคิดเห็นและยอมรับเหมือนกัน นั่นก็คือ อานิสงส์ของพญานาคได้สร้างเม็ดเงินรายได้ให้กับชาวหนองคายและชาวอีสานอีกหลายจังหวัดกันอย่างถ้วนทั่ว อันเกิดจาก "ปรากฏการณ์ของมหาชน" ที่แห่ไปชม "ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค"

ตั้งแต่โรงแรมหรูถึงโฮมสเตย์ยันศาลาวัด เป็นที่นอนได้หมด

ว่ากันว่าปีนี้น่าจะมีคนมาชมบั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคายมากถึง 300,000-500,000 คน หรืออาจจะมีถึง 700,000 คน เพราะปีนี้มีเดือน 8 สองหน ทำให้วันออกพรรษาของไทย กับวันออกพรรษาของลาวไม่ตรงกัน จึงมีโอกาสเกิดบั้งไฟพญานาคขึ้นให้เห็นถึง 2 วัน คือวันที่ 28 และ 29 ต.ค. ซึ่งจำนวนคนน่าจะมีมาก พอๆ กับปี 2545 เพราะปีนั้นมีกระแสของภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 และกระแสการนำเสนอข่าวของโทรทัศน์ช่องหนึ่งเกี่ยวกับการเกิดบั้งไฟพญานาค โหมกระหน่ำให้คนเดินทางไปดูกันอย่างเนืองแน่น

กลุ่มธุรกิจที่ให้บริการที่พักคือกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์เรื่องเม็ดเงินแบบเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็น รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล ถูกจองที่พักกันข้ามปี ทั้งยังมีการเปิดศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอแต่ละแห่ง จนถึง อบต.โรงเรียน ศาลาวัด ให้นักท่องเที่ยวสามารถกางเต้นท์นอนได้ กระนั้นที่พักก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวอีก 26 หมู่บ้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง ที่สามารถชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคได้

บุญจันทร์ คำมุงคุณ ผู้ใหญ่บ้านและประธานโฮมสเตย์ บ้านน้ำเป กิ่งอ.รัตนภูมิ จุดที่มีบั้งไฟพญานาคแห่งหนึ่ง กล่าวว่าโฮมสเตย์บ้านน้ำเปได้เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคโดยเฉพาะ เริ่มแรกมีบ้านที่เข้าร่วมโครงการเพียง 20 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 60 กว่าหลังคาเรือน ซึ่งบ้านแต่ละหลังมีจำนวนผู้เข้าพักตั้งแต่ 10 - 25 คน โดยจะดูความสามารถในการรองรับว่าบ้านแต่ละหลังรับกันได้กี่คน โดยไม่มีปัญหาเรื่องห้องน้ำและเครื่องนอน

"ปีที่แล้วที่บ้านน้ำเป มีลูกไฟ 150 ลูก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้าน 50,000 กว่าคน ปีนี้คิดว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 กว่าคนหรือมากกว่านั้น ซึ่งตอนนี้มีนักท่องเที่ยวแจ้งจำนวนมาพัก 1,053 คนแล้ว เราคิดค่าที่พัก 150 บาท ต่อคนต่อคืน ถ้ารวมค่าอาหารด้วยก็คิด 250 บาท เพียงแค่ 2-3 วันทำให้ชาวบ้านมีรายได้ครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท จริงๆแล้วอาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนาซึ่งก็ทำได้ปีละครั้ง รายได้ก็ไม่มาก แต่จากที่มีงานเทศกาลบั้งไฟ ก็ทำให้ชาวบ้านรายได้ของชาวบ้านดีขึ้น เรากำลังคิดไว้ว่าปีต่อๆไป อาจจะเพิ่มกิจกรรมอย่างเช่นการแสดงดนตรีพื้นบ้านให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย"

"ชาวบ้านก็เชื่อว่าเป็นบั้งไฟของพญานาคจริงๆ เพราะเห็นกันมาแต่โบราณ ส่วนนักท่องเที่ยวก็มีความเชื่อแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็บอกว่าเป็นพญานาค บางส่วนก็บอกเป็นกลุ่มแก๊ส ก็อยากให้มาดูให้เห็นกับตากันก่อนแล้วค่อยวิพากษ์วิจารณ์" บุญจันทร์ กล่าว

จราจรไม่ติดขัด แม่ค้ากับติดใจ

ไม่ใช่เพียงรายได้จากโฮมสเตย์เท่านั้น เพราะชาวบ้านยังมีรายได้จากการขายสินค้าพื้นเมืองและขายอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว คาดกันว่าแต่ละหมู่บ้านโฮมสเตย์จะมีคนเข้าพักในจำนวนหลายร้อยคน และว่ากันว่ามีพ่อค้าแม่ค้าจากต่างถิ่น ลงทุนมาเช่าพื้นที่ในหมู่บ้านหรือสถานที่ที่มีคนมากๆ เพื่อขายของ ขายอาหาร ในงานนี้โดยเฉพาะ

คงยังจำกันได้ว่าเมื่อปี 2545 ที่เกิดวิกฤตการจราจร มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากติดอยู่บนรถนานหลายชั่วโมง ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวลดลงในปี 2546 เพราะเข็ดขยาดกับการเดินทาง ทั้งๆ ที่ทางจังหวัดได้จัดการเส้นทางจราจรเป็นอย่างดี

จุมพล สายแวว นายช่างไฟฟ้าสื่อสาร 5 ซึ่งเคยรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวให้กับวิทยุและหน่วยงานกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า "ปีที่แล้วมีการวางแผนค่อนข้างดี ทำให้การจราจรไม่มีปัญหา แต่หลังจากที่รถสามารถเดินทางได้สะดวก ก็ปรากฏว่าพ่อค้าแม่ค้ามาบ่นว่า น่าจะให้มีรถติดบ้าง เพื่อที่จะขายของได้ พอรถไม่ติดก็ขายของไม่ค่อยได้ ก็เป็นซะอย่างนั้น ส่วนของการจราจรก็เลยวางแผนกันแนวใหม่ ให้มีจุดที่รถจะค่อยๆ เคลื่อนตัวได้ มีการสกัดเป็นช่วงๆ คือให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งในส่วนนักท่องเที่ยวและส่วนของผู้ประกอบการ"

เมื่อที่พักในจังหวัดหนองคายเต็ม นักท่องเที่ยวก็เลือกที่จะไปพักยังจังหวัดอื่นใกล้เคียงเช่น อุดรธานี ซึ่งห่างจากหนองคายเพียงแค่ 54 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางแค่ครึ่งชั่วโมง ประมาณ 3-4 ทุ่ม เมื่อบั้งไฟขึ้นหมดแล้ว คนที่พักที่อุดรฯก็จะไปเที่ยวที่อุดรฯต่อ และมีอีกส่วนหนึ่งที่กรุ๊ปทัวร์จัดพาไปพักที่ฝั่งลาว ก็จะไปเที่ยวจับจ่ายซื้อของที่ฝั่งลาว

พลัฎ จันทรโสพิณ ประธานชมรมทัวร์จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัททัวร์นำเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดมีการจองเต็มหมดแล้ว ทางทัวร์เองก็ได้จัดโปรแกรมสำหรับนักท่องเที่ยวพิเศษในปีนี้ ด้วยการพาไปพักยังนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อชมบั้งไฟพญานาคในคืนวันที่ 28 ต.ค. แล้วพากลับมาชมที่ อ.โพนพิสัย คืนวันที่ 29 ต.ค.ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวสูงมาก ทั้งที่เคยมาดูแล้ว ก็พาญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมาดูอีก

อานิสงส์พญานาค รายได้กระจายทั่วถึงทุกพื้นที่

ในช่วงวันออกพรรษา ถือเป็นช่วงวันหยุดยาว นอกจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่นแล้ว ยังมีประชาชนในพื้นที่ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อถือโอกาสทำบุญตามประเพณี ทอดผ้าป่าและกฐิน และท่องเที่ยวไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ นอกเหนือจากการไปชมบั้งไฟพญานาค

นวล สารสอน ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 (อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย) เผยว่า งานบั้งไฟพญานาคถือว่าเป็นงานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคอีสานทั้งหมด โดยเฉพาะภาคอีสานตอนบนซึ่งนักท่องเที่ยวจะแวะชมแหล่งท่องเที่ยวรายทางตลอดถนนมิตรภาพ

"บั้งไฟพญานาคถือว่าช่วยเรื่องการท่องเที่ยวทั้งภาคเลย คือไล่ตั้งแต่ปั๊มน้ำมัน ร้านข้าวราดแกง ร้านส้มตำไก่ย่าง ตั้งแต่ออกจากกรุงเทพ ถนนมิตรภาพ ไล่ตั้งแต่สระบุรี เข้าโคราช เรื่อยมาเพราะเมื่อปี 2545 ที่เกิดวิกฤติรถติด ทำให้นักท่องเที่ยวมีการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มมาเอง โดยการซื้อมาจากจังหวัดอื่นตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นการกระจายรายได้ให้กับพื้นที่จังหวัดอื่นๆ"

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมบั้งไฟพญานาคยังสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งของจังหวัดหนองคาย เช่น หลวงพ่อพระใส ที่วัดโพธิ์ชัย พระธาตุบังพวน หรือจับจ่ายซื้อของที่ตลาดท่าเสด็จ แวะชมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว รวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย

"ปีที่แล้วได้สอบถามไปที่ปราสาทหินพิมาย ในช่วง 3-4 วันที่มีบั้งไฟพญานาคก็มีสถิตินักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก หรือที่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คำชะโนด จ.อุดรธานี เรื่อยไปถึงหนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น สกลนคร นครพนม ออกไปถึงอีสานล่างอย่างโคราช บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ ก็มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คือเกิดการกระจายไปทั่วภาค เพราะนักท่องเที่ยวมีมาจากทั่วประเทศ"

จริยา ไกรวีระเดชาชัย เจ้าของร้านอาหารทานตะวัน อยู่ที่ตัวเมืองหนองคาย กล่าวว่า เปรียบเทียบการขายในช่วงเทศกาลออกพรรษา สามารถเพิ่มรายได้ถึงเท่าตัว เรียกว่ามีผลต่อธุรกิจและรายได้ของประชาชนอย่างมาก อย่างที่ร้านก็มีรายได้เฉลี่ยวันละหมื่นกว่าบาท "แต่ปีนี้คิดว่าจะมีคนน้อยลงเพราะที่หนองบัวลำภูก็มีเหมือนกัน คงจะแยกๆ กันไปดู"

บั้งไฟพญานาคที่จริยาพูดถึงนั้นอยู่ที่ อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู บนเส้นทาง อุดรธานี-เลย ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ไม่ได้อยู่ติดหรือใกล้กับแม่น้ำโขง และมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ลักษณะเป็นลูกไฟสีเขียว แต่จำนวนลูกไฟมีไม่มาก ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว โดยในปีนี้ทางจังหวัดหนองบัวลำภูได้ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวไปชมด้วย

เรื่องรายได้ที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ภาคอีสานนั้น เรียกว่าแต่ละที่ไม่น้อยหน้ากัน ซึ่ง ผอ. นวล ได้เผยถึงตัวเลขของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวเฉพาะจังหวัดหนองคายนั้นอย่างน้อยที่สุด น่าจะประมาณ 300,000 คน คิดค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 800 กว่าบาท ลองคิดลองคูณกันเล่นๆ แบบคร่าวๆ ก็ตกที่ 240,000,000 บาท !?!

"ไหลเรือไฟ" ความงามวิจิตร ถวายเป็นพุทธบูชา

ไม่เพียงแต่ "บั้งไฟพญานาค" จ.หนองคาย เท่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับ พญานาค และส่งผลให้เกิดเม็ดเงินมหาศาลสู่ชาวอีสาน "งานประเพณีไหลเรือไฟ" จ.นครพนม ก็เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพญานาค และแม้จะสร้างเม็ดเงินให้ประชาชนได้ไม่มากเท่างานบั้งไฟพญานาค แต่ก็ถือได้ว่าเป็นงานที่ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดนครพนมและจังหวัดอื่นใกล้เคียงพลอยคึกคักไปด้วย

สำหรับงานประเพณีไหลเรือไฟนั้นจะมีในช่วงออกพรรษา ในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 11ของทุกปี จะมีเรือไฟแบบโบราณลอยเคราะห์ เป็นลักษณะประเพณีเดียวกันกับการลอยกระทง ไฟ หมายถึงการเผาพลาญความทุกข์ ทั้งเป็นการขอขมาและรำลึกสักการะเจ้าแม่คงคา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลำแม่น้ำโขง

แต่ว่าในส่วนของการไหลเรือไฟจะออกไปทางตำนานแม่น้ำโขง มีพญานาคเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่มีพญานาคเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ตามคำขอของพญานาค เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่ภพนาค ซึ่งปัจจุบันรอยพระบาทนั้นปรากฏอยู่ที่หมู่บ้านเวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

เพราะประเพณีไหลเรือไฟ จัดขึ้นพร้อมกับวันที่มีบั้งไฟพญานาค จึงแล้วแต่ว่านักท่องเที่ยวจะเลือกดูอะไรที่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็มักจะเดินทางไปเที่ยวชมบั้งไฟพญานาคมากกว่า แต่ปีนี้มีเดือนแปดสองหน (28-29 ต.ค.) จึงคาดว่าการท่องเที่ยวนครพนมจะคึกคักขึ้น

สุเทพ อติวรรณกุล ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวว่า "ปีนี้คาดว่าจังหวัดนครพนมจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5-10 เปอร์เซ็นต์ เพราะตลอดปีนี้ทางจังหวัดได้ส่งเสริมให้เป็น "ปีท่องเที่ยวนครแห่งแม่น้ำโขง" และเป็นปีแรกที่ทางจังหวัดจัดงบประมาณสนับสนุนในการผลิตเรือไฟ ทำให้สามารถเพิ่มวันไหลเรือไฟได้อีก 2 วันก่อนออกพรรษา เพราะเดิมจะมีไหลเรือไฟเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เท่านั้น"

"การที่เราขยายให้มีการไหลเรือไฟเป็น 3 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวมาพักที่นครพนมเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงตลอดสัปดาห์ สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวนครพนมให้ได้รู้ว่าเรามีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยว และยังเชื่อมการท่องเที่ยวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศลาวและเวียดนามในแพ็คเกจท่องเที่ยวราคาถูก และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 นักท่องเที่ยวไม่ต้องทำวีซ่าแล้ว แค่มีพาสปอร์ตก็สามารถข้ามไปลาวและไปต่อยังเวียดนามได้" ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าว

ด้าน กิตติกา ลิขิตวศินกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4 (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) เผยว่ามีการจัดท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ร่วมด้วย ถือเป็นการกระจายถึงคนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

"จริงๆ แล้วการเดินทางของนักท่องเที่ยวในช่วงวันออกพรรษาจะมีการเดินทางเวียนรอบจังหวัดประมาณ 3-4 จังหวัด เพราะวันที่ 27 ที่สกลนครมีงาน "ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง" นักท่องเที่ยวก็จะแวะที่สกลนครก่อน และอาจจะเดินทางต่อไปยังมุกดาหารซื้อของที่ตลาดอินโดจีน ก่อนที่จะเดินทางมานครพนมในวันที่ 28 เพื่อดูไหลเรือไฟแบบเต็มขบวน จากนั้นวันที่ 29 นักท่องเที่ยวก็สามารถไปดูบั้งไฟพญานาคต่อ และปีนี้ก็เปิดด่านให้นักท่องเที่ยวสามารถข้ามไปพักและท่องเที่ยวที่ฝั่งลาวได้ด้วยเช่นกัน"
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปฏิทินวันบุญออกพรรษา กล่าวได้ว่า "พญานาคให้คุณ ในวันบุญออกพรรษา" จริงๆ เพราะทุกจังหวัดล้วนแต่มีนักท่องเที่ยวอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละจังหวัดจึงถือโอกาสช่วงเทศกาลวันออกพรรษนี้จัดกิจกรรมมากมายในพื้นที่ต่างๆ ร่วมด้วย

อย่างเช่นที่ จังหวัดหนองคาย มี "งานเทศกาลออกพรรษาชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค" ระหว่างวันที่ 24-30 ต.ค. 2547 บริเวณวัดหายโศก และริมเขื่อนป้องกันตลิ่ง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง และหลายอำเภอในจังหวัดหนองคาย มีกิจกรรมเสริม เช่น การออกร้านจำหน่ายสินค้าและถนนอาหาร การประกวดลอยเรือไฟบูชาพญานาค การแข่งขันเรือยาวออกพรรษา การประกวดปราสาทผึ้งแบบดั้งเดิม พิธีบวงสรวงพระธาตุกลางน้ำ ประเพณีลอยกระทงวันเพ็ญเดือน 11 พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะ และการแสดงแสง - เสียง "เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค" เป็นต้น

จังหวัดสกลนคร มี "งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง น่าทึ่งแข่งขันเรือยาว" ระหว่างที่ 25-28 ต.ค. 2547 ภายในงานมีกิจกรรมการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ (วันที่ 25-26) การประกวดและขบวนแห่ปราสาทผึ้งโบราณ และแบบประยุกต์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของงาน (วันที่ 27 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป) นอกจากนั้นก็ยังมีเทศกาลของดีของแซบเมืองสกล และพิธีบายศรีสู่ขวัญร่วมกับชาวสกลนครด้วยพานบายศรีที่งดงาม การแสดงคอนเสิร์ตและการแสดงพื้นบ้านต่างๆ เป็นต้น

จังหวัดนครพนม มีงาน "ประเพณีไหลเรือไฟ" ระหว่างวันที่ 23-29 ต.ค. 2547 มีกิจกรรม การแข่งเรือยาวในแม่น้ำโขง การแห่เรือไฟบก/ปราสาทผึ้ง การลอยเรือไฟโบราณ/เรือไฟประยุกต์ การแสดงเรือเซิ้ง การจัดกิจกรรม "ถนนคนเดิน" การแสดง/จำหน่ายสินค้า ไทย - ลาว - เวียดนาม การรำบูชาพระธาตุพนม (อ.ธาตุพนม) การแสดงแสง สี เสียง ชุด "นครพนมเมืองน่าอยู่ คู่สัมพันธ์อินโดจีน" การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
บั้งไฟพญานาค: ปฏิกิริยาเคมีในลำโขง
เล่าขานตำนานบั้งไฟพญานาค
“บั้งไฟพญานาค” กับเหตุผลที่คนทำได้และไม่ได้
หลากหลายประสบการณ์...กับพญานาค  
  “หนองคาย” เมืองสงบเรียบง่ายริมฝั่งโขง  

 


กำลังโหลดความคิดเห็น