xs
xsm
sm
md
lg

“ยี่เป็ง” ประเพณีเดือนยี่ วิถีแห่งล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะเอ่ยถึงประเพณีสำคัญทางล้านนาในเดือนยี่ คงมีชื่อประเพณียี่เป็งติดอันดับต้น ๆ โดยเห็นได้จากการจัดงานประเพณียี่เป็งอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

ประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีสำคัญของชาวล้านนาที่จัดในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือนสอง ซึ่งเดือนสองทางจันทรคติของล้านนา จะตรงกับเดือนสิบสองของภาคกลาง

ในภาษาคำเมืองของทางเหนือ “ยี่” แปลว่า สอง และคำว่า “เป็ง” หมายถึง เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้นจึงหมายถึงประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสอง

โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวี มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี จึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเมืองเดิมได้ เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชาธูปเทียนลอยตามน้ำ เพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป เรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ

ในงานบุญยี่เป็งยังมีการเทศน์มหาชาติ ผู้คนจะออกมาตกแต่งบ้านเรือน วัดวาอาราม และถนนหนทาง ด้วยต้นกล้วย อ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อประทีปและชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา ยามค่ำคืนจะมีการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์

จุดเด่นของงานนี้อยู่ที่การปล่อยโคมลอยขึ้นไปในท้องฟ้า โดยเชื่อกันว่า เปลวไฟในโคมเป็นสัญลักษณ์ของความรู้และแสงสว่างที่ได้รับจากโคมจะส่งผลให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง การจุดโคมลอยมี 2 แบบ คือแบบที่ใช้ปล่อยในเวลากลางวัน เรียกว่า “ว่าว” จะเน้นที่ตัวโคมทำด้วยกระดาษหลากสีสัน ส่วนโคมที่ปล่อยในเวลากลางคืนเรียกว่า “โคมไฟ” ทำด้วยกระดาษว่าวสีขาว ใช้ไฟจุดรมเอาไอร้อน เพื่อให้โคมลอยขึ้น โคมลอยติดกันเป็นสายยาวค่อย ๆ ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า คงเสมือนสิ่งกระตุ้นจิตใจของผู้ร่วมงานให้ลอยสูงขึ้นไปบนสวรรค์ได้เป็นอย่างดี

สำหรับปีนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงาน “ร้อยตำนาน...สืบสานเดือนยี่เป็งล้านนา” ระหว่างวันที่ 19-27 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพื่อเฉลิมฉลอง 72 พรรษามหาราชินี ภายในงานสามารถสัมผัสความงดงามวิถีชีวิตของชาวล้านนาผ่านการจัดงานตลอด 9 วัน9 คืน
กำลังโหลดความคิดเห็น