xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนอดีตสู่โลกล้านปี…ที่ภูเวียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โลกเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนนั้นเป็นเช่นไร ยากที่ใครจะให้คำตอบได้อย่างแน่ชัดได้หากไม่นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปดู แต่จากประโยคที่ว่า “สสารย่อมไม่สูญหายไปจากโลก” ทำให้ชิ้นส่วนในอดีตเมื่อหลายร้อยล้านปีที่แล้ว ยังคงทิ้งร่องรอยบางอย่างเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป ซึ่งชิ้นส่วนที่ว่านั้นก็คือ “ฟอสซิล” ของไดโนเสาร์นั่นเอง

ประโยชน์ของฟอสซิลนั้นก็คือ มันจะสามารถบอกให้ทราบถึงรูปแบบและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ รวมทั้งบอกให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมในขณะนั้นได้ด้วย เนื่องจากในแต่ละช่วงเวลาก็จะมีสิ่งมีชีวิตแต่ละแบบต่างกันไป จึงนับว่าการได้พบฟอสซิลหนึ่งชิ้น ก็เหมือนได้เจอชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่จะต่อเติมภาพในอดีตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สำหรับในประเทศไทยเองก็ได้มีการขุดพบฟอสซิลของไดโนเสาร์เช่นกัน แถมยังเป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อนอีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว นักธรณีวิทยาจากโครงการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมของกรมทรัพยากรธรณีกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าไปสำรวจหาแหล่งแร่ยูเรเนียม ณ บริเวณ ห้วยประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

สิ่งที่ได้พบและสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่ไปเจอนั้นกลับไม่ใช่แร่ธาตุที่ตั้งใจไปสำรวจ แต่เป็นกระดูกขนาดกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต ซึ่งภายหลังเมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบดูแล้วก็พบว่าเป็นกระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) หรือไดโนเสาร์ชนิดกินพืช มีขนาดความยาวประมาณ 15 เมตร ความสูงประมาณ 3 เมตร คอยาว หางยาว และที่สำคัญคือ เป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก

เมื่อเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีชื่อใหม่ ซึ่งชื่อของมันก็คือ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” (Phuwiangosaurus Sirindhornae) โดยชื่อสกุลนั้นตั้งตามชื่อแหล่งที่พบ คืออำเภอภูเวียง ส่วนชื่อชนิดนั้นได้รับพระราชทานพระนามาภิไธย “สิรินธร” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้นำมาใช้เป็นชื่อ และนั่นก็นับเป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์การค้นพบไดโนเสาร์ของประเทศไทย

ไม่ใช่เพียงแค่ “ภูเวียงโกซอรัส” เท่านั้นที่เป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของไทย เพราะอุทยานแห่งชาติภูเวียงนี้ก็ยังมีไดโนเสาร์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ “สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส” (Siamotyrannus Isanensis) หรือ ไทรันสยาม ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดความยาวประมาณ 7 เมตร และเป็นบรรพบุรุษของ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (Tyranosaurus Rex) หรือ ทีเร็กซ์ ในภาพยนตร์เรื่องจูราสสิก พาร์คนั่นเอง นอกจากนั้นในการขุดค้นก็ยังได้พบกระดูกและรอยเท้าของไดโนเสาร์ชนิดอื่นๆ อีก เช่น ไดโนเสาร์ตัวเล็กเท่าไก่ (Compsognathus) อีกด้วย

ในอุทยานแห่งชาติภูเวียงนี้ มีหลุมขุดค้นซากฟอสซิล และรอยเท้าไดโนเสาร์อยู่ทั้งหมด 9 หลุมด้วยกัน แต่หลุมที่เหมาะสำหรับการเดินชมนั้นมีอยู่ 4 หลุมด้วยกันคือ หลุมขุดค้นที่ 1 (ประตูตีหมา) ซึ่งเป็นหลุมที่พบกระดูกของ “ภูเวียงโกซอรัส” และไดโนเสาร์ตัวเล็กเท่าไก่ หลุมขุดค้นที่ 2 (ถ้ำเจีย) เป็นหลุมที่พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดเดียวกับหลุมที่ 1 และเป็นหลุมที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ ได้เคยเสด็จมาเยี่ยมชม หลุมขุดค้นที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา) ซึ่งพบชิ้นกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่หลายชิ้น และหลุมขุดค้นที่ 9 (ลานหินลาดยาว) ซึ่งขุดพบกระดูกสะโพกด้านซ้ายและโคนหางของ “ไทรันสยาม”

สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมจึงมีฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่แถบนี้มากเหลือเกิน นักวิชาการได้สันนิษฐานคำตอบไว้ว่า เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำใหญ่ไหลคดเคี้ยว ซึ่งไดโนเสาร์ที่หากินตามริมน้ำก็จะใช้เส้นทางเดินข้ามแม่น้ำเป็นปกติ ในฤดูแล้งนั้นกระแสน้ำจะไหลเอื่อยๆ แต่พอถึงฤดูฝนกระแสน้ำจะไหลแรงและเชี่ยว ไดโนเสาร์ที่พยายามจะเดินข้ามแม่น้ำเหมือนปกติก็ต้านกระแสน้ำไม่ไหวบ้าง เหยียบกันตายบ้าง และน้ำก็ได้พัดพาซากของพวกมันมาเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง เมื่อถูกดินตะกอนทับถมอยู่เป็นเวลานานเข้าซากเหล่านั้นก็กลายมาเป็นฟอสซิลให้เราได้ศึกษาตามหลุมขุดค้นอยู่ถึงทุกวันนี้

แต่หากใครที่หวังจะได้เห็นหลุมขุดค้นอย่างใกล้ชิดขนาดสัมผัสกับโครงกระดูกได้ หรือหวังสูงขนาดจะได้เห็นนักโบราณคดีกำลังนั่งขุดโครงกระดูกเหล่านั้นอยู่ก็คงต้องขอแสดงความเสียใจ เพราะหลุมแต่ละแห่งนั้นได้มีการขุดค้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้สร้างอาคารมีกระจกกั้นล้อมรอบอย่างดี ผู้ชมสามารถชมได้แต่เพียงด้านนอกเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการเก็บรักษา แต่สำหรับผู้ชมบางคนที่คาดหวังมากก็อาจทำให้เกิดความผิดหวังบ้าง

ดังนั้นเพื่อที่จะได้ชมหลุมขุดค้นต่างๆ ให้ได้อรรถรส และได้ข้อมูลแบบครบถ้วน จึงจะขอแนะนำให้แวะเข้าไปหาข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ซึ่งตัวพิพิธภัณฑ์นั้นอยู่ก่อนจะถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียงประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในจะจัดแสดงเรื่องราวการขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง มีโครงกระดูกทั้งของจริงและแบบจำลองให้ได้ชม และมีหุ่นจำลองไดโนเสาร์หลากหลายชนิดให้ได้เห็นพร้อมบรรยากาศที่จำลองมาจากเมื่อหลายร้อยล้านปีที่แล้ว เรียกว่ามีข้อมูลครบถ้วน และเป็นการเตรียมพร้อมก่อนจะได้ไปเห็นหลุมขุดค้นของจริงได้อย่างดีทีเดียว

นอกจากหลุมขุดค้นไดโนเสาร์เหล่านี้แล้ว อุทยานแห่งชาติภูเวียงก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกตาดฟ้า น้ำตกทับพญาเสือ ถ้ำฝ่ามือแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก และต้องเดินเท้าเข้าไปชมเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่รักการเดินทางแบบสมบุกสมบัน และผู้ที่ต้องการศึกษาธรรมชาติในป่า โดยเฉพาะน้ำตกตาดฟ้า ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวมากางเต็นท์พักแรมได้ด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางจังหวัดขอนแก่นก็ได้จัดงาน “เปิดโลกภูเวียง” โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะให้อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของของท้องถิ่น รวมถึงเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว และได้มีโครงการที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางคมนาคมต่างๆ ภายในพื้นที่ภูเวียง ซึ่งหากโครงการเหล่านี้สำเร็จลงเมื่อไร ก็เชื่อแน่ว่าอุทยานแห่งชาติภูเวียงคงจะได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะเยี่ยมเยียนอย่างไม่ขาดสายอย่างแน่นอน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุทยานแห่งชาติภูเวียง เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 71 ของประเทศไทย สามารถเดินทางโดยรถยนต์จากจังหวัดขอนแก่นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 จากนั้นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2038 ผ่านอำเภอหนองเรือ ไปยังอำเภอภูเวียง และเดินทางต่อไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง รวมระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร สามารถสอบถามข้อมูล หรือติดต่อที่พักได้ที่ โทร.0-4324-9052

หรือหากเดินทางโดยรถประจำทาง จากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอภูเวียง จากนั้นจะมีรถรับจ้างสามล้อเครื่องจากอำเภอภูเวียง ไปยังที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียง ( ปากช่อง ) ส่วนพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงตั้งอยู่ก่อนถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียงประมาณ 3 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม

กำลังโหลดความคิดเห็น