ไปดูหนังกันไหม?
เป็นคำถามแสนธรรมดาที่เราทุกคนคงเคยได้ยินจากเพื่อนและคนใกล้ชิดอยู่เป็นประจำ
สมัยโบราณ ก่อนที่จะมีภาพยนตร์ คุณทวดของเราก็สามารถใช้คำถามแบบนี้ได้เช่นกัน
หลายคนอาจจะงงว่า สมัยนั้นมีหนังด้วยหรือ?
แน่นอน บรรดาคุณทวดคุณย่าและคุณยายของเรานั้นท่านก็มีหนังดูในแบบของท่านเหมือนกับหนุ่มสาวสมัยนี้ ที่สำคัญ…มีมานับร้อยปีแล้ว โดยหนังที่ว่านี้ ก็คือ “หนังใหญ่” ที่ในปัจจุบันนี้ หาดูได้ยากเต็มที
รู้จักหนังใหญ่
“หนังใหญ่” มีเล่นในเมืองไทยเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด
ตำราบางเล่มว่ามีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนบางเล่มก็ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ที่เห็นพ้องต้องกันก็คือ หนังใหญ่ถือเป็นมหรสพชั้นสูงที่รวมไว้ด้วยศิลปะหลายแขนง โดยหนังใหญ่จะแสดงในโอกาสหรือวาระสำคัญของบ้านเมืองมาตั้งแต่โบราณ
ที่เรียกว่าหนังใหญ่ก็เนื่องมาจาก สิ่งที่แสดงตัวตนของหนังใหญ่ว่าเป็นหนังระดับ “หลวง” ส่วนหนังตะลุง ที่มีการละเล่นคล้ายๆกัน เรียกว่า “หนังเล็ก” เนื่องจากเป็นการแสดงที่ใช้เล่นกันในระดับชาวบ้าน
สำหรับการละเล่นหนังใหญ่ จะมีการเชิดตัวหนังที่แกะสลักเป็นรูปต่างๆอย่างประณีตบรรจงที่ด้านหน้าของจอผ้า โดยมีแสงไฟส่องมาจากด้านหลังจอ (ต่างจากหนังตะลุงที่เชิดด้านหลังจอ) โดยคนเชิดจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทักษะการเชิดมาเป็นอย่างดี เนื่องจากว่าคนเชิดจำเป็นต้องใส่วิญญาณของตัวหนังเข้าไปด้วย เช่นใครเล่นเป็นหนุมานก็ต้องชิดให้ได้อารมณ์ของลิงนักรบ ซึ่งหากคนเชิดคนไหนมีพื้นฐานทางการแสดงโขนมาก่อน ก็ย่อมสามารถเชิดหนังใหญ่ได้อย่างมีชีวิตชีวากว่าคนอื่น เรียกว่าทั้งคนและตัวละครต้องผสานออกมาเป็นหนึ่งเดียวกัน
ในขณะที่การพากย์หนังใหญ่คนพากย์ก็จะออกมานั่งพากย์อยู่ข้างหน้า แถมมีหลายคนได้อีกต่างหาก
แน่นอนว่านี่คือ “ดารา” ของหนังใหญ่ในอดีตแห่งสยามประเทศ ที่หากใครเชิดตัวละครหรือพากย์เสียงได้ดี ก็อาจจะได้รับเสียงปรบมือหรือเสียงกรี๊ดของของสาวๆเป็นรางวัล
พระอธิการนุชิต วชิรวุฑโฒฺ เจ้าอาวาสวัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หนึ่งในบุคคลที่อนุรักษ์หนังใหญ่เอาไว้กล่าวถึงการบูรณาการศาสตร์และศิลป์ของหนังใหญ่เอาไว้อย่างน่าฟังว่า
“หนังใหญ่เป็นการรวมไว้ด้วยศิลปะหลายแขนง อย่างแรกคือ หัตถศิลป์ คือการแกะสลักที่ต้องแกะออกมาแล้วฉายเข้ากับแสง ให้ดูเหมือนสามมิติ สอง นาฏศิลป์ การเชิดหนังต้องเรียนรู้ท่าทางของตัวละคร ยักษ์ มนุษย์ ลิง สาม คีตดุริยางคศิลป์ คือดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงละคร วงดนตรีปี่พาทย์ เพลงหน้าพาทย์ สี่ วาทศิลป์ คือคำพากย์คำเจรจา คำพากย์เป็นกาพย์ฉบัง 16 คำเจรจาเป็นร่าย สุดท้าย วรรณศิลป์ ต้องเข้าใจเรื่องราวที่นำมาแสดงเช่น เรื่องรามเกียรติ์ที่นิยมเล่นกัน”
แต่ถึงแม้ว่าหนังใหญ่จะเป็นมหรสพชั้นสูง แต่ว่าด้วยอุปสรรคหลายๆอย่างเกี่ยวกับการละเล่นหนังใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดผู้สืบทอด ราคาตัวหนังที่ค่อนข้างแพงเนื่องจากมีขนาดใหญ่ ช่างทำหนังใหญ่ที่นับวันยิ่งเหลือน้อย สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ในระยะหลังชื่อของหนังใหญ่แทบจะถูกลืมไปจากสาระบบของการแสดงในเมืองไทย โดยปัจจุบันการละเล่นหนังใหญ่ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้และมีการจัดแสดงอย่างสม่ำเสมอในเมืองไทย ก็เห็นจะเหลืออยู่เพียงสามแห่งคือ วัดขนอน จังหวัดราชบุรี วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี และวัดบ้านดอน จังหวัดระยอง
หนังใหญ่วันนี้
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วัดทั้งสามที่สืบทอดและอนุรักษ์ “หนังใหญ่” ล้วนได้รับแรงสนับสนุนจากชาวบ้านในการรักษาสืบทอด อันเนื่องมาจากแรงศรัทธาในตัวบุคคลทั้งสิ้น
อย่างกับที่ วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นคณะการแสดงหนังใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักมากแห่งหนึ่งในปัจจุบัน
“มีคนเคยถามว่าหนังใหญ่อยู่ที่วัดได้ไง เพราะจากการศึกษาจากตำราพบว่า ผู้ที่จะครอบครองหนังใหญ่ได้ ต้องเป็นระดับเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ส่วนหนังใหญ่ที่วัดสว่างอารมณ์นี่หลวงพ่อไม่ได้เป็นเศรษฐีหรอก แต่เป็นเจ้าคณะมณฑลในสมัยกรุงศรีอยุธยา”
พิษ ภูมิจิตรมนัส หรือลุงพิษ รักษาการประธานชมรมอนุรักษ์หนังใหญ่ วัดสว่างอารมณ์ พูดถึงอดีตเจ้าอาวาสและสาเหตุที่หนังใหญ่เกิดขึ้นในวัดแห่งนี้จนสามารถสืบทอดต่อๆ กันมาได้สำเร็จ
ในปัจจุบันที่นี่อนุรักษ์หนังใหญ่โดยสืบต่อวิชาให้กับเยาวชนรุ่นลูกหลาน ตัวแสดงส่วนใหญ่จึงเป็นนักเรียน แต่ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง
“น่าจะเป็นเรื่องการสืบทอดที่ขาดความต่อเนื่อง และอีกอย่างคือ คนที่เชิดเป็นเด็กซะส่วนใหญ่ และวงปี่พาทย์ก็เป็นนักเรียน ถ้าหากมีผู้ชมมาดูวันธรรมดาก็อาจจะขัดข้องนิดหน่อย เพราะติดเรียน ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ไม่มีปัญหา ที่นี่จะใช้เยาวชนหมด เพื่อต้องการปลูกฝังให้รักและหวงแหน”
แม้จะมีอุปสรรค แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับหนังใหญ่ของชาวสิงห์บุรี ซึ่งยังมีเด็กๆ ให้ความสนใจ แต่ถ้าถามถึงการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับสิ่งเร้าอื่นๆ ในปัจจุบันก็ได้คำตอบว่า
“มีหลายคนอยากให้เราปรับเปลี่ยน คือ เอาใจคนดู เช่น เล่นให้สนุก เล่นให้ตลก แต่จริง ๆ แล้วเราบอกตรง ๆ ว่า ชื่อของเราคือ “ชุมชนอนุรักษ์หนังใหญ่สว่างอารมณ์” ซึ่งก็หมายถึงอนุรักษ์ เพราะฉะนั้น กระบวนท่า หรือการเชิด เราต้องอนุรักษ์ แม้ใครจะติติงมาบ้างว่าไม่สนุก แต่เราคิดว่าคุณรู้จักรามเกียรติ์ดีแค่ไหน ครั้นจะเอาใจคนดูมากเกินไป แต่ไม่เอาใจบรมครูหนังใหญ่ก็ดูจะเพี้ยนเกินไป”
เพราะหนังใหญ่ของที่นี่ไม่ได้แสดงเพื่อเอาใจคนดูเท่านั้น แต่ยังเหมือนกับเป็นการไหว้ครูและบรรพบุรุษไปด้วย ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยหลักธรรม
“เสน่ห์ของหนังใหญ่คือเป็นอุปกรณ์กึ่งพิธีกรรม เพราะการชมหรือดูหนังใหญ่นี้ มองลักษณะไปถึงคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม อิทธิบาท 4 เช่น ฉันทะ คือ พระราม วิริยะ คือ พระลักษณ์ จิตตะ คือ หนุมาน วิมังสา คือ พิเภก ตัวละครเหล่านี้มีคุณธรรมอยู่ จะทำงานอะไรก็สำเร็จ นั่นก็สอดคล้องกับเจตนาของหลวงปู่เรืองที่ว่าต้องการให้หนังใหญ่ เป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรมะ”
นอกเหนือจากสิงห์บุรีในภาคกลาง ที่วัดบ้านดอน จ.ระยอง การอนุรักษ์หนังใหญ่เริ่มจากชายคนหนึ่งคือ เจ้าคุณพระยาศรีสมุทร โภคชิตชัยสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระยอง เนื่องจากท่านได้ทราบกิตติศัพท์ของหนังใหญ่ที่จังหวัดพัทลุง แล้วเกิดศรัทธาเห็นคุณค่าของหนังใหญ่ ต้องการนำมาสืบทอด จึงได้สั่งซื้อตัวละครทั้งชุดมาจากจังหวัดพัทลุงทางเรือทั้งชุด
ในสมัยก่อน การขนส่งหนังใหญ่จากเมืองพัทลุงไปยังเมืองระยองไม่ได้มีถนนสะดวกเหมือนสมัยนี้ เลยต้องเดินเรือตัดอ่าวไทยไปส่งกันทีเดียวจากภาคใต้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอพายุคลื่นลมแรง ทำให้หนังใหญ่หลายแผ่นปลิวตกทะเลเดือดร้อนต้องตามเก็บกันวุ่นวาย แต่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นคือ เมื่อถึงท่าเรือแล้ว ตัวละครสำคัญของหนังใหญ่ที่หายไประหว่างเดินทางคือ “นางสีดา” ไปติดอยู่ท้ายเรือ กลายเป็นความเชื่อว่า นางสีดาจะไม่มีวันแยกจากกันกับพระราม
หลังจากนั้นก็มีการนำออกงานสำคัญหลายครั้ง จนในที่สุดก็ถูกนำมาถวายไว้ที่วัดบ้านดอนเพราะมีคนสืบทอด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหนังใหญ่ของที่นี่ก็มีการปรับตัวเช่นกัน
“ระยะเวลาที่แสดงจะน้อยลง แสดงเป็นตอน ๆ รอบละ 40-50 นาที ซึ่งแต่ก่อนเราต้องแสดงเต็มเรื่องใช้เวลา 2 ชั่วโมง แม้ว่าเวลาจะลดลงแต่เนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องเดียวกัน เราเน้นให้กระชับขึ้นมากขึ้น ขณะที่เนื้อเรื่องคงความสมบูรณ์เหมือนเดิม ที่ต้องลดเวลาลงเพราะเมื่อเลยครึ่งชั่วโมงไป ความสนใจของผู้ชมจะหายไปทันที”
เกียรติศักดิ์ เสือโต ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเชิงเนิน อธิบายการปรับตัวของหนังใหญ่วัดบ้านดอน ซึ่งนอกจากลดความยาวลงแล้ว ยังมีการปรับในเรื่องท่าทางของคนเชิดหนังด้วย
“ท่วงท่าลีลาจะคมชัดขึ้นกว่าสมัยก่อน เช่น การลงเท้า เพราะครูเล็ก (ภัทราวดี มีชูธน) มาปรับให้ชัดขึ้น คือมองแล้วเหมือนโขน ที่มาจากกรมศิลปากรเลยทีเดียว การปรับเปลี่ยนหลายอย่างตรงนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง”
ทั้งนี้ก็เพื่อประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยและธรรมชาติของคนที่เปลี่ยนไปจากสภาพสังคมที่มีสิ่งบันเทิงอย่างอื่นเข้ามาดึงมากขึ้น
แม้ว่าทุกอย่างจะดูลงตัว หนังใหญ่ที่วัดบ้านดอนก็ยังคงประสบปัญหาเรื่องโรงละคร เนื่องจากปัจจุบันได้ใช้ศาลาวัดมาดัดแปลง ทำให้ไม่สามารถใช้ได้เต็มที่เพราะชนกับเวลาการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บางครั้งก็ต้องเลื่อนเวลาออกไป
“ อยากมีโรงละครที่สมบูรณ์ และจะอนุรักษ์ไว้ให้นานที่สุด เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมของจังหวัดระยองสืบต่อไป”
เป็นความปรารถนาจากส่วนลึกของแกนนำผู้สืบทอดหนังใหญ่ที่วัดบ้านดอน
ส่วนที่ วัดขนอน จังหวัดราชบุรี หนังใหญ่ของที่นี่การสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้ริเริ่มคือท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ซึ่งท่านได้ริเริ่มรวบรวมช่างมีฝีมือในสมัยนั้นประกอบกับความช่วยเหลือของชาวบ้านที่ศรัทธาในตัวท่านมาช่วยกันทำหนังใหญ่ขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ โดยมีจำนวนหนัง (ตัวละคร) ถึง 320 ตัว แสดงรามเกียรติ์ได้ถึง 9 ตอนซึ่งนับว่าเป็นคณะที่ใหญ่มาก
ตรงนี้จะเห็นได้ว่าหากชาวบ้านซึ่งไม่ใช่ผู้มีอำนาจ หรือมีกำลังทรัพย์ต้องการจะสร้างหนังใหญ่ ดูจะต้องอาศัยศูนย์กลางของชุมชนในการรวมพลังทั้งสิ้น
และก็เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อปี พ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ที่มีเหลืออยู่ทั้ง 313 ตัว และให้กรมศิลปากรจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่โดยการก๊อปปี้ลายจากของเก่าทั้งหมด โดยใช้เวลาทำอยู่ 6 ปี และนำมาใช้ในการแสดงแทนส่วนที่เป็นหนังเก่าซึ่งได้ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ในการรักษาหนังใหญ่ของวัดขนอนให้ดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันทางวัดขนอนได้จัดพิพิธภัณฑ์และแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ มีการฝึกเยาวชนให้เรียนรู้ ทั้งในเรื่องการเชิด และเรื่องวงปี่พาทย์ เพื่อใช้สาธิตหนังใหญ่ให้กับผู้ที่มาเยือน
“เราแสดงหนังใหญ่ประจำทุกวันเสาร์ บางวันไม่มีผู้ชมเลย เราก็แสดงนะ ไม่มีงดแต่อย่างใด” พระอธิการนุชิต วชิรวุฑโฒฺ เจ้าอาวาสวัดขนอนเล่าให้ฟังถึง “พลังใจ” ของคนที่รักและต้องการเห็นวัฒนธรรมซึ่งตกทอดมานานนับร้อยปีได้รับการสืบสานต่อไป
“กลุ่มของเราที่ทำตรงนี้ เรายอมรับสภาพอยู่แล้ว ยอมรับในเรื่องคนที่จะเข้ามาเสพงานศิลปะว่ามันไม่มีมาก มันเป็นกลุ่มคนน้อย เราทำเพื่อการสืบสานศิลปะ มีบุคคลให้ความสนใจเราเป็นกลุ่มย่อย ๆ ก็พอใจแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นคือทำด้วยใจ” เจ้าอาวาสวัดขนอนกล่าวทิ้งท้ายด้วยคำพูดและหัวใจ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถชมการแสดง หนังใหญ่ แต่ควรติดต่อล่วงหน้า ได้ที่
วัดสว่างอารมณ์ ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี โทร. 0-3654-3150 , 0-36)54-3237 , 0-1851-6205
วัดบ้านดอน ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง โทร. 0-9831-6053
วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โทร.0-3223-3386