xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ บ้านน้องไก่ ปวีณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงตอนนี้คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก เหล่าบรรดานักกีฬา “ฮีโร่โอลิมปิก” ที่สามารถคว้าเหรียญแห่งเกียรติยศมาฝากพี่น้องชาวไทยได้ถึง 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และอีก 4 เหรียญทองแดง นับว่ามากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหนึ่งในเหรียญประวัติศาสตร์นั้นก็มาจากฝีมือของน้องไก่ ปวีณา ทองสุก นักยกน้ำหนักสาวพลังช้างจากเมืองสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่นี่เอง

ที่ให้นิยามพละกำลังของน้องไก่เปรียบประดุจพลังช้างนั้นคงไม่มีผิด เพราะถ้าพูดถึงสุรินทร์ก็ต้องนึกถึงช้าง ถึงขนาดที่มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”

ลูกหลานเมืองสุรินทร์สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดและประเทศชาติทั้งที งานนี้ประชาชนชาวเมืองช้างก็เลยพร้อมใจกันจัดงานต้อนรับน้องไก่ ปวีณา อย่างยิ่งใหญ่ โดยหลังจากที่น้องไก่ก้าวลงจากรถไฟสปรินเตอร์ก็ได้ขึ้นนั่งช้างพลายทองใบ ช้างชื่อดังของสุรินทร์ และมีขบวนช้างอีกหลายเชือกแห่ฉลองไปยัง “ศาลหลักเมือง” ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่นับถือคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ ใครผ่านไปผ่านมาแล้วแวะไหว้สักการะเป็นศิริมงคล ก็จะดีไม่น้อย ใกล้ๆ กันนั้นก็อย่าลืมไปไหว้ “หลวงพ่อพระชีว์” (หลวงพ่อประจี) วัดบูรพาราม ซึ่งเป็นที่เคารพบูชา นับถือและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมืองสุรินทร์

ชื่นชมดีใจไปกับน้องไก่เต็มที่แล้ว ก็ถึงเวลาจะไปเที่ยวเมืองสุรินทร์ให้ทั่ว หลังจากไหว้พระไหว้ศาลหลักเมืองแล้ว ก็ไปที่ “อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง” (ปุม) ซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองท่านแรก ให้สังเกตว่าที่มือขวาของท่านจะถือของ้าว แสดงถึงความเก่งกล้าสามารถของท่านในการบังคับช้างศึกและเป็นเครื่องแสดงว่าสุรินทร์เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ รูปปั้นสะพายดาบคู่อยู่บนหลังอันหมายถึงความเป็นนักรบ ความกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์

เหตุที่คำขวัญจังหวัดบอกไว้ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่” นั้นก็คงเป็นเพราะสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดในประเทศไทย และอาจจะมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ โดยที่ “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” ต.กระโพ อ.ท่าตูม เป็นชุมชนชาวกวย (ส่วย) ที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุด มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี และเอกลักษณ์อันโดดเด่น เป็นการเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ทั้งในด้านภาษาพูดความเป็นอยู่ร่วมกันระหว่าง คนกับช้างและวัฒนธรรมในระบบพึ่งพาถ้อยทีถ้อยอาศัยมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคน เช่น เวลา มีงานต่าง ๆ ทุกครั้งจะมีช้างมาร่วมด้วย เป็นความผูกพันกันยากที่จะแยกออกจากกันได้

ปัจจุบันชาวบ้านตากลางยังคงมีการเลี้ยงช้าง และการฝึกช้างเพื่อร่วมการแสดงช้างของจังหวัดทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถไปชมการฝึกช้างที่หมู่บ้านได้ทุกวันในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และในสัปดาห์ ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน จะมี “งานแสดงช้าง” ที่สนามกีฬากลางจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งถือเป็นงานประจำปีระดับชาติแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกมาร่วมชมงานนี้

ส่วนที่บอก “ผ้าไหมงาม” นั้นคงไม่ต้องพูดถึงมากนัก เพราะตอนนี้ผ้าไหมเมืองสุรินทร์ ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นนับตั้งแต่ที่หมู่บ้านทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงอย่าง “บ้านท่าสว่าง” ต.ท่าสว่าง อ.เมืองได้รับมอบหมายให้ทอผ้ายกทองโบราณสำหรับตัดเย็บให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ สวมใส่ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย หรือ APEC ด้วยความที่เป็นผ้ายกทองโบราณ มีขั้นตอนการทำที่สลับซับซ้อน ถ้าเป็นการทอแบบโบราณแท้ๆ จะต้องใช้คนทอไม่น้อยกว่า 3-5 คน ต่อการทอ 1 ครั้ง ซึ่งผ้าที่ทอออกมามีความสวยงามสร้างความมหัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่มีฝีมือทอผ้าไหม ความโดดเด่นของผ้าไหมสุรินทร์ อยู่ที่คุณภาพของเส้นไหมน้อย การย้อมและให้สีสันที่กลมกลืน การแต่งลายเน้นความละเอียดไม่ฉูดฉาด เทคนิคการทอด้วยกรรมวิธีที่ยุ่งยาก เพราะเน้นการใช้สอยมากกว่าการขาย แต่ละครอบครัว แต่ละหมู่บ้าน นิยมถ่ายทอดเฉพาะลาย เช่น บ้านพลวง นิยมทอลาย " สมอ " บ้านบัลลัง นิยมทอลาย " อันลุยซีม " บ้านนาแห้ว นิยมทอมัดหมี่ เช่น "โอร์และอันปรม"

ไหน ๆ ก็ไปเที่ยวมา 2 หมู่บ้านแล้วก็ขอต่ออีกสักหมู่บ้าน นั่นคือ “บ้านโชค” ต.เขวาสินรินทร์ กิ่ง อ. เขวาสินรินทรเป็นหมู่บ้านที่สืบสานศิลปะหัตถกรรมเครื่องประดับประเภท “ประคำหรือประเกือม” ที่สืบสกุลมากว่า 500 ปี ลักษณะพิเศษของประคำหรือประเกือมสุรินทร์นั้น จะเน้นศิลปะลวดลายต่าง ๆ ฝีมือประณีต ลวดลายเป็นที่แปลกตา มีการอัดครั่งข้างใน เพื่อให้มีโลหะเงินหุ้มแต่เพียงเปลือกนอก ความสวยงามจะอยู่ที่ลายที่แกะด้านนอกกับความแวววาวของเนื้อโลหะเงิน ปัจจุบันแทบทุกหมู่บ้านในตำบลเขวาสินรินทร์ มีรายได้หลักจากการผลิตและจำหน่ายประคำ

ตะลุยเที่ยวหมู่บ้านแล้ว ก็ถึงคราวตะลุยเที่ยวปราสาท เพราะสุรินทร์นั้นเป็นดินแดนแห่งสถาปัตยกรรมโบราณ มีปราสาทต่างๆ มากมายกว่า 20 แห่ง สมกับที่บอกว่าเป็นจังหวัดที่ “ร่ำรวยปราสาท” มีการสันนิษฐานว่าในสมัยขอมเรืองอำนาจพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ คงเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่อยู่ในเส้นทางไปมาของขอมระหว่างเขาพระวิหาร เขาพนมรุ้ง จึงได้มีการสร้างปราสาทขึ้นมากมาย มีทั้งปราสาทที่นำพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนา ปราสาทที่ธรรมศาลาหรือที่พักของคนเดินทางและปราสาทที่เป็นอโรคยาศาล หรือสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยในสมัยโบราณ

ซึ่งแต่ละอำเภอก็จะมีปราสาทต่างๆ มากน้อยต่างกันไป เริ่มที่ กิ่งอำเภอพนมดงรัก มี “โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน” ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง เป็นโบราณสถานแบบขอม 3 หลัง คือปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ติดแนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา โดยปราสาทตาเมือน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือที่พักคนเดินทาง 1 ใน 17 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย

ในขณะที่ ปราสาทตาเมือนโต๊ด นั้นเป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ ส่วนที่ ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม แต่ว่าเนื่องจากโบราณสถานกลุ่มนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชาและสภาพถนนยังเป็นลูกรังขรุขระ ถ้าจะไปเที่ยวชมต้องสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทหารที่ดูแลพื้นที่ก่อนเดินทางเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ที่ อำเภอศรีขรภูมิ ยังมี ปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทบ้านช่างปี่ อำเภอลำดวน มี ปราสาทตะเปียงเตีย ที่แปลว่า หนองเป็ด อำเภอจอมพระ มี ปราสาทจอมพระ ซึ่งเป็น อโรคยาศาล ส่วนที่อำเภอปราสาท ก็มี ปราสาทบ้านปราสาท ปราสาทบ้านไพล ปราสาทหินบ้านพลวง ซึ่งแม้จะเป็นปราสาทหินขนาดเล็กแต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก ที่อำเภอสังขะ มี ปราสาทภูมิโปน เป็นปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ เก่าแก่กว่าหลายๆ แห่งของภาคอีสาน และนับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ส่วน ปราสาทยายเหงา ก็เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐ เป็นรูปปรางค์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองที่งดงาม แต่สำหรับชื่อไม่ทราบที่มาว่าเหตุใดจึงต้องเป็นปราสาทยายเหงา

เที่ยวมาก็หลายแห่งหลายที่ ก่อนจะกลับกันก็อย่าลืมซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย อย่าง “ผักกาดหวาน” ที่อำเภอกาบเชิง ก็มีรสชาติและคุณภาพเป็นที่รู้จักและนิยมไปไกลถึงต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีผักกาดเค็ม และไชโป๊ว เป็นสินค้าขึ้นชื่อด้วย หรือจะซื้อ “ข้าวหอมมะลิ” เมืองสุรินทร์กลับไปด้วยก็ไม่ว่ากัน เพราะข้าวหอมมะลิสุรินทร์นั้นขึ้นชื่อเรื่องความ หอม ยาว ขาว นุ่ม เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของจังหวัดเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้ก็คือจังหวัดสุรินทร์ บ้านเกิดขอน้องไก่ ปวีณา จังหวัดที่มีความโดดเด่นของสถานที่และวัฒนธรรมซึ่งเกิดจากการหลอมรวม วัฒนธรรมสายกวย วัฒนธรรมสายเจนละ ( เขมร) และวัฒนธรรมสายลาว เห็นได้จากขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และวัฒนธรรมมากมาย เช่น วัฒธรรมการเลี้ยงช้าง วัฒนธรรมจักสาน วัฒนธรรมการทอผ้าไหม วัฒนธรรมในการทำเครื่องประดับเงิน หรือประเกือม วัฒนธรรมในการเล่นเพลง-ดนตรี และการละเล่นพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ เป็นจังหวัดที่น่าสนใจและน่าท่องเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่งจริงๆ 


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวและการเดินทางได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 1โทรศัพท์ 0-4421-3666 , 0-4421-3030

กำลังโหลดความคิดเห็น