“วัด”นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศไทยนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันแล้ว วัดหลายๆแห่งยังถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเมืองไทย
เรื่องราวของวัดไทยมีปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในหนังสือ ภาพถ่าย และเอกสารต่างๆ รวมไปถึงปรากฏอยู่ในธนบัตร หรือบนธนบัตรที่เราจับจ่ายใช้สอย ซึ่งปัจจุบันจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุไว้ว่ามีวัดที่ปรากฏในธนบัตรอยู่ 9 วัดด้วยกัน โดยแต่ละวัดนั้นถือว่าเป็นสุดยอดแห่งวัดที่มีความงามและความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้เพื่อให้ได้อรรถรสในการอ่านใครที่มีธนบัตรเก่าๆอยู่น่าจะลองหยิบขึ้นมาเพื่อพิจารณาดูว่าในธนบัตรเก่าของเรานั้นมีรูปวัดใดปรากฏอยู่
สำหรับเรื่องราวที่ปรากฏอยู่บนธนบัตรทั้งด้านหน้าและด้านหลัง นอกจากรูปพระมหากษัตริย์แล้ว ก็จะเป็นลวดลายของสถานที่สำคัญต่างๆในประเทศไทย เช่น วัดวาอาราม อนุสาวรีย์ ภาพพิธีสำคัญๆ ฯลฯ โดยธนบัตรในปัจจุบันนั้น รายละเอียดด้านหน้าที่มีความโดดเด่นก็คือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และตัวเลขแสดงราคาของธนบัตรนั้นๆ ส่วนด้านหลังจะเป็นเรื่องราวหลักของธนบัตรของแต่ละชุด
ซึ่งประเทศไทยก็ได้เริ่มใช้เงินกระดาษมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งโปรดให้จัดพิมพ์ “หมาย” ขึ้นเพื่อให้ราษฎรและพ่อค้าต่างชาติได้ใช้เป็นเงินตราซื้อ-ขายสินค้าและชำระหนี้ แต่เนื่องจากยังเป็นของใหม่สำหรับประชาชนจึงยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย
แต่ในยุคแรกๆ นั้น ธนบัตรยังถือเป็นของใหม่สำหรับประชาชน จึงยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย
จนเมื่อได้มีการจัดตั้ง “กรมธนบัตร” ขึ้นมา และได้ออกธนบัตรแบบแรก เมื่อ พ.ศ. 2445 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นธนบัตรที่มีเพียงด้านเดียว และมีราคา 5, 10, 20,100 และ 1000 บาท
ผ่านมาจนถึงในปัจจุบัน ธนบัตรก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามแต่ละสมัย แต่ก็ยังคงมีใช้กันอย่างแพร่หลาย และได้พิมพ์ออกมาจนถึง 15 แบบแล้ว
และในธนบัตรทั้ง 15 แบบ ก็ได้ปรากฏเรื่องราวของ “วัด” ขึ้นเป็นครั้งแรก คือ “วัดพระสมุทรเจดีย์” ในจังหวัดสมุทรปราการ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “พระเจดีย์กลางน้ำ” ซึ่งปรากฏอยู่บนธนบัตรเป็นครั้งแรกในแบบ 3 ราคา 1 บาท ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2477 ด้านหน้าของธนบัตรเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และด้านหลังเป็นรูปพระสมุทรเจดีย์
หลังจากนั้นมาวัดพระสมุทรเจดีย์ก็ได้ปรากฏอยู่ในธนบัตรรุ่นหลังๆอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแบบ 3 ทุกราคา 4 และแบบ 7 (เฉพาะราคา 1 บาท) และแบบ 9 (ราคา 50 สตางค์และ 1 บาท)
สำหรับวัดสำคัญๆ ต่อๆมาที่ปรากฏขึ้นในธนบัตร ก็คือ
“วัดพระปฐมเจดีย์” ในจังหวัดนครปฐมที่ถือว่าเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ก็ได้เคยปรากฏอยู่บนธนบัตรด้วยเช่นกัน คืออยู่ในธนบัตรแบบ 4 (โทมัส)ราคา 5 บาท ประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2482 ด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์ และมีวัดพระปฐมเจดีย์อยู่ด้านหน้าธนบัตร นอกจากนี้ยังปรากฏบนธนบัตรแบบอื่นด้วย เช่น ธนบัตรแบบ 15 ราคา 50 บาท ที่ยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแบบล้านนา เช่น “วัดภูมินทร์” ในจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข และพระประธานเป็นแบบจตุรพักตร์ ที่ทางกรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ก็ได้เคยอยู่บนธนบัตรราคา 1 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรในแบบ 5 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2485 ด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 และมีโบสถ์วัดภูมินทร์อยู่ทางด้านซ้ายของธนบัตร
ส่วนในธนบัตรแบบ 11 ราคา 500 บาท ซึ่งด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้น ด้านหลังได้มีภาพของ “พระปรางค์สามยอด” ณ วัดพระปรางค์สามยอดในจังหวัดลพบุรี ศิลปะแบบบายน ก่อด้วยศิลาแลงและตกแต่งลวดลายปูนปั้นอย่างสวยงามปรากฏอยู่ ธนบัตรนี้ได้นำออกใช้เมื่อ 18 ก.ค. 2518
สำหรับ 4 วัดที่กล่าวถึงไปนั้นเป็นวัดที่อยู่ตามต่างจังหวัดทั้งสิ้น ลองหันมาดูวัดในกรุงเทพฯบ้าง แน่นอนว่าวัดที่ปรากฏอยู่บนธนบัตรบ่อยที่สุดก็คือ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” นั่นเอง
วัดพระแก้วปรากฏอยู่บนธนบัตรครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2477 อยู่ในธนบัตรแบบ 3 ราคา 5 บาท ด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และมีภาพวัดพระแก้วอยู่ตรงกลาง ธนบัตรนี้นำออกใช้เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2477
หลังจากนั้นภาพวัดพระแก้วก็ถูกนำมาใช้อีกหลายครั้ง เช่น ธนบัตรแบบ 5 จะมีวัดพระแก้วอยู่ด้านหลังธนบัตรทุกราคา ไม่ว่าจะเป็น 50 สตางค์ 1, 5, 10, 20, 100 และ 1000 บาท ธนบัตรแบบ 11 ธนบัตรแบบ 13 ราคา 500 บาท และธนบัตรแบบ 14 ราคา 500 บาท
นอกจากวัดพระแก้วแล้วก็ยังมี “วัดอรุณราชวราราม” หรือ “วัดแจ้ง” วัดประจำรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีภาพปรากฏบนธนบัตรทั้งตัวอุโบสถและพระปรางค์อยู่ในธนบัตรแบบต่างๆ เช่น ในแบบ 4 (กรมแผนที่ทหารบก)ราคา 100 บาท ด้านหน้าเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 สมัยยังทรงพระเยาว์ ส่วนตรงกลางเป็นรูปประตูซุ้มยอดมงกุฎของวัดอรุณฯ นำออกใช้เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2487 และธนบัตรราคา 1000 บาท แบบ 4 (โทมัส) ก็มีรูปพระปรางค์วัดอรุณฯอยู่ด้านหน้าของธนบัตรด้วย ได้นำออกใช้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2482
วัดอรุณฯได้มีโอกาสอยู่บนธนบัตรอีกหลายครั้ง เช่น ในธนบัตรแบบ 5 แบบ 6 และแบบ 9 (เฉพาะราคา 100 บาท)
วัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นวัดที่สวยงามอีกวัดหนึ่งในกรุงเทพ ก็ได้ปรากฏบนธนบัตรเป็นครั้งแรกในแบบ 5 ราคา 5 บาท ด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และด้านซ้ายเป็นรูปอุโบสถวัดเบญฯในมุมที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ธนบัตรนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2485 และยังปรากฏอยู่ในธนบัตรแบบ 7 และแบบ 11 อีกด้วย
โลหะปราสาทแห่งสุดท้ายของโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดราชนัดดารามวรวิหาร ก็ได้มีโอกาสอยู่บนธนบัตรด้วยเช่นกัน คือธนบัตรแบบ 15 แบบล่าสุดที่ยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ราคา 500 บาท ด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 และมีโลหะปราสาทอยู่ทางด้านซ้าย นำออกใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2544
และสุดท้ายคือวัดโพธิ์ วัดสำคัญและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอีกวัดหนึ่งของกรุงเทพก็ได้ปรากฏบนธนบัตรด้วยเช่นกัน แต่ปรากฏแค่เพียงซุ้มประตูเท่านั้น ซึ่งอยู่ในธนบัตรแบบ 5 ราคา 10 บาท ด้านหน้าเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และด้านซ้ายเป็นรูปซุ้มประตูด้านหนึ่งของวัดโพธิ์ นำออกใช้เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2485
วัดทั้ง 9 วัดนั้นก็ล้วนแล้วแต่มีความสวยงามและมีความสำคัญในตัวเองทั้งสิ้น แต่การคัดเลือกรูปสถานที่ใดสถานที่หนึ่งขึ้นมาไว้บนธนบัตรนั้นจะต้องดูจากอะไรบ้าง พรทิพย์ ไทยถิ่นงาม ผู้วิเคราะห์แผนกออกแบบและผลิตต้นฉบับ โรงพิมพ์ธนบัตร กล่าวว่า
“เราจะมีการพูดคุยกัน กำหนดแนวเรื่องกันว่าในแบบหนึ่งๆ นั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เช่น ในแบบ 15 เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ก็จะมาดูว่าจะเลือกรัชกาลไหนดี อย่างธนบัตร 500 บาท เราเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 3 เราก็มาดูว่าในรัชกาลของพระองค์มีเรื่องอะไรที่เด่นๆ บ้าง”
“หรืออย่างธนบัตร 500 บาทในรุ่นเก่า (แบบ 14) เป็นรูปรัชกาลที่ 1 คู่กับรัชกาลที่ 2 ซึ่งเรื่องที่เด่นของรัชกาลที่ 1 คือเรื่องสร้างบ้านเมือง สร้างวัดพระแก้ว และเรื่องที่ทั้งสองพระองค์ส่งเสริมอีกประการหนึ่ง คือ งานวรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์” พรทิพย์กล่าว
ในการออกแบบนั้นจะมีนักประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้ค้นเรื่องราวเกี่ยวกับความถูกต้องของภาษา และความถูกต้องของโบราณสถาน จากนั้นฝ่ายออกแบบก็จะออกแบบ และหาภาพจากแหล่งต่างๆ มาประกอบกัน เมื่อกำหนดเนื้อเรื่องของธนบัตรแบบหนึ่งๆ ได้แล้วก็ต้องเสนอผ่านคณะผู้บริหารของธนาคาร เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจึงลงมือทำ
บางคนอาจไม่ได้สังเกตเสียด้วยซ้ำว่าธนบัตรที่ใช้จ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ มีลวดลายเรื่องราวอะไรอยู่บนนั้นบ้าง ซึ่งถ้าดูกันจริงๆ แล้ว ธนบัตรใบหนึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้แก่ผู้ที่ตั้งใจมองอย่างจริงจังได้ดีทีเดียว
คราวนี้ก่อนจะควักธนบัตรออกจากกระเป๋า ก็ลองพิจารณาด้านหน้าด้านหลังของธนบัตรนั้นดูสักนิด แล้วก็จะรู้ว่า มีเรื่องราวมากมายอยู่บนนั้น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ในช่วงที่มีการออกธนบัตรแบบ 4 นั้นเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีการแบ่งพิมพ์ที่ต่างประเทศ โดยได้ว่าจ้างให้บริษัท โทมัส เดอ ลารู เป็นผู้รับพิมพ์ และให้กรมแผนที่ทหารบก รับพิมพ์อีกส่วนหนึ่งด้วย
ภาพธนบัตรจาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th