คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “ไข่มุก” เป็นหนึ่งในผลผลิตล้ำค่าที่เกิดขึ้นบนท้องทะเล
บางคนถึงขนาดยกให้ “ไข่มุก” เป็นหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมาบนพื้นพิภพเลยทีเดียว
ส่วนหลายๆคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมหนอ?!? ไข่มุกลูกกลมดิก สีขาวนวล เป็นมันแวววาวสวยงาม จึงเกิดขึ้นมาได้ในตัวหอยมุกที่นอนจมอยู่ใต้ทะเล
ในอดีต “หอยมุก” ถือว่าเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากใครได้พบเจอหรือมีไว้ในครอบครองก็จะทำให้มีความสุขความเจริญ จะค้าจะขายก็มีความรุ่งเรือง
นอกจากนั้นบางคนยังเชื่อว่าหอยมุกสามารถบำรุงความงาม และชะลอความแก่ได้ เช่นพระนางคลีโอพัตรา ที่เอาไข่มุกมาไส่ไว้ในถ้วยชาแล้วดื่มทุกวัน เพราะเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ จนบางคนเอาไปอำเพื่อนๆว่าชาไข่มุกที่กินกันอยู่ในเมืองไทยนั้นต้นกำเนิดมาจากพระนางคลีโอพัตรา
สำหรับคนในยุคดิจิตอลการที่จะพบไข่มุกในธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องยากพอๆกับการงมเข็มในมหาสมุทร แต่กระนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะด้วยความชาญฉลาดของมนุษย์ก็ทำให้คนเราสามารถผลิตไข่มุกขึ้นมาได้โดยไม่ยากเย็น
ในเมืองไทย แหล่งผลิตหอยมุกที่มีชื่อเสียงจะอยู่ในแถบภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงในเรื่องหอยมุกมาช้านาน โดยเฉพาะฟาร์ม “ภูเก็ต เพิร์ล ฟาร์ม” ของตระกูล “รังสินธุรัตน์” บนเกาะรังใหญ่ ที่มีการเพาะเลี้ยงฟาร์มหอยมุกมาเป็นเวลา 30 กว่าปี ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งที่ทำการเพาะเลี้ยงหอยมุกจำนวนมากแล้ว ฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ให้ความรู้ในเรื่องหอยมุกแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย
พงศภัค พงศ์พัฒนบุตร ผู้บรรยายเรื่องการเพาะเลี้ยงหอยมุกบนเกาะรังใหญ่ เล่าให้ฟังว่า วิธีการสร้างมุกนั้น จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบ 2 อย่างด้วยกัน คือ สารมุก (Nacre) และนิวเคลียส หากเป็นมุกธรรมชาติ นิวเคลียสก็คือเศษทรายหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้าไปในเปลือกหอย แต่หากเป็นมุกเลี้ยง นิวเคลียสที่ใช้ก็อาจเป็นพลาสติก หรือเป็นเศษเปลือกหอยก็ได้ ส่วนสารมุกนั้น เป็นสารที่หอยมุกจะสร้างขึ้นมาได้เอง
“หอยมุกเลี้ยงที่ฟาร์มแห่งนี้มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน เรียกชื่อเป็นภาษาฝรั่งว่า Mabe, Akoya และ South Sea สำหรับสถานที่เลี้ยงหอยมุกเหล่านี้ก็คือแพกลางทะเล บริเวณร่องน้ำลึก เพราะในแถบนั้นจะมีแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารของหอยมุกอยู่จำนวนมาก และหอยมุกแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป” พงศภัคเล่า
Mabe (อ่านว่า มา-เบ) เป็นหอยมุกประเภทแรกที่ พงศภัคแนะนำ หอยมุกประเภทนี้เป็นหอยที่ต้องใช้นิวเคลียสในการสร้างไข่มุกแบบครึ่งซีกเท่านั้น จะใช้แบบวงกลมไม่ได้ เพราะหอยจะคายนิวเคลียสออก วิธีการสร้างไข่มุกก็จะต้องใช้เครื่องมือง้างเปลือกหอยให้อ้ากว้างออก และใส่นิวเคลียสเข้าไป
จากนั้นก็รอเวลาประมาณ 10 เดือน – 1 ปี หอยก็จะสร้างสารมุกมาเคลือบนิวเคลียสนั้นทีละชั้นๆ จนเมื่อครบกำหนดเวลาก็จะเกิดเป็นไข่มุกสวยงามขึ้นมา
แต่เพราะนิวเคลียสที่ใช้นั้นเป็นพลาสติกครึ่งซีก มุกที่ได้ก็จะออกมาเป็นครึ่งซีกเช่นกัน ดังนั้นเมื่อแกะมุกออกมาแล้วก็จะต้องแงะพลาสติกที่ใช้เป็นนิวเคลียสด้านในออก แล้วเอาเรซินใส่เข้าไปแทน จากนั้นก็เอาเศษเปลือกหอยมุกตัวนั้นมาปิดทับ แล้วนำไปขัดให้ดูกลมกลืนอีกที มุกที่ได้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-10 มิลลิเมตร
ส่วนตัวที่สอง หอยมุก Akoya เป็นหอยมุกที่สร้างไข่มุกขนาดเล็กที่สุดในโลก คือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง แต่นิวเคลียสที่ใช้จะไม่เหมือนกับ Mabe ที่ใช้พลาสติกครึ่งซีก แต่จะใช้เป็นเปลือกหอยน้ำจืดที่ส่งตรงมาจากรัฐมิสซิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา นำมาทำให้เป็นทรงกลม แล้วเอาไปใส่ไว้ในเปลือกหอย แต่หอยมุก Akoya จะคายนิวเคลียสออกมาถึง 3 ครั้ง ก่อนจะยอมรับสิ่งแปลกปลอมนั้นไว้ในเปลือกของมัน และสร้างสารมุกออกมาเคลือบ สำหรับมุก Akoya นั้นจะใช้เวลาสร้าง 1 ปีครึ่ง – 2 ปี กว่าจะได้มาแต่ละเม็ด ซึ่งการเพาะเลี้ยงหอยมุกชนิดนี้จะมีมากที่ประเทศญี่ปุ่น และจีน
สุดท้ายคือ หอยมุก South Sea หอยประเภทนี้จะตรงข้ามกับ Akoya คือสามารถสร้างมุกได้เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร เรียกว่ามีขนาดเท่าๆ กับเหรียญบาทเลยทีเดียว หอยมุกประเภทอื่นๆ จะสร้างมุกได้แค่ครั้งเดียว จากนั้นก็นำมากินได้เลย แต่สำหรับหอยมุก South Sea นั้นมีความพิเศษ เพราะมีอายุถึง 15 ปี และสามารถสร้างมุกได้ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกใช้เวลา 5 ปี ครั้งที่สอง 3 ปี และครั้งสุดท้ายใช้เวลา 2 ปีครึ่ง
ในส่วนสีของไข่มุกก็จะขึ้นอยู่กับ “ลิบ” หรือแถบสีของเปลือกหอยมุกตัวนั้น ถ้าหากเอานิวเคลียสไปวางไว้ในช่วงแถบสีขาวก็จะได้ไข่มุกสีขาว หรือหากวางไว้ในช่วงแถบที่ออกสีชมพู ก็จะได้ไข่มุกสีชมพู
บางคนอาจมีข้อสงสัยแบบโลภๆ ว่าถ้าอยากได้ไข่มุกเม็ดโตๆ ก็ใช้นิวเคลียสอันใหญ่ๆ ไปเลยไม่ได้หรือ คำตอบที่พงศภัคตอบมาก็คือ ถ้าหากใช้นิวเคลียสอันใหญ่ สารมุกที่เคลือบก็จะบาง ทำให้ได้มุกที่ดูใสๆ ไม่มีเนื้อมุกเท่าที่ควร หากนำไปส่องกับไฟก็อาจจะมองเห็นนิวเคลียสที่อยู่ภายในเลยก็ได้
สำหรับที่เกาะรังนอกจากจะมีคนคอยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหอยมุกแล้ว เกาะแห่งนี้ก็ยังมีร้านค้าผลิตภัณฑ์จากไข่มุกไว้ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเลือกซื้อ ซึ่งคนที่จะเข้าไปเลือกซื้อส่วนมากมักอยากรู้ไหมว่า มุกแท้ - มุกเทียมนั้นต่างกันอย่างไร?
พงศภัคได้อธิบายว่า การดูมุกแท้หรือมุกเทียมแบบง่ายๆก็คือ การใช้ไข่มุกมาขัดถูกันเบาๆ (ขอย้ำว่าให้ถูเบาๆ มิฉะนั้นไข่มุกจะเกิดริ้วรอยได้) ถ้าหากว่ามีความรู้สึกหยาบๆ สากๆ แสดงว่าเป็นมุกแท้ เพราะความสากนั้นเกิดจากสารมุกที่เคลือบเป็นชั้นๆ นั่นเอง แต่ถ้านำมาถูกันแล้วรู้สึกลื่นๆ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมุกเทียม และเมื่อได้สัมผัสแล้ว มุกแท้จะมีความเย็นมากกว่ามุกเทียม
“เมื่อเลือกมุกซื้อมุกได้แล้ว การเก็บรักษาไข่มุกก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน การเก็บที่ถูกวิธี จะต้องเก็บไข่มุกให้ห่างจากเครื่องสำอาง เช่น สเปรย์ฉีดผม เพราะสารเคมีในเครื่องสำอางนั้นจะทำให้ความมันวาวของไข่มุกลดลง รวมถึงเหงื่อด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อใช้เครื่องประดับจากไข่มุกแล้ว ก็ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าฝ้าย และแยกเก็บไว้ต่างหากจากเครื่องประดับชิ้นอื่นๆ เพื่อป้องกันรอยขูดขีด” พงศภัคอธิบาย
เอาล่ะ...เมื่อรู้วิธีการดูมุกแท้-มุกเทียม และวิธีการเก็บไข่มุกแล้ว ใครที่ชมชอบในไข่มุกก็สามารถหาซื้อไข่มุกกันได้ตามแต่ทุนทรัพย์ในกระเป๋า งานนี้ “ตาดีได้มุกแท้ ตาแย่ได้มุกเทียม”