xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวเมืองโคราช ประตูสู่อีสาน บ้านเกิดฮีโร่โอลิมปิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สู้โว้ย!!!”

เสียงประกาศก้องจากปากน้องอร อุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬายกน้ำหนักจากจังหวัดนครราชสีมาที่สร้างสถิติ เป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของไทยที่สามารถซิวเหรียญทองโอลิมปิกมาคล้องคอได้อย่างสมศักดิ์ศรี เสียงเพลงชาติไทยที่ดังกระหึ่มทำให้คนไทยที่นั่งลุ้นอยู่หน้าจอเกิดอาการขนลุกเกรียวกันเป็นแถบๆ งานนี้น้องอรก็เลยพ่วงตำแหน่งฮีโร่หญิงของเมืองไทยมาครองอีกหนึ่งตำแหน่ง

และไม่เพียงแต่น้องอรเท่านั้นที่เป็นฮีโร่ สุริยา ปราสาทหินพิมาย นักชกสายเลือดย่าโม ก็เป็นอีกหนึ่งฮีโร่ ที่สามารถซิวเหรียญทองแดงมาให้คนโคราชและชาวไทยได้ชื่นชม
 
ช่วงนี้ไปไหนมาไหนก็เลยมีแต่คนพูดถึงแต่น้องอร และสุริยากันทั้งเมือง ซึ่งก็ได้ยินมาว่าชาวโคราชหรือนครราชสีมา เขาเตรียมจัดงานต้อนรับกันยกใหญ่ (แต่จะนำทัพด้วย ทั่น สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หรือไม่นั่น อันนี้ก็ไม่รู้แฮะ)เที่ยวทั่วไทยไปตามคำขวัญครั้งนี้ก็เลยขอเกาะกระแส ตามไปเที่ยวโคราชด้วย ส่วนน้องไก่ ปวีณา ทองสุข ฮีโร่หญิงอีกคนจากจังหวัดสุรินทร์ แดนดินถิ่นเมืองช้าง ก็จะขอยกยอดไปเที่ยวกันคราวต่อไป

นครราชสีมา เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนิน คือ เมือง"โคราช" หรือ "โคราฆะ" กับเมือง "เสมา" ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) โปรดให้สร้างเมืองสำคัญที่อยู่ชายแดนให้มี ป้อมปราการจึงให้ย้ายเมืองที่ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน มาสร้างเมืองที่มีป้อมปราการและคูน้ำล้อมรอบขึ้นใหม่ ในที่ซึ่งอยู่ในปัจจุบัน แล้วเอานามเมืองเสมากับเมืองโคราฆะ มาผูกเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่าเมืองนครราชสีมา แต่คนทั่วไป เรียกว่า เมืองโคราช

“โคราช” นั้น เปรียบได้ว่าเป็นประตูสู่ภาคอีสาน เพราะใครจะไปใครจะมาที่ภาคนี้ ก็ย่อมต้องผ่านเมืองโคราชก่อน ส่วนคำขวัญของจังหวัดนี้ก็คือ “เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน”

เมื่อไปถึงโคราช ก็อย่าลืมไปกราบสักการะอนุสาวรีย์ย่าโม หรือท้าวสุรนารี วีรสตรีหญิงกล้าแห่งเมืองโคราช ที่ท่านได้ประกอบวีรกรรมรวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบกับทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ไม่ให้ยกมาตีกรุงเทพได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมขึ้นเป็นท้าวสุรนารี

จนมาถึงตอนนี้ชาวโคราชก็ยังให้ความเคารพและระลึกถึงคุณความดีของท่าน และได้จัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีขึ้นในระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน เป็นประจำทุกปี

แต่หญิงกล้าแห่งเมืองโคราชนั้นไม่ได้มีแค่ย่าโมเพียงคนเดียว เพราะที่นี่ยังมีอนุสรณ์สถานของนางสาวบุญเหลือผู้พลีชีพเพื่อชาติ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง โดยเมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ด้วยการใช้ดุ้นฟืนติดไฟโยนเข้าใส่กองเกวียนดินดำของกองทัพลาวจนระเบิดเสียหาย และชีวิตของตัวก็ถูกทำลายลงเช่นกัน เป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่งที่ชาวนครราชสีมาให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างสูง

อ้อ... แล้วก็อย่าลืมหญิงกล้า ลูกหลานย่าโมที่ชื่อ น้องอร อีกคนล่ะ เพราะเธอไม่ใช่แค่กล้า แต่ยังแกร่ง และมีน้ำอดน้ำทนฝึกซ้อมอย่างหนัก จนสามารถสร้างชื่อเป็นประวัติศาสตร์ให้จังหวัดบ้านเกิดได้อย่างสวยงาม

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์แล้วก็จะขอเล่าต่อเลยก็แล้วกันว่า โคราชในอดีตนั้น เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนมาถึงสมัยที่วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมขอมได้เข้ามามีอิทธิพลเห็นได้จากสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นจากหินทรายและศิลาแลง ในสมัยปลายพุทธศตวรรษที่16 ตัวปราสาทเป็นรูปแบบศิลปกรรมแบบปาปวน มีลักษณะพิเศษคือ ปราสาทนี้หันไปทางทิศใต้ แทนที่จะหันไปทางทิศตะวันออกเหมือนปราสาทหินที่อื่นๆ สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมรซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้

นอกจากปราสาทหินพิมายแล้ว ที่โคราชก็ยังมีแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีแหล่งที่สองต่อจากบ้านเชียง เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ซึ่งมีอายุถึง 1,500-3,000 ปี มาแล้ว ในหลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชมนั้นได้ขุดพบโครงกระดูก เครื่องประดับ และภาชนะเก่าแก่ต่างๆ ที่ฝังไว้ด้วยกัน ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ และน่าศึกษามากทีเดียว

ใครที่มาถึงที่บ้านปราสาทแล้วต้องการจะพักค้างคืนแบบโฮมสเตย์ก็สามารถทำได้ เพราะที่บ้านปราสาทนี้ถือเป็นโฮมสเตย์ตัวอย่าง ที่หมู่บ้านและจังหวัดอื่นๆ นิยมมาศึกษาดูงานที่นี่เพื่อนำไปปรับใช้กับหมู่บ้านตัวเอง ก็เรียกว่าเป็นโฮมสเตย์ต้นแบบที่ได้มาตรฐานแล้วนั่นเอง

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แล้ว นครราชสีมาก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งก็คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติลำดับที่หนึ่งของประเทศไทย และได้รับสมญานามว่าเป็น “อุทยานมรดกแห่งกลุ่มประเทศอาเซียน” และตอนนี้คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ก็ได้ตอบรับการพิจารณาผืนป่าเขาใหญ่–ดงพญาเย็น จำนวน 4 ล้านไร่ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 2 ของไทยแล้ว

ในอดีต เขาใหญ่เคยเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่ห่างไกล ยากแก่การเข้าถึง ทำให้มีพวกนอกกฎหมายเข้าไปอาศัยอยู่ด้วย เพื่อให้การปราบปรามทำได้ง่ายขึ้น ต่อมาทางการจึงได้ห้ามประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่ในแถบนั้น ทำให้เขาใหญ่กลับคืนมาเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าตามเดิม

บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีเส้นทางเดินป่าสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติอยู่หลายเส้นทาง รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย เช่น น้ำตกกองแก้ว น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก ฯลฯ แต่ใครที่คิดจะไปเขาใหญ่ในช่วงนี้ก็ต้องตรวจสอบรายละเอียดต่างๆให้ดีก่อน เพราะตอนนี้มีฝนฟ้าตกหนักแทบทุกวัน อาจจะเกิดเหตุการณ์ดินถล่มขึ้นเป็นอุปสรรคและเป็นอันตรายต่อการท่องเที่ยวเขาใหญ่ในช่วงนี้

แต่ถึงจะไม่ได้ขึ้นเขาใหญ่ในช่วงนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะที่ท่องเที่ยวอื่นๆก็ยังมีอยู่อีกหลากหลายที่ให้เลือกไปชม เช่นที่ ตำบลด่านเกวียน ในอำเภอโชคชัย ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เป็นแหล่งงานฝีมือประเภทเครื่องปั้นดินเผา เช่น กระถางต้นไม้ แจกัน ฯลฯ เครื่องปั้นดินเผาของที่นี่มีชื่อเสียงมานานแล้ว ด้วยลักษณะเด่นคือ ดินของด่านเกวียนนั้นเมื่อเผาแล้วจะมีสีดำ เนื่องจากดินในแถบนี้เป็นดินดำสัมฤทธิ์ ซึ่งจะมีแร่เหล็กผสมอยู่ เมื่อเผาแล้วก็จะเกิดสีที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ

ไม่ใช่แค่เครื่องปั้นดินเผาเท่านั้นที่เป็นของดีของเมืองโคราช แต่ที่นี่ยังมีผ้าไหมมัดหมี่ และหมี่โคราชที่เป็นของขึ้นชื่อ โดยเฉพาะหมี่โคราชนั้นจะถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการพลิกแพลงการทำอาหารจากแป้งเลยก็ว่าได้ ปกติแล้วชาวโคราชจะทำเส้นหมี่ไว้ผัดกินในงานพิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานแต่งงาน หรืองานบวช รวมทั้งก็ทำไว้กินเองเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อคนต่างถิ่นได้มาลิ้มรสหมี่โคราชเข้าก็ติดใจ ทำให้ชาวโคราชผลิตเส้นหมี่ออกมาขายจนกลายเป็นของฝากยอดฮิตมาจนทุกวันนี้

ส่วนผ้าไหมนั้น แหล่งผลิตจะอยู่ในอำเภอปักธงชัย ซึ่งใครที่ไปที่นั่นแล้วนอกจากจะได้ผ้าไหมผืนสวยติดไม้ติดมือมาแล้ว ก็ยังได้ชมการทอผ้าไหมแบบสดๆ จากชาวบ้านที่นั่นด้วย

เมื่อเลือกซื้อของฝากติดไม้ติดมือกันเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะกลับก็อยากจะชวนให้แวะไปนมัสการหลวงพ่อคูณที่วัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทดกันเสียหน่อยเพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง หรือใครจะให้หลวงพ่อคูณเขกหัวเล่นๆ สักโป๊กสองโป๊กแบบนักการเมืองบางคนก็ได้

ความจริงแล้วที่จังหวัดโคราชนั้นยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย ถ้าจะให้กล่าวถึงทั้งหมดด้วยพื้นที่เพียงเท่านี้ก็คงจะไม่สามารถทำได้ ดังนั้นก็มีอยู่ทางเดียว คือต้องมาให้เห็นด้วยตาตนเองเท่านั้นเด้อ สิบอกไห่

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 1 โทรศัพท์ 0-4421-3666, 0-4421-3030, 0-4421-3667

ตัวอย่างทริปท่องเที่ยวโคราชใน 1 วัน

08.00 น. ชมแหล่งชุมชนโบราณแห่งแรกของโคราช ที่อำเภอสูงเนิน
10.00 น.แวะชมต้นไม้กลายเป็นหินอายุกว่าล้านปี ในอำเภอเมือง
10.45 น. ชมสวนสัตว์นครราชสีมา อำเภอเมือง
13.30 น. ช่วงบ่ายหลังกินอาหารเสร็จชมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อำเภอโชคชัย
15.00 น. ไปดูแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท อำเภอโนนสูง
16.00 น. ชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย
19.30 น. ช่วงหัวค่ำหลังกินอาหารเย็นเสร็จ เดินชมตลาดไนท์บาร์ซาก่อนเข้านอน

รายชื่อ ที่พัก และ ร้านอาหาร ในจังหวัดนครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น