แม้ว่า Sea-Sand-Sun จะเป็นจุดขายของเมืองภูเก็ตแต่ก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นสำหรับการเข้ามา และถ้าในอนาคตภูเก็ตยังคงขายแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบเดิมอีกไม่ปรับยุทธวิธีการทำตลาดนั่นอาจจะไม่ส่งผลดีเท่าไรนัก เพราะด้วยศักยภาพมีเพียงแหล่งท่องเที่ยวอย่างเดียวนั้นคงไม่สามารถจะเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาใช้บริการเหมือนเมื่อครั้งในอดีตต่อไปได้อีกแล้ว
คู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย ต่างพยายามพลิกกลยุทธ์จัดทำอีเว้นท์ต่างๆหวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ และนับว่าได้ผลมากทีเดียวโดยเฉพาะสิ่งหนึ่งที่ภูเก็ตขาดหายไปก็คือ แหล่งช้อปปิ้งแบบครบวงจร
ปัจจุบันเทสโก้โลตัสและบิ๊กซี คือแหล่งช้อปปิ้งทีมีอยู่ในเมืองภูเก็ตและมีโครงการใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ถึง 5 โครงการคือ แมคโคร ,เซ็นทรัล เฟรสติวัล,อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์และจังซีรอน ธุรกิจที่กล่าวมาล้วนเป็นแหล่งช้อปปิ้งสำหรับผู้บริโภคเฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้น
การเกิด ภูเก็ต อินเตอร์เนชั่นแนลไนท์บาซาร์ จึงไม่เป็นเพียงแค่แหล่งช้อปปิ้งของคนภูเก็ตเท่านั้น แต่นั่นหมายถึงส่วนหนึ่งที่เข้ามารองรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองภูเก็ต เพื่อยกฐานะให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกเปรียบเสมือนเป็นห้องรับแขกของประเทศไทย
"ภูเก็ตไนท์บาซาร์ จึงไม่ใช่ตลาดนัด ซึ่งการบริหารการจัดการจะเป็นแบบศูนย์การค้าแนวราบ ภายในพื้นที่จึงต้องแบ่งโซนมากถึง 14 โซน"จินตนา แสงสว่าง แดงเดช กล่าวถึงเหตุผลในการสร้างโครงการนี้ขึ้นมา
ในแต่ละโซนจะมีธุรกิจที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่สิ่งที่น่าจะนำเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้นั้นคงจะเป็นในเรื่องของธุรกิจด้านบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนของห้องพัก (Youth Hostel),ศูนย์รวมอัญมณี (Gold & Jewelry Plaza),สวนสนุก(Adventure Land),ศูนย์แสดงวัฒนธรรมไทย(Show Life),รวมสินค้าทุกมุมโลก(International Night Bazaar),บูทิค โฮเทล(Boutiquc Hotel)
จินตนา เล่าว่าโครงการนี้ได้ทำการศึกษามากว่า 18 เดือน ซึ่งนับว่าใช้เวลาในการศึกษาถึงศักยภาพความพร้อมที่นานที่สุด กอปรประสบการณ์ที่ตนเองเคยเป็นผู้ริเริ่มโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ที่กรุงเทพฯ รวมถึงตัวเลขของเม็ดเงินที่สะพัดในเมืองภูเก็ตกว่า 7.26 หมื่นล้านบาทต่อปี กำลังซื้อมหาศาลจากทุกมุมโลกบนไข่มุกอันดามัน เกาะสวรรค์ที่มีนักท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคนต่อปีเข้ามาการเข้ามา ทำโครงการนี้เป็นเรื่องที่ตนเองมีความมั่นใจ
"การเข้ามาของนักท่องเที่ยวในเมืองภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง แต่ขณะเดียวกันการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวต่อคนนั้นมีน้อย เนื่องจากภูเก็ตเองยังขาดแหล่งช้อปปิ้งที่หลากหลาย ดังนั้นการนำสิ่งต่างๆเข้ามาอยู่ในที่แห่งเดียวกันนั้นจึงเป็นจุดขายหลักของโครงการ"จินตนา กล่าวมั่นใจพร้อมกับเสริมอีกว่า
นอกจากนี้ภูมิภาคใกล้เคียงมีรัศมีการเดินทางทั้งทางบิก น้ำ อากาศ ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือจังหวัดใกล้เคียง
ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโครงการนี้จะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี และเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จจึงได้ดึง บัณฑิต ฉันทศักดา ตัวผู้ที่เคยร่วมกันพัฒนาสวนลุมไนท์บาซาร์เข้ามาร่วมงานด้วย นอกจากนี้ยังนำผลงานของ อาจารย์ ชรวย ณ สุนทร เจ้าของบ้าน 100 อัน 1,000 อย่าง แกะสลักไม้ขนาดเล็กที่มีอยู่หนึ่งเดียวในโลกเข้ามาเป็นจุดขายของโซน Show Pavilion ด้วย
"ความแปลกใหม่ของศิลปะและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจะเป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่หาได้ในโครงการนี้"จินตนา กล่าว
ในอนาคตอันใกล้นี้ถนนบายพาสเมืองภูเก็ตจะเป็นศูนย์รวมของแหล่งช้อปปิ้งที่มีให้เลือกทั้งสินค้าและบริการมากที่สุดก็ว่าได้ ขณะที่การนำเสนอของผู้ประกอบการแต่ละแห่งต่างก็มีรูปแบบที่คล้ายกัน ดังนั้นการสนองตอบของผู้ใช้บริการคือปัจจัยหลักที่กลุ่มผู้ประกอบการต่างก็ต้องหวนกลับมานั่งคิดว่าจะใช้ยุทธวิธีอะไรเพื่อดึงกลุ่มลูกค้าให้เข้าใช้บริการได้มากที่สุด
ธุรกิจมีฟังก์ชั่นที่มากกว่าใช่ว่าจะเป็นผู้นำ หากการบริหารการจัดการไม่ดีพอ ขณะเดียวกันธุรกิจมีตัวเลือกน้อยกว่าใช่ว่าจะเป็นผลดีเสียเมื่อไร เพราะตราบใดที่การแข่งขันยังคงใช้กลยุทธ์เพื่อช่วงชิงความเป็นจ้าวตลาดอยู่ การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานตัวโปรดักส์จึงต้องถูกหยิบนำมาใช้อยู่ตลอดเช่นกัน
..........................................................
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
กว่าจะมาเป็น ภูเก็ตไนท์บาซาร์
เหลือเวลาอีกเพียง 18 เดือนเท่านั้น ปลายปี 2548 เราก็จะเห็นโครงการภูเก็ตอินเตอร์เนชั่นแนล ไนท์บาซาร์ มีพื้นที่ 170 ไร่ โดยมีขนาดแหล่งน้ำถึง 60 ไร่ แบ่งพื้นที่ขายรวมถึง 300,000 ตารางเมตร เป็นศูนย์แสดงสินค้าขายปลีกและส่ง แบ่งเป็นโซนที่มีถึง 14 ศูนย์การค้า ครอบคลุมสินค้าจากนานาชาติมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เป็นหนึ่งในโครงการเมืองเจ้าฟ้า (1,500 ไร่) บนถนนเจ้าฟ้านอก(บายพาส) นับว่าเป็นศูนย์การค้าที่เชื่อมต่อทั้งเมืองภูเก็ตและนักท่องเที่ยวจากทุกหาด
แนวคิดในการจัดตั้งโครงการแบ่งเป็นโซน 14 โซน ดังนี้
1.Entertainment Complex ศูนย์รวมความบันเทิงต่างๆโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง ฯลฯ
2.Education Mall ศูนย์รวมสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงกว่า 30 แห่ง เช่น สถาบันกวดวิชา
3.Electronic Square ศูนย์รวมเครื่องเสียง ไฮไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า
4.Outlet Mall ศูนย์การค้าที่รวบรวมสินค้ามียี่ห้อจากทั่วโลก
5.Health &Beauty Center ศูนย์สุขภาพและคลินิคความงาม
6.Boutiquc Hotel บูทิค โฮเทล ริมทะเลสาบ
7.International Night Bazaar มีพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร
8.Food Pavilion ศูนย์อาหาร
9.Night Life ศูนย์รวมชีวิตยามค่ำคืน ผับ คาราโอเกะ บาร์ โรงเบียร์ และ Sport Bar
10.Show Pavilion ศูนย์แสดงวัฒนธรรมไทยและศิลปะร่วมสมัย
11.Health Supermarket แหล่งรวมอาหารสดเปิดบริการ 24 ชั่วโมง
12.Adventure Land สวนสนุก รวมเครื่องเล่นต่างๆ
13.Gold & Jewelry Plaza ศูนย์รวมอัญมณี ทองคำ และเครื่องประดับล้ำค่า
14.Youth Hostel บ้านพักนานาชาติ จำนวนกว่า 2,000 ยูนิต
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อมูลในการสนับสนุนโครงการมาจาก
1.กำลังซื้อจากนักท่องเที่ย 72,000 ล้านบาท/ปี จากคนท้องถิ่น 28,000 ล้านบาท/ปี รวม 100,000 ล้านบาท
2.จากสถิติปี 2544 คนภูเก็ตมีเงินฝากเฉลี่ยต่อคน 134,724 บาท/ปี คิดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 27,002 บาท/ครอบครัว/เดือน มีสถิติการใช้เงินประมาณ 87.2% ซึ่งมากกวากรุงเทพฯ และนนทบุรีที่มีการใช้เงินเพียง 76-77% ที่เหลือเป็นเงินออม แสดงให้เห็นว่าชาวภูเก็ตมีศักยภาพและกำลังซื้อสูง
3.จำนวนสถานประกอบการโรงแรมของจังหวัดภูเก็ตมีถึง 549 โรง ซึ่งมากกว่ากรุงเทพฯ 2 เท่า และมีห้องพักประมาณ 31,302 ห้อง ซึ่งมากกว่าเชียงใหม่ถึง 2 เท่า
4.นักท่องเที่ยวบินมาเที่ยวประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน มาเที่ยวภูเก็ต 4 ล้านคน ซึ่งจะเป็นบินตรง(Direct Fight) 1 ล้านคน มีจำนวนมากกว่า เชียงใหม่ถึง 6 เท่าตัว