เคยสังเกตไหม…ทำไมในวัดส่วนมากจะมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ให้เรากราบไหว้หรือบนบานขอเลขเด็ดกันอยู่เกือบทุกวัด และโดยส่วนมากก็มักจะเป็นต้นโพธิ์ หรือต้นไทร หลายคนอาจจะมีคำตอบให้กับตนเองว่าก็เพราะต้นไม้เหล่านี้มีรุกขเทวดาหรือวิญญาณสถิตย์อยู่
ความเชื่อในเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ในเฉพาะบ้านเราเท่านั้น ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่า….
ตัวอย่างคือ คนพม่าในสมัยโบราณก่อนที่จะรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามายอมรับนับถือนั้นก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติเหมือนกันกับชนพื้นเมืองของอุษาคเนย์กลุ่มอื่นๆ โดยพม่ามีความเชื่อใน “นัต” หรือ “แนต” ซึ่งแบ่งออกได้หลากหลายประเภท โดยคนพม่าหรือพยูนั้นมีวิญญาณแนตให้นับถือทั้งแนตเทวดา และแนตบรรพบุรุษถึง 37 ประเภททีเดียว
เรียกได้ว่ามีผีให้นับถือมากมายไม่แพ้ชนชาติกลุ่มใดๆ ในอุษาคเนย์
วิญญาณศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้สถิตย์อยู่ในธรรมชาติรอบๆ ตัวเราในต้นไม้และภูเขา โดยเฉพาะต้นไม้นั้นมีความเชื่อว่าแต่ละต้นจะมีนัตคอยปกปักรักษาอยู่ ดังนั้นคนอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โบราณ จึงมีความเคารพต่อธรรมชาติมาก การตัดต้นไม้ต้นหนึ่งหรือการทำสิ่งใดก็ตามที่กระทบกับต้นไม้ จะมีการสักการะขอขมาก่อนกระทำการนั้นเสมอ
ในอดีตสมัยก่อนที่คนในดินแดนแถบนี้จะรู้จักการผลิตปูนซีเมนต์แบบสมัยปัจจุบัน วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสถานที่สำคัญๆ ทางศาสนาส่วนมากนั้นมักจะเป็นไม้ เมื่อมีการตัดไม้เอามาทำบ้าน ไม้จึงเปลี่ยนหน้าที่จากที่อยู่ของวิญญาณตามธรรมชาติกลายมาเป็นดั่งตัวเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณ ความเชื่อนี้จะสามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว
ลองทบทวนความทรงจำ พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ณ ที่แห่งใด?
ฉากของเรื่องราวในพุทธประวัติเกือบทั้งหมดนั้นเป็นป่าทั้งหมดใช่หรือไม่?
นักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมอย่างอาจารย์ ดร.โชติมา จตุรวงศ์ ได้ชี้ถึงความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนากับต้นไม้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาได้ยอมรับนับถือความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณในต้นไม้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาด้วย โดยทำให้ผีนัตกลายเป็น “ยุกขโซ” หรือ “รุกขเทวดา” ไปในกรณีของพม่า และทำนองเดียวกัน ต้นไม้ยังไปสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องนาคด้วย
ชาวพุทธคงจำได้ดีถึงเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติตอนหนึ่งซึ่งว่าด้วยเรื่องพญานาคชื่อมุจลินทร์ ได้เลื้อยออกมาแผ่พังพาน (แม่เบี้ย) กำบังฝนถวายพระพุทธองค์ขณะทรงบำเพ็ญสมาธิอยู่ใต้ร่มไม้ หากกลับมาดูข้อมูลที่ว่าในสมัยอินเดียโบราณเรียกเทพที่ปกปักรักษาต้นไม้โดยเฉพาะต้นโพธิ์ว่า “พญานาค” คำตอบเรื่องเค้าลางความเชื่อต่างๆ ของแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์โบราณจึงเริ่มกระจ่างชัดขึ้นในแบบสัมพันธ์และเกี่ยวโยง
สิ่งที่น่าสนใจคือ เราสามารถแบ่งผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ได้เป็นสองส่วน คือส่วนที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูและส่วนที่รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ บริเวณดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ (พม่า สยาม อินโดจีนบางส่วน) รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ และบริเวณทะเลสาบเขมร ดินแดนของจาม (กัมพูชาและเวียดนามภาคใต้) รับอิทธิพลของศาสนาฮินดู สองดินแดนนี้ก็ต่างมีความเชื่อในเรื่อง “นาค” มาก่อนที่จะรับเอาศาสนาพุทธและฮินดูเข้ามาคล้ายๆ กับที่อินเดียมีความเชื่อเรื่องพญานาคผู้รักษาต้นไม้ เพียงแต่อินเดียเป็นจุดกำเนิดศาสนาพุทธกับฮินดูแล้วส่งต่อให้กับแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นำความเชื่อสองศาสนานี้มาผสมผสานรวมกันได้ในที่สุดในสมัยหลังๆ
ต้นไม้มีสถานะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นสัก ซึ่งยอมรับกันตั้งแต่อดีตกาลว่า เป็นไม้เนื้อดีเหมาะแก่การนำมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งต่างๆ ด้วยคุณสมบัติคงทน สวยงาม ทนน้ำเค็ม และเมื่อโดนยิงจะไม่แตกสลาย ไม้สักจึงถูกเลือกมาสร้างวัด วัง จนถึงเรือรบในสมัยโบราณ
ดังนั้นตั้งแต่การตัดไม้ การนำไม้มาลงหลักปักเสาเรือนหรือสร้างวิหาร เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าของควรต้องคำนึงถึงพื้นที่และโอกาสเป็นอย่างยิ่ง (Space&Time) เพราะเป็นเสมือนกับการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์ชั้นฟ้าผ่านไม้สักนั่นเอง
การสร้างวิหารก็เปรียบได้ดั่งการปลูกต้นไม้ เพราะก่อนการสร้างจะมีการปรับหน้าดินให้เรียบ มีการไถคราด ปักเสา 6 ต้น ซึ่งมีชื่อเป็นมงคลเกี่ยวกับต้นไม้อยู่ 2 ต้น คือเสาที่ชื่อว่า ตะเบีย (ต้นชมพู) เยาน์ยาน (ต้นโพธิ์) และวิศวกรสมัยนั้นยังได้นำผู้ที่เป็นเจ้าของการก่อสร้างมาวัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย อย่าเข้าใจผิด… มิได้วัดเอาไปประกวดเทพีหรือชายงามฉลองการก่อสร้าง แต่ช่างเขาจะนำมาตราส่วนต่างๆ นี้ไปคำนวณสร้างพื้นที่ใช้สอยของวิหารต่างหาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกษัตริย์พม่า ซึ่งรับความเชื่อนี้เอาไปใช้มากในการก่อสร้างปราสาทราชมณเฑียร เช่น วิหารชเวนานดอร์ และวิหารชเวอินปิน ในเมืองมัณฑเลย์ ตัววิหารประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ผนังประดับประดาด้วยตุ๊กตา หลังคาจะพบการแกะสลักรูปนัต มีการสลักไม้ลวดลายวิจิตรงดงามตลอดตัวอาคาร แต่ละส่วนของวิหารยังมีการแทนด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ คือใต้ถุนที่ไม่ได้ใช้งานจะเป็นเสมือนกับโลกใต้บาดาล และที่เสาวิหารส่วนนั้นจะมีการแกะสลักรูปพญานาคประจำแต่ละต้น ขณะที่ตัวเรือนซึ่งใช้เป็นที่ศึกษาธรรมะและทำกิจกรรมทางศาสนาของนักบวชก็เปรียบเป็นโลกมนุษย์ ซึ่งโดนเชื่อมต่อกับโลกเหนือขึ้นไปด้วยอาคารไม้ที่มีหลังคาสูงชะลูดดั่งจะพุ่งไปสู่สรวงสวรรค์ ทั้งหมดล้วนเป็นความเชื่อของวิหารที่ทำด้วย “ไม้” ซึ่งมาจาก “ต้นไม้” ที่เชื่อมโลกทั้งสามเอาไว้ด้วยกันนั่นเอง
เรียกว่ากษัตริย์ขอมนิยมชมชอบการสร้างปราสาทหินมากเท่าใด กษัตริย์พม่าก็ชอบใจที่จะสร้างวัดและวังด้วยไม้สักตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารมากไม่แพ้กันเท่านั้น ต่างแต่เพียงฝ่ายหนึ่งคร่ำหวอดกับงานไม้จนเชี่ยวชาญ ขณะที่อีกฝ่ายก็สลักหินจนชำนาญนั่นเอง
ความหมายของต้นไม้บนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเคลื่อนไหวและส่งต่อกันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยแรกที่มีสถานะเป็นที่อยู่ของวิญญาณผู้ปกปักรักษา แล้วเปลี่ยนมาเป็นการเชื่อมโยงโลกปกติกับโลกเหนือธรรมชาติผ่านการก่อสร้างวิหาร บ้าน วัด วัง จนในที่สุดกลายมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
เวลาเราไปเที่ยววัดในแถบภาคเหนือไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ หรือลำปาง หากวิหารของวัดไหนที่สร้างด้วยไม้มักจะมีคติเช่นเดียวกับชาวพม่าแฝงฝังอยู่ด้วย ลักษณะที่โดดเด่นคือ ตัวอาคารจะเป็นหลังคาซ้อนกัน เรียกว่า "อาคารทรงยวน" เชื่อมต่อด้วยหลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลายฉลุ แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรบรรจงและฝีมือของช่างสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
“ว่าที่วัดพม่า” ที่กระจายอยู่ตามจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลำปาง มีว่าที่วัดพม่าอยู่ถึง 4 วัดทีเดียว คือ วัดท่ามะโอ วัดศรีชุม วัดป่าฝาง และวัดไชยมงคล ขณะที่เชียงใหม่ก็มี วัดอุปคุต เป็นว่าที่วัดพม่า
วัดเหล่านี้ที่เรียกว่าว่าที่วัดพม่า ก็เพราะมีศิลปะคล้ายคลึงกับวัดของพม่า ถูกสร้างโดยคนหลากหลายเชื้อชาติในพม่า (มอญ ตองสู้ ไทใหญ่) ที่เดินทางเข้ามาค้าไม้สักในสยาม หากใครมีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดดังกล่าว ลองสังเกตลักษณะของการจัดวางแผนผังของกลุ่มวิหารที่มีการยกเสาสูงจากพื้น การมีหลังคาหลายหลังต่อหนึ่งพื้นที่ใช้สอย หลังคาทรงยวนและลวดลายช่องลมซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับวัดในเมืองมะละแหม่งของพม่า
ว่ากันว่าพ่อค้าไม้ในพม่าและล้านนาแทบทุกคนจะสร้างและบูรณะวิหาร หรือวัดอย่างน้อยหนึ่งแห่ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณผู้อารักษ์ไม้สักต้นที่ถูกโค่นล้มลงไปจากการค้าไม้ของตน น่าเสียดายที่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวได้กลืนหายไปกับกาลเวลา เพราะชาวอุษาคเนย์เล่นตัดต้นไม้และสร้างเขื่อนหลายแห่งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแบบไม่เกรงใจ “ยุกขโซ” อีกต่อไป คงเหลือเพียงร่องรอยของความเชื่อที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมเท่านั้นเอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ที่มา เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง “ต้นไม้กับวิหารวัดพม่าในพม่าตอนบนและล้านนาไทย” โดย ดร.ชุติมา จตุรวงศ์. 9 ส.ค. 47