“...ถึงเดือนแปดแดดดับพยับฝน
ฤดูดลพระพรรษาเข้ามาขวาง
จวนจะบวชเป็นพระสละนาง
อยู่เหินห่างเห็นกันเมื่อวันบุญฯ...”
“นิราศเดือน : นายมี”
อีกไม่กี่วันก็จะถึงช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา 2 วันสำคัญทางพุทธศาสนา
โดยวันอาสาฬหบูชา ถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบทั้งสามประการ ซึ่งในครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนาที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีนี้ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม 47
ส่วนวันเข้าพรรษาจะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ปีนี้ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม) สำหรับวันเข้าพรรษาเกิดขึ้น เนื่องจากในสมัยพุทธกาลในช่วงฤดูฝนเป็นฤดูเพาะปลูก การเดินทางของพระภิกษุสงฆ์ในฤดูนี้อาจจะไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านทำให้เกิดความเสียหาย
พระพุทธเจ้าจึงได้วางระเบียบไว้ว่าในวันเข้าพรรษาให้พระภิกษุสงฆ์เข้าอยู่ประจำที่วัดเป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ซึ่งนอกจากพระภิกษุสงฆ์จะไม่ไปเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย
ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องของบรรพชิต ส่วนฆราวาสชาวพุทธ ก็จะมีการทำบุญตักบาตร เข้าวัด ไหว้พระ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทั้งในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา นอกจากนี้ตามจังหวัดต่างๆในเมืองไทยต่างก็มีประเพณีเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อของทองถิ่นนั้นๆ
อย่างกับที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ก็นับเป็นอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทยที่มีประเพณีในวันเข้าพรรษที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” ซึ่งชาวเมืองพระพุทธบาทได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ตำนานประเพณีตักบาตรรดอกไม้
สำหรับตำนานของประเพณีตักบาตรดอกไม้ ได้มีการเล่าสืบต่อกันว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ปกครองกรุงราชคฤห์ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก โดยทุกๆวันพระองค์จะต้องให้นายมาลาการนำดอกมะลิสดมาถวายจำนวน 8 กำมือ
มาวันหนึ่งขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิอยู่ในสวน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งเสด็จบิณฑบาตผ่านมา นายมาลาการเป็นประกายฉายรอบๆพระวรกายพระพุทธเจ้าเกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา จึงนำดอกมะลิ 8 กำมือไปถวายโดยไม่เกรงพระอาญาที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากพระเจ้าพิมพิสาร
ทั้งนี้นายมาลาการได้ตั้งจิตอธิษฐานขณะที่นำดอกมะลิถวายพระพุทธเจ้าว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระราชมอบให้ประจำนั้นเป็นเพียงการเลี้ยงชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ไปบูชาองค์พระศาสดานั้นนับเป็นประโยชน์สุขที่ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า ถ้าจะถูกประหารชีวิตเพราะไม่นำดอกมะลิไปถวายแด่พระราชาตนก็ยอม
ความเมื่อรู้ถึงภรรยาของนายมาลาก็เกิดการกริ่งเกรงว่าจะโดนโทษประหารไปด้วยเพราะสามีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ภรรยานายมาลาจึงหนีออกจากบ้านไป
แต่ว่าเหตุการณ์กับไม่เป็นไปตามนั้น เพราะเมื่อความรู้ถึงพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์กลับพอพระทัยเป็นอย่างมาก พร้อมๆกับได้บำเหน็จรางวัลความดีความชอบ เป็นสิ่งของจำนวนมากให้แก่นายมาลา ทำให้นายมาลามีความสุขสบายไปตลอดชีวิต
สำหรับตำนานเรื่องนี้ชาวอำเภอพระพุทธบาทได้โยงตำนานจัดเป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้ขึ้น และก็จัดเป็นประเพณีสำคัญสืบต่อกันมาทุกๆปี
รู้จักดอกเข้าพรรษา
ความพิเศษโดดเด่นที่ไม่เหมือนใครในประเพณีดอกไม้ก็คือ ในวันเข้าพรรษาชาวอำเภอพระพุทธบาทจะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งทำบุญใส่บาตรให้พระภิกษุสงฆ์ สำหรับดอกไม้ชนิดนั้นก็คือ “ดอกเข้าพรรษา” ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีต้นคล้ายๆต้นกระชาย หรือ ขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบเศษ
ดอกเข้าพรรษานิยมขึ้นตามป่าเขา มีลำต้นเป็นกอ หัว หรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ตัวดอกมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อบนส่วนยอด มีหลากหลายสี เช่น สีขาว เหลือง เหลืองแซมม่วง
เมื่อชาวบ้านเก็บดอกเข้าพรรษามาแล้วก็จะนำมามัดรวมกับธูป เทียน แล้วมาตั้งแถวรอพระสงฆ์อยู่ 2 ข้างถนนตั้งแต่วงเวียนถนนสายคู่ไปจนถึงประตูมณฑปพระพุทธบาท ครั้นถึงเวลาที่เป็นมงคล พระภิกษุสงฆ์ก็จะออกบิณฑบาต พร้อมๆกับขบวนแห่อันคึกครื้น
เมื่อขบวนพระภิกษุเดินทางถึงจุดใส่บาตรชาวบ้านที่ตั้งแต่รอก็จะอธิษฐานแล้วนำดอกเข้าพรรษา ธูป เทียน ดอกบัว ใส่ลงไปในบาตร โดยพระภิกษุสงฆ์ก็จะเดินไปเรื่อยๆ ตามถนนสายต่างๆ ก่อนจะเวียนกลับมายังบันไดนาค หลังจากนั้นก็จะนำดอกไม้เข้าไปในมณฑปพระพุทธบาท เพื่อให้เป็นเครื่องสักการะวันทา “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งในระหว่างพระสงฆ์เดินเข้ามณฑปชาวบ้านก็จะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นการชำระจิตใจของตน และชำระล้างบาปไปในตัว
จากนั้นก็จะนำเอาดอกไม้มาวันทาพระเจดีย์ “จุฬามณี” ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และก็จะนำไปสักการะพระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่ชาวพุทธถือกันว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วพระภิกษุสงฆ์ก็จะเดินเข้าไปในอุโบสถเพื่อสวดอธิษฐานเข้าพรรษา และเปล่งวาจาว่าจะอยู่ในอาณาเขตที่จำกัดในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
สำหรับประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในอดีตจะจัดกันเฉพาะในวันเข้าพรรษา แต่นับจากปีพ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ทางจังหวัดสระบุรีก็ได้จัดกิจกรรมตักบาตรรดอกไม้จาก 1 วัน ในวันเข้าพรรษาเป็น 3 วัน โดยมีพิธีตักบาตรดอกไม้วันละ 2 รอบ คือรอบเช้า 10.00 น. รอบบ่าย 15.00 น. เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งก็ทำให้ประเพณีตักบาตรดอกไม้ถูกทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท.)บรรจุให้เป็นหนึ่งโครงการ อันซีนไทยแลนด์ 2 ประเภทมุมมองใหม่ วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม ที่ก็ต้องคอยตามดูกันต่อไปว่าการนำประเพณีอันดีงามไปเป็นจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวนั้นจะทำให้ประเพณีผิดเพี้ยนไปมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมานับแต่ปี 2544 ก็มีหลายๆคนบ่นกันว่าประเพณีตักบาตรดอกไม้นับวันมีแต่จะเปลี่ยนไปมากขึ้นเรื่อยๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สำหรับประเพณีตักบาตรรดอกไม้ปีนี้ทางจังหวัดสระบุรีร่วมกับททท. จัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 30 ก.ค. – 1 ส.ค.โดยในงานนอกจากการตักบาตรดอกไม้แล้ว ก็ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ พิธีบวงสรวงดวงวิญญาณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขบวนรถบุปผาชาติ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานททท.ภาคกลางเขต 6 โทร. 0-3524-6076
วัดพระพุทธบาทตั้งอยู่ที่ ต. ขุนโขลน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร จากตัวจังหวัดสระบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 มีทางเลี้ยวซ้ายก่อนถึงอำเภอพระพุทธบาทเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงยังวัดพระพุทธบาทฯ
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจใน จ.สระบุรี