ถ้าพูดถึงแหล่งปลูกทุเรียน คุณจะนึกถึงที่ไหนเป็นแห่งแรก เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะนึกถึงจังหวัดจันทบุรี หรือไม่ก็ระยองขึ้นมาโดยอัตโนมัติ แต่ทราบไหมว่าทุเรียนรสดี ชื่อดัง ไม่ได้มีอยู่แค่ที่ภาคตะวันออกเพียงที่เดียว ถ้าเราจะบอกว่าทุเรียนพันธุ์ดีนั้นมีอยู่ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ คุณจะเชื่อหรือไม่ แต่ที่นี่มีทุเรียนพันธุ์ดีที่มีชื่อไม่คุ้นหูอยู่จริง นั่นก็คือพันธุ์หลงลับแล – หลินลับแล ทุเรียนที่ชาวลับแลเขาภูมิใจเสนอ
จากคำกล่าวที่ว่า “ข้าวจะสุกจากเหนือมาใต้ ผลไม้จะสุกจากใต้มาเหนือ” ทำให้ที่จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกได้ว่าเป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศที่จะมีทุเรียนไว้ให้กิน ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์มีการปลูกทุเรียนกันมากว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง แต่ได้มีการผสมข้ามพันธุ์กันไปมา เมื่อได้พันธุ์ดีก็ขยายพันธุ์ออกไปเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณต้นทุเรียนแล้วก็ยังเป็นการให้กำเนิดทุเรียนพันธุ์ดีของเมืองลับแลอีกด้วย นั่นก็คือทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล นั่นเอง
สำหรับทุเรียนหลงลับแล ซึ่งได้ชื่อพันธุ์มาจากเจ้าของต้น คือ นางหลง อุประ ชาวสวนทุเรียนในอำเภอลับแล เป็นทุเรียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดทุเรียนของกรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี 2520 และได้รับการรับรองพันธุ์ในปี 2521 จากนั้นก็ได้นำยอดทุเรียนหลงลับแลจากต้นเดิมมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอด ทาบกิ่ง และขยายพันธุ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะของผลทุเรียนหลงลับแลนั้น จะมีลักษณะเป็นทรงกลมรี ร่องพูไม่ลึก มองดูกลมไปทั้งผล ขนาดผลไม่ใหญ่มาก ถ้าใครที่ชอบกินทุเรียนมากๆ ก็สามารถกินได้คนเดียวทั้งลูกแบบอิ่มพอดีๆ ส่วนรสชาติไม่ต้องพูดถึง ถูกใจคอทุเรียนดีนักแล เพราะมีรสชาติหวานมัน เนื้อเหนียวละเอียด กลิ่นไม่แรง และเมล็ดเล็กลีบ
ส่วนทุเรียนหลินลับแล ซึ่ง นายหลิน ปันลาด ได้นำเมล็ดทุเรียนมาปลูกและเกิดการกลายพันธุ์ แต่ทุเรียนกลับมีรสชาติดีกว่าเดิม เจ้าของต้นได้ส่งทุเรียนพันธุ์นี้เข้าร่วมประกวดเมื่อปี 2520 ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ได้รางวัล แต่ด้วยความอร่อยก็ทำให้มีนักบริโภคทุเรียนนิยมทุเรียนพันธุ์นี้ไม่น้อย ทุเรียนหลินลับแล จะมีลักษณะต่างจากหลงลับแลตรงที่ผลของมันจะแบ่งเป็นพูเห็นได้ชัด มีร่องพูลึก ส่วนขนาดนั้นก็จะเท่าๆ กับพันธุ์หลงลับแล คือไม่ใหญ่มาก และรสชาตินั้นก็ยังอร่อยหวานมันสูสีกันอีกด้วย
ที่อำเภอลับแลแห่งนี้มีการปลูกทุเรียนกันกว่า 98 % เรียกว่าแทบทุกบ้านจะมีต้นทุเรียนอยู่ในบริเวณ ปลูกกันมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ซึ่งสวนทุเรียนเหล่านี้ได้เปิดเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้เดินชมสวนเกษตรธรรมชาติกันอีกด้วย โดยสวนของแต่ละบ้านจะไม่มีการล้อมรั้ว อาจมีการปลูกไม้พุ่มไว้ให้พอรู้ถึงอาณาเขต ดังนั้นสวนทุกสวนของแต่ละบ้านก็จะต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ถ้าคนที่ไม่รู้เข้าไปเดินในสวนละก็อาจหาทางออกไม่เจอ หลงอยู่ในสวนทุเรียนไปตลอดชีวิตก็ได้
ที่สวนแห่งนี้ หากใครไปเยือนก็จะได้เห็นถึงวิธีการทาบกิ่งทุเรียนอย่างใกล้ชิด คือเป็นการเอากิ่งเล็กๆ ของทุเรียนพันธุ์ดีอื่นๆ ไปมัดทาบไว้กับตอของต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง สำหรับคนไม่มีความรู้ทางการเกษตร มองดูแล้วก็คิดว่าการนำกิ่งเล็กๆ ไปทาบไว้อย่างนี้ ไม่น่าจะทำให้ต้นทุเรียนเติบโตขึ้นได้เลย แต่ก็ด้วยวิธีนี้แหละถือเป็นการขยายพันธุ์ที่ได้ผล ซึ่งก็ทำให้ได้ทุเรียนกินกันมาแต่ไหนแต่ไร
สำหรับพื้นที่ในอำเภอลับแลนั้นมีส่วนหนึ่งเป็นภูเขา ดังนั้นนอกจากการปลูกทุเรียนกันบนที่ราบบริเวณบ้านแล้ว ชาวสวนก็ยังปลูกทุเรียนกันบนภูเขา ซึ่งต้นทุเรียนที่ปลูกบนภูเขาก็มีอยู่มากมายไม่แพ้บนที่ราบ แต่ด้วยความที่มาทำการเกษตรอยู่บนเขาสูง ทำให้มีความยากลำบากในการขนส่งผลผลิตจากเขาลูกหนึ่งมาสู่อีกลูกหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ชาวสวนจึงใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน คิดค้นวิธีที่จะย่นระยะทางและระยะเวลาในการขนส่งทุเรียนข้ามภูเขา ด้วยการโยงลวดสลิงข้ามเขาและใช้วิธีชักรอกตะกร้าบรรทุกทุเรียนจากเขาหนึ่งข้ามมาอีกเขาหนึ่งได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และเมื่อเก็บผลทุเรียนได้จำนวนหนึ่งแล้ว ชาวสวนก็จะใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะในการขนทุเรียนลงจากเขาอีกทีหนึ่ง ใครที่เมื่อไปเห็นความชันของภูเขาและสภาพถนนแล้ว ก็คงต้องยกนิ้วให้กับความสามารถของเหล่ามอเตอร์ไซค์บรรทุกทุเรียนทุกคัน ที่เรียกได้ว่าน่าทึ่งมากๆ
หลังจากที่เก็บทุเรียนมาได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการขาย ราคาของทุเรียนหลงลับแล – หลินลับแลนี้ ปกติจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 30 บาท แต่ผลผลิตของทุเรียนนั้นจะดี / ไม่ดี สลับกันไปปีเว้นปี เช่น ถ้าปีนี้ให้ผลผลิตดี ปีหน้าผลผลิตก็จะลดลง และปีถัดไปก็ให้ผลผลิตมาก เป็นต้น แต่ในปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่แล้งจัด ทุเรียนให้ผลผลิตน้อย ดังนั้น ราคาของทุเรียนในปีนี้จึงพุ่งขึ้นไปถึง กิโลกรัมละ 70 - 80 บาทเลยทีเดียว
มาลองคิดๆ ดูแล้ว ถ้าบ้านหลังหนึ่งปลูกทุเรียนไว้สัก 100 ต้น ทุเรียนต้นหนึ่งถ้าออกผลจัดๆ ก็จะได้ประมาณ 300 ลูก 1 ลูกก็จะมีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม คิดแล้วก็เป็นเงิน .... ไม่บอกดีกว่า ให้คุณลองไปคิดกันเอง แต่บอกได้เลยว่าอิจฉาชาวสวนทุเรียนเมืองลับแลจริงๆ
ทุเรียนของเมืองลับแลนี้ถึงแม้ว่าชื่ออาจจะไม่คุ้นหูคนไทย แต่โปรดทราบว่าทุเรียนของที่นี่โกอินเตอร์ไปแล้ว เพราะเขาส่งทุเรียนออกนอกด้วย ซึ่งตลาดก็มีทั้งในประเทศแถบเอเชีย และไปไกลถึงอเมริกา และยุโรปเลยทีเดียว แต่ตลาดใหญ่ก็คือ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน
พูดถึงทุเรียนมาเยอะแล้วจนบางคนอาจเข้าใจผิดว่า ที่จังหวัดอุตรดิตถ์จะมีดีเพียงแค่ทุเรียนเท่านั้น ถ้าคิดเช่นนั้นก็นับว่าผิดอย่างยิ่ง เพราะที่นี่ยังมีผลไม้ชั้นดีอีกมากมายหลายชนิด เช่น ลางสาด ลองกอง ลางกอง (เป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างลางสาดกับลองกอง และให้ผลที่มีรสชาติดีกว่าเดิม) มังคุด สัปปะรด มะขาม มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ เรียกว่ามีผลไม้ให้กินกันตลอดปี มีมากซะจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้เลยทีเดียว นอกจากนั้นก็ยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น กระเทียม หอมแดง เป็นต้น
เร็วๆ นี้ทางจังหวัดอุตรดิตถ์เองก็กำลังจะจัดงาน “มหัศจรรย์ทุเรียนหลง – หลินลับแล” ในวันที่ 23 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม ที่อำเภอลับแล เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยได้รู้ว่า ทุเรียนดีๆ ไม่ได้มีอยู่แค่ที่ภาคตะวันออก หรือภาคใต้เท่านั้น และถ้าใครได้ลองมากินทุเรียนที่เมืองลับแลแห่งนี้แล้ว อาจจะลืมไปเลยว่าทุเรียนเมืองจันท์หรือ ระยองอร่อยแค่ไหน ไม่แน่ว่าต่อไปอาจจะมีสโลแกนที่ว่า “คิดถึงทุเรียน คิดถึงอุตรดิตถ์” ก็ได้ ใครจะไปรู้.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมายังจังหวัดอุตรดิตถ์และต้องการชมสวนทุเรียน หรือต้องการร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวสวนทุเรียน (Homestay) ในอำเภอลับแล สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอลับแล โทร. 0-5543-1040