หากใครที่เป็นแฟนานุแฟนยุทธจักรนิยายกำลังภายในของ “โก้วเล้ง” ก็อาจจะเคยผ่านสายตากับประโยคหนึ่งที่โก้วเล้งมักกล่าวถึงเสมอนั่นก็คือ
“ชื่อ”กับ“ฉายา”นั้นมีความแตกต่างกัน
ชื่อไม่จำเป็นที่จะต้องสะท้อนตัวตนของคนๆนั้น หรือสะท้อนพฤติกรรมและเรื่องราวที่คนๆนั้นกระทำออกมา
แต่กับฉายา นั้นก็เปรียบดังการสะท้อนความเป็นตัวตน พฤติกรรมและเรื่องราวที่คนๆนั้นกระทำออกมา
เรื่องนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เห็นว่ามันดูสอดคล้องกับเรื่องราวของชายชื่อ “เล็ก วิริยะพันธุ์” เสียเหลือเกิน
เพราะชายคนนี้แม้ชื่อ “เล็ก” แต่ว่ากับสิ่งที่เขากระทำและสร้างสรรค์นั้นมันช่างตรงกันข้ามกับชื่อโดยสิ้นเชิง
เมืองโบราณเอย พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเอย ปราสาทสัจธรรมเอย ถือเป็น 3 สิ่งอันยิ่งใหญ่ที่ชายคนนี้ได้สร้างสรรค์ขึ้นในเมืองไทยเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่
สำหรับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”นั้นก็เคยเขียนถึงผลงานของคุณเล็กมาแล้ว 2 แห่ง นั่นก็คือ เมืองโบราณ และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ที่ต่างก็ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรปราการทั้งคู่ ส่วนปราสาทสัจธรรม ยังไม่เคยเขียนถึงแบบจริงๆจังๆ มีบ้างก็เพียงแย็บผ่านๆ
แต่ไหนๆก็เขียนไปแล้ว 2 ที่ และพร้อมๆกับที่มีคนถามไถ่มาว่าเมื่อไหร่จะเขียนถึงปราสาทสัจธรรมบ้าง เพราะหลายๆคนที่ไม่มานอกจากจะกล่าวขวัญถึงในความงดงามที่น่าทึ่งแล้ว บางคนยังบอกอีกว่าหากปราสาทสัจธรรมสร้างเสร็จไม่แน่นะ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์ก็ได้
เมื่อจังหวะและเวลาประจวบเหมาะเราจึงเดินทางสู่เมืองพัทยา เพื่อไปค้นหาอีกแง่มุมหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากพัทยาที่คนทั่วๆไปรู้จัก
มหัศจรรย์ปราสาทไม้ริมชายหาด
ณ ชายหาดแหลมราชเวช พัทยา สุดซอยนาเกลือ 12
“ผู้จัดการท่องเที่ยว” พาตัวเองผ่านเข้าไปในกำแพงใหญ่ ที่มีป้ายบอกว่าเป็นที่ตั้งของปราสาทสัจธรรม หลังจากที่เสียค่าผ่านประตู ตอนแรกเราก็เห็นว่าไม่ค่อยมีอะไร เอ...แล้วมันจะคุ้มกับค่าตั๋ว 500 บาทหรือเปล่า เพราะเท่าเห็นเบื้องหน้าเป็นเพียงสวนหย่อมที่มีเพียงงานแกะสลักไม้จำนวนหนึ่งตั้งตากแดดฝนอยู่
แต่พอขับรถไปตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่แนะนำ โดยเราไปยืนชมความงามพร้อมกับถ่ายรูปปราสาทที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ ณ โค้งหาด มีกำแพงเตี้ยๆทอดโค้งยาวเพื่อกั้นน้ำทะเลกับตัวปราสาทตามแนวหาด และเมื่อยิ่งเดินเข้าไปสู่ตัวปราสาท เราได้เห็นกันแบบเต็มตากับงานศิลปสถาปัตยกรรมไม้ ที่ยิ่งดูก็ยิ่งน่าพิศชวนมองมากขึ้นเรื่อยๆ
ครั้นพอมาถึงยังหน้าปราสาทที่เพียงแค่มองจากด้านนอกก็ต้องอึ้งแล้วว่า โอ้ว!!! อะไรมันจะอลังการงานสร้างขนาดนั้น โดยรูปแกะสลักตามจุดต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นตามเสา ยอดจั่ว ค้ำยัน ฐานปราสาท ดูแล้วไม่มีรูปไหนซ้ำกันเลย นับเป็นงานศิลปะแกะสลักไม้ที่น่าพิศชวนมองไปหมด
แต่ก่อนที่จะเข้าไปชมความยิ่งใหญ่ สวยงามและความน่าทึ่งภายในปราสาทแห่งนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” อยากจะขอเล่าคร่าวเกี่ยวกับความเป็นมาของปราสาทหลังนี้คร่าวๆ
สำหรับปราสาทสัจธรรมหลังนี้ เริ่มสร้างเมื่อปี 2524 โดยคุณเล็กได้สร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นจากศรัทธาที่มีต่อ ศาสนา ปรัชญา ในโลกตะวันออก ด้วยมุ่งหวังที่จะสร้างผลงาชิ้นนี้ให้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และต้องการให้มนุษย์ตระหนักในสัจธรรมแห่งชีวิต
ทางด้านลักษณะของปราสาท จัดเป็นงานไม้ทรงไทยจตุรมุข มีหลังคาลดหลั่นกันมาทั้ง 4 ด้าน(สูงประมาณ 100 เมตร) ที่ยอดสูงสุด(สูงประมาณ 105 เมตร)ประดับด้วยรูปแกะสลักองค์เทพ เทวดา นางฟ้า ในท่าต่างๆแทนการใช้ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นอกจากนี้ศิลปะต่างๆที่ปรากฏในปราสาทหลังนี้ก็เป็นการนำศิลปะและปรัชญาที่แสดงถึงภูมิปัญญาตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น จีน ไทย อินเดีย เขมร มาผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน โดยปราสาทแห่งนี้ นับเป็นปราสาทไม้ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก แถมวิธีการก่อสร้างก็ใช้วิธีการของช่างโบราณ คือไม่ใช้ตะปู แต่จะใช้การเข้าเดือย ตอกลิ่ม ตอกสลักแทน
ณ ปัจจุบันนี้ปราสาทสัจธรรมยังคงดำเนินการสร้างไปเรื่อยๆ และคาดว่าจะเสร็จในอีก 15 ปีข้างหน้า แต่ว่าก็ได้เปิดให้คนเข้าไปเที่ยวชม สัมผัสความงามกันมานานแล้ว
“ผู้จัดการท่องเที่ยว” ขอเล่าเกี่ยวกับปราสาทสัจธรรมแค่พอหอมปากหอมคอ ที่เหลือเราไปเดินดูกันดีกว่า เริ่มจากเดินเข้าไปตรงบันไดก็จะมีรูปสลักนางอัปสราของหลายชาติยืนต้อนรับเชิญชวนให้เดินเข้าไปภายใน ที่พอเข้าไปก็เหมือนกับว่าเราไปอยู่ในโลกแห่งงานศิลปะแกะสลักไม้ที่ประณีตงดงาม ไม่รู้จะบรรยายยังไงหมด เพราะทุกซอกทุกมุมล้วนแต่มีงานแกะสลักชิ้นเยี่ยมๆให้ชมและสัมผัสแทบทั้งนั้น
เอาเป็นว่า ครั้งนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ขอละเมิดกฎที่เคยอธิบายรายละเอียดของสถานที่ต่างๆ แต่ว่าเราขอนำภาพบางส่วนมาให้ดูแทน เพราะไม่รู้ว่าจะอธิบายความน่าทึ่งของรูปสลักเหล่านี้ได้อย่างไร เรียกว่าต้องไปเดินพินิจพิจารณาดูเอาเองถึงจะซึบซาบในอรรถรสแบบเต็มเปี่ยม
และก็ใช่ว่าที่นี่จะงดงามเฉพาะงานแกะสลักไม้ที่มีให้เราชมแบบเป็นรูปธรรมได้ ในส่วนของเรื่องราวนามธรรมที่แฝงอยู่ในงานศิลปะ ก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ศาสนา ปรัชญา และที่โดดเด่นมากก็คือ บุษบกไม้แกะสลักอันสวยงามที่ตั้งอยู่ตรงกลางปราสาทที่ไม่มีรูปเคารพใดๆ เนื่องจากต้องการสื่อถึงความว่าง การหลุดพ้น ซึ่งหากใครเข้าไปแล้วเกิดจิตว่าง รู้สึกหลุดพ้น นั่นถือว่าบรรลุธรรมแล้ว
สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา แค่ดูเอาความงาม ความเพลิดเพลินก็พอใจแล้ว แต่ก็ใช่ว่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว”จะไม่พบสัจธรรมในปราสาทสัจธรรมเสียเมื่อไหร่หละ เพราะจากค่าตั๋วที่ราคา 500 บาท ที่หลายๆคนบ่นว่าราคาสูงนั้น แต่ก็มีอีกหลายๆคนที่มองว่า คุ้มค่ากับราคาแล้ว เพราะในเมื่อเจ้าของลงทุนสร้างสูง สร้างอย่างวิจิตรงดงาม ค่าเข้าชมก็ต้องสูงเป็นธรรมดา เรียกว่าแต่ละคนต่างก็มีความคิดนานาจิตตังต่างกันไป...สำหรับเราแล้วนี่ก็คือสัจธรรมข้อหนึ่งที่ชีวิตมักพบพานอยู่เสมอ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เขียนถึงคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ไว้ในหนังสือที่รฤก เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพคุณเล็ก เมื่อวันที่ 4 กันายายน พ.ศ. 2544 ซึ่งอธิบายความคิด วัตถุประสงค์ และความล่าช้าในการก่อสร้างปราสาทนี้ ได้เป็นอย่างดี