xs
xsm
sm
md
lg

รอยพระพุทธบาทแห่งความหวัง ที่“วัดพระบาทน้ำพุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มนุษย์ยังไม่สามารถเอาชนะรักษาผู้ป่วยเอดส์ให้หายขาดได้”

“เอดส์” หรือ โรคภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องดูจะยังเป็นโรคที่น่ากลัวและอันตรายสำหรับทุกคน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์ จึงกลายเป็นที่รังเกียจของสังคมไปโดยปริยาย ที่พึ่งสุดท้ายของผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นที่รู้จักและยังให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่และเต็มใจจึงมีเพียงไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ มูลนิธิธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี

แต่นอกเหนือจากความเป็นวัด และในความเป็นสถานที่ที่ให้การดูแลรักษาพักฟื้นผู้ติดเชื้อและ ผู้ป่วยโรคเอดส์นั้น ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในวัดที่เหมือนจะถูกลืม และยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป นั่นก็คือ รอยพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารสำนักงานมูลนิธิฯ เพียง 150 เมตร

เฉลิมพล พลมุข ผู้จัดการโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ เผยถึงประวัติของวัดให้ฟังว่า ด้วยสภาพพื้นที่ของวัดเป็นเนินเขา มีภูเขาล้อมรอบมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม มีน้ำพุและมีรอยพระพุทธบาทภายในวัด จึงได้มีชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า "วัดพระบาทน้ำพุ" หรือ "วัดพระพุทธบาทประทานพร" แต่เดิมทีนั้นไม่ค่อยมีใครขึ้นไปกราบนมัสการมากนัก เพราะเส้นทางไปนั้นเป็นป่ารก เดินขึ้นไปไม่สะดวก รอยพระพุทธบาทนี้จึงยังลี้ซ่อนตัวอยู่ โดยน้อยคนนักจะได้รู้ แม้กระทั่งคนที่อยู่และคุ้นเคยกับวัดเช่นเฉลิมพลเองก็ยังไม่รู้

ราวปลายปี 2535 ระหว่างที่เฉลิมพลเดินข้ามเนินดินขนาดความสูง 3 เมตร ได้สังเกตเห็นรอยที่ลึกลงไปในเนินหินประมาณ 1 นิ้วครึ่ง มีใบไม้ เศษหญ้า ฝุ่นละอองปกคลุมอยู่เต็ม จนเมื่อได้ปัดกวาดทำความสะอาดจึงได้ปรากฏเห็นเป็นรอยพระพุทธบาท ขนาดความกว้าง 9 นิ้ว ความยาว 18 นิ้ว ซึ่งถูกต้องตามพุทธประวัติ คือ เป็นรอยพระพุทธบาทที่นิ้วพระบาททั้ง 5 เรียวยาวเท่ากัน และทั้ง 5นิ้วมีลายก้นหอย ตรงกลางฝ่าพระบาทมีธรรมจักร โดยปลายพระบาทหันไปทางทิศตะวันออก

จากที่เฉลิมพลได้คุ้นเคยและมีโอกาสไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทอยู่หลายแห่งหลายหน จึงแน่ใจว่า รอยที่เห็นนี้เป็นรอยพระพุทธบาทของแท้และดั้งเดิม ซึ่งเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทนี้ ถือกันว่าเป็นรอยเท้าของพระพุทธเจ้าที่เดินผ่านสถานที่แห่งนี้เพื่อไปแสดงธรรม และได้ประทับรอยไว้แทนพระองค์ โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท 3 อย่างหลักๆ ขึ้นอยู่กับการก่อเกิด

คือถ้าเกิดจากมนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าหรือเป็นการระลึกถึง ก็จะทำเป็นรูป 'พระพุทธบาทคู่' เป็นรอยสลักเว้าลงไปในพื้นหิน เรียกว่า 'อุเทสิกเจดีย์' แต่ถ้าเป็นลักษณะคล้ายรอยเท้าที่ปรากฏอยู่เองในสถานที่ต่างๆ นั้น มักจะเป็น 'รอยเดี่ยว' เชื่อกันว่าเกิดจากพระพุทธองค์ทรงเหยียบประทับไว้เมื่อครั้งเสด็จสถานที่นั้นๆ เรียกว่า 'บริโภคเจดีย์' อย่างสุดท้าย เป็นรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยวัสดุต่างๆ จำลองจากของแท้มา ส่วนมากมักทำเป็น 'รอยเดี่ยว' แต่ก็มีที่ทำเป็น 'รอยคู่' และแบบที่เป็น 'สี่รอย' ทับซ้อนกันก็มี เรียกว่า 'บริโภคเจดีย์โดยสมมติ'

แต่สำหรับรายละเอียดของลักษณะและอายุของรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระบาทน้ำพุนั้น ยังไม่มีใครทราบถึงที่มาที่ไป แม้ทางวัดจะได้ทำหนังสือไปยังกรมศิลปากรให้ช่วยเข้ามาศึกษาตรวจสอบ เพื่อยืนยันในความสำคัญล้ำค่า แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่ไม่ได้รับคำตอบรับใดๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปริศนาอายุและความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทนั้นจึงยังคลุมเครือและไม่ปรากฏแน่ชัด

ในปีหนึ่งๆ มีผู้เดินทางไปที่วัดพระบาทน้ำพุไม่ต่ำกว่าปีละ 300,000 คน ทั้งผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วย หรือกลุ่มคณะที่ไปศึกษาดูงานหรือทำการวิจัย แต่อาจจะไม่รู้ว่ามีรอยพระพุทธบาท เป็นสิ่งสำคัญล้ำค่าอยู่คู่กับวัด ซึ่งหากใครได้มีโอกาสไปที่วัด นอกเหนือจากจะร่วมทำบุญบริจาคกับมูลนิธิธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุแล้ว ก็อย่าลืมไปไหว้กราบนมัสการรอยพระพุทธบาทนี้ด้วย

โดยทางวัดได้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้อย่างสวยงามและได้ปรับปรุงทางเดินขึ้นไปให้สะดวกมากขึ้น เพราะสำหรับคนไทยแล้วมีความเชื่อว่า การได้ไปกราบนมัสการและขอพรจากรอยพระพุทธบาท ถือเป็นมงคลสำหรับชีวิตนอกเหนือจากการทำบุญอื่นๆ ที่นิยมทำกัน รอยพระพุทธบาท จึงกลายเป็นที่เคารพสักการะและเป็นที่ขอพรของผู้คนที่มีโอกาสได้ไปทำบุญที่วัดพระบาทน้ำพุ

เหนือสิ่งอื่นใด รอยพระพุทธบาท ที่วัดพระบาทน้ำพุ ได้กลายมาเป็นศูนย์รวมศรัทธาแห่งความหวังและกำลังใจของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยโรคเอดส์ในโครงการได้เป็นอย่างดี เมื่อพวกเขาเหนื่อยล้าหรือต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ พวกเขาจะไปนมัสการขอพรจากรอยพระพุทธบาท สิ่งได้รับกลับมา คงไม่ใช่ปาฏิหาริย์ให้หายจากโรคร้าย หากแต่เป็นที่พึ่งให้ได้รู้สึกสงบและสุขใจ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดพระบาทน้ำพุ ตั้งอยู่บ้านเชิงเขาน้ำพุ หมู่ที่ 3 ตำบลเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ภายในวัดมีพระประธานในอุโบสถขนาดพระเพลากว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร พร้อมด้วยพระอัครสาวก นอกจากนี้บนภูเขามีถ้ำ ซึ่งภายในมีหลวงพ่อดำ ปางมารวิชัยสมัยอยุธยา และมีพระโพธิสัตว์ 9 องค์ บนยอดภูเขามีหลวงพ่อขาว สร้างโดยพระอุทัย อโนโม เมื่อ พ.ศ. 2523

เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว ที่พระอุดมประชาทร หรือเจ้าคุณอลงกต ได้ก่อตั้งโครงการธรรมรักษ์นิเวศขึ้นที่วัดพระบาทน้ำพุ และได้มีการดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด แต่ดูเหมือนว่าภาระที่ทางวัดและมูลนิธิฯ แบกรับอยู่จะไม่มีคำว่าสิ้นสุด เพราะปัจจุบันมีคนมากกว่า 1,000 ชีวิตที่ต้องดูแล แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงผู้สูงอายุ และที่เป็นพระภิกษุ รวมถึงเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ค่าใช้จ่ายจึงสูงถึงเดือนละ 4 ล้านบาท ในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้งบสนับสนุนโครงการฯปีละไม่ถึง 1 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป

ถึงแม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในความพยายามป้องกันโรคเอดส์ แต่ก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อราย
ใหม่ประมาณ 30,000 คนต่อเนื่องกันมาในแต่ละปี และในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 700,000 รายที่ยังต้องรับบริการทางด้านการแพทย์และทางสังคม จากสถิติดังกล่าวจึงเทียบได้ว่า ชายไทยประมาณร้อยละ 2 และหญิงไทยประมาณร้อยละ 1 ติดเชื้อเอดส์ นับเป็นสถิติที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ผู้สนใจจะสมทบทุนร่วมบริจาคกับมูลนิธิธรรมรักษ์ โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 0-3641-3805 ,0-1451-6193 ,0-1948-3602 โทรสาร 0-3642-2600

กำลังโหลดความคิดเห็น