“กรี๊ดๆๆๆๆๆ”
เสียงนี้ไม่ใช่เสียงของกองเชียร์กรีซที่ร้องกรี๊ดดีใจ เมื่อทีมชาติกรีซทำให้แฟนบอลของตัวเองได้ร้องกรี๊ดอย่างสะใจในการผนึกกำลังพาทีมกรีซคว้าแชมป์บอลยูโร 2004 สร้างเทพนิยายกรีกขึ้นมาแบบตะลึงในความรู้ของคนทั้งโลกเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว
และเสียงนี้ก็ไม่ใช่เสียงกรี๊ดของคนที่ได้เห็นภาพดีเด็ดของ “น้องตั๊ก”นางเอกสาวทรงบ๊ะลึ่มฮึ่มที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอีกเช่นกัน
พร้อมกันนั้นเสียงนี้ก็ไม่ใช่เสียงกรี๊ดของ“เจ๊หน่อย”ที่ขู่จะฟ้องพวกมือบอนหน้ามืดตามัว เห็นกงจักรเป็นดอกบัวนำเอารูปของตัวเองไปพวกตัดต่อเป็นภาพโป๊
รวมถึงไม่ใช่เสียงกรี๊ดของ “เจ๊ระเบียบรัตน์”ที่ออกมาสร้างความเซอร์ไพรส์ปนเซอร์เพี้ยนเกี่ยวกับเรื่องประเพณีในการห้ามผู้หญิงเข้าสักการะพระธาตุภายในของพระธาตุดอยสุเทพ แห่ง จ.เชียงใหม่
แต่ว่าเสียง“กรี๊ดๆๆๆๆๆ”นี้ มันคือเสียงร้องของเหล่าเพื่อนๆ(สาว) ที่ร้องกันอย่างสุดเสียงเมื่อเรือยางลุยฝ่าแก่งต่างๆในการล่องเรือยางตะลุยแก่งโป่งน้ำร้อนที่จังหวัดจันทบุรี แก่งที่หากปีไหนน้ำมาเยอะๆ
พูดถึงการล่องแก่งนี่ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากิจกรรมนี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัย และชอบความตื่นเต้นเป็นจำนวนมาก และยังถือเป็นกิจกรรมที่สร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยวในหน้าฝนได้เป็นอย่างดี เพราะว่าการล่องแก่งที่จะให้ออกรสออกชาตินั้นควรจะล่องกันช่วงหน้าฝนที่น้ำมาเยอะๆ
อย่างกับการล่องแก่งโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรีนี่ก็เช่นกัน ถ้าปีไหนน้ำมาเยอะนะ นายท้ายที่พา “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ลุยแก่งแห่งนี้เขารับประกันได้ถึงความมัน เพราะถึงแม้ว่าความเชี่ยวกรากของสายน้ำที่นี่จะอยู่ในระดับ 2-3+ (ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำในแต่ละปี) ซึ่งพวกนักล่องแก่งตัวยงอาจจะมองว่าเป็นระดับความตื่นเต้นของพวกมือใหม่หัดล่องแก่ง แต่ว่าด้วยความที่เส้นทางล่องแก่งโป่งน้ำร้อนมีความยาวถึง 10 กว่ากิโลเมตร(ล่องประมาณ 2-3 ชม.) มีแก่งในระดับตื่นเต้นให้พายเรือยางฝ่าถึง 30 แห่ง มีต้นไม้ให้มุด ให้หมอบ ให้ลอดเยอะมาก และแถมยังเป็นแก่งที่เคยได้ชื่อว่ามีความคดเคี้ยวมากที่สุดในเมืองไทย แก่งโป่งน้ำร้อนจึงนับว่าเป็นหนึ่งในแก่งที่น่าตื่นเต้นเร้าใจไม่น้อย
ตัวอย่างมีให้เห็นกันจะจะ กับเพื่อนสาวๆที่ร่วมล่องแก่งไปกับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ที่ความแรงของสายน้ำสูงสุดอยู่ในระดับ 3+ แต่ว่าเสียงกรี๊ดๆๆๆๆๆของพวกเธอ ปาเข้าไปในระดับ 10+ โอว...อะไรจะปานนั้น
สำหรับจุดเริ่มต้นของการล่องแก่งโป่งน้ำร้อนก็อยู่ที่ หมู่บ้านเครือหวาย ตรงจุดเชื่อมระหว่างคลองเครือหวายและคลองโป่งน้ำร้อน ซึ่งก่อนการล่องแก่งก็เป็นเหมือนกับหลายๆแห่ง ที่ทางสตาฟฟ์จะต้องมาอธิบายถึงวิธีการปฏิบัติตัวในเรือยาง
“ไหนๆเราก็มานั่งเรือลำเดียวกันแล้ว ก็คงต้องช่วยกันทำมาหากิน คือช่วยกันพายเรือไม่ใช่ปล่อยให้หัวเรือ และนายท้ายพายกันอย่างเดียว สำหรับวิธีการพายเรือก็ไม่มีอะไรมากคือจับพายให้กระชับและจ้วงพายไปข้างหน้า ส่วนการนั่งก็ให้นั่งบนกราบเรือ วางเท้าไว้ด้านในเรือ และต้องนั่งให้สมดุลกัน”
ลุงบุญเที่ยง สายแก้ว หรือลุงตู๋ อธิบายกับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” และเพื่อนที่ร่วมลงเรือยางลำเดียวกัน พร้อมๆกับกำชับให้ทุกคนต้องใส่เสื้อชูชีพและหมวกกันน็อคเพื่อความปลอดภัย เพราะกิ่งไม้ที่นี่เยอะมาก การใส่หมวกจะป้องกันกิ่งไม้ไม่ให้น็อคศีรษะได้เป็นอย่างดี และเวลาเจอกิ่งไม้ก็ให้หมอบขนานกับลำเรือ ส่วนถ้าใครเกิดดวงแตกตกน้ำก็ขอให้อย่าตกใจ พยายามนอนหงายลอยตัว ให้เท้าทั้งสองข้างยื่นไปข้างหน้า เพื่อเป็นกันชนเผื่อว่าเกิดไปเจอกับโขดหิน และให้ว่ายน้ำหนีเรือเข้าฝั่งหรือไม่ก็พยายามไปลอยตัวอยู่ในน้ำนิ่ง แล้วทางสตาฟฟ์จะพายเรือไปรับ
เมื่อแนะนำการปฏิบัติตัวในระหว่างล่องแก่งเสร็จสรรพ ช่วงเวลาแห่งความระทึกใจก็เริ่มขึ้นเมื่อเรือยางตั้งลำ 2 ลำ ลอยล่องคู่กันไป
ช่วงประมาณ 5 นาทีจากจุดเริ่มล่องแก่ง เรือก็แล่นผ่านแก่งแรกที่ชาวบ้านยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่มีลักษณะเป็นแก่งหินราบเรียบตลอดลำน้ำลดระดับลงมาประมาณ 60 ซม.
สมาชิกของเราเริ่มกรี๊ดกันแล้วแม้ว่าเป็นแก่งแรก
จากนั้นเรือยางก็ไหลแล่นลอยล่อง ผ่านสายน้ำที่คดไปเคี้ยวมา และมวลหมู่ต้นไม้ที่มีให้ลอดให้มุดอยู่เป็นระยะๆ ส่วน 2 ฟากฝั่งลำน้ำก็ร่มครึ้มด้วยป่าละเมาะสลับกับสวนของชาวบ้าน มองเห็นเทือกเขาสอยดาวเป็นฉากหลังในโค้งน้ำบางช่วง
บรรยากาศการล่องแก่งในช่วงนี่เหล่าสมาชิกจึงชื่นมื่นกันถ้วนหน้า
แต่แล้วจากฟ้าที่ใสๆ จู่ๆเมฆเริ่มกลายเป็นสีเทา พร้อมๆกับการตั้งเค้าของฝน และเพียงไม่กี่อึดใจฝนก็ลงเม็ดเปาะแปะ ก่อนที่จะค่อยๆทวีความหนักขึ้น หนักขึ้น จนถึงขึ้นหนักแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่กระนั้นพวกเราก็ยังคงจ้วงพายพาเรือยางฝ่าสายฝน และสายน้ำที่ยังคงคดเคี้ยวและเต็มไปด้วยเกาะแก่ง
เสียงกรี๊ดของสาวๆดังแข่งกับสายฝนเป็นระยะ
ฝนยังคงตกมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา คะเนว่าประมาณครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้ ก่อนที่จะค่อยๆซาลงเป็นสายฝนที่ตกปรอยๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วช่วงฝนตกปรอยๆนี่มันกลับหนาวเย็นกว่าช่วงฝนตกหนักเสียอีก เนื่องจากว่าช่วงนี้จะมีลมพัดมาเป็นระยะๆ พวกเราก็หนาวยะเยือกเป็นระยะ แต่ว่ายิ่งหนาวเราก็ยิ่งจ้วงพายแข่งกับสายฝนและความหนาว
ในเส้นทางช่วงนี้เรือยางล่องฝ่าแก่งที่น่าตื่นเต้นเร้าใจอย่างแก่งชะอมที่บริเวณรอบข้างมีชะอมป่าที่ส่งกลิ่นชะอมคละคลุ้งขึ้นเต็มไปหมด ที่แก่งชะอมนี่ เมื่อเรือผ่านไปจะกระเด้งกระดอนตลอด
จากนั้นก็เป็นแก่งยาวที่เป็นแก่งน้ำเชี่ยวยาวหลาย 10 เมตร ก่อนที่เรือยางจะไปลอยเนิบนาบอยู่ที่ “วังน้ำอุ่น” ซึ่งฝนในช่วงนี้เหมือนกับเป็นใจ คือหยุดตกให้พวกเราได้หายใจหายคอ และที่วังน้ำอุ่นนี่ก็ถือว่าสมชื่อของมัน คือบนผิวน้ำจะเย็น แต่ใต้พื้นน้ำกับอุ่นอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อเจอน้ำอย่างนี้มีหรือจะเหลือ
สตาฟฟ์ที่พายหัวเรือของกระโดดนำก่อน หลังจากนั้นเราและคนอื่นๆก็ทยอยลงตาม อืม...ใต้น้ำนี่อุ่นสมชื่อ ซึ่งก็เป็นการอุ่นโดยธรรมชาติหาใช่ความอุ่นที่เกิดจากการปล่อยน้ำอุ่นของพวกเราแต่อย่างใด
ยัง...จุดกระโดดน้ำยังไม่ได้มีแค่นี้ เพราะเมื่อขึ้นจากการเล่นน้ำที่วังน้ำอุ่น เรือยางก็แล่นไปยังสะพานวัดใจ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดไฮไลท์ของแก่งโป่งน้ำร้อน
ที่สะพานวัดใจก็ไม่มีอะไรมากเป็นสะพานแขวนสลิงเล็กๆมีไม้พาดให้เดินผ่านข้ามลำน้ำสูงประมาณ 6 เมตรเห็นจะได้ แต่ที่วัดใจนี่ก็คือมันเป็นที่ให้ขึ้นไปกระโดดน้ำ ซึ่งสตาฟฟ์ที่พายหัวเรือคนเดิมพาพวกเราเดินขึ้นสะพาน ก่อนจะแนะนำวิธีการกระโดดน้ำ พร้อมกับกำชับว่าต้องให้คนที่กระโดดไปก่อนโผล่น้ำขึ้นมาแล้วคนต่อไปค่อยกระโดดตาม
เมื่ออธิบายเสร็จคนพายหัวเรือเรากระโดดนำ ก่อนที่คนอื่นๆที่อยากวัดใจก็ทยอยกระโดดตาม แล้วก็มาถึงคิวเรา อือ...มองดูไกลๆมันก็ไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อมายืนตรงจุดกระโดดมันก็เสียวเหมือนกันแฮะ แต่ว่าเมื่อขึ้นมาแล้วเดินกลับลงไปก็เสียฟอร์ม โดดเลยดีกว่า
ตูม!!!
มันเป็นเสียงที่เรารับรู้ได้เมื่อเท้าสัมผัสน้ำ จากนั้นตัวก็ลงหายลงไปในน้ำชั่วอึดใจก่อนที่จะโผล่ขึ้นมา ซึ่งก็ถือว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อย ส่วนความปลอดภัยนั้นก็ไม่ต้องกลัว หากกระโดดตามวิธีที่สตาฟฟ์แนะนำก็จะปลอดภัยหายห่วง
หลังผ่านการวัดใจ เรือยางก็ออกลอยละลิ่วต่อจุดหมายปลายทางที่ระหว่างทางก็ยังคงมีแก่งเล็กแก่งน้อย ต้นไม้ใหญ่น้อย และทางที่คดเคี้ยวให้ลอยเรือฝ่าไป จนมาถึง ณ จุดจดจำอีกแห่งหนึ่งนั่นก็คือ บริเวณฝายทดน้ำ ที่เราจดจำได้ก็เพราะว่าที่นี่เรือผ่านไม่ได้ หากคิดจะเอาเรือผ่านไปโอกาสเรือคว่ำมีเกิน 90 % เพราะฉะนั้นต้องขึ้นบนขอบฝายแล้วแบกเรือแบกพายข้ามไป
โดยบริเวณฝายนี้ มีชาวบ้านมานั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่งกันเป็นจำนวนมาก ซึ่ง“ผู้จัดการท่องเที่ยว”สอบถามนายท้ายเรือก็ทราบว่าแถวนี้ปลาชุมมาก ยิ่งหลังฝนตกอย่างนี้ปลาเพียบทีเดียว
เมื่อผ่านฝายไป ฟ้าหลังฝนเริ่มสดใส แดดบางๆเริ่มส่องต้องพื้นน้ำ เราพายเรือกันแบบเนิบๆ แต่ใช้เวลากินลมชมวิวมากกว่า เนื่องสายน้ำค่อนข้างสงบ คดเคี้ยวของสายน้ำลดน้อยลง ด้านกิ่งไม้นั้นแทบไม่มี จะมีก็เพียงแก่งเล็กๆให้ฝ่าไปบ้างนิดหน่อย ส่วนทิวทัศน์ 2 ข้างทางก็เริ่มเป็นหมู่บ้าน
เมื่อสายน้ำสงบเสียงกรี๊ดก็พลอยสงบลงตามไปด้วย
“ถ้าล่องเรือไปเรื่อยๆ สามารถไปถึงชายแดนเขมรได้ แต่ว่าเดี๋ยวเราจะขึ้นฝั่งกันตรงวัดคลองใหญ่ข้างหน้า”
ลุงตู๋ชี้ให้ดูโค้งน้ำก่อนค่อยหันหัวเรือขึ้นสู่ฝั่งบริเวณวัดคลองใหญ่ ซึ่งก็เป็นอันสิ้นสุดทริปการล่องแก่งที่แม้ว่าสายน้ำจะไม่ได้รุนแรงมากมายแต่ว่าองค์ประกอบของสายน้ำ และองค์ประกอบของการล่องแก่ที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำเอาพวกเราเปียกปอนกันทั่วหน้าก็ถือเป็นหนึ่งในสีสันของการล่องแก่งที่น่าจดจำไม่น้อย
และเมื่อเรือยางมาเทียบท่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว”เดินขึ้นฝั่งอย่างเปียกปอน แต่ก็แปลกที่ใจกับรู้สึกชุ่มชื่น เพราะการล่องแก่งในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า...ธรรมชาตินั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ เช่นเดียวกับโชคชะตาในชีวิตที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่ว่าหากเราสามารถอดทนฟันฝ่ามันไปได้ ก็จะเป็นดังฟ้าหลังฝนที่สดใส...ชีวิตใยไม่ใช่เฉกเช่นเดียวกัน...
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
แก่งโป่งน้ำร้อน อยู่ในจังหวัดจันทบุรี ห่างจาก อ.โป่งน้ำร้อนประมาณ 18 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะในการล่องแก่งอยู่ระหว่างเดือน มิ.ย.-พ.ย. ราคาค่าเรือยางอยู่ที่ 2,500-3,000 บาทเรือนั่งได้ 6-8 คน ทั้งนี้สามารถติดต่อล่องแก่งได้ที่ โทร. 0-1377-9244,0-9834-1365
ระดับของสายน้ำในการล่องแก่ง
ระดับ 1. ง่ายมาก น้ำไหลเอื่อย คนทั่วไปสามารถพายได้
ระดับ 2. ธรรมดา น้ำไหลแรง ต้องมีทักษะฝีมือในการพายพอสมควร
ระดับ 3. ปานกลาง มีแก่งตื่นเต้น ต้องเรียนรู้การพาย จึงต้องฝึกเทคนิคบ้าง
ระดับ 4. ยาก มีแก่งที่ต้องใช้เทคนิคฝีมือ ทักษะในการพาย และต้องระมัดระวังในการล่องแก่ง
ระดับ 5. ยากมาก มีน้ำไหลเชี่ยว ใช้เทคนิคและประสบการณ์ฝีมือในการพายสูง ต้องเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ
ระดับ 6. อันตราย แก่งมีลักษณะเป็นน้ำตก ไม่เหมาะสำหรับการล่องแก่ง