xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวสุพรรณบุรี ตามรอยวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอย”เสียงเพลงปลุกใจดังมาจากมโนสำนึกเมื่อนึกย้อนเวลากลับไปในวัยเด็ก ที่เพลงนี้นับเป็นอีกเพลงหนึ่งที่พวกเราร้องกันติดปาก ในสภาวะที่ต้องการกำลังใจและแสดงออกถึงความสามัคคีของกลุ่ม

จ.สุพรรณบุรี นับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความน่าสนใจในแง่ของภาษาถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ชนิดที่ว่าพอเอ่ยวจีออกมาแล้ว สามารถบอกได้เลยว่าต้องมาจากเมืองสุพรรณบุรีถิ่นนี้แน่นอน

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมศิลปินที่เด่นๆดังๆอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น สุรพล สมบัติเจริญ, สังข์ทอง สีใส,ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์, สายัณต์ สัญญา,ศรเพชร ศรสุพรรณ,แอ๊ด คาราบาว, แดน ดีทูบี และอีกมากมาย ดังปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง”

จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดี มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เดิมจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ” หรือ “พันธุมบุรี” ต่อมาเมื่อพระเจ้ากาแต (เชื้อสายไทยปนพม่า) เสด็จขึ้นครองราชย์ และย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ได้ทรงสร้างวัดสนามไชย บูรณะวัดป่าเลไลยก์ ได้ทรงชักชวนข้าราชการออกบวช จำนวน 2,000 คน จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สองพันบุรี” ครั้นพระเจ้าอู่ทองทรงย้ายเมืองไปอยู่ทางฝั่งใต้ (ทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน) เมืองนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า “อู่ทอง” จนกระทั่งลุเข้าสมัยขุนหลวงพะงั่ว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สุพรรณบุรี” ในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเมืองกำเนิดเรื่อง ขุนช้างขุนแผน อันเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี และของชาติไทย ชื่อตำบล ชื่อบ้าน และชื่อสถานที่สำคัญอื่น ๆ ในท้องเรื่องยังมีปรากฏอยู่ เช่น บ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค อำเภออู่ทอง และอำเภอศรีประจันต์ เป็นต้น

หลายคนที่มาเยือนจ.สุพรรณบุรี อาจถามหาบ้านของขุนช้าง-ขุนแผน ตามวรรรณคดีที่ได้เคยอ่านเมื่อสมัยเรียน ถ้าเป็นคุ้มขุนแผน ต้องมาที่วัดแคซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 9.50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากต้นมะขามต้นนี้กับท่านอาจารย์คงเพื่อใช้เวลาโจมตีข้าศึก ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดีและเป็นการอนุรักษ์ศิลปด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ และวัดแคยังเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. 2447 อีกด้วย

แต่ถ้าถามหาคุ้มขุนช้างผู้มั่งคั่ง ต้องมาที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เพราะที่นี่นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐาน“หลวงพ่อโต” ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามและเป็นที่เคารพนับถือของชาวจ.สุพรรณบุรีแล้ว ด้านหลังวัดยังมี “คุ้มขุนช้าง” ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่กว้างขวาง ตามบทพรรณนาเรือนของขุนช้างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน บนเรือนแต่ละห้องมีภาพบรรยายเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีตู้จัดแสดงภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆไม่ว่าจะเป็นฉากกั้นหรือถ้วยโถโอชามเก่าแก่แบบต่างๆให้เราได้ศึกษาถึงวิถีชีวิตผู้คนในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

อีกสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นเสมือนอีกสัญลักษณ์ของจ.สุพรรณบุรี เห็นจะหนีไม่พ้น พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์โดยเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี

สำหรับความเป็นมานั้น เนื่องมาจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่าเมื่อเดือนมกราคม ปีพ.ศ.2135 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2502 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์และถือเป็นวันกองทัพไทยด้วย

ควาย คำๆนี้ถ้าเกิดพูดขึ้นมาตอนอารมณ์โกรธ อาจเปรียบเสมือนคำด่าที่รุนแรง แต่จริงๆแล้วสัตว์ที่เรียกว่า ควายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทยๆอย่างแท้จริงและยังเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณกับเรา อย่างที่จ.สุพรรณบุรีได้จัดตั้ง บ้านควาย ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านภาคกลาง มีพื้นที่ 100 กว่าไร่ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น หมู่บ้าชาวนาแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีลานนวดข้าว คอกควาย นอกจากนี้ยังมีการแสดงของควายอีกด้วย อยากรู้ว่าแปลกและน่ารักแค่ไหน ต้องลองไปดูกัน

เมื่อเอ่ยชื่อพุ่มพวง ดวงจันทร์ เชื่อแน่ว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักราชินีลูกทุ่งคนนี้ และแน่นอนว่าจะต้องรู้จัก วัดทับกระดาน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในการร้องเพลง รวมทั้งรูปถ่ายจากข่าวหนังสือพิมพ์ของพุ่มพวงไว้ในโบสถ์ของวัดนี้ นอกจากนี้บริเวณศาลาท่าน้ำจะมีรูปวาดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ที่มีคนนำมาให้เพื่อแก้บน

แต่ถ้าอยากย้อนยุคไปดูชุมชนชาวแม่ค้าพ่อขายสมัยก่อน ต้องไปที่ ตลาดริมน้ำร้อยปี โดยตลาดแห่งนี้อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก เป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือนและตลาดแบบดั้งเดิมเอาไว้ สิ่งที่น่าสนใจได้แก่อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารไม้โบราณขนาด 3 ชั้น ซึ่งท่านเจ้าสัวเจ้าของตลาดมอบให้เป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังมีร้านถ่ายรูปโบราณที่ยังมีกล้องถ่ายภาพเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีให้บริการ ร้านขายยาสมุนไพร และเพลิดเพลินกับขนม อาหารพื้นเมือง และกาแฟโบราณที่ยังใช้เครื่องคั่วกาแฟแบบดั้งเดิม

บึงฉวาก ก็เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวของจ.สุพรรณบุรีที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและสนใจปลาประเภทต่างๆ เพราะที่นี่นอกจากจะเป็นเป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,700 กว่าไร่แล้ว ริมบึงฉวากยังมีบรรยากาศร่มรื่น ลมพัดเย็นสบายตลอด ในบริเวณบึงเต็มไปด้วยดอกบัวสีแดงและชมพู ในช่วงตอนเช้าบัวจะบานสวยงาม นกเป็ดแดงฝูงใหญ่จับกลุ่มอยู่ตามกอบัวในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมและนกจะทยอยกลับในช่วงเดือนเมษายน

นอกจากนี้ยังมี สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติเป็นหน่วยงานของกรมประมง มีอาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำรวบรวมพันธ์ปลาน้ำจืด ปลาสวยงามและพันธุ์ปลาหายากเอาไว้ให้ประชาชนได้ศึกษา แต่ถ้าอยากชมชีวิตความเป็นอยู่ของจระเข้แบบสบายๆ เอ้ย..ไม่ใช่ แบบธรรมชาติ ก็ต้องไปที่บ่อจระเข้น้ำจืด ที่ทางกรมประมงได้ปล่อยจระเข้น้ำจืดไว้จำนวน 50 ตัว ให้อยู่ในสภาพธรรมชาติในบ่อขนาด 5 ไร่ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นความเป็นอยู่แบบธรรมชาติของจระเข้และสามารถเข้าชมได้อย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าได้บรรยากาศแบบสวนสัตว์ปิดนิดๆเลยดีเดียว

แต่ถ้ามาจ.สุพรรณบุรีแล้วไม่เอ่ยถึงพ่อเมืองอย่างท่านบรรหาร ศิลปอาชาก็ดูกระไรอยู่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าพ่อเมืองสุพรรณคนนี้รักบ้านเกิดอย่างยิ่ง จนหันหน้าไปทางไหนก็เห็นแต่โลโก้ บรรหาร-แจ่มใสอยู่ทุกมุมเมือง ไม่เว้นแม้แต่หอคอยบรรหาร-แจ่มใส ซึ่งนับว่าเป็นหอคอยชมวิวแห่งแรกและสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีความสูงถึง 123.25 เมตร หากขึ้นมาถึงบนยอดหอคอยนักท่องเที่ยวจะได้พบกับภาพจ.สุพรรณมุมสูงที่แลดูสวยงามไปอีกแบบ

ขากลับอย่าลืมซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน อย่างสาลี่สุพรรณรสชาติกลมกล่อม แห้วกระป๋อง หน่อไม้กระป๋อง ปลาม้า ปลาแดดเดียว เนื้อแดดเดียว เป็นต้น มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
สอบถามรายละเอียดบ้านควาย สำนักงานกรุงเทพฯโทร.0-2619-6326-9 สำนักงานสุพรรณบุรีโทร 0-3558-1668
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก โทร.0-3543-9206,0-3543-9210 สำนักงาน ททท.ภาคกลาง เขต6 โทร.0-3524-6076-7

กำลังโหลดความคิดเห็น