xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวไทยไปกับ “นิราศสุนทรภู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากพูดถึง “สุนทรภู่” เชื่อแน่ว่า อาจารย์ภาษาไทย คนรักกวี รวมถึงพวกเจ้าบทเจ้ากลอน คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก

ก็แหม...สุนทรภู่ หรือ “พระสุนทรโวหาร” นั้นถือเป็นสุดยอดแห่งกวีศรีรัตโกสินทร์จนได้รับรางวัลจากองค์การUNESCO ในฐานะ กวีดีเด่นของโลกในปี 2529เรียกว่าพวกเจ้าบทเจ้ากลอนในเมืองไทย นี่ใครไม่รู้จักสุนทรภู่ ถือว่าเชยแย่

แต่ก็ใช่ว่าสุนทรภู่จะมีดีเฉพาะบทกลอน บทกวี เท่านั้น

ในเรื่องของการเป็นนักเดินทางนี่ท่านก็ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้ใคร เพราะว่าไปลุยมาแล้วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

แต่ที่ถือว่าเป็นงานบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวระดับมาสเตอร์พีซของสุนทรภู่ก็คือ นิราศต่างๆของท่านที่ล้วนแต่งดงามไปด้วยการใช้ภาษา อารมณ์ และวิธีการการเล่าเรื่องราว ซึ่งมีนักเขียนสารคดีรุ่นใหม่หลายๆคน มักจะหยิบยกผลงานของท่านมาอ้างถึงอยู่เสมอ

ความหมายของ“นิราศ”ก็คืองานประพันธ์ที่แต่งขึ้นมา เพื่อเล่าเรื่องราวบันทึกการเดินทาง ด้วยสมัยก่อนการเดินทางค่อนข้าง ลำบาก และ ใช้เวลานาน นักเดินทางจึงแก้ความเหงาเบื่อด้วยการ ประพันธ์บทกวีพรรณนาถึงการ เดินทางและสภาพภูมิ ประเทศโดยมากมักโยงเข้ากับความรู้สึก ความรัก ความเหงา ความห่วงหา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบาย ที่มาของนิราศเอาไว้ว่า

"หนังสือจำพวกที่เรียกว่านิราศ เป็นบทกลอนแต่งเวลาไปทางไกล มูลเหตุจะเกิดหนังสือชนิดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะเวลาเดินทาง ที่มักต้องไปเรือหลายๆ วัน มีเวลาว่างมากได้แต่นั่ง ๆ นอนๆ ไป จนเกิดเบื่อ ก็ต้อง คิดหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้สันทัดในทางวรรณคดีจึงแก้รำคาญ โดยทาง กระบวนคิดแต่งบทกลอน บทกลอน แต่ง ในเวลาเดินทางเช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะพรรณนาว่าด้วย สิ่งซึ่งได้พบเห็นในระยะทาง แต่มักแต่งประกอบกับ ครวญคิดถึงคู่รักซึ่งต้องพรากทิ้งไว้ทางบ้านเรือน กระบวนความในหนังสือนิราศ จึงเป็นทำนองอย่างว่านี้ทั้งนั้นชอบแต่งกันมา แต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์"

นิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งทั้งเป็นโคลงแลเป็นกลอนสุภาพดูเหมือนกวีที่แต่งนิราศ ในครั้ง รัชกาล ที่ 1 รัชกาลที่ 2 จะถือคติต่างกันเป็น 2 พวก พวกหนึ่งถือคติเดิมว่าโคลง ฉันท์เป็น ของ สำคัญ และแต่งยากกว่า กลอน กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นโคลงตามเยี่ยงอย่างศรีปราชญ์ทั้งนั้น กวี อีกพวกหนึ่งชอบเพลงยาว อย่างเช่นเล่นกัน เมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กวีพวกนี้แต่งนิราศ เป็น กลอนสุภาพทั้งนั้น ถ้าว่าเฉพาะที่เป็นกวีคนสำคัญในพวกหลังนี้ คือสุนทรภู่แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพ มากเรื่องกว่าใครๆ หมด กลอนของสุนทรภู่คนชอบอ่านกันแพร่หลาย ก็ถือ เอานิราศของสุนทรภู่ เป็น แบบอย่างแต่งนิราศกันต่อมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5"

สำหรับนิราศของสุนทรภู่ นอกจากจะพรรณนาการเดินทางแล้ว ก็ยังมีการสอดแทรกคติธรรม ข้อเตือนใจต่างๆ และเปรียบ เทียบถึงชีวิตของตัวท่านเองเข้าไว้ด้วย โดยผลงานนิราศของสุนทรภู่นั้นมีอยู่ด้วยกัน 9 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องต่างก็มีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป

1.นิราศเมืองแกลงถือเป็นนิราศเรื่องแรก แต่งขึ้นในปี พ.ศ.2349 หลังจากพ้นโทษออกมา ซึ่งพรรณาถึงการเดินทางโดยเรือกลับไปเมืองแกลงบ้านเกิดของบิดาตนเอง กับศิษย์ 2 คน คือน้อยและพุ่ม ซึ่ง ณ วันนี้นักวิชาการยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่าสุนทรภู่เดินทางกลับไปทำไม แต่ที่แน่ๆ ทางจังหวัดระยองก็ได้นำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไปสร้างเป็นอนุสาวรีย์สุนทรภู่ขึ้นมาที่เมืองแกลง ซึ่งก็ทำให้หลายๆคนเข้าใจผิดคิดว่าสุนทรภู่เกิดที่เมืองแกลง แต่ว่าความจริงแล้วสุนทรภู่ ท่านเป็นคนกรุงเทพฯเกิดแถวคลองบางกอกน้อย

2.นิราศพระบาท แต่งตอนไปพระพุทธบาทในฐานะมหาดเล็กติดตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ โดยรำพันถึงนางจันภรรยา ว่าทิ้งตนเองไปพร้อมกับกล่าวชมความงามของพระพุทธบาทและสอดแทรกความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยและประวัติของสถานที่ต่างๆเข้าไป

3.นิราศภูเขาทองนี่คือสุดยอดแห่งนิราศของสุนทรภู่ ท่านแต่งเรื่องนี้ขึ้นเมื่อครั้งเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะที่บวชอยู่ ณ วัดราชบูรณะ โดยนิราศเรื่องนี้มีเนื้อความไม่ยาวแต่ว่าเป็นนิราศที่ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยลักษณะของนิราศทุกประการ อีกทั้งถ้อยคำต่างๆก็ประณีตสวยงาม นอกจากนี้สุนทรภู่ยังได้สอดแทรกความคิดของตนเองลงไปอย่างอิสระเสรี

4.นิราศสุพรรณเป็นนิราศเพียงเรื่องเดี่ยวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง โดยนัยว่าต้องการที่จะลบคำสบประมาทว่าทานแต่งได้เพียงแค่กลอนตลาด เนื้อเรื่องเล่าถึงการออกจากวัดเทพธิดารามไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม(คลองบางกอกน้อย) จนถึงเมืองสุพรรณ จากนั้นไปนมัสการพระที่วัดป่าเลไลย์

5.นิราศวัดเจ้าฟ้าเป็นนิราศเชิงผจญภัยที่สนุกสนานเรื่องหนึ่ง เนื้อความกล่าวถึงการเดินทางไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทง และที่น่าแปลกก็คือนิราศเรื่องนี้ไม่รำพันถึงผู้หญิงเลย ซึ่งผิดวิสัยเจ้าชู้ของสุนทรภู่อย่างมาก

6.นิราศอิเหนาแต่งขึ้นระหว่างไปพึ่งบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ โดยนิราศเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึงการเดินทางแต่อย่างใด

7. นิราศพระประธม (พระปฐมเจดีย์) สันนิษฐานว่าน่าจะเดินทางในช่วงหน้าหนาว อันเป็นฤดูน้ำขึ้น โดยไปกับลูกชาย 2 คน นิราศตอนเรื่องนี้ได้พรรณนาถึงความรักความอาลัยอย่างซาบซึ้ง

8.นิราศเมืองเพชรสันนิษฐานว่าท่านแต่งตอนที่มีอายุมากแล้ว โดยเดินทางด้วยเรือจากท่าน้ำวัดอรุณไปถึงเมืองพริบพรี(เพชรบุรี) ไปนมัสการพระพุทธรูปแล้วเดินทางกลับ สำหรับนิราศเรื่องนี้มีการรำพึงรำพันถึงหญิงคนรักแต่เพียงลอยๆ ไม่ได้เอ่ยชื่อเจาะจงคนใดคนหนึ่ง

9.นิราศพระแท่นดงรังเป็นนิราศสั้นๆที่แต่งขึ้นในการเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรัง โดยรำพึงรำพันถึง ม่วง หญิงคนรัก สันนิษฐานว่านิราศเรื่องนี้สุนทรภู่แต่งหลังจากที่ลาสิกขาบท แล้วไปอาศัยอยู่กับผู้อื่น

นอกจากนิราศทั้ง 9 เรื่องแล้ว สุนทรภูยังได้แต่ง“รำพันพิลาป” ซึ่งแม้จะไม่ใช่นิราศโดยตรงแต่ก็มีลักษณะที่จัดว่าเป็นนิราศ โดยสุนทรภู่ได้รำพันความฝันในตอนต้น ต่อจากนั้นก็รำพันถึงวัดเทพธิดาราม และกล่าวถึงความเป็นอยู่ของตนในช่วงที่กำลังตกต่ำ

และก็ใช่ว่าสุนทรภู่จะมีแต่นิราศเสียเมื่อไหร่เพราะ ท่านยังมีงานประพันธ์ชิ้นเยี่ยมที่คงความอมตะมาจนทุกวันนี้ให้เราศึกษาอยู่มากมาย อย่าง พระอภัยมณี บทเสภาขุนช้าง-ขุนแผน(ตอนกำเนิดพลายงาม) และอีกมากมายหลายเรื่อง

จากนิราศทั้ง 9 และผลงานอีกหลากหลายของสุนทรภู่ ก็จะเห็นได้ว่าสุนทรภู่นั้นนอกจากจะเป็นกวีที่ยอดเยี่ยมแล้ว ท่านยังเป็นนักเดินทางระดับหาตัวจับยาก เช่นเดียวกับความเป็นคนเจ้าชู้ระดับหาตัวจับยาก และความเป็นนักดื่มระดับคอทองแดง ซึ่ง ณ วันนี้ ก็มีชายไทยเป็นจำนวนมากที่พยายามเดินตามรอยความเจ้าชู้ และความเป็นนักดื่มของสุนทรภู่เหมือนกัน
 
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
“สุนทรภู่” บรมครูกวีศรีรัตนโกสินทร์

สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร นามเดิม “ภู่” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ เกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2329 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แถวคลองบางกอกน้อย(แต่มีคนมักเข้าใจผิดว่าเกิดที่ อ.แกลง จ.ระยอง เนื่องจากว่ามีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ที่นั่น)

โดยในหนังสือสุนทรภู่แนวใหม่ของ ดำรง เฉลิมวงศ์ ได้เขียนเล่าถึงประวัติของสุนทรภู่เอาไว้ว่า
“บิดาชื่อพลับ เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง ถูกเกณฑ์มาในกองทัพพระเจ้าตากสิน มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนศรีสังหาร มีภรรยาชื่อช้อย แต่งงานแล้วมีบ้านพักอยู่ใกล้กำแพงวังหลัง คลองบางกอกน้อย เมื่อสุนทรภู่มีอายุได้ประมาณ 1 ปี บิดามารดาก็หย่าร้างกัน โดยบิดาได้เดินทางกลับเมืองแกลง เพื่อบวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่า และเป็นเจ้าคณะเมืองแกลง  สมณศักดิ์เป็นพระครูอรัญธรรมรังษี แต่ไม่ปรากฏว่ามรณภาพเมื่อไร

“มารดาชื่อ ช้อย ชาวเมืองฉะเชิงเทรา มาอยู่กับบิดามารดาที่คลองบางกอกน้อย แต่งงานกับขุนศรีสังหาร คลอดสุนทรภู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน ถูกคัดเลือกเข้าไปเป็นนางนมของธิดาในพระราชวังหลัง ประมาณ 1 ปีแล้วหย่าร้างกับสามี แล้วมีสามีใหม่ ลูกหญิงอีก 2 คนชื่อ ฉิม และ นิ่ม ถึงแก่กรรมราว พ.ศ. 2384”

สุนทรภู่ได้เล่าเรียนวิชาหนังสือในสำนักวัดชีปะขาว ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า วัดศรีสุดาราม ในคลองบางกอกน้อย ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดี ตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม

ใน พ.ศ. 2359 ในรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมอาลักษณ์ได้เป็นขุนสุนทรโวหาร ระหว่างรับราชการต้องจำคุกเพราะเมาสุราจนครองสติไม่ได้ (สุนทรภู่ถือกำเนิดขึ้นมา โหรผูกดวงเสร็จ ก็ฟันธงเลยว่า เด็กคนนี้อยู่ใน “อาลักษณ์ขี้เมา”) ภายหลังพ้นโทษ ได้เป็นพระอาจารย์ ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2

ส่วนในรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องของการดื่มสุราและอื่นๆจนถูกปลดออกจากตำแหน่ง ต่อมาจึงไปบวชอยู่ที่วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ ระหว่างนี้ ได้ลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา

ครั้นเจ้านายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่ก็ขาดที่พึ่งได้รับความลำบากมาก ต้องลอยเรื่ออยู่และแต่งหนังสือขาย เลี้ยงชีวิต ต่อมาจึงได้รับพระอุปถัมภ์ จากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในสนมเด็จพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ครองราชย์ สุนทรภู่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 ขณะนั้นมีอายุ 66 ปี และรับราชการต่อมาอีก 4 ปี ก็เสียชีวิตในพ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี

สุนทรภู่นั้นมีผลงานทางด้านงานนิพนธ์มากมาย จนได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นกวีดีเด่นของโลก ในวาระครอบรอบวันเกิด 200 ปีของท่านเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529

สำหรับในวันที่ 26 มิ.ย. 47 นี้ก็เป็นครบรอบ 218 ปี ของสุนทรภู่ ในหลายๆพื้นที่ หลายๆโรงเรียนก็ ได้จัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ ยอดกวีศรีรัตนโกสินทร์ที่ตัวตาย แต่ชื่อยังคงอยู่คู่เมืองไทยไปตราบชั่วนิรันดร์

 

 
กำลังโหลดความคิดเห็น