"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"
กรุงเทพฯ ไม่ใช่เพียงเมืองหลวงของประเทศไทยที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก ไม่ใช่เพียงเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยสีสันความรุ่งเรืองของอดีตและความศิวิไลซ์ของปัจจุบัน และบางครั้งยังได้เห็นความล้ำสมัยในยุคอนาคตมาให้เห็นกันอยู่เนืองๆ คำกล่าวที่ว่า “ไม่ได้มากรุงเทพฯ มาไม่ถึงเมืองไทย” จึงสะท้อนให้เห็นภาพของกรุงเทพฯ ว่าเปรียบเสมือนเป็นจุดหมายการเดินทางที่ทั้งคนไทยและจากทั่วโลกต่างมุ่งมาเยือน อย่างน้อยก็สักครั้งในชีวิต
มนต์เสน่ห์ของกรุงเทพฯ คืออะไร ถ้าไม่ใช่สีสันแห่งความหลากหลายที่ไม่หยุดนิ่ง รวมถึงเป็นเมืองที่มีการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมใหม่ กับวัฒนธรรมเก่า ซึ่งกับคนส่วนมากแล้วนี่คือเมืองที่มีสีสันมีพลังขับเคลื่อนในตัวเอง ที่แม้มาเยือนกี่ครั้งก็ยังประทับใจ และได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง
ความงดงามอลังการของวัดพระแก้ว ความใหญ่โตของยักษ์วัดโพธิ์ ภาพจิตรกรรมที่วัดราชประดิษฐ์ คุณหมอในชุดสีขาวกำลังรักษาคนไข้ที่ตึกศิริราช ชาวบ้านพายเรือไปมาในลำคลอง ฯลฯ นั่นอาจเป็นภาพคุ้นตา ที่อาจจะเคยเห็น แต่จริงๆแล้วกรุงเทพฯยังมีอะไรใหม่ๆ ในสถานที่เดิมๆ ที่เราอาจจะยังไม่เคยรู้
เคยทราบกันไหมว่า มัสยิดทรงไทยแห่งเดียวในโลก อยู่ที่ใด หรืออาหารอร่อยในตลาดโบราณอายุกว่าร้อยปี คือย่านใด หรือชุมชนริมป่าชายเลนที่ยังคงรักษาและสืบทอดขนบธรรมเนียมไว้ได้อย่างเข้มแข็งคือชุมชนใด
กองการท่องเที่ยว สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดพิมพ์หนังสือ “มุมมองใหม่ในบางกอก” หรือ Unseen in Bangkok ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อนำเสนอ 30 สถานที่ของกรุงเทพฯให้กับผู้ที่ต้องการเที่ยวชมกรุงเทพฯ ในมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะยังไม่รู้จักกันหรือ อาจจะเคยผ่านแต่ไม่เคยแวะเยี่ยมเยือน
อย่างเช่นถ้าอยากชมพระราชวังแวร์ซายส์ ก็ไม่ต้องไปถึงประเทศฝรั่งเศสก็ได้ เพราะที่วัดราชบพิธฯ ซึ่งเป็นวัดที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายเบญจรงค์ จนได้สมญานามว่า “พระอารามแห่งเครื่องเบญจรงค์” และภายในพระอุโบสถนั้นก็เป็นศิลปะโกธิค สันนิษฐานว่าจำลองมาจากพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซายส์ พระพุทธอังคีรส (อีกพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า) ประดิษฐานบนฐานชุกชี ทำจากหินอ่อนอิตาลี
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่คุ้นตาในวัดต่างๆนั้น ล้วนแต่เป็นฝีมือจิตรกรไทยแท้ แต่ภาพที่ซุ้มพระประธาน วัดราชาธิวาส นั้น กลับปรากฏภาพไทยอันอ่อนช้อยสวยงาม ทั้งที่คือฝีมือจิตรกรฝรั่งตาน้ำข้าวชาวอิตาลีแท้ๆ นามว่าซีริโกลิ คนเดียวกับที่เขียนภาพประกาศเลิกทาสบนโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม และภาพบนเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน อันเลื่องชื่อ
“อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ” ว่าจะมีพระประธานมากมายขนาดนี้ หรือถ้าอมพระได้จริงก็คงจะยากสักหน่อย เพราะพระประธานที่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร นั้นมีมากถึง 28 องค์ โดยอยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน แต่ละองค์ล้วนเป็นพระหล่อปางมารวิชัยขนาดเท่ากัน ประดิษฐานลดหลั่นกันลงมาเป็นทรงจอมสูง มีพระนามจารึกหน้าฐานทุกองค์
โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ต่างๆเพื่อการศึกษา ซึ่งมีศพต่างๆจัดไว้ให้ได้ดูกัน เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สืบจากศพ ก็ว่าได้ ทั้งพิพิธภัณฑ์ซีอุย ตั้งอยู่ชั้น 2 ตึกอดุลเดชวิกรม จัดแสดงเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตร วัตถุพยานสำคัญ ที่สำคัญคือเครื่องมือชันสูตรพระบรมศพในคดีสวรรคต รัชกาลที่ 8 และเสื้อผ้าเปื้อนเลือดในคดีนวลฉวี หรือที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ (คองดอน) จัดแสดงอวัยวะทุกส่วนของมนุษย์ รวมถึงการจัดแสดงชิ้นงานการชำแหละเส้นเลือดและเส้นประสาททั่วร่างกายที่สมบูรณ์ที่สุด ชิ้นเดียวในโลก
ชุมชนมอญ ริมป่าชายเลน ที่บางกระดี่ เป็นชุมชนหนึ่งที่คงรักษาและสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทั้งการแข่งเรือ การเล่นสะบ้า สงกรานต์ โดยมีวัดบางกระดี่เป็นศูนย์กลางคนในชุมชน ภายในหมู่บ้านบางกระดี่ยังมีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องดนตรี คัมภีร์อักษรมอญ รวมทั้งถ้วยชามละเครื่องปั้นดินเผาโบราญ ที่ชาวบ้านขุดได้ริมตลิ่งชายคลอง
ตลาดนางเลิ้ง ที่บางที่มาก็ว่ามาจากชื่อ “ตุ่มอีเลิ้ง” ที่ชาวมอญปทุมธานีล่องเรือมาขาย รวมทั้งพืชผักผลไม้จากเรือกสวนในละแวกใกล้เคียงและต่างจังหวัด จนลายเป็นตลาดใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2444 และยังเป็นแหล่งบันเทิงทั้งหนัง ละครชาตรี โรงบ่อน โดยเฉพาะอาหารอร่อย จนเกิดเป็นเพลงดังในสมัยนั้น แม้ในสมัยนี้บรรยากาศตลาดโบราณ เรียงรายด้วยแผงและร้านอาหารคาวหวานฝีมือเก่าที่ขึ้นชื่อก็ยังมีอยู่ ทั้งสาคูไส้หมู ไส้กรอกปลาแนม ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าน้ำแดง เครื่องในวัวต้ม ขนมเทียน ขนมไทย ขนมจีนไหหลำ
นี่เป็นเพียงบางส่วนของกรุงเทพฯ ซึ่งยังมีแง่มุมและเรื่องราวใหม่ ๆในสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง หรือไม่รู้ว่ามีอยู่ หรืออาจจะเคยรู้เคยเห็น แต่อาจจะเป็นการแค่ “มองผ่าน” ไม่ใช่มองพิศ” และเป็นการมองมุมเดียว ณ มุมเดิม ทั้งที่จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ ยังมีเรื่องราวที่มีคุณค่าอีกมากมายให้ค้นหา จึงไม่น่าพลาดหนังสือ “30 มุมมองใหม่กรุงเทพฯ” ไม่ว่าด้วยประการใดทั้งปวง เพราะจะเป็นคู่มือท่องเที่ยวที่ทำให้ได้รู้จักกรุงเทพฯ ยิ่งขึ้น
ผู้ที่สนใจหนังสือ มุมมองใหม่ในบางกอก (Unseen in Bangkok) สามารถติดต่อขอรับหนังสือฟรีได้ที่ กองการท่องเที่ยว สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 0-2225-7612-4
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
30 สถานที่ อันซีนบางกอก
1. พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม : เครื่องทรงพระแก้ว พระแท่นพ่อขุน
2. วัดราชประดิษฐ์ : ภาพ ร.4 ทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่หว้ากอ
3. วัดราชบพิธฯ : แวร์ซายส์ในวัดไทย
4. วัดพระเชตุพนฯ : พระอกแตก วัดโพธิ์
5. วัดสุทัศนเทพวราราม : วัดสัญลักษณ์แห่งจักรวาล
6. ตลาดนางเลิ้ง : ย่านอาหารอร่อยในตลาดอายุกว่าร้อยปี
7. ชุมชนบ้านบาตร : แหล่งบาตรทำมือ
8. พิพิธภัณฑ์ฟอสซิล หิน ผีเสื้อ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล : พิพิธภัณฑ์ผีเสื้อพันธุ์ใหม่ ค้นพบโดยคนไทย
9. วัดราชาธิวาส : ภาพไทย ฝีมือจิตรกรฝรั่ง
10. เมืองจำลองดุสิตธานี : เมืองจำลองการปกครองแบบประชาธิปไตย
11. พิพิธภัณฑ์ศิริราช : พิพิธภัณฑ์สืบจากศพ
12. ย่านบางขุนนนท์ : แหล่งอาหารอร่อย
13. วัดระฆังโฆสิตาราม : หอไตรสามหลังแฝด อายุ 200 ปี
14. วัดสุวรรณารามและชุมชนบ้านบุ : ภาพประชันฝีมือช่างเอกสมัย ร.3 และช่างบุรุ่นสุดท้าย ที่คลองบางกอกน้อย
15. วัดป่าเชิงเลน : ฟื้นวัดร้างใต้บึงเลน สู่วัดป่ากลางกรุง
16. วัดปทุมคงคา : แดนประหารแห่งแรกอยู่ในวัด
17. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก : พิพิธภัณฑ์ชีวิตชาวบางกอกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
18. โบสถ์กาลหว่าร์ : โบสถ์โกธิค ริมน้ำเจ้าพระยา
19. วัดโพธิ์แมนคุณาราม : วัดจีนศิลปะทิเบต อดีตเจ้าอาวาสมรณะในท่านั่ง ร่างกายไม่เน่าเปื่อย
20. สุสานวัดดอน : สวนสวยในป่าช้า
21. วัดช่องนนทรี : ศิลปะสมัยพระนารายณ์ในกรุงเทพฯ
22. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร : หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ
23. วัดอินทารามวรวิหาร : เจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
24. มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) : มัสยิดทรงไทย ศิลปะ 3 ชาติ
25. วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : วัดที่มีองค์พระประธาน 28 องค์
26. บ้านพิพิธภัณฑ์ : พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตคนไทยสมัย “เมื่อเรายังเด็ก”
27. คลองมหาสวัสดิ์ : ล่องเรือชมสวนเกษตร
28. ป่าชายเลนบางขุนเทียน : ป่าชายเลนผืนสุดท้ายของกรุงเทพฯ
29. หมู่บ้านมอญบางกระดี่ : ชุมชนมอญ ริมป่าชายเลน
30. วัดกระทุ่มเสือปลา : พระพุทธรูปประดับเพชร พิพิธภัณฑ์หุ่นเกจิอาจารย์ชื่อดัง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
นอกเหนือไปจาก 30 อันซีนบางกอกของกองการท่องเที่ยว แล้วอันซีนบางกอกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็มีอีก 4 สถานที่ซึ่งประกอบด้วย
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จิตรกรรมฝาผนังที่ยาวที่สุดในโลก
วัดพระแก้ว ศาสนสถานคู่บ้านเมืองสยาม งามด้วยสถาปัตยกรรมล้ำเลิศราวเมืองสวรรค์ ภายในระเบียงรอบๆพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมร้อยเรียงเล่าขานตำนานเรื่องรามเกียรติ์ถึง 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ นับเป็นจิตกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครูแห่งยุครัตนโกสินทร์
สวนสัตว์ดุสิต หลุมหลบภัยเขาดิน
พื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพมหานคร แหล่งรวมของสัตว์ป่าซึ่งนำมาไว้ให้ประชาชนเรียนรู้ศึกษา อีกทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ใครจะเชื่อว่าเขาดินวนา ใจกลางกรุงเช่นนี้จะมีหลุมหลบภัยสมัยมหาสงคราม เอเชียบูรพาซ่อนอยู่ให้ผู้คนเรียนรู้เรื่องราวครั้งอดีต
พระที่นั่งวิมานเมฆ ตำหนักไม้สักทองหลังใหญ่ที่สุดของโลก
รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆ ขึ้นภายในพระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ. 2444 โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงกำกับงานออกแบบ ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากเกาะสีชัง ชะลอมาปลูกขึ้นใหม่ด้วยไม้สักทองทรงแปดเหลี่ยม สลักเสลาลวดลายขนมปังขิงอ่อนช้อยงดงามดุจวิมานบนเมฆา
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ลายประดับมุกบนฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์
ความเป็นเลิศของเชิงช่างหลวงในลวดลายประดับมุกอันละเอียดอ่อน ที่พระบาทพระพุทธไสยาสน์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ปรากฏเป็นภาพมงคล 108 อันสื่อถึงลักษณะมหาบุรุษของพระพุทธเจ้า ตามคติอินเดียและลวดลายประดับอื่นๆ ที่เป็นคติจีนอย่างลายเมฆ นก และหงส์ ล้วนสะท้อนภาพของบ้านเมืองในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่รับอิทธิพลจากหลากหลายชนชาติมาประยุกต์ในงานศิลป์ได้อย่างลงตัว