xs
xsm
sm
md
lg

ท่องไป ในท้องช้างยักษ์ ที่“พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพของช้างตัวโต มี 3 เศียร ตั้งอยู่บนฐานทรงกลมขนาดใหญ่ มองเห็นได้ในระยะไกล ดูอลังการงานสร้างเหลือเกิน เป็นภาพที่สร้างความสะดุดตาและแปลกใจ ผนวกกับความรู้สึกทึ่งในประติกรรมชิ้นใหญ่ยิ่งนี้ ทำเอา “ผู้จัดการท่องเที่ยว”เกิดอาการหยุดนิ่งอึ่งไปชั่วขณะก่อนที่จะก้าวเท้าเข้าไปสัมผัสช้างตัวนี้กันอย่างใกล้ชิด

ใช่แล้วช้าง 3 เศียรตัวยักษ์นี้จะเป็นช้างอะไรไปไม่ได้นอกจากช้าง “ช้างเอราวัณ” แห่ง “พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ” จ.สมุทรปราการ อีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงของเล็ก วิริยะพันธุ์ ที่เปี่ยมล้นด้วยแนวคิดและจินตนาการ โดยใช้เวลาสร้างนานนับ 10 ปี

“ผู้จัดการท่องเที่ยว” เมื่อแรกที่เห็นช้างเอราวัณแต่ไกล ก็รู้แหละว่าต้องตัวโตแน่ๆ แต่พอเดินเข้าไปยืนเทียบใกล้ๆแล้วตัวเราประมาณเล็บเท้าได้ โอ้ แม่เจ้าโว้ย!!! ช้างอะไรจะโตปานนั้น

เมื่อช้างเอราวัณตัวโต ท้องช้างก็ต้องโตตามด้วย เพราะธรรมชาติของช้างทั้งช้างจริงและช้างในเทพนิยายส่วนท้องนับว่าเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในองค์ประกอบของตัวช้าง ซึ่งในท้องช้างและฐานโดมที่ช้างยืนอยู่นี่แหละ เป็นตัวอาคาร “พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ” ที่รวบรวมศิลปวัตถุและงานศิลปะอันงดงามแห่งภูมิปัญญาตะวันออกไว้ให้ชมกันเพียบ

แต่ว่าก่อนที่จะเข้าไปชมความงดงามในท้องช้าง เพื่อเป็นสิริมงคลเราควรไปกราบไหว้บูชาองค์ช้างเอราวัณกันก่อน ซึ่งวิธีการสักการะก็ง่ายมาก เพราะทางพิพิธภัณฑ์ฯ เขามีแพ็คเกจตั๋วทั้งการเข้าชมงานศิลปะในท้องช้างและบูชาองค์ช้างเอราวัณขายให้เรียบร้อย เรียกว่า ทูอินวัน ในตั๋วใบเดียว แหมเก๋ ซะไม่มี (ส่วนใครที่ไม่ซื้อเป็นแพ็คเกจจะซื้อแยกส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถทำได้โดยไม่กติกาแต่อย่างใด)

เหตุที่มีคนมาสักการะองค์ช้างเอราวัณกันจำนวนมาก ก็เพราะปากต่อปากที่บอกันมาว่าองค์เอราวัณนี่ศักดิ์สิทธิ์นัก หลายๆคนนับถือเป็นเจ้าพ่อช้างเลยทีเดียว เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ว่าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่เป็นดีที่สุด แต่ในวันที่ไปเราก็เห็นคนมาแก้บนองค์ช้างฯกันเป็นจำนวนมาก โดยผลไม้ยอดฮิตที่นำมาแก้บนก็เห็นจะหนีไม่พ้นกล้วยน้ำว้าที่ยกมากันเป็นหวี เป็นเครือ เลยทีเดียว

สำหรับวิธีการสักการะองค์ช้างฯ ก็ต้องถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะที่นี่จะใช้ธูปเทียนและดอกดาวเรือง ไหว้พร้อมคาถาก่อน นัยว่าเพื่อให้ชีวิตรุ่งเรือง จากนั้นก็จะเป็นการลอยดอกบัวที่สระน้ำข้างฐานของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวศรีลังกา ที่ว่าการลอยดอกบัวถือเป็นการเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับชีวิต

หลังจากนั้นก็เป็นการเดินลุยเข้าไปในตัวช้าง ซึ่ง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไม่ลืมที่จะปิดทองสักการะองค์ช้างเอราวัณจำลองก่อนเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษไปในตัว

แล้วในทันทีที่เราได้เดินดุ่มเข้าสู่ในตัวช้าง ในช่วงฐานที่สร้างเป็นอาคารทรงกลมขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ในนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกที่เดินเข้าไปชมเป็นส่วนที่เรียกกันว่า ชั้นบาดาล เป็นส่วนของห้องโถงพิพิธภัณฑ์ฯ ชั้นล่างสุด ที่ภายในห้องแห่งนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ้วยชามสังคโลก พระพุทธรูป รวมไปถึงการจัดนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ชีวิตและผลงานของคุณเล็ก และคุณพากเพียร วิริยะพันธุ์

ออกมาจากชั้นบาดาล เราก็เดินขึ้นสู่โลกแห่งความเป็นจริง คือ ชั้นโลกมนุษย์ที่เป็นชั้น1 ของห้องโถงพิพิธภัณฑ์ ฯ ที่มีทางเข้าเป็นซุ้มประตูถึง 8 ประตู และด้านบนของแต่ละซุ้มแกะสลักปูนปั้นเป็นรูปเทวดาประจำวันทั้ง 7 (แต่ที่มี 8 ซุ้ม เพราะวันพุธมีกลางวันและกลางคืน) ที่มีความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมปูนปั้นเป็นอย่างมาก

เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูหนึ่งเข้าไปด้านในห้องโถง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ถึงกลับตะลึงอ้าปากค้างกับภาพความงามหลากสีสันของสิ่งก่อสร้างที่เห็นอยู่ตรงหน้า เสาขนาดใหญ่จำนวน 4 ต้นที่เป็นแกนหลักของอาคาร ซึ่งคุณพี่ไกด์นำเที่ยวแกบอกว่าเปรียบดังพรหมวิหาร 4 ที่ช่วยค้ำจุนมนุษย์เรา

โดยเสา 2 ต้น กำลังตกแต่งด้วยการหุ้มดีบุกที่สลักเป็นเรื่องราวของศาสนาพุทธ และคริสต์ ส่วนอีก 2 ต้นกำลังรอตกแต่งเป็นเรื่องของศาสนาอิสลาม และฮินดู

เดินวนจนรอบดูความงามและลวดลายของเสา และผนังได้สักพัก เราก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าบันไดสองข้าง ที่บันไดหนึ่งเป็นสีขาว และอีกบันไดหนึ่งเป็นสีชมพู ปั้นแต่งรูปร่างคดเคี้ยวไปตามทางและบรรจงตกแต่งประดับลวดลายด้วยเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์หลากสีสัน ที่มีทั้งตัดเป็นชิ้นงานเล็กๆ บรรจงประดับลงไป และก็มีที่ใช้เครื่องถ้วยชามทั้งชิ้นประดับลงไปเลย สลับลายสอดสีสันเข้ากันได้อย่างลงตัว บันไดที่สร้างขึ้นมาเปรียบเสมือนว่าเป็นทางที่จะนำเราขึ้นสู่โลกสวรรค์ชั้นบน และการที่เราจะขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ชั้นบนนั้น ต้องเลือกเดินขึ้นบันไดเงินที่เป็นสีขาว ส่วนบันไดสีชมพูคือบันไดทอง เอาไว้ใช้เป็นทางเดินขาลงมาจากสวรรค์

พอเดินขึ้นไปได้เพียงครึ่งทางสะพานตรงกับกึ่งกลางห้องโถงพอดี ก็ต้องหยุดชมความอลังการงานสร้างกันอีกหนึ่งชิ้น เพราะมีการสร้างเก๋งจีนตกแต่งด้วยลายปูนปั้นสวยสดเกินบรรยาย มองเหนือขึ้นไปเป็นซุ้มพระเกตุทรงพระขรรค์ และภายในเก๋งจีนมีรูปสลักหินเจ้าแม่กวนอิม แล้วเราก็เดินกันต่อจนมาถึงชั้นที่ 2 ของอาคาร ตรงชั้นนี้พอแหงนหน้ามองขึ้นไปมองเพดานอาคาร ความงดงามของภาพแผนที่โลกโบราณขนาดใหญ่บนงานกระจกสี ขับกับแสงจากดวงอาทิตย์สาดส่องให้เห็นลวดลายที่งดงามจับตา วงเล็กเป็นรูปทวีปทั้ง5 ส่วนวงตรงกลางเป็นรูปกลุ่มจักรราศี เป็นผลงานของศิลปินชาวเยอรมันชื่อนาย Mr.Schwarzkopf

และที่ชั้น 2 จะเป็นทางที่เราจะขึ้นไปสู่ท้องช้างกันแล้ว โดยมีทางขึ้นให้เลือก 2 ทาง คือ ขึ้นด้านขาหลังซ้ายจะเป็นลิฟต์ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีแรงเดิน กับขึ้นทางขาหลังขวาของช้างที่เป็นทางบันไดวนถึง 60 ขั้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีแรงเดิน “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เลือกเดินทางบันไดเพราะยังมีแรงเดินไหว พร้อมๆ กับที่ได้ยลภาพวาดนางอัปสรตรงผนังเสมือนกับร่ายรำเป็นเพื่อนไปตามทาง แล้วเราก็เดินมาหยุดพักกันครึ่งทางตรงส่วนของกระเพาะช้างกันก่อนที่จะขึ้นไปถึงในตัวช้างข้างบน

ตรงกระเพาะช้างนี้เป็นจุดพักเหนื่อยที่ดีมาก เพราะด้านข้างสีช้างมีช่องกระจกบานเล็กๆ ที่เราสามารถมองส่องออกไปดูวิวข้างนอกเห็นภาพจากมุมสูงได้อย่างชัดเจน อย่างถ้าเอาแก้มขวาแนบกับกระจกแล้วมองออกไปทางด้านซ้ายมองลอดงวงช้างไป ถ้าฟ้าโปร่งเป็นใจจะมองเห็นสะพานแขวนเลยทีเดียว (ลองทำแล้วเห็นจริงๆ ไม่ได้โม้)

พักกันพอหายเหนื่อยก็เดินขึ้นบันไดกันต่อเพื่อขึ้นสู่ท้องช้างหรือตัวช้างกัน เพียงก้าวแรกที่เหยียบขึ้นไปยังพื้นที่ตัวช้าง เสมือนกับว่าเราอยู่ในห้วงแห่งจักรวาลบนสรวงสวรรค์ยังไงอย่างนั้นเลยเชียว ชั้นที่ 3 นี้จึงเรียกว่าชั้นสวรรค์ ที่เพดานด้านบนเต็มไปด้วยหมู่ดาวพระเคราะห์น้อยใหญ่ ดวงอาทิตย์แดงสดลูกโต กลุ่มดาวทางช้างเผือก และเหล่าอุกาบาตดาษดื่นทั่วฟ้าเพดาน ซึ่งเป็นภาพวาดเขียนสีฝุ่นของศิลปินคนเดียวกับที่วาดภาพกระจกสีนั้น

เบื้องหน้าตรงกลางท้องจักรวาลนี้มีพระพุทธรูปปางลีลาเป็นพระประธาน ที่ถอดแบบจำลองมาจากวัดเบญจมบพิตรและบนยอดพระเกตุมาลามีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ ถัดขึ้นไปด้านบนประดิษฐานพระพุทธสิงหิงค์จำลอง และพื้นที่รอบๆ ทั้ง 2 ด้าน มีพระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆ ที่คุณเล็กสะสมไว้จัดแสดงให้ได้ชมกัน

หลังจากใช้เวลาชื่นชมกับความงามและความน่าทึ่งของงานสร้างอันยิ่งใหญ่ตระการตาในตัวช้างเอราวัณนี้ อยู่พอสมควรก่อนที่เดินกลับลงมาจากท้องช้าง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เดินผ่านบันไดวนกลับลงจากโลกสมมติแห่งสรวงสวรรค์สู่โลกแห่งความจริง ที่เมื่อแหงนคอตั้งบ่ามององค์ช้างเอราวัณฯแล้ว รู้สึกได้ว่าเราเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็บขององค์ช้างเอราวัณเท่านั้นเอง

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ อาคารมีความสูงจากพื้นดินถึงโหนกหัวช้าง 43.60 ม. ตัวช้างเอราวัณสูง 29 ม. กว้าง 12 ม. ยาว 39 ม. น้ำหนักตัวช้างรวม 250 ตัน ส่วนลำตัว 150 ตัน ส่วนเศียร 100 ตัน ใช้ทองแดงทำผิวช้าง

การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ รถประจำทางสาย 25, 142, 365 และรถปรับอากาศสาย ปอ.102, ปอ.507, ปอ.511, ปอ.536 ค่าบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ พร้อมสักการะผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 50 บาท เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 น.-18.00น. โดยมีไกด์นำชมพร้อมอธิบายรายละเอียด โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่0-2371-3135-6

กำลังโหลดความคิดเห็น