ในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการน้ำหมึกคึกคักเป็นพิเศษ จะด้วยการปรากฏกายของนักเขียนหนุ่ม(หัวโล้น)นามว่า ปราบดา หยุ่น ผู้สร้างปรากฏการณ์ได้รับรางวัลซีไรท์ (พ.ศ 2545)ในขณะที่เขาอายุเพียง 29 ปี หรือการที่เขามีนามสกุลดังขนาดที่เอ่ยออกมาแล้ว คนทั้งประเทศต้องรู้จัก
จะด้วยอะไรก็ตาม แต่ก็ทำให้ “ปราบดา หยุ่น”ในวันนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลายต่อหลายคนเป็นแฟนหนังสือของเขาอย่างเหนียวแน่น แต่ก็มีไม่น้อยถึงกับส่ายหน้าในสำนวนภาษาที่กวนๆจนกระทั่งบางคนถึงกับกล่าวหาว่าเขาเป็นกบฏทางตัวหนังสือ ในขณะที่บางคนอาจมองว่าเขาเป็นอาร์ทติสต์คนหนึ่ง ที่มักทำอะไรตามอารมณ์ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่านอกเหนือจากการลุ่มหลงในการเขียนหนังสือแล้ว ปราบดายังชื่นชอบการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ
“ประสบการณ์ในการเดินทางนี่เริ่มเดินทางมาตั้งแต่เด็ก เมื่อตอน 5-6 ขวบ ตอนนั้นมีความจำเป็นที่ต้องไป เพราะคุณพ่อ(สุทธิชัย หยุ่น)ได้ทุนไปฮาร์วาร์ดก็ต้องไปอยู่ที่นั่น 9 เดือน คุณพ่อก็เลยพาไปทั้งครอบครัวเลย คือ คุณแม่(นันทวัน หยุ่น) น้องสาว(ชิมบุญ หยุ่น) และเรา ก็เป็นครั้งแรกที่ขึ้นเครื่องบิน ตอนนั้นยังเด็กใครให้ไปไหนก็ไป คือไม่ได้เกิดจากความต้องการของเราเอง แต่พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็ได้มีโอกาสไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็จะมีช่วงปิดภาคเรียน (ซัมเมอร์) แม่ก็จะมาหาแล้วก็จะพาไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ก็จะแบบว่าซื้อทัวร์เป็นแพ็กเกจเริ่มตั้งแต่ตี5-2 ทุ่ม ดูประวัติศาสตร์ ดูอะไรต่างๆความรู้สึกเราตอนนั้นคือเหนื่อยมากและตอนเด็กเรายังไม่ชอบ บางทีรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องฟังต้องทำตาม บอกตามตรงว่าตอนแรกไม่ได้คิดที่จะชอบเดินทาง แต่พอเดินทางมากขึ้น ก็คิดว่าคงมีส่วนที่ทำให้ชอบขึ้นมา มันเหมือนกับชินที่จะได้เห็นอะไรใหม่อยู่ตลอดเวลา
เริ่มรู้สึกว่าชอบการเดินทางจริงๆ เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ตอนที่กลับจากอเมริกา เพื่อที่จะมาเมืองไทยแล้วมีโอกาสได้แวะเที่ยวฮ่องกงเพราะว่ามันเป็นทางผ่าน หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปเวียดนามคนเดียว การที่ไม่เคยเดินทางคนเดียวมาก่อนก็ทำให้รู้ว่า จริงๆแล้วการเดินทางคนเดียวมันสบายใจดี คล้ายๆ ได้อยู่กับตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีคนมาทำให้เราต้องเกรงใจว่าจะชอบรึเปล่า คือไม่ต้องห่วงความรู้สึกใครเพราะเราไปคนเดียว หลังจากนั้นก็เลยเดินทางคนเดียวมาตลอด จนกระทั่งบางครั้งทำงานมากขึ้น มันก็มีเหตุให้ต้องเดินทางมากขึ้น อย่างเช่นมีคนเชิญไปตามประเทศต่างๆ”
ในการเดินทางแต่ละครั้ง อาจต้องอาศัยพาหนะหลายหลากในการที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน รถยนต์ เรือ แต่สิ่งที่ปราบดาชอบที่สุดกลับเป็นการเดินทางธรรมดาๆอย่างการนั่งรถไฟ ปราบดาให้เหตุผลว่าเหมาะกับจังหวะชีวิตของเขา เพราะเป็นการเดินทางที่ไม่ถึงเร็วจนเกินไป ในขณะเดียวกันมันก็ไม่เป็นพาหนะที่คับแคบ สามารถลุกนั่งได้ เบื่อๆก็เดิน แถมยังสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ตลอดเวลา
ด้วยอาชีพนักเขียนอิสระ ทำให้ปราบดามีเวลามากพอที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆตามที่เขาตั้งใจไว้ และบ่อยครั้งที่การเดินทางก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ซึ่งเขาสามารถนำมาใช้ในงานเขียนได้
“ในการเดินทางแต่ละที่ มีบ้างที่จะเอามาเป็นตัวช่วยในการเขียนหนังสือ แต่มันไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่สิ่งที่ช่วยได้มากคือเรื่องการเรียบเรียงความคิด และเวลาที่จะคิดไอเดียใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างอยู่บนรถไฟ ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน มันทำให้เรามีไอเดียอะไรใหม่ๆ ซึ่งไอเดียส่วนใหญ่ที่เขียนอยู่นี้ก็มาจากการเดินทาง มีบ้างเหมือนกันที่เราต้องการไปเพื่อที่จะพักผ่อนจริงๆ แต่พอไปถึงสมองก็เริ่มทำงาน อยู่เฉยๆนิ่งๆแบบไม่คิดอะไรได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังมองว่าการเดินทางเพื่อที่จะไปพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ มันเหมือนกับไปซักฟอกสมองที่มันล้าๆไปชาร์ตแบตเตอรี่ให้กับชีวิต”
แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบประเทศที่ชอบกับลักษณะของผู้หญิง แน่นอนว่าต้องเป็นประเทศญี่ปุ่น เพราะที่นี่ปราบดาหลงใหลทั้งความทันสมัยและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ผสานกลมกลืนกันจนเป็นหนึ่งเดียวกันจนก่อให้เกิดเสน่ห์แก่แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้
“ถ้าถามว่าชอบประเทศไหนมากที่สุด ก็คงจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ชอบความทันสมัยของโตเกียว และบุคลิกของวัฒนธรรมเก่าของเมืองเกียวโต จะว่าไปแล้วก็คล้ายกับผู้หญิงญี่ปุ่นเหมือนกัน ที่มีทั้ง 2 แบบ ทั้งความเป็นคนสมัยใหม่ด้วย และยังมีความผูกพันกับวัฒนธรรม เราว่าญี่ปุ่นมันมีความสุดขั้ว ตรงที่ความทันสมัยของมันคือ
ความทันสมัยของโลก เทคโนโลยีที่เราใช้ทุกวันนี้ก็มาจากประเทศญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน การเป็นวัฒนธรรมโบราณของเขามันก็มีบุคลิกที่ประเทศอื่นไม่เหมือน เสน่ห์มันอยู่ตรงที่เขาไม่ทิ้งมัน แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ อย่างผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศ ชีวิตประจำวันเขาก็จะทำงานปกติ แต่งตัวร่วมสมัย แต่พอเสาร์-อาทิตย์เขาก็อาจจะลุกมาเรียนชงชา ฝึกอะไรที่มันเกี่ยวกับวัฒนธรรมโบราณ ใส่ชุดกิโมโน มันก็เลยเป็นเสน่ห์ของเขา ที่เขาพยายามจะอยู่ในสองโลกพร้อมๆ กัน แล้วก็ความเรียบร้อย เขินอาย ผู้หญิงญี่ปุ่นก็ยังมีอยู่
อย่างเวียดนามก็ชอบนะ ชอบตรงที่ประเทศเขาค่อนข้างที่จะต่อสู้ เรียกว่าอยู่ในช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนา เขาก็ดูเป็นประเทศที่มีความกระตือรือร้นมาก อย่างเช่น ทุกเย็นหลังเลิกงานทุกคนจะมาเรียนภาษาอังกฤษกันถึง 3-4 ทุ่ม โดยหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความน่ารักร่าเริงสดใส ผู้หญิงเวียดนามเป็นผู้หญิงที่มีความขวนขวายที่อยากจะรู้จักคนแปลกหน้า อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยากเดินทางไปนอกประเทศ มันเป็นเหมือนเป็นช่วงที่เขากำลังเติบโต แต่ในขณะเดียวกันก็มีความร่าเริง จะว่าไปแล้วก็มีส่วนคล้ายคนไทยเหมือนกัน”
ดูเหมือนชีวิตของปราบดาจะต้องเกี่ยวข้องกับการเดินทางตลอด จนทำให้หลายคนสงสัยว่าแล้วอย่างนี้จะมีเวลาให้กับหัวใจหรือ
“เพิ่งรู้ตัวไม่นานว่าชอบเดินทางนานๆ แล้วก็ชอบไปคนเดียวมันก็ยากที่จะคบใครจริงๆจังๆ เพราะถ้าเค้าไม่เข้าใจมันก็เหมือนไม่สนใจกัน คือในอายุนี้ เราเริ่มสามารถตัดอะไรหลายๆอย่างได้ ไม่ค่อยเหงา เพราะปกติชอบอยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว ยิ่งมาตอนนี้ยิ่งสามารถทำได้มากขึ้นอีก ก็เลยไม่ค่อยอยากกวนใคร แล้วยิ่งการงานของเราที่ไม่มีระบบที่ชัดเจน อยู่ๆ อยากดูหนังตอนบ่ายโมง เราก็ไปได้ มันก็เลยไม่ต้องรอใคร แต่เราว่ามันก็เกี่ยวกับการเดินทางด้วยนะ คือเหมือนเวลาอยู่กรุงเทพฯ มันเป็นการรอที่จะเดินทางครั้งใหม่ เลยไม่อยากผูกมัดใคร”
ถ้าวันหนึ่งมีทางอยู่สองทางให้เลือก ระหว่างการเดินทางกับการเขียนหนังสือ ปราบดาไม่ลังเลเลยที่จะตอบว่า “เขียนหนังสือเพราะอยากให้คนอื่นอ่าน แต่เดินทางเหมือนได้อ่านหนังสือ ไม่อยากหยุดอ่าน จึงไม่อยากหยุดเดินทาง”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ปราบดา หยุ่น เป็นคนเขียนหนังสืออิสระและเป็นคอลัมนิสต์ตามหน้านิตยสารในบางวาระ รวมถึงการเป็นบรรณาธิการ Open House และ Open Air นอกจากงานเขียนปราบดายังทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ และเขียนบทภาพยนตร์ตามโอกาส ทั้งงานเขียนและงานศิลปะของปราบดาบางส่วนได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น ปราบดาได้รับรางวัลซีไรต์จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ความน่าจะเป็น เมื่อปี พ.ศ.2545