xs
xsm
sm
md
lg

"กอบศักดิ์"หวั่นปัญหาไทย-กัมพูชาขัดแย้งลามท่องเที่ยวเสียหาย เร่งหาทางจบโดยเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-และกัมพูชา อาจลุกลามกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงใกล้เข้าสู่ High Season อาจทำให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าลง แนะทุกฝ่ายเร่งหาทางออกให้จบโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับทั้งสองประเทศโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยซึ่งเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวติดลบต่อเนื่อง จากเหตุการณ์ต่าง ๆ อาทิ การลักพาตัวนักท่องเที่ยว เหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมทั้งข่าวเรื่องความปลอดภัยที่เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ทั้งหมดโดยปกติใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจะถูกพูดถึงน้อยลงและคนจะเริ่มกลับมาท่องเที่ยว แต่หากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งกับกัมพูชาจะกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ซึ่งทำให้ภาคท่องเที่ยวปลายปีที่เป็นช่วง High Season ไม่น่าจะฟื้นตัวทัน

"เป็นกำลังใจให้พี่ ๆ ทหาร เป็นเรื่องของความมั่นคงที่ต้องดูแลให้ได้ แต่ขณะเดียกวันก็ไม่อยากให้เรื่องนี้ลุกลาม เพราะว่าไม่ดีกับทั้งสองประเทศ ยิ่งทะเลาะกันยิ่งเป็นจุดที่ทำให้ทุกคนรู้สึกไม่มั่นคง และเกิดเป็นภาพจำ ใครที่คิดว่าจะลงทุนในไทยหรือแม้กระทั่งมาเที่ยวก็รู้สึกไม่ปลอดภัย"

ขณะที่ประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ใกล้เส้นตายวันที่ 1 ส.ค.68 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ ซึ่งหากไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 60% ของ GDP ซึ่งยังยืนยันข้อเสนอการเจรจาไม่จำเป็นต้องเปิดตลาดเสรีเหมือนเวียดนามและอินโดนีเซีย และยอมในอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่ค้าเล็กน้อยที่อัตรา 25% ซึ่งมั่นใจว่าภาคเอกชนจะสามารถปรับตัวได้ในอัตราดังกล่าว และสามารถบริหารจัดการดูแลบางกลุ่มที่ได้รับผลประกอบได้ ทั้งนี้หวังว่าไทยจะสามารถได้ข้อสรุปการเจรจาทันก่อนวันที่ 1 ส.ค.

"เราต้องพยายามเจรจาให้ได้ 25% ซึ่งอาจมีผลกระทบกับภาคเกษตรบางส่วน เราสามารถเอารายได้จากภาคส่งออกที่เรารักษาไว้ได้ นำไปช่วยเยียวยาภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคิดว่าเงินประมาณหลัก 2-3 แสนล้านบาท น่าจะอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้"

นอกจากนี้หากไม่สามารถเจรจาปรับลดอัตราภาษีลงได้ ผลกระทบใหญ่อีกด้านคือการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งภาษีในอัตรา 36% ผู้ประกอบการจะไม่เลือกลงทุนในไทย และทำให้โอกาสที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่หรือ New S Curve ซึ่งกำลังเข้ามาลงทุนในปัจจุบันอาจถอนตัวออกไป และจะเริ่มส่งผลกระทบในระยะยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ภายใต้ความขัดแย้งของ 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างสหรัฐฯ และจีน มองทางออกที่ดีที่สุดของไทย ไม่ใช่การเลือกสหรัฐฯ หรือจีน แต่การรักษาความเป็นกลาง เพื่อให้ทุกคนคิดมองว่าไทยเป็นประเทศที่สามารถทำการค้ากับประเทศใดก็ได้ ซึ่งอยากให้ประเด็นดังกล่าวมีการพูดคุยกันมากขึ้น ตกผลึกให้มากขึ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น