นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(22ก.ค.68)ที่ระดับ 32.23 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.15-32.35 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทะลุโซนแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.21-32.38 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (สวนทางกับคาดการณ์ของเรา) หลังผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก (Upper House Election) เป็นไปตามที่ผู้เล่นในตลาดประเมินไว้ โดยพรรครัฐบาล LDP และ Komeito ได้ที่นั่งเพียง 47 ที่นั่ง จากเป้าหมาย 50 ที่นั่ง เพื่อคงอำนาจเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทว่า นายกรัฐมนตรี Shigeru Ishiba ยังคงยืนกรานที่จะอยู่ในตำแหน่งและพร้อมเดินหน้าประนีประนอมกับฝ่ายค้านในการขับเคลื่อนนโยบายการคลังเพื่อ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อสูง (อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ และควรเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด)
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยรับมือความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับเฟดที่ยังคงมีอยู่ โดยการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้าน 3,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีภาวะธุรกิจ ทั้งในฝั่งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดยเฟดสาขา Richmond ในเดือนกรกฎาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงจากบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งในฝั่งของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้น สวนทางกับที่เราประเมินไว้ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ที่แม้ว่า ผลการเลือกตั้งจะสะท้อนว่า พรรครัฐบาล LDP และ Komeito จะสูญเสียการครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ทว่านายกฯ Shigeru Ishiba ก็ยังคงยืนกรานที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยปิดขายทำกำไรสถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่าลง) อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ และมีความเสี่ยงที่จะเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น พร้อมกับแรงขายสินทรัพย์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาวญี่ปุ่น ได้อีกครั้ง หากผู้เล่นในตลาดกังวลเสถียรภาพการคลังของรัฐบาล ซึ่งจะขึ้นกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องมีความประนีประนอมมากขึ้นกับฝ่ายค้าน
นอกจากนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงทยอยออกมาสดใส รวมถึง รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และหนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ส่วนหนึ่งก็ได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งล่าสุด ราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน และเริ่มมีความเสี่ยงที่จะย่อลงได้บ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ โดยรวมเรามองว่า แม้เงินบาทจะพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า แต่การแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นไปอย่างจำกัด และเงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับถัดไป 32.10 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก ในทางกลับกัน เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงบ้าง โดยโซนแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแรก และมีโซน 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านถัดไป