นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTB)เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2568 ธนาคารมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 11,122 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 โดยรายได้จากการดำเนินงานอยู่ในระดับทรงตัว เป็นผลจากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองลูกค้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลง ในขณะที่สินเชื่อเติบโตร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อภาครัฐ และการให้ความสำคัญกับ portfolio ที่มีความสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการให้บริการ Wealth Management ประกอบกับการขยายตัวของรายได้จากธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนและเงินลงทุนที่เป็นไปตามสภาวะตลาด พร้อมบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพโดยมี Cost to Income ratio ที่ร้อยละ 42.3
และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2568 กำไรส่วนที่เป็นของธนาคารลดลงร้อยละ 5.1 จากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าฟื้นตัวได้ ในขณะที่รายได้อื่นขยายตัวโดยหลักจาก Wealth Management และธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูง มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายองค์รวม และการตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสม ธนาคารมีสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยยังคงรักษาสมดุลของ portfolio และรักษา Coverage Ratio ในระดับสูง
ทั้งนี้ ธนาคารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง บริหาร NPL ได้ดีที่ร้อยละ 2.94 เทียบกับร้อยละ 2.99 จากสิ้นปีที่ผ่านมา รักษา Coverage Ratio ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 194.1 รองรับสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมและรอบคอบ
ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2567ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 1.1 จากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองลูกค้า แม้ว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังคงเติบโต ธนาคารบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.3 และตั้งสำรองฯ ในระดับที่เหมาะสม โดยมีกำไรส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 22,836 ล้านบาทลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 2.7
ณ 30 มิถุนายน 2568 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ19.28 และเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 21.28 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารที่ BBB+ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AAA(tha) พร้อมปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) เป็น 'bbb' จาก 'bbb-' สะท้อนสถานะของธนาคารฯที่สามารถปรับตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ
สำหรับในปี 2568 ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน บริหารจัดการความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อ เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของพนักงานซึ่งเป็นหัวใจขององค์กร พร้อมให้ความสำคัญกับ Stakeholders ได้อย่างครอบคลุมและสมดุล
ล่าสุด ธนาคารและกลุ่มพันธมิตร ได้รับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ผสานความแข็งแกร่ง สร้างสรรค์บริการทางการเงินที่ก้าวข้ามข้อจำกัดในรูปแบบเดิม ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำอย่างตรงจุด สนับสนุนเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนให้เข้าสู่ระบบ ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพให้กับประเทศนำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย และผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารในด้านการเติบโตและคุณภาพของสินเชื่อ โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 เศรษฐกิจจะอ่อนแรงลง และมีโอกาสที่อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 1% ส่วนมูลค่าการส่งออกอาจหดตัวกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปี 2569 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 2%