นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(19ก.ค.68)ที่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวน ในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.43-32.58 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าเข้าใกล้โซนแนวต้าน 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเวลาสั้นๆ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ทั้ง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง ดัชนีภาวะธุรกิจโดยเฟดสาขา Philadelphia ต่างออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์กลับไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาศัยจังหวะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในการทยอยปรับลดสถานะถือครองและขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Christopher Waller (หนึ่งใน Board of Governors และ Voters ของ FOMC) ที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนกรกฎาคมนี้ (“After cutting rate this month I would support further 25bps cuts to move toward neutral rate”) ซึ่งการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ดังกล่าวในช่วงคืนที่ผ่านมาและช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นจากใกล้โซนแนวรับ 3,300-3,310 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 3,330-3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) ที่อาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสราว 78% ที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ และมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก 3 ครั้ง ในปี 2026
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงระยะสั้นได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทยังไม่สามารถทยอยอ่อนค่าได้อย่างที่ประเมินไว้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัดและยังคงเผชิญแรงขายทำกำไร รวมถึงการปรับสถานะถือครองจากบรรดาผู้เล่นในตลาด ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็ยังคงมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง และเป็นอีกปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ก็ถือว่าเซอร์ไพรส์เราพอสมควร เนื่องจากเรามองว่า ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปัจจัยหนุนที่ชัดเจน เหมือนตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ ที่มีการปรับตัวขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ก็มาพร้อมกับแรงซื้อหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินบาท สวนทางกับที่เราประเมินไว้
อย่างไรก็ดี เรายังขอคงมุมมองเดิมไว้ว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง และประเมินว่า เงินบาทจะมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดอาจปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าออกมาดีกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ออกมาย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย เพื่อรอความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันเงินบาทจากในประเทศก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองไทยเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น ก็อาจหนุนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยได้ไม่ยาก หลังตลาดหุ้นไทยได้ทยอยปรับตัวขึ้นมาพอสมควรและการปรับตัวขึ้นต่อก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด หากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงได้ หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเรายังคงเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาดอยู่ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่างฝั่งผู้ส่งออก ก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง ทำให้โดยรวม เงินบาท (USDTHB) อาจยังติดโซนแนวต้านแถว 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เราถึงจะกลับมามั่นใจว่า เงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following โดยแนวต้านถัดไปของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์