xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้า 20 บาท กดราคาหุ้น หวั่น BTS-BEM ส่อล็อกยืดเยื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นโยบาย“รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” โดนใจประชาชน สวนทางขัดใจนักลงทุน เหตุหวั่นกดราคาหุ้นรถไฟฟ้าแบบยืดเยื้อจนไม่น่าสนใจ จากรายได้ที่ถูกบล็อกด้วยเงินชดเชย คาด BTS กระทบหนักกว่า BEM ที่กระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า

นโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ของรัฐบาลปัจจุบันที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อกลางปี 2566 นั้นมีเป้าหมายหลักคือการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ที่ผ่านมานโยบายดังกล่าว เป็นแนวคิดที่ได้มีการพูดถึง และศึกษาความเป็นไปได้มาโดยตลอดในหลายรัฐบาล แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการลงทุนและผลกระทบต่อสัมปทานเดิมทำให้ความคืบหน้าหรือผลสำเร็จแต่เป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ จนมาถึงรัฐบาลนี้ที่ต้องการผลักดันนโยบายนี้อย่างจริงจัง เพื่อหวังสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของประชาชน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศเริ่มต้นโครงการ 20 บาทตลอดสายในเส้นทางนำร่องเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 โดยเริ่มจากสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน) และสายสีม่วง (เตาปูน - คลองบางไผ่) ซึ่งเป็นเส้นทางที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของสัมปทานและสามารถบริหารจัดการได้โดยตรง

 ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.ค.2568 มีมติเห็นชอบ มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 ครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 สาย ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว,สีทอง,สีเหลือง,สีชมพู,สีน้ำเงิน,สายสีม่วง,สายสีแดง และ สายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) โดยมาตรการดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาการดำเนินมาตรการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 ถึง 30 กันยายน 2569 หรือตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการขยายมาตรการจากปัจจุบันที่ใช้ได้กับรถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีแดงและสีม่วง 

แต่เนื่องด้วยผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีรูปแบบสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถที่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางธุรกิจแตกต่างกัน จึงได้กำหนดให้ประชาชนต้องลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดบนแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อรองรับการใช้งานตามโนบาย

จากข้อมูลพบว่า มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย มีเป้าหมายที่จะให้ใช้ครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่จะมีทั้งสิ้น จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 279.84 กิโลเมตร 194 สถานี ปัจจุบัน เปิดให้บริการแล้ว 10 เส้นทาง อีก 3 เส้นทางที่เหลือคือสายสีส้ม อยู่ระหว่างก่อสร้าง สายสีเทาและสีน้ำตาลอยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาและนำเสนอขออนุมัติโครงการ

โดยใช้งบประมาณในการชดเชยรายได้ค่าโดยสารรอบนี้ รวมทั้งสิ้น 5,512 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงข่ายรถไฟฟ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชดเชยรวม 666 ล้านบาท แบ่งเป็นรถไฟชานเมืองสายสีแดง ชดเชย 189 ล้านบาท และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ชดเชย 477 ล้านบาท แหล่งที่มาของบมาจากงบประมาณแผ่นดิน

2.โครงข่ายรถไฟฟ้าของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ชดเชยรวม 2,321 ล้านบาท แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1,192 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีม่วง 480 ล้านบาท,รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 249 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีชมพู 400 ล้านบาท แหล่งที่มาของงบมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั็วร่วมหรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม

3. โครงข่ายรถไฟฟ้าของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชดเชยรวม 2,525 ล้านบาท แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2,503 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีทอง 22 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลแสดงความตั้งใจที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทุกสายในอนาคต แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณหลายแสนล้านบาท และอาจเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศอย่างมาก

มุมมองของภาคเอกชน

สำหรับบในแวดวงตลาดทุน เชื่อว่าบริษัทที่ได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า น่าจะมีความกังวลถึงผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรของบริษัท นั่นเพราะการลดค่าโดยสารลงเหลือ 20 บาทตลอดสายจะส่งผลให้รายได้จากการเดินรถลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่ได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมจากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการและโอกาสในการลงทุนในอนาคต

สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ ความชัดเจนของนโยบาย และ เงื่อนไขการชดเชย ที่เป็นธรรมและสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อให้บริษัทสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้ หากรัฐบาลสามารถให้หลักประกันเรื่องการชดเชยที่เหมาะสมและมีความโปร่งใส ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะพิจารณาเข้าร่วมโครงการ

มีรายงานว่าผู้บริหารของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)(BTS) แสดงความเห็นว่าการดำเนินงานตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายในส่วนของสายสีเขียวนั้น ต้องอยู่ภายใต้กรอบของสัญญาและสัมปทานเดิมที่มีอยู่ โดยเน้นย้ำถึงความเป็นธรรมในการชดเชยรายได้ที่ลดลง หากมีการเปลี่ยนแปลงค่าโดยสาร อีกทั้งการพิจารณาเข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการอนุมัติของผู้ถือหุ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการและเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ

ขณะที่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งเป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ก็มีมุมมองที่คล้ายคลึงกัน โดยเน้นถึงความสำคัญของสัญญาการร่วมลงทุนกับภาครัฐ และความจำเป็นในการได้รับการชดเชยรายได้อย่างเหมาะสม หากมีการปรับลดค่าโดยสาร การเข้าร่วมโครงการ 20 บาทตลอดสายจะต้องพิจารณาอย่างรอบครอบถึงผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

ส่องผลงานหุ้นรถไฟฟ้า

ที่ผ่านมา BTS มีผลประกอบการปี 2567 ฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับมาของจำนวนผู้โดยสารหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผลกระทบจากภาระหนี้สินจากการลงทุนในโครงการใหม่ๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค. 2568) คาดการณ์ว่าผลประกอบการจะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสารและการขยายธุรกิจอื่นๆ เช่น สื่อโฆษณาและอสังหาริมทรัพย์ แต่หากนโยบาย 20 บาทตลอดสายมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการชดเชยที่ชัดเจน อาจเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการรายได้ในอนาคต

ส่วน BEM ผลประกอบการปี 2567 แข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของปริมาณการจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า และต่อเนื่องมาถึงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค. 2568 อย่างไรก็ตาม นโยบาย 20 บาทตลอดสายเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด

ราคาหุ้นรถไฟฟ้า

ขณะที่ราคาหุ้น พบว่าราคาหุ้น BTS มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของนโยบาย 20 บาทตลอดสาย และความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินของบริษัท แม้ว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวก็ตาม ส่วนราคาหุ้น BEM มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย จากผลประกอบการที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม นโยบาย 20 บาทตลอดสายยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอาจกระทบต่อกำไรในอนาคตเช่นกัน

ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าที่ต้องแบกรับภาระรายได้ที่ลดลง หากรัฐบาลไม่สามารถหาแนวทางชดเชยที่เหมาะสม และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะยาว และหลายฝ่ายมีความเห็นว่านโยบาย 20 บาทตลอดสายเป็น ปัจจัยลบสำคัญ สำหรับหุ้นผู้ประกอบการรถไฟฟ้าโดยตรง เนื่องจากจะกระทบต่อประมาณการรายได้และกำไรในอนาคต หากไม่มีการชดเชยที่ชัดเจนและเพียงพอ 

เริ่มที่ BTS นักวิเคราะห์มองว่าจะเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด เนื่องจากสายสีเขียวมีจำนวนผู้โดยสารสูงและเป็นแหล่งรายได้หลัก หากมีการปรับลดค่าโดยสารโดยไม่ได้รับการชดเชยเต็มที่ จะส่งผลต่อกำไรอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจากับภาครัฐ หากรัฐบาลสามารถหาข้อสรุปการชดเชยที่เหมาะสมได้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อประมาณการกำไร และทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวได้ แต่หากการเจรจายืดเยื้อหรือไม่เป็นไปตามคาด ราคาหุ้นอาจยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน

และด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายของ BTS ลง หากนโยบาย 20 บาทตลอดสายไม่มีการชดเชยที่เพียงพอ

ส่วน BEM คาดว่าจะได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากรายได้ส่วนหนึ่งมาจากทางด่วน และการดำเนินการสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงก็อยู่ภายใต้สัญญาที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับลดค่าโดยสาร จะกระทบต่อรายได้จากรถไฟฟ้าโดยตรง อย่างไรก็ตามคาดว่า BEM มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวมากกว่า BTS เนื่องจากมีธุรกิจที่หลากหลายกว่า หากได้รับการชดเชยที่เหมาะสม ราคาหุ้นอาจทรงตัวได้ดี หรืออาจได้รับผลบวกจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้โดยสารในระยะยาว

นั่นทำให้ นักวิเคราะห์จับตาดูการเจรจาและเงื่อนไขการชดเชยของBEM อย่างใกล้ชิด หากมีความชัดเจนและเป็นบวกต่อบริษัท ราคาเป้าหมายอาจคงเดิมหรือปรับขึ้นเล็กน้อย แต่หากไม่เป็นไปตามคาด อาจมีการปรับลดราคาเป้าหมายลง 

เนื่องจากแม้นโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ของรัฐบาลไทยเป็นนโยบายที่มีเจตนาดีในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่การดำเนินการให้ครอบคลุมทุกสายทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

ด้วยเพราะต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญหลายประการ ทั้งงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ในการชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกอบการเอกชน ความชัดเจนในแนวทางการเจรจา การซื้อคืนสัมปทาน เป็นต้น

ทิศทางหุ้นรถไฟฟ้า

มีรายงานว่า BTS น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากไม่ได้รับการชดเชยที่เพียงพอ เนื่องจากสายสีเขียวมีจำนวนผู้โดยสารสูงและเป็นแหล่งรายได้หลัก การเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร 14-30% อาจไม่สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงมากกว่า 30% ได้ หากการชดเชยไม่เต็มจำนวนจริง

ขณะที่ BEM แม้จะได้รับผลกระทบจากนโยบาย 20 บาทตลอดสายเช่นกัน (ในกรณีที่ขยายผลครอบคลุมสายที่ BEM ให้บริการ) แต่ BEM อาจมีความยืดหยุ่นกว่าเนื่องจากมีรายได้จากธุรกิจทางด่วนเข้ามาช่วยเสริม ทำให้ฐานรายได้มีความหลากหลายมากกว่า

โดยรวมนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายนี้ต่อกำไรของ BTS และ BEM หากการชดเชยไม่เป็นไปตามที่คาดหวังหรือมีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม หากมีการชดเชยที่ชัดเจนและเพียงพอ ราคาหุ้นอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรืออาจได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารในระยะยาว (ซึ่งอาจส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น สื่อโฆษณาและพื้นที่เช่า)

นอกจากนี้มีการประเมินว่า หากเกิดกรณีการเจรจายืดเยื้อ ไม่มีความชัดเจน หรือได้รับการชดเชยไม่เพียงพอราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทมีแนวโน้มที่จะถูกกดดันให้ปรับตัวลดลง หรือเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และนั่นจะทำให้ นักลงทุนจะไม่สามารถประเมินรายได้และกำไรที่แท้จริงได้ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและลดการลงทุน

เพราะหากรายได้ที่หายไปไม่ได้รับการชดเชยอย่างเต็มที่ จะส่งผลโดยตรงต่อกำไรสุทธิ ทำให้ราคาหุ้นสะท้อนผลประกอบการที่แย่ลง รวมถึงการที่รัฐบาลอาจใช้ "อำนาจรัฐ" เหนือสัมปทาน หรือการมีข้อพิพาททางกฎหมายใหม่ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ถือหุ้นจนนำไปสู่กรณีเกิดข้อพิพาททางกฎหมายครั้งใหม่ (จากกรณีการชดเชย) ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องอาจ ร่วงลงอย่างรุนแรงในระยะสั้น และข้อพิพาททางกฎหมายสร้างภาพลบและลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก

ขณะเดียวกันคดีความมักใช้เวลานาน ทำให้ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอนาคตของบริษัท รวมถึงบริษัทอาจมีค่าใช้จ่ายทางกฎหมายเพิ่มขึ้น

ปรับลดราคาเป้าหมาย BTS

โดยรวมนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 ปี 2568 จะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยกดดันจากความไม่แน่นอนของนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนได้แก่ ปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัว เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของธุรกิจอื่น ๆ ของกลุ่ม เช่น ธุรกิจสื่อโฆษณา (VGI) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (U City) มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มบริษัท

ทั้งนี้ โยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดกำหนดเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 นั่นหมายถึงจะเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ BTS ยังคงมีภาระหนี้สินจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจ 

ปัจจุบันนักวิเคราะห์บางรายเริ่มปรับลดราคาเป้าหมายของ BTS ลงเนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบาย 20 บาทตลอดสายและอายุสัมปทานที่สั้นลง แต่ยังคงมีคำแนะนำ "ถือ" หรือ "ซื้อ" สำหรับผู้ที่มองเห็นโอกาสจากการฟื้นตัวของธุรกิจและคาดหวังการชดเชยจากภาครัฐ

BEM ฟื้นตัวแต่ไม่หวือหวา

ด้าน BEM นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ จะยังคงการเติบโตของผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่กลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การเติบโตอาจไม่ได้หวือหวามากนักเมื่อเทียบกับช่วงที่ฟื้นตัวแรงๆ ก่อนหน้านี้ 

โดยมีปัจจัยหนุน จากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังคงเป็นเส้นทางหลักที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปริมาณการจราจรทางด่วน ผ่านมา BEM มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการดำเนินงานที่ดีขึ้นตามแผน

ส่วนปัจจัยกดดัน ณ เวลานี้หนีไม่พ้น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะมีความเสี่ยงที่ส่งผลต่อโครงสร้างรายได้และกำไรของบริษัทได้หากการชดเชยไม่เพียงพอ

โดยทิศทางในครึ่งปีหลัง 2568 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2568) นักวิเคราะห์คาดว่า BEM จะยังคงมีการเติบโตของกำไร แต่การเติบโตอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังปี 2568 เนื่องจากผลกระทบจากฐานสูงของการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะกลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการโดยรวมยังคงอยู่ในทิศทางที่ดีและคาดว่าจะทำกำไรได้ในระดับสูง

ไม่เพียงเท่านี้ หากมีความชัดเจนในการดำเนินงานของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ BEM มีส่วนเกี่ยวข้อง จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท 

ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคง มีมุมมองที่เป็นบวกต่อ BEM และแนะนำ "ซื้อ" เนื่องจากมองว่า BEM มีความแข็งแกร่งท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้า แม้ว่าจะมีบางโบรกเกอร์ที่ปรับลดราคาเป้าหมายลงเล็กน้อยจากการรวมภาระหนี้สินเพิ่มเติมจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือปรับลดคาดการณ์การเติบโตของปริมาณการจราจรบนทางด่วน แต่โดยรวมแล้ว ราคาเป้าหมายยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน สะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น