สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB : Thailand Convention & Exhibition Bureau ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาเฟสติวัล สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ THACCA : Thailand Creative Content Agency จัดโครงการอวดเมือง 2568 The Pitching พร้อมอวดไฮไลต์แต่ละเมือง ในงาน SPLASH-Soft Power Forum 2025 เพื่อค้นหา 2 จังหวัดต้นแบบสู่การยกระดับสู่เมือง “น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว” เตรียมพบไฮไลต์ในรอบ "Final Pitching" กับ City Showcase 12 จังหวัด อวดอัตลักษณ์และเศรษฐกิจชุมชนของเมือง
นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผยว่า โครงการอวดเมือง 2568 The Pitching โดย เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองโดยใช้เทศกาลเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ และอวดเมืองต่อชาวโลกผ่านเทศกาล โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในพื้นที่ และใช้เทศกาลเป็นเวทีเมือง เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเมืองให้น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว
โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการ ค้นหาจังหวัดต้นแบบ ในประเทศไทย ที่สามารถแสดงศักยภาพ ของการสร้างสรรค์เทศกาลที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนและชุมชน อีกทั้ง สนับสนุนจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ให้สามารถพัฒนาเทศกาลท้องถิ่น ให้เป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และนานาชาติ รวมถึง ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านการสร้างเทศกาล ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ และสามารถดึงดูดการลงทุนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการกระตุ้นการย้ายกลับของคนท้องถิ่น และชักชวนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันยกระดับเมืองให้ น่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสร้างความยั่งยืนในระยะยาวผ่านโมเดลธุรกิจของเทศกาลที่สามารถจัดต่อเนื่องได้ทุกปี ภายใต้การผนึกความร่วมมือของชุมชน เพื่อผลักดันให้ Ecosystems ของการจัดเทศกาลระดับท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น ด้วยการนำทักษะใหม่มาใช้ในการจัดการ
โครงการอวดเมือง The Pitching 2568 เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 โดยมี 51 จังหวัดเข้าร่วมโครงการ และมี 12 จังหวัดที่ผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือก ได้แก่ กาญจนบุรี, ขอนแก่น, จันทบุรี, เชียงราย, นครราชสีมา, พิษณุโลก, เพชรบุรี, แพร่, เลย, ศรีสะเกษ, สุโขทัย, อุบลราชธานี จะได้เข้ารับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งเรื่องการจัดการเทศกาล สื่อสารแบรนด์เมืองไปจนถึงการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมอวดเมืองของตนเองภายใน อวดเมืองพาวิลเลี่ยน กับไอเดียสุดเจ๋ง อวดของดีบ้านฉัน กับสุดยอดไอเดียใน Dream Box, ชมนิทรรศการ My City My Pride และช็อปปิ้งของที่ระลึก สะท้อนตัวตนของจังหวัดนั้น ๆ ผ่านเทศกาล โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในภาคอุตสาหกรรมไมซ์ การตลาด และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมตัดสิน เพื่อเป้าหมายการยกระดับให้แต่ละเมืองเป็นเมืองน่าลงทุน น่าอยู่ น่าเที่ยว ภายใต้หลักเกณฑ์การประเมินให้คะแนนคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, ความชัดเจนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย, แผนการเงินและโมเดลธุรกิจ, ความพร้อมของการนำกิจกรรมไปปฏิบัติจริง, ศักยภาพเมืองน่าอยู่และดึงดูดประชากรคนรุ่นใหม่
สำหรับรอบ Final Pitching จะเปิดเวทีให้จังหวัดต่าง ๆ นำเสนอแนวคิดเทศกาลของตนเองต่อคณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งการนำเสนอแนวคิดเป็นทั้งหมด 2 รอบ ได้แก่รอบ The Second City Pitch (คัดเลือก 3 จังหวัด), The Final City Pitch (คัดเลือกจังหวัดนำร่องเจ้าภาพคนอวดเมือง 2569) โดยผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาตามที่กำหนด จากคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา เพื่อให้ได้ผลของการประเมินอย่างรอบด้าน และครอบคลุมมิติสำคัญของการพัฒนาเทศกาลให้เป็น Soft Power ของประเทศ และให้มั่นใจได้ว่าจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อเป็นเจ้าภาพ "อวดเมือง" และได้รับการสนับสนุนในปีงบประมาณ 2569
ส่วนอีก 3 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบสอง จะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปในงาน Expo 2025 Osaka Kansai เพื่อเสริมศักยภาพการจัดงานให้น่าสนใจอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับชั้นประหยัด ค่าที่พักและค่าอาหาร
ทั้งนี้ โครงการอวดเมือง The Pitching 2568 ได้สร้างการรับรู้และความสัมพันธ์ทางสังคม โดยมีเทศกาลเป็น “กลไกเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่สามารถขับเคลื่อนเมืองในมิติของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม ได้อย่างมีระบบและยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนโดยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เมืองนั้นจะสามารถเปลี่ยนเทศกาลให้เป็น “สินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Urban Asset) ที่สร้างรายได้หมุนเวียน ดึงดูดการลงทุน และเสริมความภาคภูมิใจของประชาชนในพื้นที่ได้จริง พร้อมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของ การค้าการลงทุน (B2B) ผ่านกิจกรรมไมซ์ (MICE) การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ และการเกิดขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น งานจับคู่ธุรกิจ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การขยายแบรนด์ หรือการร่วมทุนระหว่างท้องถิ่นกับภาคเอกชน