นายสถิตย์ แถลงสัตยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจสัมพันธ์ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ส่งจดหมายในการเรื่องเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศไทยที่ระดับ 36% นั้น อัตราภาษีดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนจนกว่าถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ดังนั้น ในช่วงระยะเวลานี้ จึงอยากเห็นคณะเจรจาในเรื่องดังกล่าวของไทยพยายามอย่างต็มที่ เพื่อให้ได้รับอัตราภาษีในระดับเดียวกับเวียดนามที่ 20% ซึ่งมองว่าไทยเองจุดได้เปรียบเช่นกันโดยความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯที่มีความสัมพันธ์กันมากว่า 200 ปี พร้อมกันนั้น ภาคเอกชนเองก็ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์กาตั้งราคา ,การบริหารจัดการด้านต้นทุน และการหาพันธมิตร
"เวียดนามแทบจะไม่มีทางเลือกที่จะไม้ให้ 0%กับสหรัฐฯเพราะ 40%ของการส่งออกเวียดนามไปที่สหรัฐฯ และ80%ของการส่งออกดังกล่าวมาจากบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม แต่ไทยเองก็มีความได้เปรียบในเรื่องของความสัมพันธ์ที่ยาวนาน โครงสร้างสินค้า ซึ่งแม้ว่าอัตราที่ระดับ 20%จะเป็นไปได้ยาก แต่ระดับที่ 25%ก็ถือว่าพอรับได้"
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับตัวไปสู่โลกการค้าใหม่ โดยยูโอบีมองถึงโอกาสใน 3 ด้านด้วยกัน -New S Curve Industries ,-Low carbon economy and Sustainability และ-High Value-added Service ซึ่งธนาคารแนะนำในกลุ่ม Wealthness และการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเองก็มีความโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญในด้านการดึงดูดลงทุนซึ่งไทยมีความได้เปรียบประเทศในภูมิภาคทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และภูมิศาสตร์ ดังนั้น ทางภาครัฐควรมีการผ่อนคลายหรือสร้างความสะดวกในการทำธุรกิจ (Doing Business) เพื่อดึงดูดการลงทุนหนุนการเติบโตของจีดีพีไทย โดยในปีนี้ยูโอบีมองจีดีพีไทยเติบโต 2% และมองว่าจีดีพีไทยน่าจะโตต่ำกว่า 3%ไปอีกระยะหนึ่งถึงปี 2573
**เปิดผลสำรวจแนวทางปรับตัวธุรกิจไทย**
พร้อมกันนั้น ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยเปิดรายงาน UOB Business Outlook Study ประจำปี 2568 สะท้อนแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยท่ามกลางความท้าทายจากการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยมองว่ายูโอบีมองว่ามาตรการภาษีตอบโต้จะกระทบต่อไทยใน4ช่องทาง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก-การค้าระหว่างประเทศ ,การค้าและกระแสเงินทุนข้ามพรมแดน ,การไหลทะลักของสินค้าจีน และภาวะความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพี การบริโภค-การลงทุรภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว มูลค่าการนำเข้ารวม และจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงวนลูปไปในที่สุด
นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO & Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจ UOB Business Outlook Study ประจำปี 2568 สะท้อนถึงความสามารถของภาคธุรกิจไทยในการปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลก ด้วยการมองหาโอกาสใหม่ในระดับภูมิภาค การประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ล้วนเป็นแนวทางที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในภาคธุรกิจในระยะยาว อย่างมั่นคง ธนาคารยูโอบีพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจไทยอย่างเต็มที่ ด้วยโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ ความเชี่ยวชาญในตลาดภายในประเทศ และเครือข่ายที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน
**ฉุดความเชื่อมั่น-จุดประกายธุรกิจเร่งปรับตัว**
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากร้อยละ 58 ในปี 2024 เหลือร้อยละ 52 ภายหลังการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กแสดงความกังวลมากที่สุด ปัจจัยหลักที่สร้างแรงกดดันคือ ต้นทุนการดำเนินงานและเงินเฟ้อ โดยร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 57 คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการให้บริการ
ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยได้ริเริ่มมาตรการสำคัญเพื่อรับมือสถานการณ์ ดังนี้ ลดต้นทุน: ธุรกิจ 3 ใน 5 โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง (ร้อยละ 67) ได้ดำเนินการมาตรการลดต้นทุน รวมถึงการพิ่มรายได้: ธุรกิจจำนวนมากมุ่งขยายฐานลูกค้าใหม่และแสวงหาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ และธุรกิจให้ความสำคัญกับความช่วยหลือทางการเงิน (ร้อยละ 92) การสนับสนุนด้านการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (ร้อยละ 65) และการให้คำปรึกษาหรือฝึกอบรม (ร้อยละ 50) เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการปรับตัว
**ผลักดันให้ธุรกิจไทยมุ่งเน้นตลาดภูมิภาค**
นอกจากนี้ ร้อยละ 90 ของธุรกิจไทยมุ่งเน้นการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ทว่ามาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกากลับส่งผลให้ภาวะหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทวีความรุนแรงขึ้น ร้อยละ 80 ของธุรกิจคาดว่าจะเผชิญความท้าทายเพิ่มเติมจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง โดยธุรกิจใช้ทางเลือกในภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลให้การค้าภายในภูมิภาคเติบโต ซึ่งธุรกิจมองหามาตรการจูงใจทางภาษี การเข้าถึงเทคโนโลยี และการฝึกอบรมแรงงาน
ขณะที่ การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ โดยเกือบร้อยละ 40 ของธุรกิจได้นำเครื่องมือดิจิทัลมาผสานรวมอย่างเต็มรูปแบบ และร้อยละ 68 คาดว่าจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลหลังการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ทั้งนี้ ธุรกิจไทยมองว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ อาทิ การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การขยายการเข้าถึงลูกค้า และการเข้าสู่ตลาดที่รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ความกังวลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ต้นทุน และความเสี่ยงจากการละเมิดข้อมูล ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญ และกระตุ้นความต้องการด้านการฝึกอบรมและการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะอุตสาหกรรม
**เร่งเดินหน้าสู่ความยั่งยืน**
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเป็นเรื่องความยั่งยืน หลังการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ มากกว่าร้อยละ 60 คาดว่าจะเร่งดำเนินมาตรการเพื่อความยั่งยืน อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนที่สูง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่พร้อมจ่ายราคาพรีเมียมสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการพิจารณานำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ พร้อมทั้งแสวงหาข้อมูลและคำปรึกษาเพื่อพัฒนาแนวทางดังกล่าว
และธุรกิจไทยเกือบร้อยละ 90 มีแผนขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยมากกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะเร่งดำเนินการหลังมาตรการเก็บภาษีของสหรัฐฯ ประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม รองลงมาคือจีนและภูมิภาคเอเชียเหนือ ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเติบโตของรายได้และกำไร แม้ยังเผชิญความท้าทายด้านจำนวนลูกค้าและความเข้าใจตลาดที่จำกัดในแต่ละประเทศก็ตาม ภาคธุรกิจจึงต้องการข้อมูลเชิงลึก การสนับสนุนทางการเงิน และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อขยายตลาดข้ามพรมแดน