ปี 2568 หุ้น บริษัท ดีวี 8 จำกัด (มหาชน) หรือ DV8 น่าจะครองความเป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุด พร้อมกับธุรกรรมการเทกโอเวอร์หรือครอบงำกิจการที่อัปยศที่สุดอีกครั้งของบริษัทจดทะเบียน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แต่นั่งดูตาปริบๆ
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 DV8 ยังเป็นหุ้นที่อยู่ในสภาพตายซาก เช่นเดียวกับหุ้นขนาดเล็กตัวอื่น ๆ อีกนับร้อยบริษัท ราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่แถว 35 สตางค์ มูลค่าการซื้อขายวันละไม่กี่พันบาท
แต่หลังจากนั้นราคาเริ่มทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 7.35 บาท เพิ่มขึ้น 7 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2,000% กลายเป็นหุ้นทำกำไร 20 เด้งภายในเวลาประมาณ 3 เดือน
เบื้องหลังราคาที่พุ่งขึ้นร้อนแรง มีข่าวลือว่า บริษัทจากญี่ปุ่นจะเข้ามาเทกโอเวอร์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ ฯ ได้สอบถามไปยัง DV8 และฝ่ายบริหารบริษัท ฯ ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ขณะนี้บริษัท ฯ ยังไม่มีการพัฒนาการใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณและราคาการซื้อขายหุ้น ยังไม่มีนักลงทุนหรือบุคคลใดติดต่อมายังบริษัท ฯ
การปฏิเสธข่าวลือบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาเทกโอเวอร์ น่าจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลง แต่ราคาหุ้นกลับพุ่งทะยานต่อไป จนวันที่ 20 พฤษภาคม ตลาดหลักทรัพย์จึงใช้มาตรการกำกับการซื้อขายขั้นที่ 1 และขยายระยะเวลาของมาตรการออกไปอีก 2 ครั้ง ซึ่งจะมีผลถึงวันที่ 22 กรกฎาคมนี้
แต่มาตรการกำกับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ ไม่อาจดับความร้อนแรงหุ้น DV8 แต่อย่างใด ราคาหุ้นยังคงถูกลากต่อไป พร้อมข่าวลือบริษัทญี่ปุ่นจะเจข้ามาเทกโอเวอร์
และข่าวลือได้เป็นจริงขึ้นมา โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ก.ล.ต.ได้รายงาน 8 บริษัทต่างชาติ เสนอจัดทำคำเสนอซื้อหุ้น DV8 ในสัดส่วน 100% ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ ใช้เงินรวมประมาณ 742 ล้านบาท กำหนดราคาเสนอซื้อหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ในราคาหุ้นละ 56 สตางค์
มีรายงานข่าวว่า 8 บริษัทต่างชาติที่กำลังเข้ามาเทกโอเวอร์หุ้น DV8 ผู้อยู่เบื้องหลังคือบริษัท Metaplanet Inc. จากญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายผลักดันแนวคิดการถือครอง Bitcoin เป็นสินทรัพย์ในงบดุล (Bitcoin treasury strategy) สู่ภาคธุรกิจไทย
หุ้น DV8 สงบลงแล้ว หลังจากข่าวลือถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคมลงมาปิดที่ 5.10บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์เกือบ 10 เท่าตัว
คำถามคือ นักลงทุนรายย่อย ทำไมจึงกล้าตาย และยังเข้าไปเล่นหุ้นตัวนี้กันอยู่ ไม่กลัวกลุ่มนักลงทุนทั้งหัวดำและหัวแดงที่ช้อนเก็บหุ้น DV8 ไว้ในราคาต้นทุนต่ำ ทุบหุ้นขายใส่หรือ
แต่คำถามที่ใหญ่และมีความสำคัญมากกว่าคือ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ฯ ปล่อยให้การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ที่บัดซบ และอัปยศของ DV8 เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยไม่มีมาตรการลงโทษ หรือผลักดันมาตรการป้องกันไม่ให้ธุรกรรมอันแสนอัปยศ แหกตาประชาชน เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก
ปัญหาข่าวลือการเทกโอเวอร์บริษัทจดทะเบียน และถูกปฏิเสธอย่างแข็งขันจากฝ่ายบริหารจดทะเบียน แต่สุดท้ายกลายเป็นข่าวจริง เกิดขึ้นซ้ำซากมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว กรณีที่ฉาวโฉ่ที่สุดคือ การเทกโอเวอร์ หุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ของกลุ่มนายทักษิณ ชินวัตร โดยบริษัท เทมา เส็กของสิงค์โปเข้ามาเทกโอเวร์
ก่อนมีการประกาศการเทกโอเวอร์ มีข่าวลืออยู่หลายเดือน กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าเก็งกำไร ซึ่งฝ่ายบริหารบริษัทปฏิเสธข่าวลือมาตลอด เช่นเดียวกับ DV8
แต่เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 SHIN ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการเทกโอเวอร์ ที่มีมูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย โดยเทมา เส็ก จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่แทนกลุ่ม ”ชินวัตร” ในสัดส่วน 49.6% ของทุนจดทะเบียน
การเจรจาเทกโอเวอร์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน แต่ต้องเจรจากันเป็นเดือน ๆ และเป็นไปได้หรือที่ฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนจะไม่รับรู้
การปฏิเสธข่าวลือเทกโอเวอร์ของบริษัทจดทะเบียน ส่วนใหญ่จึงเป็นการแหกตานักลงทุน และ DV8 เห็น ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ เป็นเพียงหัวหลักหัวตอเท่านั้น
ข่าวลือต่าง ๆ ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งนักลงทุนให้คำนิยาม หมายถึงข่าวจริงที่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระตุ้นการเก็งกำไร และแฝงด้วยการใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซด์เอาเปรียบชาวบ้าน รวมทั้งการปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงในธุรกรรมที่มีผลต่อราคาหุ้น เป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากมากประมาณครึ่งศตวรรษแล้ว
การเทกโอเวอร์อันอัปยศ เข้าข่ายโกหกหลอกลวงประชาชนของหุ้น DV8 น่าจะปลุก ให้ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์คิดหามาตรการ ปิดฉากข่าวลือที่สุดท้ายกลายเป็นจริงเสียที
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ จะทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ปล่อยให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทำตัวเป็นลิงหลอกเจ้า แลบลิ้นปลิ้นตาใส่ต่อไปอีกหรือ