นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(2ก.ค.68)ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง"จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.41 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.60 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up เข้าใกล้โซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.38-32.49 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ทว่า เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลง) ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49 จุด และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 7.769 ล้านตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell และคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 โดย Atlanta Fed (GDPNow) ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสราว 57% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment) ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน ที่อาจช่วยสะท้อนถึงรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ซึ่งจะรายงานในวันพฤหัสฯ นี้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ECB ยังมีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในปีนี้
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ในระยะสั้น ควรติดตามสถานการณ์การเมืองของไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การเคลื่อนไหวของเงินบาทตั้งแต่ช่วงรับรู้ผลการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้อง “ถอดถอนนายกฯ” และมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สะท้อนให้เห็นว่า แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ทว่า ปัจจัยภายนอก หรือ Global Factors ก็ยังมีผลต่อเงินบาทมากกว่าปัจจัยในประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านของราคาทองคำ และจังหวะอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์
โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ยังมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท พอสมควร ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศไทยนั้น อาจสร้างความผันผวนให้กับเงินบาท (ผันผวนอ่อนค่า หากตลาดกังวลสถานการณ์การเมือง และผันผวนในด้านแข็งค่า หากตลาดทยอยคลายกังวล) แต่ไม่ได้มีผลกับเงินบาทในเชิงทิศทางการเคลื่อนไหวมากนัก ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์มีโอกาสทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ทว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลาง ธีม Sell US Assets ที่ยังอยู่ หลังสภาคองเกรสสหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่านร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ โดยภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะในการเปิดสถานะ Short USD เมื่อเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้น หรือ เพิ่มสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เพิ่ม Hedging Ratio)
นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมบ้าง หากราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลง หลังไม่ผ่านโซนแนวต้านระยะสั้น และหากเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นจริง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยง
โดยรวมเรามองว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีโซนแนวรับแถว 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้าน อาจยังอยู่ในช่วง 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ และเราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend Following