นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวเปิดงานสัมมนา "Legacy & Future : 50 Years of Thai Capital Market" เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านวีดีโอว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย เริ่มจากปี พ.ศ. 2518 ด้วยบริษัทจดทะเบียน 8 บริษัท ปัจจุบันปี พ.ศ. 2568 มีมากกว่า 800 บริษัท สามารถสร้างโอกาสการระดมทุนได้มากกว่า 6 ล้านล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ดัชนีมีทั้งขึ้นและลง แต่การหลีกเลี่ยงหรือทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง ต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็นขององค์กร โดยเฉพาะการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมของโลก ดังนั้น การพัฒนาของผู้ระดมทุนนำไปสู่ผลลัพธ์ความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนรายย่อย และภาคเอกชน
คลัง ผนึก ตลท.เร่งฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้น
"ผมอยากเห็นตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพัฒนาและฟื้นฟูความเชื่อมั่น Trust and Confidence ให้กลับมาให้ได้ หน้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมผู้ระดมทุน การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กรเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุน ตลอดจนปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่สำคัญเพื่อนำมาซึ่งการสร้างโอกาสและทางเลือกของนักลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้ประชาชนสามารถลงทุนด้วยข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจ ได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีและยั่งยืน"นายพิชัยกล่าว
ด้านนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงของการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำลังทำอยู่และจะทำต่อไป คือ การสร้าง Trust and Confidence ให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย มุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม พร้อมไปกับทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คลัง ผนึก ตลท.เร่งฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้น
นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนโครงการ Thailand Individual Saving Account (TISA) เพื่อส่งเสริมคนไทยซื้อหุ้นระยะยาว การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในงานวิจัย การเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งมุ่งเน้นไปที่ Future ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเป็นฐานข้อมูลให้นักลงทุน ครบ เข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนนำไปตัดสินใจ เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้ ถ้าสามารถขับเคลื่อนได้ อนาคตประเทศไทย จะเห็นสิ่งใหม่ๆ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตประธานกรรมการ ตลท.ได้ยกกรณีหุ้นบมจ.มอร์ รีเทิร์น [MOREและ บมจ.สตาร์ค คอรปอเรชั่น [STARK] โดยกรณี MORE คือคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะปั่นหุ้นและโกงโบรกเกอร์ ด้วยการใช้บัญชีเงินสดวางหลักประกันเพียงแค่ 10% ขณะที่โบรกเกอร์ให้อำนาจซื้อสูง ส่วนกรณี STARK เป็นบทเรียนที่จะต้องสร้างระบบที่ดีให้กับผู้สอบบัญชี ผู้ทำบัญชี รวมทั้งคุณภาพและความเข้มแข็งของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ ความซื่อสัตย์ของที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และวาณิชธนกิจ (IB)
นายประสาร มองว่า MORE และ STARK เป็น Black Swan ที่เกิดขึ้นกับทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกที่โยงกับ Legacy อยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดความตื่นตัว เช่น เพิ่มเรื่องการแจ้งเตือนผู้ลงทุน, นำ AI มาจับ Financial Ratio การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธรรมาภิบาล (Corporate Governance) การดำเนินคดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น Class Action ดังนั้น Good Governance และการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น (Law Enforcement) เป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่การเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. ต้องทำด้วยความระมัดระวังพอประมาณ เติมเฉพาะในส่วนที่พร่องเท่านั้น
ด้านนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน สถาบันตัวกลาง สมาคม องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ภาคสังคม และสื่อมวลชน ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมกันขับเคลื่อนและสนับสนุนตลาดทุนไทยของเรามาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกัน ขอขอบคุณท่านกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นพลังบวก ได้ร่วมกันวางทิศทางและสร้างรากฐานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดทุนไทยเติบโตเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงจวบจนทุกวันนี้
" 50 ปีข้างหน้าคงต้องเจออะไรอีกมากมาย แต่ในวันนี้ มีความสามัคคีและความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนมีทางเลือก มีข้อมูลและความรู้เพียงพอในการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ สร้างโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนและที่จะจดทะเบียนที่อยากจะเสริมสร้างและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตไปกับเศรษฐกิจไทยได้เข้าถึงทุนที่เหมาะสม ขอขอบคุณทุกท่านทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่จะร่วมด้วยช่วยกันทำให้ตลาดทุนไทยเติบโตแข็งแกร่งขึ้น"นายอัสสเดช กล่าว
นายสันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในงานหัวข้อThe Future: "SET NEXT 50" อนาคตตลาดทุนไทยในครึ่งศตวรรษหน้าว่า ในอนาคตความท้าทายจะมีมากขึ้น ทั้งจากสงครามการค้าที่ทำให้โลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือภาวะสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า คนรุ่นหลังจะได้รับผลกระทบโดยตรง
อย่างไรก็ดี การลงทุนยังคงมีความจำเป็นเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีความจำเป็น แต่ต้องเป็นตลาดทุนที่เป็นสะพานสู่อนาคตสำหรับ (1) Future ลงทุนเพื่อ (ธุรกิจ) อนาคตได้ (2) Trust และ Equity Culture ปกป้องนักลงทุนรายเล็ก และ (3) Access การเข้าถึงที่ต้นทุนต่ำ
ด้านนางสาวชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงระบบใหม่ที่กระทบธุรกิจอย่างรอบด้าน ตลาดทุนไทยจึงไม่อาจหยุดอยู่กับกรอบเดิมอีกต่อไป
ตลาดทุนที่ออกแบบไว้เพื่ออดีต ยังตอบอนาคตที่เปลี่ยนไปได้หรือไม่? วันนี้ เราจำเป็นต้อง "Rethink the Boundaries" หรือทบทวนขอบเขตบทบาทของตลาดทุนใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะใน 5 ด้านสำคัญ:
1.Accountability ความรับผิดรับชอบของธุรกิจไม่ได้จบที่งบการเงิน แต่ต้องสะท้อนถึงผลกระทบในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่สิทธิมนุษยชนของแรงงาน ไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่กิจการดำเนินงานอยู่
2.Materiality ประเด็นที่สำคัญทางการเงินอาจไม่เหมือนเดิม เมื่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคมกลายมาเป็นตัวแปรต้นทุนและความเสี่ยงในอนาคต การมองประเด็นสำคัญสองทาง (double materially) จึงไม่ใช่แนวคิดทางทฤษฎีอีกต่อไป แต่คือกลยุทธ์ที่นักลงทุนต้องการเห็น
3.Financing เงินทุนควรไหลไปหาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ตลาดทุนสามารถออกกลไก และแจงจูงใจที่ทำให้เงินไหล่ไปสู่ธุรกิจ หรือกิจกรรมที่สะท้อน "คุณค่าจริง" เหล่านี้
4.Skills จากผู้วิเคราะห์ สู่ผู้เชื่อมโยงระบบ ตลาดทุนต้องมีคนที่เข้าใจ ESG อย่างรอบด้าน และมองระบบธุรกิจผ่านเลนส์ของการเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่แค่ตัวเลขผลกำไร
5.Data & Standards ข้อมูลคือหัวใจของตลาดทุน แต่ไม่ใช่แค่การ "เปิดเผย" แต่ต้องเป็นข้อมูลที่ "ชี้ทาง" การเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้เกิดภาษาใหม่ที่เชื่อมข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลความยั่งยืน
"ในโลกที่การวัดผลแบบเดิมอาจไม่พอ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ได้เป็นแค่ "ผู้ให้บริการตลาด" อีกต่อไป แต่คือ "โครงสร้างพื้นฐาน" ที่มีส่วนช่วยในการออกแบบระบบใหม่ ที่ทำให้ขอบเขตของตลาดทุนขยายออกไป โดยขยายความรับผิดชอบให้ลึกและกว้างขึ้นมองความสำคัญให้รอบด้านพาเงินไปสร้างคุณค่าขยายทักษะให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ตลาดทุนไทยจะไม่ใช่แค่ผู้ตามโลกแต่จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ออกแบบอนาคตด้วย"
นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน เข้าถึงการลงทุนโดยไม่จำกัดรูปแบบ มองหาโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยี AI หรือกับกลุ่มนักธุรกิจที่สนใจจะระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งยังคงมีภาคเศรษฐกิจเก่าไม่มีภาคเศรษฐกิจใหม่ มีบทลงโทษการกระทำผิดที่ไม่เข้มงวด ตลาดหลักทรัพยฯ จะต้องทำมากกว่าให้ข้อมูล (Inform) และต้องจุดประกาย (Inspire) ด้วย (1) Trust โปร่งใส มีข้อมูลที่จับต้องได้ (2) Ownership ความรู้สึกเป็นเจ้าของผ่านการมีตัวตน และการมีส่วนร่วม และ (3) Market for All ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง