xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหา “คิง พาวเวอร์” จบยาก ฉุดรายได้พาณิชย์ AOT ระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ส่องศักยภาพ “ท่าอากาศยานไทย” หลัง “คิง พาวเวอร์”ยื่นขอยกเลิกกิจการใน 3 สนามบินภูมิภาค ฉุดราคาหุ้นหลุด 30 บาทอย่างเลี่ยงไม่พ้น เมื่อถูกคาดว่ากระทบต่อกำไรถึง 10% แต่ยังต้องจับตาผลศึกษาคณะกรรมการพิเศษ เพื่อนำไปสู่บทสรุปในการเจรจา หากเอื้อมากไป หรือแข็งกร้าวมากไปส่อเกิดปัญหาวงกว้าง ลุกลามไปถึงรายอื่น สะท้อนถึงโครงสร้างรายได้กลุ่ม Non – Aero ระยะยาวที่อ่อนแอ 

ดูเหมือนมรสุมของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ยังไม่มีทีท่ายุติ หลังจำนวนทักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน จนมีผลทำให้หลายฝ่ายคาดว่าอาจกระทบรายได้ของบริษัทอย่งมีนัยสำคัญ นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่ารายได้ในส่วน Non-Aero อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ดีขึ้น และ ณ ปัจจุบัน ดูเหมือนคำทำนายนั้นกำลังเป็นจริง

 นั่นเพราะ ล่าสุดมีรายงานว่า บริษัท คิงเพาเวอร์ ผู้ให้บริการร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) รายใหญ่ของไทย ได้ยื่นหนังสือถึง ยกเลิกสัญญาดิวตี้ฟรีกับ AOT ใน 3 สนามบินหลักได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา และทันทีที่มีกระแสข่าวดังกล่าวออกมา ได้กดดันให้ราคาหุ้น AOT ที่ซื้อขายอยู่บนกระดานหลักทรัพย์ร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญจนปิดที่ 29.75 บาท/หุ้น 

 หุ้นร่วงรับข่าวร้าย

ขณะที่ราคาหุ้น AOT ล่าสุด 13 มิ.ย. 2568 เวลา 15:20 น. ปรับลดลง 3 บาท อยู่ที่ 29.00 บาท หรือลดลง 9.38% ถือเป็นการปรับตัวลดลงไปถึง 39.25 บาทจากการซื้อขายวันแรกของปีนี้ (2ม.ค.68)ที่ระดับ 69.00 บาท/หุ้น หรือ 56.88% เรียกได้ถือเป็นการย้อนกลับของราคาหุ้นในรอบ 52 สัปดาห์ซึ่งเคยต่ำสุดที่ระดับ 28.50 บาท/หุ้น และสูงสุด 65.00 บาท/หุ้น

 เปิดเงื่อนไขสัญญา

ทั้งนี้ AOT ทำสัญญากับ บริษัทบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด สำหรับกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ สัญญาที่ ทอท.DF-1-02/2562 ลงวันที่ 4 ก.ค. 2562 มีอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก 2,331 ล้านบาท
ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญา 2 ครั้ง คือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 26 สิงหาคม 2565 โดยล่าสุดปรับอายุสัญญาเป็นระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2576

 เนื่องจากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 me.sh AOT ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ มาเป็นผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) จำนวน 127.30 บาท เรียกเก็บจากผู้โดยสารขาออก ผู้โดยสารผ่าน และผู้โดยสารขาเข้า 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็มีเหตุสงครามในหลายภูมิภาค สงครามการค้า และการกีดกันทางการค้า กำแพงภาษี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งผู้โดยสารจีนที่มีกำลังซื้อสูงลดลง ทำให้ยอดขายลดลงและส่งผลกระทบทางอ้อมกลับมาที่ AOT

 ส่วน “คิงเพาเวอร์” ชี้แจงสาเหตุการตัดสินใจยื่นหนังสือขอยกเลิกสัญญา ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ส่งผลต่อยอดจำหน่ายและการประกอบการ ทำให้ค่าตอบแทนที่บริษัทต้องจ่ายให้ AOT อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าที่ควรจะเป็นและที่ได้เสนอไว้ ซึ่งผลกระทบต่างๆ ทำให้คิงเพาเวอร์ประสบกับภาวะขาดทุน จากแบกรับภาระอัตราค่าตอบแทนที่สูงผิดปกติ และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์ อีกทั้งมองว่า AOT กลับพิจารณาและดำเนินการตามที่เห็นสมควรเพียงและเป็นประโยชน์แก่ AOT เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้หารือบริษัทเพื่อหาแนวทางเก้ไขที่เหมาะสมต่อทั้งสองฝ่าย และด้วยเหตุต่างๆ ที่ยังไม่คลี่คลาย บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องขอหารือร่วมทั้งสองฝ่ายเพื่อหาข้อยุติของปัญหา รวมไปถึงแนวทางพิจารณาเลิกสัญญา เพื่อให้ได้ข้อยุติภายใน 45 วัน

แม้ก่อนหน้านี้ AOT ได้อนุมัติให้บริษัท คิง เพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และดอนเมือง เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หลังจากประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของ โควิด-19

โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค.67 คิงพาวเวอร์ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนชำระ โดยระบุว่าได้รับผลกระทบรุนแรงจาก โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 การจำกัดการเดินทางของรัฐบาลทำให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ร้านค้าปลอดอากรต้องปิดชั่วคราว ส่งผลให้พนักงานขาดรายได้

ต่อมาแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ “คิงพาวเวอร์” อ้างว่า ยังไม่สามารถฟื้นธุรกิจได้เต็มที่ ประกอบกับต้องลงทุนปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม และหนี้สินครบกำหนดชำระเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง อีกทั้งขาดททุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 ที่ระดับ 651.51 ล้านบาท

นำไปที่การร้องขอจาก “คิงพาวเวอร์” ในการขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ถึงกรกฎาคม 2568 รวม 12 งวด ออกไปงวดละ 18 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมรับฤดูท่องเที่ยว (Peak Season) และคาดหวังจะกลับสู่สภาวะปกติในปี 2569 ขณะที่ AOT อนุมัติให้เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนเมษายน 2568 โดยออกหนังสือที่ ทอท.16706/2567 แต่ไม่ยกเว้นค่าปรับ

ไม่เพียงเท่านี้ นอกเหนือจาก “คิงพาวเวอร์” พบว่าในปีก่อน มีผู้ประกอบการกว่า 70 ราย ขอเลื่อนชำระ/ผ่อนชำระ หรือขอยกเลิกประกอบกิจการ เนื่องจากผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูงกว่าอัตราแบ่งรายได้เกินร้อยละ 50 ของ AOT จึงจัดทำโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการที่เผชิญสภาพคล่องตกต่ำ ซึ่งคณะกรรมการอนุมัติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 

 คิง พาวเวอร์สำคัญแค่ไหน?

ทั้งนี้ คิง พาวเวอร์มีความสำคัญต่อ AOT (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)) อย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการหลักในกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินหลายแห่งที่ AOT บริหารอยู่

โดย สัดส่วนรายได้จากคิงพาวเวอร์ต่อ AOT พบว่า ข้อมูลปีงบประมาณ 2567 (FY24) คาดว่า AOT จะมีรายได้จาก King Power รวม 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของรายได้รวมทั้งหมด โดยรายได้ดังกล่าวแบ่งออกเป็นDuty Free สุวรรณภูมิ 1.1 หมื่นล้านบาท , พื้นที่เชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิ: 4.3 พันล้านบาท , Duty Free เชียงใหม่/หาดใหญ่/ภูเก็ต: 1.6 พันล้านบาท และ Duty Free ดอนเมือง: 1.5 พันล้านบาท

นั่นทำให้ รายได้จาก King Power เป็นส่วนสำคัญของรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-aeronautical revenue) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 32% ของรายได้รวมของ AOT และเป็นส่วนที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้มีผลต่อกำไรโดยตรง


 ภารกิจใหญ่ทีมงานทบทวน

และความสำคัญต่อจากนี้จะไปอยู่ที่ การจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทบทวนเรื่องนี้ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อดีข้อเสียของการยกเลิกสัญญา การเจรจากับคิง เพาเวอร์เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการตรวจสอบบทลงโทษใดๆ ที่ระบุไว้ในสัญญา เพราะผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนี้มีกำหนดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ AOT ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2568 หลังจากการประเมินเงื่อนไขและข้อกำหนดของข้อตกลงอย่างละเอียด

ขณะที่ ฝ่ายบริหารของ AOT กำลังแสวงหาความเชี่ยวชาญจากภายนอกอย่างกระตือรือร้น โดยการจ้างที่ปรึกษา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อทำการศึกษาอิสระและวิเคราะห์ทางเลือกสำหรับการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี วัตถุประสงค์คือเพื่อให้แน่ใจว่าทางออกใดๆ ที่เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์เงื่อนไขสัญญาที่เป็นกลางและไม่ลำเอียง

นั่นสะท้อนว่า AOT กำลังเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงความเป็นไปได้ในการเปิดประมูลใหม่หรือการปรับโครงสร้างสัญญาครั้งใหญ่ ขณะที่ในสถานกการณ์ปัจจุบัน AOT ได้ยืนยันต่อสาธารณชนว่าปัญหานี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการผู้โดยสาร และคิง เพาเวอร์ จะยังคงดำเนินงานร้านค้าปลอดภาษี ณ ท่าอากาศยานของบริษัทต่อไป ตามปกติในช่วงระยะเวลาการทบทวนนี้

 ราคาหุ้นหนีไม่พ้นทรุดตัว

ดังนั้นต้องยอมรับว่า หลังจากมีข่าวนี้ออกมา ได้ส่งผลให้หุ้น AOT ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยบางช่วงลดลงมากกว่า 10% และทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี มูลค่าบริษัทหายไปหลายหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังรวมถึงผลกระทบต่อรายได้และกำไร โดยคาดการณ์ว่ารายได้จากคิงเพาเวอร์ในส่วนของสนามบินภูมิภาคนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.6 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งหากสัญญานี้ถูกยกเลิก จะส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของ AOT โดยรวมในปีถัดไป

 อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต ได้ประเมินคำขอของคิง เพาเวอร์ว่าเป็นการพัฒนา "เชิงลบ" สำหรับ AOT โดยคาดการณ์ว่าอาจส่งผลกระทบประมาณ 10% ต่อกำไรของบริษัท ในปีงบประมาณ 2569 สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงทางการเงินที่สำคัญที่เกิดจากการสูญเสียหรือการลดลงของรายได้จากสัมปทานเหล่านี้ 

นั่นเพราะ รายได้ร้านค้าปลอดภาษีรวมจากท่าอากาศยานทั้งสี่แห่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในวงกว้างของคิง เพาเวอร์ (ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่) คาดว่าจะอยู่ที่ 2,300-2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินของAOT

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีกำไรสูงว่า การพัฒนาเช่นนี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ใหญ่กว่าต่อผลกำไรโดยรวมและเป้าหมายทางการเงินพื้นฐานของ AOT

 ยอมมากไปก็มีผลกระทบ

จนนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะมีการ "เจรจาเพิ่มเติมในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในอนาคต" เนื่องจากอาจเป็นความเสี่ยงของการแพร่กระจาย หากคิง เพาเวอร์ ประสบความสำเร็จในการเจรจาใหม่หรือยกเลิกสัญญาที่ท่าอากาศยานภูมิภาคเนื่องจากเงื่อนไขที่ "ไม่ยั่งยืน" ก็จะสร้างแบบอย่างที่อาจอาจกระตุ้นให้ผู้รับสัมปทานรายอื่น หรือแม้แต่คิง เพาเวอร์ เองสำหรับการดำเนินงานที่ใหญ่กว่าและมีกำไรมากกว่าที่สุวรรณภูมิ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนี้อาจกัดกร่อนฐานรายได้สัมปทานโดยรวมของ AOT ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพทางการเงินของบริษัท เกินกว่าผลกระทบเริ่มต้นของท่าอากาศยานภูมิภาค

ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ยังจะสร้างมาตรฐานที่สำคัญสำหรับการเจรจาสัมปทานในอนาคต เพราะการแก้ไขปัญหาที่ดูเหมือนผ่อนปรนเกินไปอาจนำไปสู่ความต้องการการปรับสัญญาในวงกว้าง ในขณะที่การแก้ไขปัญหาที่เข้มงวดเกินไปก็อาจนำไปสู่การผิดนัดของผู้ประกอบการและกระบวนการเปิดประมูลใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่แน่นอนในตลาดที่ท้าทาย สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความเปราะบางเชิงระบบในรูปแบบรายได้ของAOTหากเงื่อนไขสัมปทานไม่สามารถปรับให้เข้ากับการชะลอตัวของตลาดที่ยืดเยื้อได้

ปัจจุบัน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี (KPD) มียอดค้างชำระสะสมจำนวนมาก โดยเป็นหนี้ AOT ประมาณ 4 พันล้านบาท ยอดค้างชำระจำนวนมากนี้เน้นย้ำถึงความท้าทายด้านสภาพคล่องที่รุนแรงที่คิง เพาเวอร์กำลังเผชิญอยู่ แม้จะ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ได้กลับมาปฏิบัติตามกำหนดการชำระค่าสัมปทานในต้นเดือนพฤษภาคม 2568 และคิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (KPS) ได้กลับมาชำระเงินในเดือนมีนาคม 2568 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่ายังคงต้องมีการติดตามการชำระเงินรายเดือนอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความสามารถทางการเงินของคิง เพาเวอร์ได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้น AOT ทำให้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากปล่อยให้มีการยกเลิกสัญญาและต้องหาผู้ประกอบการรายใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาและอาจได้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระยะยาวกับคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหญ่ที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ คำขอของ King Power ในการยกเลิกสัญญาดิวตี้ฟรีที่สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ โดยระบุว่าคำขอนี้เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง และภาระค่าตอบแทนขั้นต่ำ (MAG) ที่สูงเกินไป ซึ่งทำให้ King Power ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 แต่พบว่า AOT ได้มีการผ่อนผันการชำระค่า MAG ให้ King Power มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีการคิดค่าปรับ 18% ต่อปี และ AOT ยังคงรับรู้รายได้ตามกำหนดโดยไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของ AOT

 ผลเจรจาคือตัวชี้วัดอนาคต

ส่วนราคาหุ้น AOT ในตลาดหลักทรัพย์ ข่าวนี้นับเป็นข่าวเชิงลบ (Negative) ต่อ AOT อย่างชัดเจน เนื่องจากกระทบต่อการคาดการณ์รายได้และกำไรในอนาคต ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามผลการเจรจาระหว่าง AOT และคิงเพาเวอร์ ว่าจะออกมาในรูปแบบใด เช่น อาจมีการปรับลดค่าตอบแทน หรือยกเลิกสัญญาบางส่วน หรือยกเลิกทั้งหมด ซึ่งแต่ละแนวทางจะมีผลกระทบที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการบริหารจัดการสัญญาสัมปทานระยะยาวภายใต้สภาพเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ผันผวน AOT อาจต้องพิจารณารูปแบบสัญญาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น