ศาลฝรั่งเศสออกคำสั่งห้าม "พาเวล ดูรอฟ" เดินทางร่วมเวทีเสรีภาพโลก ขัดขวางเสียงสะท้อนจากแพลตฟอร์มสุดฮอต ขณะเจ้าตัวโต้เดือด อ้างถูกขอให้เซ็นเซอร์ความเห็นอนุรักษ์นิยมก่อนเลือกตั้งโรมาเนีย พร้อมจี้แรง “อย่าปกป้องประชาธิปไตยด้วยการฆ่ามันเสียเอง”
พาเวล ดูรอฟ ผู้ร่วมก่อตั้งแอป Telegram ถูกศาลฝรั่งเศสสั่งเพิกถอนสิทธิ์การเดินทางออกนอกประเทศ ไปร่วมงาน Oslo Freedom Forum ที่นอร์เวย์ ทั้งที่เขามีกำหนดเป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดเวทีระดับโลกด้านสิทธิเสรีภาพ
โดยในประกาศของ มูลนิธิ Human Rights Foundation (HRF) ซึ่งเป็นผู้จัดงาน ได้ยืนยันว่า พาเวล ดูรอฟ จะยังปรากฏตัวผ่านระบบวิดีโอคอลแทน โดยผู้ก่อตั้ง HRF อย่างธอร์ เฮลวอร์นเซ่น เผยชัดว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ศาลฝรั่งเศสขัดขวางไม่ให้บุคคลผู้เปล่งเสียงเพื่อเสรีภาพเข้าร่วมงาน”
ไม่ใช่แค่เพียง Oslo Freedom Forum ที่นอร์เวย์ เท่านั้น แต่ พาเวล ดูรอฟ ยังถูก ห้ามบินไปร่วมการประชุมด้านการลงทุนในสหรัฐฯ อีกด้วย หลังทางการฝรั่งเศสชี้ว่าการเดินทาง “ไม่จำเป็น” ท่ามกลางคดีความที่ยังดำเนินอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2567 พาเวล ดูรอฟ ถูกจับที่สนามบินฝรั่งเศส พร้อมข้อกล่าวหา 6 กระทง และตั้งแต่นั้นมา เขาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมทางกฎหมายอย่างเข้มข้น การเดินทางออกนอกประเทศต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น
แม้ต้นปีที่ผ่านมา เขาจะเคยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปดูไบ แต่คำร้องล่าสุดของเขากลับถูกปัดตกไป โดยอัยการปารีสอ้างว่า “ไม่มีเหตุผลเพียงพอ”
ทั้งนี้แม้ว่า พาเวล ดูรอฟ ซึ่งถือหลายสัญชาติ รวมถึงฝรั่งเศสและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงต้องพัวพันกับฝรั่งเศสเพราะข้อผูกพันทางกฎหมายที่ยังไม่สิ้นสุด
ขณะที่ความตึงเครียดระหว่าง พาเวล ดูรอฟ กับฝรั่งเศสทวีความร้อนแรง หลังเขาออกมากล่าวหาว่ารัฐบาลพยายามบีบบังคับให้เขา “เซ็นเซอร์ความเห็นอนุรักษ์นิยม” ใน Telegram ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีโรมาเนีย
พาเวล ดูรอฟ ระบุว่าเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านถ้อยแถลงของ นิโคลาส เลอร์เนอร์ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองภายในของฝรั่งเศส ได้เรียกพบเขาที่โรงแรมหรู Hôtel de Crillon ใจกลางปารีส และร้องขอให้แบนเนื้อหาทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
โดยทาง พาเวล ดูรอฟ ปฏิเสธเสียงแข็ง และโพสต์ข้อความสุดเดือดว่า “คุณไม่สามารถ ‘ปกป้องประชาธิปไตย’ ได้ด้วยการทำลายมัน” พร้อมเสริมว่า Telegram ยินดีจะถอนตัวจากประเทศใด ๆ ก็ตามที่พยายามบีบบังคับให้เซ็นเซอร์ความคิดเห็นทางการเมือง
พาเวล ดูรอฟ เน้นว่า Telegram ไม่เคยปิดกั้นการประท้วงในรัสเซีย เบลารุส หรืออิหร่าน และจะไม่มีวันเริ่มทำเช่นนั้นในยุโรป
แม้เจ้าตัวจะไม่สามารถขึ้นเวทีในงานฟอรัมด้วยตนเอง แต่คำกล่าวปาฐกถาของเขาทางไกลคาดว่าจะ “ระเบิดเวที” ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับแรงกดดันจากรัฐที่ถาโถมใส่บริษัทเทคโนโลยี โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งใหญ่ที่เกมการเมืองร้อนแรงพอ ๆ กับแฮชแท็กทวิตเตอร์
Telegram ฟันเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์จีน 3.5 หมื่นล้านเหรียญ
เปิดโปงวงจรอาชญากรรมข้ามชาติ ใช้ Telegram เป็นสนามลับ "ฟอกเงิน-ขายข้อมูล-หลอกแรงงานรักลวงโลก" แอปแชทดังเร่งปิดช่องนรกนับพัน โยงถึงชนชั้นปกครองกัมพูชา
โดย Telegram เร่งล้างบางครั้งใหญ่! ปิดกั้นเครือข่ายช่องทางนับพันที่เชื่อมโยงกับขบวนการอาชญากรรมไซเบอร์จีนที่ใช้งานภาษาจีนเป็นหลัก ภายใต้ชื่อ Xinbi Guarantee และ Huione Guarantee หลังบริษัทบล็อกเชน Elliptic เปิดโปงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวผิดกฎหมาย
กลุ่มเหล่านี้มีเอี่ยวเต็มๆ กับธุรกรรม USDT ผิดกฎหมายมูลค่าสะท้านโลกกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์ ให้บริการฟอกเงิน สร้างบัตรปลอม ขายข้อมูลส่วนตัว ไปจนถึงข่มขู่ไซเบอร์แบบครบวงจร
Huione ถูกกล่าวหาว่ามีเส้นสายโยงใยถึงชนชั้นปกครองในกัมพูชา โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมผิดกฎหมายมูลค่ากว่า 27,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน Xinbi ดำเนินการฟอกเงินอีกกว่า 8,400 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2565
โครงสร้างเข้ารหัสของ Telegram ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว กลับกลายเป็นสนามหลังบ้านขององค์กรอาชญากรรมที่ใช้มันในการขายเครื่องมือโกง ฟอกเงินจาก “แผนฆ่าหมู” ไปจนถึงการแฮ็กที่โยงถึงกลุ่มแฮกเกอร์เกาหลีเหนือในการเจาะระบบ WazirX
ที่ร้ายแรงกว่านั้น แพลตฟอร์มนี้ยังเชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหยื่อถูกล่อลวงผ่าน “รักลวง” หรือข้อเสนองานปลอม ก่อนถูกบังคับให้ทำงานในฟาร์มอาชญากรรมไซเบอร์
ในขณะที่ Telegram เริ่มแอคชั่นเชิงรุกเพื่อลบช่องทางเหล่านี้ แต่คำถามใหญ่ยังคงอยู่ที่ประเด็น "แพลตฟอร์มจะสามารถควบคุมระบบนิเวศที่ตนเองสร้างได้จริงหรือไม่?" และในยุคที่เทคโนโลยีกลายเป็นดาบสองคม โลกจะยืนอยู่ฝั่งไหนระหว่าง “เสรีภาพ” กับ “ความปลอดภัย?”